[รากนครา] เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการแต่งกายของชาติพันธุ์ทางตอนเหนือของไทย

สวัสดีครับ ช่วงนี้มีภาพฟิตติ้งจากละคร รากนครา ของแอ็คอาร์ต ออกมา
ประกอบกับเป็นคนที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม
กระทู้นี้เลยตั้งขึ้นมา แบ่งปันความรู้เล็กๆน้อยๆ จากที่รวบรวมมา
เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกายของชาติพันธุ์ทางตอนเหนือของไทยมาฝากครับ
เฉพาะผ้าซิ่นที่ผู้หญิงในเรื่องใส่นะครับ
(ผิดถูกประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้นะครับ ข้อมูลไหนผิดพลาด ช่วยกันแก้ไขได้นะครับ)

ชาติพันธุ์ที่ทางทีมงานแจ้งเอาไว้ ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับละครเรื่องนี้
เชียงตุง : เชียงเงิน (เจ้าหลวงแสนอินทะ, เจ้านางหลวงข่ายคำ, เจ้าแม้นเมือง, เจ้ามิ่งหล้า
น่าน แพร่ (ล้านนาตะวันออก) : เชียงพระคำ (เจ้าศุขวงศ์, เจ้าย่าเรือนคำ, เจ้าละอองคำ)
มัณฑะเลย์ : เมืองมัณฑ์ (กษัตริย์เมืองมัณฑ์, เจ้านางหลวงปัทมสุดา)
เชียงใหม่ : ล้านนา (ยังไม่ปรากฎตัวละคร)
สยาม (เจ้าศุขวงศ์ ตอนใส่สูท,จอห์น แบร็กกิ้น)

1. เชียงเงิน ละครได้รับแรงบันดาลใจจากเมืองเชียงตุง
(เจ้าหลวงแสนอินทะ, เจ้านางหลวงข่ายคำ, เจ้าแม้นเมือง, เจ้ามิ่งหล้า)





ผ้าซิ่นไหมคำเมืองเชียงตุง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าซิ่นบัวคำ เป็นซิ่นของราชสำนักไทเขิน
เนื่องด้วยเชียงตุงเป็นเมืองการค้าระหว่างล้านนา จีน พม่า จึงรับเอาวัฒธรรมต่างๆมาผสมผสานผ่านผืนผ้าได้อย่างลงตัว
ตัวซิ่นจะทอยกมุมด้วยไหมคำโดยนำทองคำหรือเงินหรือกาไหล่ทอง มารีดเป็นเส้นแบบยาว
แล้วเอามาตีเกลียวกับเส้นใย ส่วนมากเป็นฝ้ายแล้วนำมาทอ
ต่อกับส่วนล่างของซิ่นคือผ้าไหมจีนหรือกำมะหยี่สีเขียว ด้านบนของตีนซิ่นจะปักลายบัวคำด้วยเส้นไหมหรือโลหะมีค่า
ส่วนล่างสุดของซิ่นจะติดด้วยแถบไหมของจีน
ภาพจาก Facebook : ผ้าลายอย่างเสกข์



เจ้านางติ๊บสิลา(ทิพย์ศิลา) พระเชษฐภคินีในเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าหอคำเชียงตุง


แอฟ ทักษอร แสดงเป็น เจ้านางมณีริน จากเรื่อง รอยไหม ผลงานของ แอคอาร์ต เช่นกัน


2. เชียงพระคำ ละครได้รับแรงบันดาลใจจากเมืองน่าน แพร่ (ล้านนาตะวันออก)
(เจ้าศุขวงศ์, เจ้าย่าเรือนคำ, เจ้าละอองคำ)





*แก้ไขเพิ่มเติมจากคห.17
ซิ่นก่าน (ที่เจ้าย่าเรือนคำ และเจ้าแม้นเมืองนุ่ง)
เป็นซิ่นของชาวไทลื้อ เมืองน่านที่ทอด้วยลวดลายมัดหมี่
ในภาษาถิ่นเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือ “คาดก่าน” โดยมีโครงสร้างหลักในการทอ 3 แบบคือ
1.ก่านล้วน คือซิ่นที่มีการมัดก่านทั้งผืน
2.ก่านม่าน คือซิ่นมัดก่านที่ทอในโครงสร้างซิ่นม่าน
3.ก่านป้อง คือซิ่นมัดก่านที่ด้วยโครงสร้างป้อง
สีที่นิยมใช้ ม่วง ชมพู บานเย็น ขาว


