เปลี่ยนประเทศไทย : ที่มา ส.ว. โดยผ่านการเลือกตั้งทางอ้อม

กระทู้สนทนา
ก็ทราบกันแล้วว่าคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้มีมติให้ ส.ว. มาจากการสรรหาแต่ต้องมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ต้องขอบอกเลยว่าในฝ่ายนิติบัญญัติวุฒิสภาได้ถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2489 แต่ที่มาของ ส.ว. นั้น จะมาจากการสรรหาเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่มีการกำหนดจำนวนที่แน่นอน ซึ่งก็เป็นไปตามคณะสรรหา จนมาถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยในรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการกำหนดให้ ส.ว. มีทั้งหมด 200 คน โดยมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 2550 จะกำหนดให้ ส.ว. มีจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 76 คน (ก่อนที่จะมาเพิ่มเป็น 77 คนเมื่อตอนมี จ.บึงกาฬ) ส.ว. มาจากการสรรหาโดย 7 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ จำนวน 73 คน เนื้อข่าวดังนี้

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงมติของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งพิจารณาในส่วนของที่มาของวุฒิสภา ว่า จะให้มีจำนวนไม่เกิน 200 คน โดยมีที่มา 5 ทาง ได้แก่
1.มาจากอดีตผู้นำในอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อาทิ นายกรัฐมนตรี, ประธานรัฐสภา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องมีคุณสมบัติที่ไม่ขัดกับข้อกำหนด คือ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง,
2.อดีตข้าราชการระดับสูง อาทิ อดีตปลัดกระทรวง, อดีตผู้นำเหล่าทัพ,
3.ประธานองค์กรวิชาชีพหรือผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ เช่น ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, แพทยสภา,
4.กลุ่มภาคประชาชน เช่น สหกรณ์การเกษตร, สหภาพแรงงาน, องค์กรภาคประชาชน โดยทั้ง 4 ช่องทางนั้นจะมาจากกระบวนการสรรหาตามสัดส่วนที่จะกำหนดอีกครั้ง และ
5.ให้มีการเลือกตั้งทางอ้อม ผ่านการเลือกสรรจากสภาวิชาชีพที่หลากหลาย จากนั้นให้นำบุคคลที่ได้รับการสรรหานั้นไปให้ประชาชนลงคะแนนรับรอง ตามจำนวน โดยวิธีการเลือกตั้งนั้นจะมีการกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การกำหนดให้วุฒิสภามาจากที่มาดังกล่าวเพื่อให้วุฒิสภาเป็นสภาพหุนิยม และพหุอำนาจนิยมเปรียบเป็นกระจกสะท้อนความหลากหลายจากทุกกลุ่มอำนาจที่มีอยู่จริงในสังคมไทย ไม่ใช่สะท้อนอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งต้องไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่าสำหรับอำนาจของวุฒิสภา ที่เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาคือ
1.สามารถเสนอร่างกฎหมายได้ โดยเมื่อร่างกฎหมายผ่านชั้นวุฒิสภาแล้วให้ส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา โดยประเด็นดังกล่าว กมธ.ได้พิจารณาถึงประเด็นการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ที่จะมาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญในภาค 4 หมวด 1 ว่าด้วย การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม เพื่อสานต่องานปฏิรูป,
2.ให้ส.ว.ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากนายกฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ก่อนจะนำความกราบขึ้นบังคมทูล, หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานพร้อมกับเปิดเผยการตรวจสอบให้สาธารณะได้รับทราบ โดยประเด็นการตรวจสอบนั้นมีข้อเสนอให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และ สมัชชาจริยธรรม ได้ตรวจสอบจริยธรรมของส.ส., รัฐมนตรี, ข้าราชการระดับสูง, องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หากพบว่ามีความผิดจริยธรรมสามารถเข้าสู่กระบวนการถอดถอนได้,
3.วุฒิสภาสามารถลงมติร่วมกับส.ส. ในกรณีการถอดถอนนายกฯ, รัฐมนตรี, ส.ส.,ส.ว. และข้าราชการระดับสูง โดยให้ใช้เกณฑ์คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา ขณะที่อำนาจและหน้าที่ของส.ว.เดิม อาทิ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง, การอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ, การตั้งกระทู้ถาม ยังคงไว้เช่นเดิม
“กรณีที่ให้ส.ว.ตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากนายกฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนั้น เบื้องต้นจะกำหนดให้มีเวลาตรวจสอบประมาณ 2 สัปดาห์ โดยประเด็นนี้จะทำให้เกิดความตระหนักก่อนที่นายกฯ จะเสนอชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งของส.ว. ทางกมธ. ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีการหารือกันว่าส.ว.ไม่ควรอยู่ยาว และมีวาระเพียง 3 ปีเท่านั้น โดยประเด็นดังกล่าวจะมีการหารือกันอีกครั้ง” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวต่อว่าสำหรับที่มาของนายกฯ ได้ข้อสรุปแล้วว่า นายกฯ จะมีที่มาเหมือนเดิมกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 172 คือมีที่มาจากการเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภา เป็นผู้นำความกราบขึ้นบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ทั้งนี้จะไม่บังคับให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น เพื่อเปิดช่องให้มีนายกฯ มาจากบุคคลภายนอกเมื่อเกิดเหตุวิกฤตทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น โดยธรรมชาติ และ ตรรกะทั่วไป เมื่อบัญญัติไว้ว่าให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติเลือกนายกฯ และให้ประธานสภาฯ เป็นผู้นำความกราบขึ้นบังคมทูลฯ โดยทั่วไปนายกฯ น่าจะมาจาก ส.ส.

ข่าวโดย กรุงเทพธุรกิจ

#ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่