[SR] เก็บกระเป๋า นอนเตนท์ เข้าป่า ตามหาเห็ดแชมเปญ ที่เจ็ดคต สระบุรี

ทริปเก็บกระเป๋า หอบจักรยาน นอนเตนท์ เดินป่าตามหาเห็ดแชมเปญรอบนี้ ไม่ได้โดดงานนะ ไปวันเสาร์ตอนบ่าย กลับวันอาทิตย์ตอนเย็นได้สบายๆ แบบเจ้านายไม่รู้ด้วย ใช้เงินไม่เยอะ ประมาณ 1,000 บาท รวมค่าน้ำมันรถ อยู่ได้สบาย การออกไปลุยครั้งนี้ ต้องขอบคุณทาง Nikon ที่ใจดีให้ยืมกล้อง Nikon 1 J5 ตัวใหม่เอี่ยม พาออกมาบุกป่าฝ่าดง เลยได้ภาพมาฝากกัน




กล้องที่ใช้ถ่ายภาพ : NIKON 1 J5 Lens 10-30  
โหมดที่ใช้ง่ายที่สุดสำหรับเราคือ Mode P เพราะมันออโต้ทุกสรรพสิ่ง  ถูกใจเลยว่าง่ายๆ ใช้กล้องไม่เก่ง ก็ถ่ายได้นั่นแหละ แต่งานนี้ได้ใช้ Mode Creative Filter  ทำให้เราได้แต่งภาพสวยๆโดยไม่ต้องพึ่งแอพข้างนอก นอกจากนี้ ยังมี Mode D-Lighting ในตัวกล้อง NIKON 1 J5 มันช่วยเพิ่มความสว่างให้ภาพที่เราถ่ายมาแล้วมืด

สำหรับใครที่ต้องการคำแนะนำแบบละเอียด แชทมาได้ค่ะ หรือว่าจะ message มาทางนี้ก็ได้
https://www.facebook.com/kunbeejourney


ก่อนหน้านี้เราเคยไปที่เจ็ดคตมาแล้ว แต่ไม่ได้กางเตนท์ แค่แหกขี้ตาตื่นแต่ตี 4 ทำอาหารไปปิกนิก สูดอากาศดีๆ ที่นั่น แต่รอบนี้แหละ เอาจริงแล้ว!! เราตั้งใจเก็บกระเป๋าแบกเตนท์ มานอนที่นี่... งั้นขอพกกล้องตัวเล็กๆไปด้วยนะ แบกหนักกว่านี้ไม่ไหวละ เราเลยคว้ากล้อง NIKON 1 J5 โลด!! เหมาะมากกับทริปลุยๆ แบบนี้






เอาล่ะ...เรามาทำความรู้จักที่นี่กันก่อน ชื่อแบบเต็มๆ เค้าเรียกกันว่า ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคด-โป่งก้อนเส้า อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกรุงเทพฯ ก็แค่สระบุรีนี่เอง ขับรถประมาณ 130 กม. ก็ถึง ทางมาง่ายมาก ตรงยาวมาเลยเส้นวิภาวดีรังสิต ยิงยาวไม่มีเลี้ยว เจอสระบุรีปุ๊บ เลียวขวาโลด เข้าเส้นมิตรภาพ ตรงมาเรื่อยๆ จนเจอบริษัทปูนซีเมนต์ ก็เตรียมกลับรถได้เลย พอกลับรถมา ก็เตรียมชิดซ้าย แล้วจะมีซอยเล็กๆ บอกทางเข้าอยู่ ถ้าให้ดี google maps นิดนึงก็ได้นะ เดี๋ยวเลย

รอบนี้เราไปถึงช่วงบ่ายๆ สิ่งแรกที่ไปถึง แวะที่จุดบริการก่อน พูดง่ายๆ เข้าไปเช็คอินนั่นแหละ ควรเข้าไป เพราะเค้าจะได้รู้ว่าเรามาที่นี่ ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เกิดเหตุอะไร ทางเจ้าหน้าที่จะได้ตามหาถูก

สำหรับค่าบริการที่นี่เค้าไม่เก็บสักบาท แล้วแต่จะสะดวกใจเลย ว่าอยากช่วยค่าบำรุงสถานที่เท่าไร หรือถ้าใครแอบหนีงานมา ไม่ได้เตรียมตัว ที่นี่เค้ามีให้เช่า ตั้งแต่เตนท์ หมอน ฟูก ผ้าห่ม ผ้าใบ ยันเตาปิ้งอาหาร และมีของขายทั้งน้ำปลา น้ำตาล ผงชูรสมีหมด หรือใครขี้เกียจทำ ที่นั่นมีร้านอาหารนะ แต่ปิดไวหน่อย ทุกอย่างที่นี่ ราคาไม่แพงด้วย คือเรียกว่าพร้อมนอนพร้อมกิน

