ระดับขั้นตำแหน่งนางในและตำแหน่งเชื้อพระวงศ์แบบละเอียดของราชวงศ์หมิงแห่งจีนค่ะ

สวัสดีค่า หลังจากได้เห็นข่าวซีรีย์ราชวงศ์หมิงปี 2016 เรื่อง 女醫·明妃傳 หรือ หยุนเสียน หมอหญิงวังจักรพรรดิ ซึ่งตอนนี้ได้ฉายจบที่จีนไปแล้ว จขกท. ก็เกิดความสนใจและตั้งใจเอาไว้แล้วค่ะว่าจะรวบรวมรายละเอียดตำแหน่งนางในและเชื้อพระวงศ์สมัยราชวงศ์หมิงของจีนมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน ถึงแม้ว่าข้อมูลจะไม่ได้แปลกใหม่จากราชวงศ์อื่นมาก แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นเอกลักษณ์น่าสนใจไม่น้อยค่ะ หวังว่าเนื้อหาในกระทู้นี้จะทำให้คนที่ดูซีรีส์สมัยราชวงศ์หมิงเข้าใจและสนุกได้มากขึ้นนะคะ ถ้าข้อมูลมีอะไรผิดพลาดตรงไหนสามารถแนะนำหรือชี้แจงได้ค่ะ (กระทู้ยาวหน่อยนะคะ ^_^)

     ราชวงศ์หมิงเป็นช่วงของการปกครองแผ่นดินจีนกลับมาสู่ชาวฮั่นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากถูกครอบครองโดยชาวมองโกลหรือราชวงศ์หยวนมาเป็นเวลาเกือบร้อยปี ส่งเสริมระบอบรวมศูนย์อำนาจราชสำนักอย่างเต็มที่ พัฒนาก้าวหน้าทั้งด้านการเกษตร หัตถกรรมงานเคลือบและสิ่งทอ รวมถึงวรรณกรรมขนาดยาวซึ่งเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ราชวงศ์หมิงปกครองจีนยาวนานถึง 276 ปี และถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนที่มีจักรพรรดิเป็นชาวฮั่น

     ระดับและตำแหน่งสตรีฝ่ายในของวังหลังสมัยราชวงศ์หมิงนั้น ได้สืบต่อความเรียบง่ายไม่ซับซ้อนมาจากราชวงศ์หยวนมาส่วนหนึ่ง โดยระดับและตำแหน่งสตรีฝ่ายในสมัยราชวงศ์หมิง สามารถแบ่งได้ตามลำดับดังนี้

จักรพรรดินี พระชายา และพระสนม

ไท่หวงไท่โฮ่ว (太皇太后)
     หรือรู้จักกันในชื่อ "ไทฮองไทเฮา" ตำแหน่งของจักรพรรดินีในจักรพรรดิองค์ก่อนหน้านับขึ้นไป 2 ขั้น หรือเป็นพระอัยยิกาในจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน อาจจะมีฐานะเป็นพระอัยยิกาแท้ๆ หรือพระอัยยิกาเลี้ยงของจักรพรรดิก็ได้ เช่น เซี่ยวซู่ไทฮองไทเฮา สกุลโจว ทรงเคยเป็นพระอัครเทวีในจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (เทียนซุ่น) ดำรงตำแหน่งเป็นไทฮองไทเฮาในสมัยจักพรรดิหงจื้อ (จากเรื่อง 醫館笑傳)

หวงไท่โฮ่ว (皇太后)
     หรือรู้จักกันในชื่อ "ฮองไทเฮา" ตำแหน่งของจักรพรรดินีในจักรพรรดิองค์ก่อนหน้านับขึ้นไป 1 ขั้น หรือตำแหน่งพระมารดาในจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน ถ้าจักรพรรดิองค์ปัจจุบันไม่ได้เป็นพระโอรสที่เกิดแต่จักรพรรดินีองค์ก่อน ผู้เป็นพระชายาหรือพระสนมที่เป็นพระมารดาของจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน จะได้รับตำแหน่งเป็นฮองไทเฮาด้วยเช่นกัน ในรัชสมัยนั้นจึงอาจมีไทเฮาได้ 2 พระองค์ในเวลาเดียวกัน โดยในสมัยราชวงศ์หมิงนั้นฮองไทเฮาที่เป็นจักรพรรดินีองค์ก่อนจะได้รับราชทินนามนำหน้าตำแหน่ง และมีศักดิ์สูงกว่าฮองไทเฮาที่เป็นพระมารดาของจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน ซึ่งใช้ได้เพียงชื่อสกุลนำหน้าตำแหน่งเท่านั้น
     เช่น ซ่างเซิ่งฮองไทเฮา สกุลซุน ดำรงตำแหน่งในสมัยจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (เทียนซุ่น) และจักรพรรดิจิ่งไท่ เนื่องจากทรงเคยเป็นจักรพรรดินีในจักรพรรดิเซวียนเต๋อ จึงได้รับราชทินนามว่า ซ่างเซิ่ง (上聖) นำหน้าตำแหน่ง, อู๋ฮองไทเฮา ดำรงตำแหน่งในสมัยจักรพรรดิจิ่งไท่ เนื่องจากทรงเคยเป็นพระชายาในจักรพรรดิเซวียนเต๋อ จึงมีได้เพียงชื่อสกุล อู๋ (吳) ของพระนางนำหน้าตำแหน่ง (จากเรื่อง 女醫·明妃傳)


