ตอบคำถามของกระทู้ "ถ้าเราไม่รู้ อริยสัจ4 เราจะ นิพพาน ได้ไหม?"

สิ่งที่สำคัญที่สุดใน อริยสัจ 4 คือ สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ เพราะว่า

ทุกข์ (ทุกข์)
คือสิ่งที่เราเจอและรู้อยู่แล้ว แต่ประเด็นมันอยู่ที่ อะไรคือ เหตุแห่งทุกข์

เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย)
ถูกอธิบายด้วย ปฏิจจสมุปบาท โดยเริ่มจากสมมติฐานที่ว่า "ทำไมเราถึง ชรา ทำไมเราถึง มรณะ”

เหตุที่ทำให้เราชรา และมรณะ คือ การเกิด ถ้าเราไม่เกิดมาเราจะไม่มี ชรา และมรณะ

เหตุที่ทำให้เราเกิดมาได้ เพราะมีภพ มีโลก มีที่ให้เราเกิด ถ้าไม่มีภพ ไม่มีโลก ไม่มีที่ให้เราเกิด เราก็จะไม่มีที่ให้เกิด เราก็จะไม่เกิด

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างบน คือส่วนที่เป็นอนาคต ซึ่งพอจะนึกตามโดยใช้ตรรกะได้ แต่ทีเด็ด คือต่อไปนี้ ซึ่งเป็นส่วนที่เรียกว่า ปัจจุบัน (หรือเป็นอดีตของอนาคต) ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดอนาคต

(ต่อจากข้างบน) เหตุที่มีภพ เพราะอุปทาน มีความคิดที่จะทำ จะปฏิบัติ และยึดติดกับสิ่งที่ต้องการ จนลงมือปฏิบัติเกิดเป็นภพ ถ้าไม่มีอุปทาน ไม่มีความคิดที่จะทำ ไม่คิดจะปฏิบัติ ก็จะไม่มีภพ

เหตุที่มีอุปทาน เพราะมีตัณหา มีความอยาก ถ้าไม่มีตัณหาไม่มีความความอยาก ก็จะไม่มีอุปทาน มีความคิดที่จะทำ จะปฏิบัติ และยึดติดกับสิ่งที่ต้องการ

เหตุที่มีตัณหา เพราะมีเวทนา มีความรู้สึกว่าเป็นสุข มีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ และ/หรือแม้แต่มีความรู้สึกว่าเฉยๆ ความสุขก็อยากได้ ความทุกข์ก็อยากผลักไส เกิดเป็นความอยาก ถ้าไม่มีเวทนา ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นสุข ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ และ/หรือไม่มีความรู้สึกว่าเฉยๆก็จะไม่มีตัณหา

เหตุที่มีเวทนา เพราะมีผัสสะ มีการกระทบ ทั้งภายนอก ภายใน จนเกิดเป็นความรู้สึก ถ้าไม่มีผัสสะ ไม่มีการกระทบ ทั้งภายนอก ภายใน ก็จะไม่มีเวทนา

เหตุที่มีผัสสะ เพราะมีสฬายตนะ มีประสาทสัมผัสทั้ง 6 มีการทำงานของประสาทสัมผัสทั้ง 6 ถ้าไม่มีสฬายตนะ ไม่มีประสาทสัมผัสทั้ง 6 มีการทำงานของประสาทสัมผัสทั้ง 6 ก็จะไม่เกิดผัสสะ

เหตุที่มีสฬายตนะ เพราะมีนาม-รูป มีอารมณ์และบุคลิกภาพ ถ้าไม่มีนาม-รูป ไม่มีอารมณ์และบุคลิกภาพ ก็จะไม่มีสฬายตนะ

เหตุที่มีนาม-รูป เพราะมีวิญญาณ มีการรับรู้ถึงความรู้สึกนั้น ถ้าไม่มีวิญญาณ ไม่มีการรับรู้ถึงความรู้สึกนั้น ก็จะไม่มีนาม-รูป

เหตุที่มีวิญญาณ เพราะมีสังขาร มีการปรุงแต่ง ถ้าไม่มีสังขาร ไม่มีการปรุงแต่ง ก็จะไม่มีวิญญาณ ไม่มีการรับรู้ถึงความรู้สึกนั้น

และต่อไปคือส่วนที่เป็นอดีต (หรือส่วนที่เป็นปัจจุบัน ของปัจจุบันที่กล่าวมาบน) ซึ่งทำให้เกิดส่วนที่เป็นปัจจุบัน

เหตุที่มีสังขาร เพราะอวิชชา เพราะไม่รู้ในเหตุของ วิญญาณ นาม-รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ การเกิด ชรา มรณะ เพราะไม่รู้ส่วนที่เป็นปัจจุบัน จึงเกิดความคิดปรุงแต่งเป็นสังขาร วิญญาณ นาม-รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ การเกิด ชรา มรณะ  ถ้าไม่มีอวิชชา และมีวิชชา (รู้ในเหตุของ วิญญาณ นาม-รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทานภพ การเกิด ชรา มรณะ) รู้ส่วนที่เป็นปัจจุบัน รู้ตามความเป็นจริง ก็จะไม่มีสังขาร วิญญาณ นาม-รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ การเกิด ชรา มรณะ ซึ่งก็หมายถึง นิพพาน