หรือใครพกกล้อง พกสิ่งที่ต้องชาร์จไฟไป ก็ไม่ต้องห่วง ต่อให้นอนเตนท์ก็ไปชาร์จไฟที่จุดชาร์จได้ แต่ถ้าเป็นของมีค่ายืนเฝ้าหน่อยก็ดี ค่าบริการก็แล้วแต่จะสะดวกใจเช่นกัน ที่นี่ใจดีเนอะ....หรือจะพกของที่ควรต้องใช้ไปเอง ก็เซฟๆ เหมือนกัน
-    ไฟฉาย
-    ยาทากันยุง
-    Power bank
-    ทิชชู่เปียก
-    สัญญาณโทรศัพท์ที่มี  AIS & TRUE

หลังจากนั้น ก็หาที่กางเตนท์กันได้เลย ชักช้าเดี๋ยวจะมืด วันนี้เรากางตอนประมาณ 4 โมงเย็น แดดฝั่งนี้ไม่มีแล้ว  แถมโชคดีซะนี่ ไม่ได้ไปช่วงหยุดยาว ได้วิวดี ตื่นมาวิวภูเขา วิวน้ำเลย แต่ห้ามละเมอ ไม่งั้นลงน้ำแน่นอน  

ด้วยสภาพเรากับเพื่อนไม่ได้กางเตนท์มานาน ใช้เวลากางเกือบชั่วโมง โยนของเข้าเตนท์ แล้วรีบเอาจักรยานออกจากรถ แล้วเราไปปั่นรอบๆ กัน ที่นี่จะมีเส้นทางปั่นจักรยานด้วย รอบนึงเราก็คิดว่าจะเบาๆ ทำไปทำมาเหนื่อยเหมือนกัน หรือใครอยากจะปั่น ที่นี่ก็มีให้เช่า ชั่วโมงละ 50 บาทเอง ป่ะ...ออกไปปั่นกัน ออกไปถ่ายรูปกัน



วิวเส้นทางปั่นจักรยาน ที่เราไปปั่นมา งานกว้างๆ แบบนี้ใช้โหมดที่ชีวิตง่ายที่สุดคือ Landscape



ช่วงระหว่างทางดอกไม้น่ารักๆ จะเยอะหน่อย เอาจริงๆ ไม่รู้ว่าเป็นดอกไม้หรือวัชพืช แต่มันถูกใจเรา ก็เลยจัดมานิดหน่อย..



หลังจากปั่นจักรยาน ถ่ายรูปเล่นมาเรียบร้อย ก็ได้เวลามื้อเย็นแล้ว....เย็นนี้แหละ เราจะทำอาหารกินเอง เตรียมวัตถุดิบมาจากกรุงเทพฯ งานแบบนี้มันต้องจิ้มจุ่มร้อนๆ เราหอบเตาแก๊สพกพามา หอบผัก หมู น้ำจิ้มมา กับโจ๊กซอง โกโก้ซองมาเอง คืนนี้ว่าจะนั่งกินชิวๆ สักหน่อย ผ่านไปสักแป๊บ 2 ทุ่มแล้วอย่างไวเลย  

“เห้ยยยยยย ที่นี่มันมืดเนอะ......”
อือ....ฝนจะตกป่ะเนี่ย ไมเมฆต่ำซะขนาดนี้”

ไม่ถึง 5 นาที เอ้า....ฝนเทลงมา ปรอยๆ ก่อนจ้ะ เอ้า...ต้องเอาเตาแก๊สเข้าเตนท์ไปอีก แต่ยังสบายยยยยย...ตกเอื่อยๆ อยู่ครึ่งชั่วโมงฟ้าก็กลับมาใสเหมือนเดิม ออกไปถ่ายรูปซะหน่อย ลืมเอาขาตั้งกล้องมา ไม่เป็นไร ตั้งบนไฟฉาย กับถังน้ำแข็ง แล้วตั้งโหมด Manual ถ่ายภาพซะ