     ฮองไทเฮาผู้เป็นพระมารดาของจักรพรรดิองค์ปัจจุบันจะมีราชทินนามนำหน้าตำแหน่งได้ก็ต่อเมื่อฮองไทเฮาที่เป็นจักรพรรดินีองค์ก่อนเสด็จสวรรคตแล้วเท่านั้น แต่ในช่วงปลายราชวงศ์หมิงตั้งแต่สมัยจักรพรรดิหลงชิ่งเป็นต้นไป ฮองไทเฮาทุกพระองค์ไม่ว่าจะเคยเป็นจักพรรดินี พระชายา หรือพระสนมมาก่อน ต่างก็สามารถมีราชทินนามนำหน้าตำแหน่งได้ทั้งหมด

หวงไท่เฟย (皇太妃)
     ตำแหน่งรองจากฮองไทเฮา ซึ่งองค์จักรพรรดิมักจะแต่งตั้งให้กับพระชายาหรือพระสนมในจักรพรรดิองค์ก่อนที่มีความเหมาะสมเพื่อยกย่องพระนางเหล่านั้น เช่น เคยเป็นพระมารดาเลี้ยงให้แก่จักรพรรดิตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ หรือเป็นผู้วางตัวดี มีความประพฤติในกรอบ เป็นผู้ที่องค์จักรพรรดิให้ความเคารพนับถือ เป็นต้น หากในรัชสมัยใดไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งฮองไทเฮาอยู่ ในสมัยราชวงศ์หมิงหวงไท่เฟยสามารถเป็นผู้ดูแลตราประทับฮองไทเฮาและมีอำนาจเทียบเท่าได้
     เช่น หลี่หวงไท่เฟย ดำรงตำแหน่งในสมัยจักรพรรดิฉงเจิน ด้วยเคยทำหน้าที่เป็นพระมารดาเลี้ยงให้แก่จักรพรรดิเทียนฉี่และจักรพรรดิฉงเจินเมื่อทั้งสองพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ทรงเคยเป็นพระชายาในจักรพรรดิไท่ชาง (จากเรื่อง 明宮謎案)

หวงโฮ่ว (皇后)
     ตำแหน่งจักรพรรดินีองค์ปัจจุบันของจักรพรรดิ หรือรู้จักกันในชื่อ "ฮองเฮา" พระอัครมเหสีเอกซึ่งมีตำแหน่งเดียวและมีศักดิ์สูงสุดในการปกครองฝ่ายใน ไม่นับรวมลำดับขั้นกับพระชายาและพระสนมอื่นๆ สำหรับพระมารดาขององค์จักรพรรดิที่ไม่ได้เป็นจักรพรรดินี เมื่อสิ้นพระชนม์จะได้รับการแต่งตั้งเป็นฮองเฮาทุกพระองค์ เช่น เซี่ยวอายเจ๋อฮองเฮา สกุลจาง ในสมัยจักรพรรดิเทียนฉี่ (จากเรื่อง 明珠遊龍), เซี่ยวจวงรุ่ยฮองเฮา สกุลเฉียน ในสมัยจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (เทียนซุ่น) (จากเรื่อง 女醫·明妃傳)


     รองจากตำแหน่งฮองเฮาซึ่งเป็นจักรพรรดินี จะเป็นตำแหน่งพระเทวีชายาและพระสนมอีกหลายตำแหน่ง ซึ่งในที่นี้จะเทียบตามความเข้าใจของผู้เขียนนะคะ ทั้งหมดสามารถแบ่งได้ 2 ชั้นใหญ่ๆ ได้แก่

1) พระภรรยาในองค์จักรพรรดิชั้นสูง มีศักดิ์เป็นเจ้านาย ถือเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์ แบ่งได้ทั้งหมด 4 ตำแหน่ง คือ

