คสช.เดินหน้า!!สอบ"ธัมมชโย"ปัดใช้ม.44 สางปมปาราชิก ได้จริงหรือ ?

กระทู้คำถาม
คสช.เดินหน้า!!สอบ"ธัมมชโย"ปัดใช้ม.44 สางปมปาราชิก

ความคืบหน้าการรื้อฟื้นคดีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วยคฤหัสถ์และบรรพชิต เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติในประเด็นที่พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตาม พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ จนถึงขณะนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาลคสช.ได้เดินเรื่องเป็นที่เรียบร้อย โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับช่วงคราวพ.ศ.2557 มาตราที่44 โดยขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือว่าปปช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนทางสำนักข่าวทีนิวส์ก็จะได้ตอกย้ำในประเด็นสำคัญอันเป็นที่มาที่ทำให้พระธัมมชโยต้องถูกตรวจสอบว่าอาบัติปาราชิกแล้วหรือไม่และการสั่งถอนฟ้องคดีเมื่อปีพ.ศ.2549ในยุคของนายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยใช่หรือไม่

สำหรับที่มาของเรื่องนี้ถูกระบุเอาไว้เป็นคดีดำ หมายเลขที่ 11651/2542และคดีดำหมายเลข 14735/2542 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระราชภาวนาวิสุทธิ์หรือพระไชยบูลย์ ธัมมชโยหรือนายไชยบูลย์ สิทธิผล อายุ 62 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และนายถาวร พรหมถาวร อายุ 57 ปี ลูกศิษย์คนสนิท เป็นจำเลยที่ 1-2ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยสุจริต และเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และเงิน จำนวน 29,877,000บาทไปซื้อที่ดินเนื้อที่ 902 ไร่เศษ ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 เช่นกัน

ต่อมาในปีพ.ศ.2549 อัยการได้ถอนฟ้องโดยในคำร้องระบุต่อไปว่า บัดนี้ ข้อเท็จจริงในการเผยแพร่คำสอนปรากฏจากอธิบดีกรมการศาสนาผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลขาธิการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 1 ว่า ในปัจจุบันจำเลยที่ 1กับพวก ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎก และนโยบายของคณะสงฆ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนาทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก

สำหรับในด้านทรัพย์นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1กับพวกได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000 บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว

คำร้องระบุ"ประกอบกับขณะนี้บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่าเห็นว่า หากดำเนินคดีจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรโดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณรและประชาชนทั้งในและต่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ และไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนคดีนี้ ดังนั้น โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ทุกข้อกล่าวหาขอศาลโปรดอนุญาต"

ศาลได้สอบถามว่าจำเลยทั้งสองจะคัดค้านหรือไม่ จำเลยทั้งสองแถลงว่า ไม่คัดค้านพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ก่อนศาลมีคำพิพากษา เมื่อจำเลยทั้งสองคนไม่คัดค้านที่โจทก์ถอนฟ้องจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.35จึงอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง และจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความของศาลอาญา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 35 คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใดถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย

คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้อเท็จจริงแม้จะผ่านมาแล้วกว่า17ปีและแม้ว่าจะมีการถอนฟ้องพระธัมมชโยไปแล้วก็ตาม แต่ที่ชัดเจนจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีใครมาหักล้างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ หรือพูดง่ายๆก็คือว่า พระธัมมชโยได้มีการแอบนำเอาเงินของวัดไปซื้อที่ดินแล้วไปมอบให้กับลูกศิษย์คนสนิทจริง ซึ่งพฤติกรรมในลักษณะนี้ถือว่าเข้าเกรณการอาบัติขั้นสูงสุดที่เรียกว่าปาราชิกแล้วใช่หรือไม่ และตามพระธรรมวินัยหากพระรูปนั้นได้อาบัติปาราชิกไปแล้ว แต่ยังห่มผ้าเหลืองอยู่จะถูกเรียกว่าอลัชชี หรือที่แปลว่า ผู้ไม่ละอาย