*แก้ไขเพิ่มเติมจากคห.23,24
ซิ่นตีนจกคำเคิบ (เจ้าละอองคำนุ่ง)
เป็นซิ่นที่ทอด้วยเทคนิคการเก็บขิดของชาวไทยวนจังหวัดน่าน
มีลักษณะเป็นลายโคมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาดใหญ่ ขนาบด้านบน-ล่างด้วยลายขนาดเล็ก
หางสะเปามีทั้งที่เป็นสีดำล้วนและสลับสีขาว-ดำ เล็บซิ่นค่อนข้างเว้นไว้อย่างกว้างมาก
นิยมทอด้วยคำเคิบ แปลว่าเส้นด้านที่ใช้กระดาษทองเคลือบอยู่
ดังนั้นเมื่อนานไปกระดาษทองที่เคลือบก็จะหลุดออกไป และทำให้เหลือเพียงด้ายสีขาวเท่านั้น
ซิ่นตีนจกชนิดนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก เพราะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างเมืองน่านเลยทีเดียว


ส่วนตัวเสื้อปั๊ดที่มีลักษณะคล้ายกับเสื้อปั๊ดลาวมากกว่าเสื้อปั๊ดทางเชียงตุง
เสื้อแบบนี้เรียกว่า เสื้อแขบคำ คอปักประดับด้วยเส้นไหมคำ นิยมในหลายเมืองที่มีอาณาเขตติดต่อใกล้เคียงกัน
เช่น กลุ่มลาวเมืองหลวงพระบาง ลาวบ้านน้ำปาด-ฟากท่า อุตรดิตถ์ กลุ่มลื้อในแขวงไชยะบุรี
กลุ่มไทยวนในเขตวัฒนธรรมน่าน โดยเฉพาะน่านนั้นปรากฎหลักฐานชัดเจนทั้งในจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ (ภาพบนขวา)
และภาพเสื้อปั๊ดเจ้านาง ในราชสำนักหลวงพระบาง (ภาพล่างขวา)
ข้อมูลจากทีมงาน instagram @tee_kanok


พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63
แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นต้นราชสกุล ณ น่าน


แม่เจ้าศรีโสภา ชายาเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64
แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของนครน่าน
ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามประเทศ ในปี พ.ศ. 2475


แม่เจ้าบัวไหล เป็นชายาในเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ 22 และเป็นแม่เจ้าหลวงแห่งเมืองนครแพร่
และเมย์ เฟื่องอารมย์ จากเรื่องรอยไหม แสดงเป็นหม่อมบัวเงิน ซึ่งในละครบอกว่ามาจากเมืองแพร่


3. เมืองมัณฑ์ ละครได้รับแรงบันดาลใจจากเมืองมัณฑะเลย์
(กษัตริย์เมืองมัณฑ์, เจ้านางหลวงปัทมสุดา)
ถ้าในช่วงเวลานั้น ก็น่าจะตรงกับยุคราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ราชธานีอยู่ที่มัณฑะเลย์



การแต่งกายของช่วงปลายราชวงศ์คองบอง มีการใส่เสื้อแต่ตัวหลวมยาว
ผมมวยต่ำลง นุ่งผ้าทะเมนแบบกระโจมอกที่มีการต่อตัวต่อตีนลาก
ลวดลายของคลื่นในยุคนี้มีลักษณะเรขาคณิต ลายโค้งเรียบๆแต่อัดแน่น ไม่มีลวดลายพรรณไม้ ดอกไม้
เรียกว่า ผ้านุ่งลายลุนตยาอชิก พม่าออกเสียงว่า โลนต๊ะหย่า แปลว่าร้อยกระสวย
เพราะการทอผ้าลายคลื่นนี้ใช้กระสวยหลายสิบอันเลยทีเดียว และใช้เวลาในการทอนานมาก
ภาพวาดปี ค.ศ. 1843

พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าธีบอ (ขวา) กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า
พระนางศุภยาลัต (คนกลาง) และพระกนิษฐาของพระนางคือพระนางศุภยาคยี (ซ้าย)

