มารู้จักภาวะเสพติดแอลกอฮอล์กันเถอะ!!!

เหล้าซักแก้วหลังอาหารเย็น เบียร์ซักขวดหลังเลิกงาน หรือแม้แต่ค็อกเทลในวันหยุด แอลกอฮอล์ดูเหมือนจะอยู่กับเราในทุกๆ โอกาส โดยที่เราไม่ได้คำนึงถึงมากนัก และมันก็คล้ายกับยาที่เรากินบางตัวที่สามารถเสพติดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

คนไทยมักใช้แอลกอฮอล์ในภาวะต่างๆ ทั้งในยามดีใจ เสียใจ ฉลอง ฯลฯ และมีคนจำนวนไม่น้อยจากกลุ่มนี้ที่กลายเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะเสพติดแอลกอฮอล์ โดยคนเหล่านี้จะต้องใช้แอลกอฮอล์เป็นประจำและไม่สามารถมีชีวิตปกติได้โดยขาดแอลกอฮอล์

ในกรณีหากคุณกลายเป็นผู้เสพติดแอลกอฮอล์ ซึ่งคุณคงเข้าใจว่าจะต้องดื่มแอลกอฮอล์ทุกคืนใช่หรือไม่ คำตอบคือคุณคิดผิด!!! เพราะภาวะเสพติดแอลกอฮอล์นั้นมีหลายระดับ ไม่จำเป็นว่าจะต้องดื่มจนเมามายทุกครั้งเสมอไป หากคุณแค่เพียง “มีความต้องการ” ที่จะดื่มมากกว่า 3 วันในหนึ่งสัปดาห์ หรือต้องการดื่มทุกครั้งหลังเลิกงาน 2 – 3 แก้วแม้เพียงแค่เป็นเบียร์ นั่นอาจส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวและคุณอาจกลายเป็นผู้เสพติดแอลกอฮอล์ และหากคุณพบว่าตัวเองไม่สามารถสร้างความสุขหรือหาวิธีพักผ่อนอย่างอื่นได้นอกจากการดื่มแอลกอฮอล์ นั่นหมายถึงคุณกำลังมีภาวะทางจิตที่จะเสพติดแอลกอฮอล์ก็เป็นได้ เมื่อมีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์แล้ว ร่างกายจะมีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์ตามมา โดยร่างกายจะมีอาการหากเกิดภาวะ “ถอน” พิษแอลกอฮอล์ เช่นเหงื่อออก มือสั่น ตัวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ โดยอาการเหล่านี้จะเกิดหากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลง

1.    ปัจจัยต่างๆ ที่สนับสนุนให้เกิดภาวะเสพติดแอลกอฮอล์
ภาวะเสพติดแอลกอฮอล์มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้กับครอบครัวทุกครอบครัว โดยทั่วไปแล้วหากผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ในบ้านนั่นๆ มีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์แล้ว โอกาสที่เด็กๆ ภายในครอบครัวนั้นๆ โตขึ้นมาจะมีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์ด้วยสูงขึ้นถึง 4 เท่า เนื่องจากภาวะเสพติดแอลกอฮอล์นี้จะฝังลึกลงถึงในระดับยีน นอกจากนี้ความคิดเกี่ยวกับการใช้แอลกอฮอล์ยังส่งผลและมีอิทธิพลเป็นปัจจัยและสิ่งแวดล้อมโดยรอบในสังคมที่เด็กกำลังเติบโตขึ้นมาได้

ความเครียดจากภาวะต่างๆ เช่นญาติพี่น้องเสียชีวิตหรือการตกงานก็เป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก และส่งผลให้เกิดภาวะเสพติดแอลกอฮอล์ได้ในอนาคตอีกด้วย

ผู้ที่มีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์มักจะมีโอกาสสูงกว่าคนทั่วไปที่จะเกิดโรคทางจิตเวชต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล ภาวะเครียดผิดปกติ โรคจิต รวมถึงการใช้ยาแบบผิดๆ บ่อยครั้งที่ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์พยายามที่จะลดระดับการดื่มเพื่อลดอาการติดแอลกอฮอล์ (หรือที่เรียกว่า “การรักษาด้วยตนเอง”) แต่ในระยะยาวแอลกอฮอล์จะส่งผลให้อาการยิ่งแย่ลง เนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปขัดขวางและรบกวนระดับสารเคมีในสมองของเรา

หลายคนเชื่อว่ามีบางสิ่งเช่น “บุคลิกภาพในการเสพติดสารเสพติด” จะนำไปสู่ภาวะเสพติดแอลกอฮอล์ แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอสำหรับกรณีนี้

