ทิศทาง ถอดถอน ในกำกับ รัฐบาล “คสช.” กินแบ่ง หรือกินรวบ

กระทู้ข่าว
ทิศทาง ถอดถอน ในกำกับ รัฐบาล “คสช.” กินแบ่ง หรือกินรวบ

ผลการประชุมสนช.เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน ว่าด้วยอำนาจในการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช เป็น “บททดสอบ” อันแหลมคมยิ่ง
จาก “เกจิ” การเมืองภายใน “คสช.”
เหมือนกับ 87 เสียงที่ยกมือให้กับการมีอำนาจในการถอดถอนจะสร้างความพึงพอใจให้กับฝ่ายที่ต้องการถอดถอนเป็นอย่างสูง
เพราะหมายถึง “ชัยชนะ”
กระนั้น ลองไปฟัง “น้ำเสียง” อันมาจาก นายนิคม ไวยรัชพานิช อันมาจาก นายอำนวย คลังผา อันเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มซึ่งตกเป็นเป้าหมายที่จะถอดถอน
กลับไม่วิตกกังวล กลับยอมรับต่อ “มติ” นี้ได้
สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะเป็นชัยชนะของฝ่ายที่ต้องการถอดถอน แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นชัยชนะอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
อีกฝ่ายก็ยังมี “ความหวัง” อยู่เหมือนกัน

ปมเงื่อนของเรื่องนี้อยู่ที่จำนวน เพราะว่าตามรัฐธรรมนูญไม่ว่า พ.ศ.2540 ไม่ว่า พ.ศ.2550 บัญญัติไว้ว่าเสียงที่จะสามารถถอดได้ต้องเป็นเสียง 3 ใน 5 ของจำนวนที่มีอยู่
หากเป็นสนช.ปัจจุบันก็ต้อง 132 เสียงขึ้น
ประเมินจาก 87 ที่เห็นชอบว่าสนช.มีอำนาจหมายถึงว่าจะต้องหาอีก 45 เสียงจึงจะสามารถถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช ได้
หาจากที่งดออกเสียงก็ 15
หาจากที่ไม่ได้เข้าประชุมก็มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 40 แต่สงสัยบ้างหรือไม่ว่าเหตุใดสมาชิกสนช.เหล่านี้จึงไม่อยู่ในห้องประชุม และปล่อยให้ฝ่ายที่เห็นด้วยกับอำนาจในการถอดถอนได้คะแนนชนะไป 87 ต่อ 75
ต่างกันเพียง 8 เสียงเท่านั้นเอง

ความเป็นจริงที่ไม่ควรมองข้าม 1 ก็คือ สมาชิกสนช.กว่า 130 คนเป็นสมาชิกในสายทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน
และอีก 1 คือ สมาชิกที่ขาดประชุมเป็นสมาชิกสาย “กองทัพบก”
ผู้คนต่างก็รู้อยู่เป็นอย่างดีว่า ทหาร “กองทัพบก” ล้วนอยู่ในระเบียบวินัย จะปฏิบัติอะไรก็ต้องเป็นไปตามคำสั่งของ “ผู้บังคับบัญชา”
เท่ากับสะท้อน “ผู้บังคับบัญชา” ต้องการให้เป็นเช่นนี้
เท่ากับว่า มติเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน เป็นการเปิดทางให้สถาปนา “อำนาจ” ในการถอดถอน แต่ก็มิได้หมายความว่าอำนาจนี้จะดำเนินไปโดยไม่มีการกำกับและควบคุม
อำนาจนี้ก็ยังอยู่ในมือของ “ผู้บังคับบัญชา” อยู่ดี

ประเด็นอยู่ที่ว่า เป้าหมายของ “ผู้บังคับบัญชา” ที่กำหนดเอาไว้คือประเด็นในแบบใด
1 ประเด็นที่ต้องการแตกหัก ถอดถอนให้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง หรือ 1 ประเด็นที่ประนีประนอม ไม่ต้องการแตกหัก แต่ต้องการประนีประนอม แบ่งปันกันคนละครึ่ง
เป็นสลาก “กินแบ่ง” มิได้เป็นสลาก “กินรวบ”


http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRReE5UTTJPVFkwTlE9PQ%3D%3D&sectionid
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่