ความดับทุกข์ (นิโรธ)
ก็ถูกอธิบายด้วย ปฏิจจสมุปบาท เช่นเดียวกัน คือ

ถ้าไม่มีอวิชชา และมีวิชชา รู้ส่วนที่เป็นปัจจุบัน รู้ตามความเป็นจริง ก็จะไม่มีสังขาร
ถ้าไม่มีสังขาร ไม่มีการปรุงแต่ง ก็จะไม่มีวิญญาณ
ถ้าไม่มีวิญญาณ ไม่มีการรับรู้ถึงความรู้สึกนั้น ก็จะไม่มีนาม-รูป
ถ้าไม่มีนาม-รูป ไม่มีอารมณ์และบุคลิกภาพ ก็จะไม่มีสฬายตนะ
ถ้าไม่มีสฬายตนะ ไม่มีประสาทสัมผัสทั้ง 6 มีการทำงานของประสาทสัมผัสทั้ง 6 ก็จะไม่เกิดผัสสะ
ถ้าไม่มีผัสสะ ไม่มีการกระทบ ทั้งภายนอก ภายใน ก็จะไม่มีเวทนา
ถ้าไม่มีเวทนา ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นสุข ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ และ/หรือไม่มีความรู้สึกว่าเฉยๆก็จะไม่มีตัณหา
ถ้าไม่มีตัณหาไม่มีความความอยาก ก็จะไม่มีอุปทาน
ถ้าไม่มีอุปทาน ไม่มีความคิดที่จะทำ ไม่คิดจะปฏิบัติ ก็จะไม่มีภพ
ถ้าไม่มีภพ ไม่มีโลก ไม่มีที่ให้เราเกิด เราก็จะไม่มีที่ให้เกิด เราก็จะไม่เกิด
ถ้าไม่เกิด ก็จะไม่มีชรา ไม่มีมรณะ เท่ากับการพ้นจากทุกข์ ซึ่งก็หมายถึง นิพพาน

วิธีดับทุกข์ (มรรค)
จะเป็นการกล่าวถึง 3 ส่วน คือ 1. ส่วนที่เป็นความประพฤติ 2. ส่วนที่เป็นทฤษฎีและความรู้ และ 3. ส่วนที่เป็นการปฏิบัติสมาธิวิปัสนา โดยมีหลักการว่า จะปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น จะต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ จิตใจจะบริสุทธิ์ได้ก็ต้องมาจากความประพฤติที่บริสุทธิ์ และความประพฤติที่บริสุทธิ์ก็จะต้องมาจากจิตใจที่บริสุทธิ์ ซึ่งรวมกันแล้วมี 8 steps คือ

1. ส่วนที่เป็นความประพฤติ

สัมมาอาชีวะ คือ การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ซึ่งก็คือการดำเนินชีวิตตามพระวินัย (ไม่แน่ใจว่าคืออันเดียวกันกับศีล227 ข้อรึป่าวใครรู้ช่วยเนะนำด้วยนะครับ)

สัมมาวาจา คือ การไม่ประพฤติผิดทางวาจา ซึ่งมีอยู่ในพระวินัยอยู่แล้ว
สัมมาสังกัปปะ คือ มีความคิดที่ถูกต้อง ไม่ประพฤติผิดทางความคิด ซึ่งก็มีอยู่ในพระวินัย

2. ส่วนที่เป็นทฤษฎีและความรู้

สัมมาทิฐิ คือ มีความเห็นที่ถูกต้องมีทฤษฎีที่ถูกต้องรู้ในทุกข์เหตุแห่งทุกข์ความดับไปแห่งทุกข์

3. ส่วนที่เป็นการปฏิบัติสมาธิวิปัสนา ซึ่งส่วนนี้เป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ

สัมมากัมมันตะ คือ การปฏิบัติที่ถูกต้อง
สัมมาวายามะ คือ มีความเพียรพยายามในทางที่ถูกต้อง
สัมมาสติ คือ มีความตั้งมั่นในสติ
สัมมาสมาธิ คือ มีสมาธิที่มีสติเข้าสู่ฌาณ

ซึ่งในส่วนของมรรคนี้ผมก็ไม่สามารถอธิบายได้เลยต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคราบบบบ แต่น่าจะมีอธิบายไว้ในพระไตรปิฎก

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ อริยสัจ 4 ซึ่งเป็นหัวใจ และ concept ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งเป้าหมายก็คือ นิพพาน

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้อริยสัจ 4 ก็จะนิพพานไม่ได้เลย เพราะไม่รู้เหตุแห่งทุกข์

และที่กล่าวมาข้างบนก็น่าจะตอบ จขกท. ได้ว่าทำไม นิโรธ มาก่อน มรรค เพราะเราจำเป็นต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ก่อน ค่อยจะรู้ว่าทำยังไงทุกข์ถึงจะดับไป และด้วยวิธีไหน


หากผิดพาดประการใดช่วยชีแนะและเพิ่มเติมได้ครับผม ^^
ปล. เหตุผลที่ ตอบกระทู้ ด้วยการตั้งกระทู้ เพราะว่าอยากตั้งเป็นกระทู้ครับ ^^ยิ้ม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่