2.    หาโอกาสในการพักการดื่มเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเสพติดแอลกอฮอล์
หากคุณดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานแอลกอฮอล์ขึ้นมา ซึ่งภูมิต้านทานนี้ร่างกายจะสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองเหมือนกับที่เราใช้ยารักษาโรค โดยยิ่งเมื่อเราใช้ปริมาณมากเท่าใด ร่างกายก็จะต้องการปริมาณมากขึ้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพเท่าเดิมหรือส่งผลเท่าเดิม หากคุณดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ร่างกายจะสร้างเอนไซม์ขึ้นในตับ ซึ่งตับนั้นมีหน้าที่สลาย (metabolize) แอลกอฮอล์ ในกรณีที่คุณดื่มหนักเป็นเวลาหลายสัปดาห์ต่อเนื่องกัน ร่างกายจะเพิ่มระดับเอนไซม์เหล่านี้ขึ้นเพื่อจะสร้างภูมิต้านทาน และคุณต้องใช้แอลกอฮอล์ในปริมาณที่สูงขึ้นเพื่อร่างกายจะได้รับผลเหมือนเดิม
นอกจากนั้นสมองก็จะสร้างภูมิต้านทานแอลกอฮอล์ขึ้นมาอีกด้วย แม้ว่าคุณอาจจะยังเดินได้ตรงหรือทรงตัวอยู่หลังจากดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่สูงแล้ว นั่นหมายความว่าสมองในปรับสภาพเพื่อรับแอลกอฮอล์แล้ว ดังนั้นในวันต่อๆ ไปเซลส์สมองก็จะมีความต้องการต่อแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง อาการถอนแอลกอฮอล์เช่น ความกระวนกระวาย ความหงุดหงิด วิตกกังวลจะเกิดขึ้นหากสมองไม่ได้รับแอลกอฮอล์ และคุณจะพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้นให้ดีขึ้น
ในกรณีที่คุณดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องติดๆ กันเป็นเวลาหลายๆ วัน คุณอาจกลายเป็นผู้มีภาวะทางจิตในการเสพติดแอลกอฮอล์อีกด้วย
การตัดวงจรการดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งสำคัญมากในการทดสอบการแก้ไขปัญหาลักษณะการเสพติดแอลกอฮอล์นี้ โดยให้พยายามหาวันหยุดดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายสร้างความคุ้นเคยในการได้รับแอลกอฮอล์ และจะช่วยเพิ่มหรือ “รีเซ็ท” ความอดทนอดกลั้นในการรับแอลกอฮอล์อีกด้วย

3.    ภาวะเสพติดแอลกอฮอล์จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงในหลายสาเหตุ
หากคุณมีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์แล้ว คุณกำลังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพต่างๆ เช่นความดันโลหิตสูง ภาวะสมองขาดเลือด โรคหัวใจ รวมไปถึงโรคตับได้
การดื่มอย่างหนักและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำลายตับของคุณ โดย 7 ใน 10 คนที่มีปัญหาโรคตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์ (เมื่อตับถูกทำลายโดยการใช้แอลกอฮอล์เกินขนาด) มักเป็นผู้ที่มีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์
ปัญหาที่รุนแรงสำหรับโรคตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์ก็คือโรคตับแข็ง นั่นคือตับมีแผลเป็นหรือมีรอยแผลจากการถูกทำลายอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเนื้อเยื่อแผลเหล่านี้จะไปแทนที่เนื้อเยื่อที่ดีและไปขัดขวางการทำงานปกติของตับลง หากคุณเป็นโรคตับแข็งแล้ว การหยุดดื่มแอลกอฮอล์เป็นวิธีเดียวที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้คุณเสียชีวิตจากภาวะตับวาย หากมีภาวะตับแข็งขั้นรุนแรง คุณอาจมีโอกาสได้รับการปลูกถ่ายตับทดแทน แต่ทั้งนี้จะต้องหยุดดื่มอย่างเด็ดขาดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3  เดือน

4.    คุณสามารถพัฒนาสุขภาพจิตและปัญหาโรคทางจิตได้หากมีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์
หากคุณมีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์แล้ว คุณอาจเกิดความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้ได้เช่น ความวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งการคิดฆ่าตัวตาย ทั้งนี้เพราะการดื่มอย่างหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้น แอลกอฮอล์จะไปขัดขวางและรบกวนการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นสำหรับสุขภาพจิตที่ดี
การมีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์นั้นอาจส่งผลต่อคนรอบข้างรวมไปถึงครอบครัวและเพื่อนอีกด้วย นอกจากนี้อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย โดยหากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานคุณอาจประสบปัญหาการเลิกจ้างงาน ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางการเงินในอนาคตอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล และถ้าคุณต้องใช้แอลกอฮอล์เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ คุณก็กำลังสร้างวงจรที่ผิดพลาดขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว
หากคุณรู้สึกทรมานจากภาวะสุขภาพจิตที่มีผลจากการดื่มแอลกอฮอล์แต่ไม่สามารถหยุดการดื่มได้ คุณควรไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับคำปรึกษา เริ่มจากการปรึกษาจิตแพทย์หรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับการหยุดใช้แอลกอฮอล์