หวงกุ้ยเฟย (皇貴妃)
     ตำแหน่งพระมเหสีรองซึ่งมีศักดิ์รองลงมาจากฮองเฮาในช่วงกลางจนถึงช่วงปลายราชวงศ์หมิง "พระอัครเทวีผู้สูงศักดิ์ในองค์จักรพรรดิ" เพิ่มเข้ามาในสมัยจักรพรรดิจิ่งไท่ โดยมากมักแต่งตั้งให้กับพระภรรยาที่ได้รับความโปรดปรานสูงสุดจากองค์จักรพรรดิ เช่น กงซู่หวงกุ้ยเฟย ว่านเจินเอ๋อร์ ในสมัยจักรพรรดิเฉิงฮว่า (จากเรื่อง 後宮)

กุ้ยเฟย (貴妃)
     ตำแหน่งสูงสุดรองจากฮองเฮาในช่วงต้นราชวงศ์หมิง "พระอัครเทวีผู้ล้ำค่า" ต่อมาในสมัยจักรพรรดิจิ่งไท่ได้มีการเพิ่มตำแหน่งหวงกุ้ยเฟยเข้ามา ตำแหน่งกุ้ยเฟยในช่วงกลางจนถึงช่วงปลายราชวงศ์หมิงจึงมีศักดิ์รองลงมาจากหวงกุ้ยเฟยแทน เช่น เจาอี้กุ้ยเฟย สกุลจาง ในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (จากเรื่อง 洪武三十二), หังกุ้ยเฟย ในสมัยจักรพรรดิจิ่งไท่ ภายหลังได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นซู่เซี่ยวฮองเฮา (女醫·明妃傳)


หวงเฟย (皇妃)
     หรือเรียกสั้นๆ ว่า "เฟย" (妃) ตำแหน่งพระชายาในองค์จักรพรรดิ ในสมัยราชวงศ์หมิงองค์จักรพรรดิมักพระราชทานราชทินนามที่สื่อความหมายถึงความเป็นมงคลหรือความดีงามนำหน้าตำแหน่งเฟย โดยมักจะให้อยู่ใน 8 ชื่อเหล่านี้ ได้แก่

เสียนเฟย (賢妃) ผู้พร้อมด้วยคุณธรรมปัญญา     ซูเฟย (淑妃) ผู้บริสุทธิ์และดีงาม     จวงเฟย (莊妃) ผู้ประพฤติตนอย่างเคร่งครัด
จิ้งเฟย (敬妃) ผู้น่าเคารพเลื่อมใส                     ฮุ่ยเฟย (惠妃) ผู้เมตตากรุณา          ซุ่นเฟย (順妃) ผู้โอนอ่อนนอบน้อม
คังเฟย (康妃) ผู้มีจิตใจสงบนิ่ง                          ลี่เฟย (麗妃) ผู้สง่างดงามยิ่ง

     แต่ก็มีไม่น้อยที่องค์จักรพรรดิทรงแต่งตั้งและพระราชทานนามอื่นให้นอกเหลือจากที่กล่าวมาข้างต้น พระภรรยาที่ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งหวงเฟย เช่น ตวนซุ่นเสียนเฟย สกุลไป่ ในสมัยจักรพรรดิเฉิงฮว่า, เซ่าเฉินเฟย ในสมัยจักรพรรดิเฉิงฮว่า ต่อมามีตำแหน่งเป็นกุ้ยเฟย และได้รับสถาปนาเป็นเซี่ยวฮุ่ยฮองเฮาเมื่อสิ้นพระชนม์ (จากเรื่อง 後宮), เต้าซุ่นยวี่เฟย สกุลจาง ในสมัยจักรพรรดิเทียนฉี่ (จากเรื่อง 明珠遊龍), คังฮุ่ยจวงซูลี่เฟย สกุลหาน (ฮัน) ในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ และมีฐานะเป็นพระปิตุจฉา (อาหญิง) ของพระมเหสีโซฮเยหรือพระพันปีอินซูแห่งโชซอน (จากเรื่อง 大王世宗)