ภาพหญิงสูงศักดิ์พม่า สมัยปลายราชวงศ์คองบอง


4. ล้านนา ละครได้รับแรงบันดาลใจจากเมืองเชียงใหม่
(ยังไม่ปรากฎตัวละคร ตอนแรกคาดว่าคือเจ้าละอองคำ แต่มีความคิดเห็นแสดงกันออกมาว่าน่าจะเป็นเจ้าในเชียงพระคำ
แต่จะยังขอใส่ข้อมูลเกี่ยวกับซิ่นในราชสำนักเชียงใหม่เอาไว้ด้วยนะครับ)

ซิ่นตีนจกไหมเงินคำราชสำนักเชียงใหม่
ซิ่นตีนจกแบบเชียงใหม่นั้นเรียกได้ว่าเป็นซิ่นที่เป็นมาตรฐานล้านนา
ลวดลายแน่นอนมีแบบแผนชัดเจน ลักษณะของซิ่น มีลวดลายเหมือนซิ่นตีนจกอื่นๆ
คือจกอยู่บนเชิงและปล่อยที่ว่างด้านล่างซิ่งที่เป็นสีแดง เรียกว่า เล็บซิ่น ลวดลายมีหลากหลาย
โดยปกติที่ตีนจะทอด้วยฝ้ายแต่ถ้าเป็นของเจ้านายหรือผู้ดีจะทอด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง ต่อกับตัวซิ่นลายขวาง
ในพระตำหนักของเจ้าดารารัศมี มีการต่อตัวซิ่นด้วยผ้าลุนตยาอชิคของพม่า
ภาพจาก Facebook : ผ้าลายอย่างเสกข์


ภาพจากละครเรื่อง รอยไหม
เจ้าอุบลวรรณา หรืออุบลวัณณา เป็นธิดาองค์เล็กของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6
และชลิดา ตันติพิภพ (แสดงเป็น พระชายา ในเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่)


5. สยาม (เจ้าศุขวงศ์, จอห์น แบร็กกิ้น)
ไม่เกี่ยวกับการแต่งกายชาติพันธุ์ทางตอนเหนือ แต่ขอเพิ่มเติมเพราะน่าสนใจและเกี่ยวกับเรื่องนะครับ


เครื่องแต่งกายแบบสากลที่ปรากฏในรากนคราใด้อ้างอิงจากจากรูปถ่ายของฝรั่งที่เข้ามาทำงานที่ลำปาง
ในการสัมปทานป่าไม้ในช่วงปี 2420-2427 ของบริษัทบริติชบอร์เนียว
และหมอมิชชันนารีที่เข้ามาในล้านนาและสยามในช่วงปีนั้น มาเป็นแรงบันดาลใจชุดสากลของเจ้าน้อยชุดนี้
จึงไม่ใช่ชุดของสยามชุดของสยามจะเป็นราชแพทเทริน์กะผ้าโจง
แต่เจ้าน้อยรับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายของตะวันตกมาแบบสากลมาร่วมใช้ด้วยเหตุผลที่ใด้ไปศึกษาที่สิงคโปร์มา
จาก instagram ของทีมงาม @poo_poly


พระหน่อนาถเนื้อเชื้อไขราชภาติยะเชียงพระคำ ข้าในสำนักแผ่นดินสยาม



#เพิ่มเติม
เจ้าศุขวงศ์ (หมาก) และ เจ้าแม้นเมือง (แต้ว) ในชุดพระราชพิธีเษกสมรส
อ้างอิงจากชุดของเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ และเจ้านางสุคันธา ณ เชียงตุง
พระธิดาในเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ในงานพระราชพิธีเษกสมรส ณ ลานหน้าหอหลวงเชียงตุง

สื้อกาบคำเ ใช้สำหรับพิธีแต่งงานของชนชั้นสูงแห่งเชียงตุง


สุดท้ายต้องชื่นชมและขอบคุณ บริษัท แอคอาร์ต มากๆ
ที่ทำละครอ้างอิงประวัติศาสตร์ ให้คนดูได้เรียนรู้ประว้ติศาสตร์ไปด้วยกัน
จริงๆจะทำให้สวยงามตามยุคตามสมัยก็ได้ แต่เจตนารมณ์ของบริษัทไม่เน้นแบบนั้น
มีจุดประสงค์ไม่ใช่แค่ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ทั้งความรู้และความบันเทิงไปด้วย

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ

เอกสารอ้างอิง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่