อาบัติขั้นสูงสุด เรียกว่า ปาราชิก เป็นความผิดที่ละเมิดข้อห้ามใดข้อห้ามหนึ่งในจำนวน ๔ ข้อ คือ
๑.เสพเมถุน
๒.ถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้หรือลักขโมยนั่นเอง
๓.ฆ่ามนุษย์ให้ตาย
๔.อวดอุตริมนุสธรรม

พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกสี่ข้อใดข้อหนึ่ง แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบท ก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เมื่อความผิดสำเร็จ เมื่อขาดจากความเป็นพระแล้ว ก็ถือว่าไม่ใช่พระภิกษุอีกต่อไป ไม่สามารถอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นหรือคณะหมู่สงฆ์ได้เลย ต้องลาสิกขาบทออกจากเป็นพระภิกษุทันที มิฉะนั้นจะกลายเป็นพวกอลัชชี (แปลว่า ผู้ไม่ละอาย) นอกจากนั้นจะไม่สามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ได้เลยตลอดชีวิต แม้จะบวชเข้ามาได้ก็ไม่ใช่พระภิกษุที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และไม่อาจเจริญในพระธรรมวินัยจนไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานใด ๆ เลยตลอดชีวิต (เพียงชาติที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น) เพราะเป็นมูลเฉทคือ ตัดรากเหง้า เปรียบเสมือนคนถูกตัดศีรษะ เป็นตาลยอดด้วน แต่ที่ไม่ห้ามขึ้นสวรรค์ซึ่งแตกต่างกับอนันตริยกรรมที่ห้ามทั้งสวรรค์และนิพพานเพราะอาบัติปาราชิกนั้นมีไว้สำหรับเพศบรรชิต ถ้าพระภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้นสำนึกผิดและลาสิกขาบทออกจากเป็นพระภิกษุแล้วทำบุญกุศลแล้วตายไปก็จะสามารถขึ้นสวรรค์ได้ แต่ถ้ายังดื้อด้านไม่ยอมลาสิกขาบทอยู่ในผ้าเหลืองจนตาย ตายไปต้องตกนรกที่ลึกที่สุดคือ มหาขุมนรกอเวจี

ตามข้อมูลของพระธรรมวินัยและพฤติกรรมของพระธัมมชโยที่เกิดขึ้นจะทำให้พระธัมมชโยเข้าข่ายเป็นอลัชชีไปแล้วหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่คุณผู้ชมต้องพิจารณาดู เพราะฉะนั้นเพื่อให้เรื่องที่เกิดขึ้นได้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง จึงได้เกิดการเรียกร้องไปยังกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาล คสช.ให้ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้เสียที

ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศูนย์บริการประชาชน ภายในสำนักงาน ก.พ.ถนนพิษณุโลกหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยเดินทางเข้าพบ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
         
ทั้งนี้ เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ เร่งรัดดำเนินการเอาผิดพระธัมมชโย เจ้าอาวาสพระธรรมกาย หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยความผิดของพระธัมมชโย ที่หลวงปู่พุทธะอิสระได้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ กรณีที่พบว่า พระธัมมชโยนำเงินออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของวัดพระธรรมกาย ไปซื้อที่ดินที่ อ.ชนแดน และ อ.เขาพนมพา อ.วังทรายพูน แล้วใส่ชื่อตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยมิได้แจ้งจดการได้มาลงในทะเบียนศาสนาสมบัติของวัดพระธรรมกาย โดขอให้พลเอกประยุทธ์ควบคุมสั่งการ เร่งรัด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเอาผิดกับพระธัมมชโยด้วยการให้สึก รวมทั้งให้เอาผิดกับผู้ที่ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบหรือข้อกฎหมายให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของตน อาทิ พนักงานอัยการ ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้าราชการ เจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้นซึ่งถือว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐผู้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวว่า วันนี่ที่มายื่นหนังสือตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้มูลความผิดว่าพระธัมมชโยเป็นอาบัติปาราชิกในข้อหายักยอกทรัพย์ของวัดและอวดอุตริมนุษย์ รวมทั้งการที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตวินิจฉัยว่าพระธัมมชโยขาดความเป็นพระ จึงมาขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐและสำนักงานพระพุทธศาสนา ช่วยเร่งรัดคดีนี้ตามกฎหมายปกติ ไม่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะเรื่องนี้ยืดเยื้อมานาน 17 ปี สิ้นสมเด็จพระสังฆราชไป 2 องค์ ผ่านมาแล้ว 6 รัฐบาล แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้ เมื่อ คสช.เข้ามาบริหารประเทศก็ได้ให้สัญญาว่าจะบังคับใช้กฎหมายด้วยความเท่าเทียมทั่วถึงและเที่ยงธรรม ใครผิดก็ว่ากันไปตามผิด จึงมั่นใจว่าสมเด็จพระสังฆราชจะไม่จากไปอย่างมีมลทิน