ถ่ายรูปไปๆ มาๆ ไม่ถึง 10 นาที เอาอีก เอาอีกแล้ว!! ฟ้ามืดอีกแล้ว รอบนี้ เทลงมาๆๆ รอบนี้ หึ...เตนท์เก่าแล้ว ไม่ได้กางนาน หึ...น้ำเข้าทางหลังคาเตนท์ ไหลไปข้างๆ ซึมลงมาขอบเตนท์ เอ้ออออ...หนุกดี ใครไม่อยากชิวแบบนี้ กางเตนท์หน้าฝน ให้เอาผ้าใบคลุมหลังคาอีกทีนะ ไม่งั้นชิวยันเที่ยงคืนแบบเราแน่ๆ เอาเป็นว่าฝนตกยัน 4 ทุ่มขนาดนี้ กด skip การอาบน้ำไป 1 ครั้งแล้วกัน

เข้าสู่โหมดการกิน แล้วนอนจนเที่ยงคืนกว่า ฝนหยุดตก ทีนี้ก็นอนสบายๆ ยันเช้า ตื่นมาตอน 6 โมงเช้า เพื่อจะถ่ายรูปวิวของที่นี่ อยากเห็นหมอกอ่ะ ให้มันคุ้มกับการพากล้อง NIKON 1 J5 มาเที่ยวหน่อย แล้วก็ไม่ผิดหวัง มีนิดนึงก็สบายใจแล้ว





ตอนเช้าๆ รอบๆ เตนท์จะมีไก่ป่ามาเดินกันแต่เช้า ดูแล้วก็น่ารักๆ ดี เข้าใกล้ไม่ได้เลย หนีตลอดๆ



มุมตรงนี้พอหลัง ดวงอาทิตย์พ้นขอบภูเขามาเมื่อไร บอกเลยอย่างร้อน รีบเก็บเตนท์ รีบเก็บกระเป๋าไว้เลยก็ดี อันนี้พูดจริงๆ นะ เราพลาดมาแล้ว

ก่อนออกไปเข้าป่า ทำอาหารกินกันเองหน่อย รอบนี้เราไม่ซื้อกินเราเน้นงานทำเอง ไม่อร่อยเหรอ ก็ต้องกิน เคนะ....



กินเสร็จมันก็ต้องถ่ายรูปอวดกันหน่อย โชคดีรอบนี้ได้กล้องที่มี Wifi ในตัว จึงสามารถโหลดรูปจากกล้องเข้ามือถือได้เลย...ฮี่ๆๆๆ แต่ก่อนต้องใช้เมมการ์ด Wifi เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว สบายยย โหลดเข้ามือถือปั๊บ อัพอวดเลย



วันนี้ก็ตั้งใจว่าจะกด skip การอาบน้ำอีกมื้อ ไปจัดยาวที่กรุงเทพฯ เพราะเดี๋ยวเราจะไปเดินป่า ตามหาเห็ดแชมเปญกัน ยังไงก็ร้อนอยู่ดี ไม่ต้องอาบก็ได้มั้ง เลยเดินขึ้นไปที่ศูนย์บริการเพื่อจองคิวเดินป่า ดันเจอห้องน้ำมุมเด็ดซะนี่ ห้องน้ำตรงนี้จะมีห้องอาบน้ำห้องเดียว ดูเป็นส่วนตัวหน่อย เลยรีบวิ่งไปเก็บเตนท์ให้มันร้อนสุดๆ แล้ววิ่งมาอาบน้ำเย็นสะใจมาก ก่อนจะพกกล้องออกไปเดินป่ากัน

สำหรับการเดินป่าที่นี่จะมี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่

รอบเล็ก ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางได้ เดินไปเองได้ ไปกลับระยะทางประมาณ 1.5 กม.

รอบกลาง ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ไปกลับระยะทางประมาณ 3 กม. ผ่านน้ำตกเจ็ดคต เหนือ-กลาง-ใต้ ใช้เวลาเดินไปกลับ 3 ชั่วโมง เสียค่าบริการ 300 บาท จะเดินกี่คนก็ได้ คนเดียวก็ราคานี้เหมือนกัน เราเลือกเดินรอบนี้

รอบใหญ่ ระยะทาง ประมาณ 4 กม. เดินไปกลับประมาณ 4 ชั่วโมงนิดๆ

เอาล่ะ!! ได้เวลาแล้ว สะพายกล้อง เดินป่าตามหาเห็ด แชมเปญ หรือที่เค้าเรียกว่าเห็ดถ้วยกัน.....



รอบนี้เราไปกับลุงป้อม คุณลุงผู้นำทางเดินป่าไปหาเห็ด แกเดินคล่องมาก คอยบอกทาง แนะนำตลอดว่าข้างหน้าจะมีอะไรบ้าง
สำหรับการเดินรอบนี้แกบอก เดี๋ยวไปทางทุ่งก่อนนะ แล้วค่อยวนเอา ไม่งั้นเดี๋ยวจะไม่ไหวเอา ในใจนี่คิด 3 โลเอง วิ่งก็ยังทำมาแล้ว เดินก็เดินมาแล้วเกินกว่านี้ แค่นี้เบๆ บอกเลยว่าคิดผิด 3 โลภูเขา มันทางเรียบ 10 โลชัดๆ หึ...