5.    อาการถอนแอลกอฮอล์สามารถส่งผลได้ทั้งทางร่างกายและภาวะทางจิต
หากคุณมีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์ คุณอาจพบกับอาการที่เกิดจากการถอนพิษแอลกอฮอล์แบบฉับพลันหากคุณหยุดดื่มทันที โดยอาการถอนพิษแอลกอฮอล์ที่ปรากฏทางร่างกายมีดังต่อไปนี้:
-    มือสั่น
-    เหงื่อออก
-    คลื่นไส้ อาเจียร
-    เกิดภาพหลอน
-    อาการชักในรายที่มีภาวะรุนแรง
    สำหรับอาการทางจิตที่เกิดจากการถอนแอลกอฮอล์มีดังต่อไปนี้
-    ซึมเศร้า
-    วิตกกังวล
-    หงุดหงิด ฉุนเฉียว
-    กระวนกระวาย
-    นอนไม่หลับ
ผู้ที่มีภาวะเสพติดหรือติดแอลกอฮอล์อย่างหนักมักพบกับอาการถอนพิษแอลกอฮอล์นี้อย่างรุนแรง บ่อยครั้งที่คนเหล่านี้มักใช้การดื่มเพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ ภาวะนี้เรียกว่า “การบรรเทาอาการด้วยการดื่ม”

อาการเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาเพื่อลดผลกระทบต่อร่างกายและภาวะทางจิต โดยใช้เวลาในระหว่าง 3 เดือนไปจนถึง 1 ปี โดยในระหว่างนี้สมองยังคงมีภาวะไวผิดปกติต่อแอลกอฮอล์อยู่ และหากในระหว่างนี้คุณกลับไปดื่มอีก ภาวะต้านทานแอลกอฮอล์และอาการถอนพิษแอลกอฮอล์อาจกลับมาได้ภายในไม่กี่วัน นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมแพทย์จึงมักจะแนะนำว่าอย่ากลับไปดื่มอีก แม้จะดื่มแบบพอเหมาะพอควรก็ตาม

สี่สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์
1.    มีความกังวลว่าครั้งต่อไปคุณจะไปดื่มที่ไหน ทั้งในวงสังคม ครอบครัว หรือแม้แต่การทำงานที่มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง
2.    พบว่าตนเองมีความต้องการที่จะดื่มแอลกอฮอล์และเมื่อได้ดื่มแล้วก็ยากที่จะหยุดดื่ม
3.    ตื่นแล้วต้องดื่มหรือพบว่ามีความต้องการดื่มแอลกอฮอล์ในตอนเช้า
4.    มีอาการทรมานจากการถอนพิษแอลกอฮอล์เช่น เหงื่อแตก มือสั่น ตัวสั่น และคลื่นไส้อาเจียรเมื่อคุณหยุดดื่มแอลกอฮอล์
หากคุณประสบปัญหาเหล่านี้จากการเสพติดแอลกอฮอล์ คุณควรจะไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับคำปรึกษาต่อไป
อยู่ในการควบคุม
การดื่มแอลกอฮอล์ด้วยความเสี่ยงที่ต่ำจะช่วยให้คุณสามารถควบคุมการดื่มได้ และนี่คือสามวิธีที่จะช่วยคุณได้
1.    หาวิธีรับมือกับความเครียดด้วยวิธีอื่นแทนที่จะหันหน้าเข้าหาเบียร์หรือเหล้า เช่นการออกกำลังกาย หรือพูดคุยปรึกษากับคนรอบข้างที่มีความห่วงใยในตัวคุณ
2.    ติดตามเฝ้าระวังการดื่มของตนเอง เนื่องจากตับไม่สามารถบอกคุณได้ว่าคุณดื่มมากเกินไปแล้ว
3.    พยายามหาวันหยุดดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากหากคุณดื่มเป็นประจำแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อแอลกอฮอล์ขึ้น นี่เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์แนะนำให้หาวันที่จะหยุดดื่มต่อเนื่องกันหลายๆ วันเพื่อที่จะแน่ใจได้ว่าคุณไม่อยู่ในภาวะเสพติดแอลกอฮอล์ โดยทดลองหยุดดื่มด้วยตัวคุณเองและสังเกตุผลดีที่ตามมาหลังการหยุดดื่มแอลกอฮอล์ด้วยตนเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม
จิตแพทย์สามารถวิเคราะห์ปัญหาและช่วยคุณหาทางเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขการดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยการให้คำปรึกษาตลอดระยะเวลา
หากคุณเป็นห่วงผู้ที่มีภาวะเสพติดแอลกอฮอล์หรือแม้แต่กระทั่งตนเอง สามารถปรึกษาได้ที่หมายเลข 1413

ถอดความและดัดแปลงจาก: http://www.drinkaware.co.uk

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่