หวงผิน (皇嬪)
     หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ผิน" (嬪) ตำแหน่งพระสนมเอกในองค์จักรพรรดิ ปรากฎครั้งแรกในสมัยจักรพรรดิเซวียนเต๋อ และไม่ปรากฎอีกเลยจนกระทั่งได้มีการกำหนดให้เป็นตำแหน่งฝ่ายในอย่างเป็นทางการเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายราชวงศ์หมิงในสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง ที่ได้ทรงนำตำแหน่งฝ่ายในที่มีมาแต่โบราณอย่างจิ่วผิน (九嬪) "เก้าพระสนมเอก" กลับมาใช้อีกครั้ง เกิดเป็นตำแหน่งหวงผินซึ่งมีศักดิ์รองจากหวงเฟย แต่งตั้งได้ครั้งละ 9 คน แต่ในบางรัชสมัยอาจแต่งตั้งจำนวนน้อยกว่านี้ก็ได้
     เช่น กงเค่อหวงกุ้ยเฟย สกุลเจิ้ง ในสมัยจักรพรรดิว่านลี่ เมื่อแรกเข้าวังมีตำแหน่งเป็นเจิ้งซูผิน ก่อนจะได้เลื่อนขึ้นเป็นเต๋อเฟย กุ้ยเฟย และหวงกุ้ยเฟยตามลำดับ (จากเรื่อง 大明嬪妃)

     พระภรรยาในองค์จักรพรรดิชั้นสูงเหล่านี้ จะต้องผ่านพิธีการแต่งตั้งตำแหน่งอย่างเป็นทางการ สามารถมีตำหนักในพระราชวังเป็นของตนเองได้ หากประชวรสามารถได้รับการรักษาจากแพทย์หลวงได้ และเมื่อสิ้นพระชนม์จะได้รับพิธีฝังพระศพแตกต่างกันตามตำแหน่งในสุสานหลวงของราชวงศ์หมิง

2) พระภรรยาในองค์จักรพรรดิชั้นล่าง เรียกรวมว่า กงผิน (宮嬪) ถือเป็นสามัญชน และไม่นับเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์ มีทั้งหมด 5 ตำแหน่ง คือ

เจาอี๋ (昭儀)
     ตำแหน่งสูงสุดของพระสนมชั้นล่างในองค์จักรพรรดิ ปรากฎในช่วงต้นราชวงศ์หมิง เจาอี๋ หมายถึง ผู้งามเลิศยิ่ง เช่น หลี่เจาอี๋ พระสนมชาวโชซอนในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (จากเรื่อง 尚食)

เจาหรง (昭容)
     ตำแหน่งรองจากเจาอี๋ พระสนมชั้นล่างในองค์จักรพรรดิช่วงต้นราชวงศ์หมิง เจาหรง หมายถึง ผู้มีกิริยางามสง่า เช่น หวังเจาหรง ในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นเจาเซี่ยนกุ้ยเฟย (จากเรื่อง 洪武三十二)

เจี๋ยยวี๋ (婕妤)
     ตำแหน่งรองจากเจาหรง พระสนมชั้นล่างในองค์จักรพรรดิช่วงต้นราชวงศ์หมิง เจี๋ยยวี๋ แปลว่า หญิงงามผู้ได้รับความโปรดปรานจากจักรพรรดิ เช่น เฉาเจี๋ยยวี๋ ในสมัยจักรพรรดิเซวียนเต๋อ ตามปวศ.หลังเสียชีวิตได้รับสถาปนาขึ้นเป็นจวงซุ่นจิ้งเฟย (จากเรื่อง 尚食)

เหม่ยเหริน (美人)
     ตำแหน่งรองจากเจี๋ยยวี๋ พระสนมชั้นล่างในองค์จักรพรรดิช่วงต้นและช่วงกลางราชวงศ์หมิง เหม่ยเหริน แปลว่า ผู้มีความงดงาม เช่น หลิวเหม่ย
เหริน หลิวเหลียงหนี่ว์ ในสมัยจักรพรรดิเจิ้งเต๋อ (จากเรื่อง 正德演義)

กุ้ยเหริน (貴人)
     ตำแหน่งพระสนมชั้นล่างในองค์จักรพรรดิ ปรากฎในช่วงปลายราชวงศ์หมิง กุ้ยเหริน หมายถึง ผู้ทรงเกียรติ ไม่ทราบลำดับขั้นแน่ชัด เช่น เฝิงกุ้ยเหริน หรือ หูกุ้ยเหริน ในสมัยจักรพรรดิเทียนฉี่ (จากเรื่อง 明珠遊龍)

     ตำแหน่งพระภรรยาชั้นล่างทั้งหมดนี้ปรากฎเพียงบางช่วงบางรัชสมัยของราชวงศ์หมิง เป็นเพียงตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการและไม่มีการจัดพิธีแต่งตั้ง ไม่สามารถมีตำหนักในพระราชวังเป็นของตนเองได้ หากเจ็บป่วยไม่สามารถพบแพทย์หลวงได้ ทำได้เพียงรับยารักษาตามอาการ และเมื่อเสียชีวิตพระสนมเหล่านี้จะได้รับการเผาร่างแทนการฝังแตกต่างจากเหล่าพระภรรยาชั้นสูงในองค์จักรพรรดิค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่