ที่นี่ตอนกลางคืนสัตว์ป่าจะเข้ามาหาอาหาร และที่เจ็ดคตนี้ เค้ามีการทำโป่งเทียม และที่นี่มีโป่งกวาง ดึกๆ น้องกวางเค้าจะมากินกัน



ทางช่วงนี้เดินเรียบๆ ชิวๆ เลยทางตรง ทางเป็นทุ่งสบายๆ ยังๆ ยังไม่รู้ตัว ว่าจะเจอไรบ้าง แค่รู้ว่ากำลังตื่นเต้นเพราะลุงบอกว่า ช่วงนี้เท่านั้นที่มีเห็ดแชมเปญ ต้องหน้าฝนนี่แหละ ฝนตกแบบนี้แหละ กำลังมาเลย เค้ากำลังเกิดกันเลย แล้วก็เพิ่งรู้ด้วยว่าเห็ดแชมเปญนี้ มีแต่ที่เจ็ดคตเท่านั้นนะ ยิ่งตื่นเต้นเข้าไปอีก
แนะนำว่าก่อนเข้าป่า ทายากันยุงกันด้วย ใส่รองเท้าผ้าใบ แขนยาว ขายาวก็ดี ที่บอกมาทั้งหมดเราทาแค่ยากันยุง กับใส่ผ้าใบ แล้วเดี๋ยวรู้เลย

ระยะทาง 3 กม. ในป่าเจ็ดคต กำลังเริ่มขึ้น....เจอแล้วววววว เห็ดแชมเปญเอ้ยยยยยย ยิ่งเดินเข้ามาก็จะยิ่งชื้น เหงื่อเราก็จะยิ่งออกเยอะขึ้นนะ พกผ้าเช็ดหน้าไปกันด้วยก็ดี ส่วนการถ่ายรูป ในนั้นมันก็จะค่อนข้างมืดๆ หน่อย เลือกโหมด P ตามเสต็ปเราเอง ถ้าอยากเน้นงานใกล้ ค่อยจัดโหมด Close-Up ที่มากับกล้อง มันจะโฟกัสมุมแจ่มๆ ให้เราเองเลย ตอนถ่ายเห็ดเราได้ใช้โหมดนี้เยอะสุดละ....ลุงป้อมบอกว่าเห็ดแชมเปญช่วงนี้จะมีสีประมาณ แดงอมชมพู แดงอมส้ม  ส้ม แล้วก็มีทั้งแบบมีขนกับไม่มีขนด้วย







ยิ่งเราเดินลึกมันก็ยิ่งชื้นกว่าเดิม เห็ดก็เยอะกว่าเดิม นี่กำลังรออยู่นะลุง เมื่อไรจะถึงเห็ดแชมเปญแบบที่มีขนอ่ะ ระหว่างทางที่เดิน มันไม่ได้มีแค่เห็ดเดียว มีอีกมากมายตามทาง เจองาน Close-Up ถ่ายใกล้แบบรัวๆ เจ้าเห็ด ฮ่าๆๆๆ เราชอบตรงที่ใช้โหมดนี้แล้วมันเด่นเฉพาะจุด ง่ายๆ แหละหน้าชัดหลังเบลอ กล้องจะโฟกัสให้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เหมาะสำหรับคนที่ใช้โหมด Manual ไม่ค่อยเก่งอย่างเรา















ตอนนั้นจำได้ว่าไม่รู้ตัวแล้วว่าเดินมานานเท่าไร รู้ตัวอีกทีลุงป้อมพาเดินผ่านไปเป็นชั่วโมง ไม่ได้หยุด ใกล้น้ำตกเข้ามาทุกที โอ๊ย...ทางก็เดินยากจัง แต่ลุงแกเดินง่ายมาก และแล้วเราก็ถึงน้ำตก ลุงบอกว่าน้ำตกเจ็ดคตนี่ส่วนนึงทางอุทยานเขาใหญ่จะเป็นผู้ดูแล อีกส่วนนึงก็ที่นี่แหละ นี่เราอยู่เขาใหญ่แล้วเหรอวะเนี่ย 555 เดินไกลไปแมะลุง ใจนี่แทบทะลุออกจากเบ้าอก
ชื่อสินค้า:   เจ็ดคตโป่งก้อนเส้า
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่