"ฉันเห็นข่าวว่าจะมีการถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช ฉันจึงมาขอความกรุณาท่านนายกฯ ให้ช่วยเร่งคดีนี้ให้จบก่อนที่จะมีการถวายพระเพลิง อย่าให้สมเด็จพระสังฆราชจากไปอย่างมีมลทินเลย"

เพราะฉะนั้นความหวังเดียวของพุทธศาสนิกชนที่ติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด จึงอยู่ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และกระบวนการยุติธรรมว่าจะชำระสะสางเรื่องที่เกิดขึ้นให้แล้วเสร็จได้
แต่เมื่อพิจารณาจากการออกมาให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ก็ดี รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าตอนนี้ขั้นตอนการตรวจสอบตามกฎหมายอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรา44

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "มีวิธีการตั้งเยอะแยะ กฎหมายปกติก็มีอยู่ และระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการสอบสวน ถ้ามันถูกก็ว่าไปตามถูก แต่ถ้าผิดก็ต้องว่าไปตามผิด จะใช้มาตรา 44 ไปจับพระอย่างนั้นหรือ ให้มันรู้เรื่องกันบ้าง"
   
ผู้สื่อข่าวถามว่า เจตนาต้องการให้ตรวจสอบเรื่องผิดพระธรรมวินัย นายกฯ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องก็ตรวจสอบอยู่แล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ตรวจสอบอยู่ มีผลสอบสวนออกมาระยะหนึ่ง ไปตรวจค้นกันดู อย่าไปขัดแย้งกันมาก ผิดก็คือผิด อย่างไรก็ผิด วันนี้ผลสอบยังไม่ออก เดี๋ยวคณะกรรมการชุดเดิมก็สอบมีผลออกมา ให้เวลาฝ่ายกฎหมายทำงานบ้าง จะมาเร่งอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาต่อสู้กัน กฎหมายก็เดินหน้าไม่ได้ การพิจารณาต่างๆ ก็ติดขัดไปหมด เพราะมีการสร้างความขัดแย้งสูง ผิดหรือไม่ล่ะ มันก็ผิด ไม่ผิดวันนี้ก็ผิดวันพรุ่งนี้ ถ้าทุกคนยอมรับความผิดกันทั้งหมด ถึงจะมาคุยกันได้ว่าจะหาทางออกกันอย่างไร แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกมันก็ยากและลำบาก ทุกคนจะยอมหรือไม่

ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวกรณีศิษย์วัดพระธรรมกายชุมนุมให้ยุติการดำเนินการกับพระธัมมชโยว่า ขอให้แยกแยะระหว่างกระบวนการยุติธรรมกับความรู้สึก เพราะพระสงฆ์ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หากทำผิดก็ต้องรับโทษ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นประเด็นสองมาตรฐาน หากกลุ่มลูกศิษย์มั่นใจว่าพระไม่ได้ทำผิดก็ควรปล่อยให้กระบวนการตรวจสอบดำเนินต่อไป เพราะหากไม่ผิดจะตั้งกรรมการหรือสอบสวนใหม่กี่ครั้งก็ย่อมไม่มีความผิด แต่หากกลัวว่าจะมีความผิดแล้วอ้างความสงบภายในบ้านเมืองเพื่อให้ยุติเรื่องยุติการตรวจสอบแล้วความเป็นธรรมจะอยู่ตรงไหน และการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้มีการตั้งกรรมการร่วมก็ถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่