วัตถุกาม - กิเลสกาม

ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของท่านชตุกัณณี

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๒
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส


-----------------------------

(บางส่วน)

  [๓๙๓]     พระผู้มีพระภาคทรงมีเดช ทรงประกอบด้วยเดช ทรงครอบงำกามทั้งหลายแล้วดำเนินไป
เหมือนพระอาทิตย์อันมีแสงสว่าง ประกอบด้วยเดช ย่อมส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี.  ขอพระองค์ผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน  
โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติและชราในภพนี้  ที่ข้าพระองค์พึงทราบได้ แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด.


             [๓๙๔] คำว่า ภควา ในอุเทศว่า ภควา หิ กาเม อภิภุยฺย อิริยติ ดังนี้
เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ.

             กาม ในคำว่า กาเม โดยอุทานมี ๒ คือ  วัตถุกาม ๑   กิเลสกาม ๑ฯลฯ
เหล่านี้  ท่านกล่าวว่า วัตถุกาม. ฯลฯ เหล่านี้ท่านกล่าวว่า กิเลสกาม.

พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้วัตถุกาม  
ทรงละ ทรงครอบงำ ทรงปกคลุม ทรงท่วมทับ ทรงกำจัด ทรงย่ำยีแล้ว ซึ่งกิเลสกาม
เสด็จเที่ยวไป ดำเนินไป เป็นไป รักษา บำรุง ทรงเยียวยา เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลายแล้วดำเนินไป.

             [๓๙๕] พระอาทิตย์ท่านกล่าวว่า อาทิจฺโจ ในอุเทศว่า อาทิจฺโจว ปวี เตชี เตชสา ดังนี้.

ชรา ท่านกล่าวว่า ปฐพี. พระอาทิตย์มีแสงสว่าง ประกอบด้วยเดช คือ รัศมีส่องแผ่ปกคลุมครอบปฐพี ให้ร้อน
เลื่อนลอยไปในอากาศทั่วไปกำจัดมืด ส่องแสงสว่างไปในอากาศอันว่างเป็นทางเดิน ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงมีเดชคือพระญาณ ประกอบด้วยเดชคือพระญาณ ทรงกำจัดแล้วซึ่งสมุทัยแห่งอภิสังขารทั้งปวง ฯลฯ
ความมืดคือกิเลส อันธการคืออวิชชา ทรง แสดงแสงสว่างคือญาณ ทรงกำหนดรู้ซึ่งวัตถุกาม ทรงละ ทรงครอบงำ ทรงปกคลุม
ทรงท่วมทับ ทรงกำจัด ทรงย่ำยี ซึ่งกิเลสกาม
ย่อมเสด็จเที่ยวไป ดำเนินไป รักษา บำรุง เยียวยา ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เหมือนพระอาทิตย์มีแสงสว่าง ประกอบด้วยเดช ย่อมส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี.


             [๓๙๖] คำว่า มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ... แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อย
ความว่า ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อย คือ มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำ ส่วนพระองค์มีพระปัญญาใหญ่ มีพระปัญญามาก
มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาแล่น มีพระปัญญากล้าแข็ง มีพระปัญญาทำลายกิเลส.


             ปฐพี ท่านกล่าวว่า ภูริ. พระองค์ทรงประกอบด้วยพระปัญญาอันไพบูลย์ กว้างขวางเสมอด้วยแผ่นดิน
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ... แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อย.


             [๓๙๗] คำว่า ขอจงตรัสบอกธรรม ในอุเทศว่า อาจิกฺข ธมฺมํ ยมหํ วิชญฺ ดังนี้
ความว่า ขอจงตรัสบอก ... ขอจงประกาศซึ่งพรหมจรรย์อัน งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง คือ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ นิพพาน และข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพาน
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอจงตรัสบอกธรรม.


             คำว่า ที่ข้าพระองค์พึงทราบได้
ความว่า ที่ข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้แจ้ง พึงรู้แจ้งเฉพาะ พึงแทงตลอด พึงบรรลุ พึงถูกต้อง พึงทำให้แจ้ง
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอจงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์พึงทราบได้.


             [๓๙๘] คำว่า เครื่องละชาติและชราในภพนี้
ความว่า ธรรมเป็นเครื่องละ เครื่องสงบ  เครื่องสละคืน เครื่องระงับ ซึ่งชาติ ชราและมรณะในภพนี้แล คือ อมตนิพพาน
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เครื่องละชาติและชราในภพนี้. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า


                          พระผู้มีพระภาคทรงมีเดช ทรงประกอบด้วยเดช ทรงครอบงำกามทั้งหลายแล้วดำเนินไป
                          เหมือนพระอาทิตย์อันมีแสงสว่าง ประกอบด้วยเดช ย่อมส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี.
                          ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติและชราในภพนี้
                          ที่ข้าพระองค์พึงทราบได้ แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด.

             [๓๙๙]     (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรชตุกัณณี) ท่านเห็นแล้วซึ่งเนกขัมมะโดยความเกษม
                        จงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลายเสีย. กิเลสเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้ ควรสลัดเสีย อย่าได้มีแก่ท่านเลย.


             [๔๐๐] กาม ในคำว่า กาเมสุ ในอุเทศว่า กาเมสุ วินยเคธํ ดังนี้ โดยอุทานมี ๒
             คือ วัตถุกาม ๑. กิเลสกาม ๑. ฯลฯ เหล่านี้ท่านกล่าวว่าวัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้ท่านกล่าวว่ากิเลสกาม.
ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า ความกำหนัด ในคำว่า เคธํ.

             คำว่า จงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลายเสีย
ความว่า ท่านจงกำจัด คือ จงปราบปราม จงละ จงบรรเทา จงทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านจงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลายเสีย
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยโคตรว่า ชตุกัณณี.

             คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ คำว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ
เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรชตุกัณณี.

             [๔๐๑] คำว่า ซึ่งเนกขัมมะ ในอุเทศว่า เนกฺขมฺมํ ทฏฺฐุ เขมโต ดังนี้
ความว่าเห็น คือ เห็นแจ้ง เทียบเคียง พิจารณา เจริญ ทำให้แจ้งแล้ว ซึ่งความปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติสมควร
ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ความทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย
ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ การประกอบความเพียรในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพานและข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพาน โดยความเกษม
คือ โดยเป็นที่ต้านทาน โดยเป็นที่ซ่อนเร้น โดยเป็นสรณะ โดยเป็นที่พึ่ง โดยไม่มีภัย โดยความไม่เคลื่อน โดยความไม่ตาย
โดยเป็นธรรมออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เห็นแล้วซึ่งเนกขัมมะ โดยความเกษม.


             [๔๐๒] คำว่า ที่ท่านยึดได้ ในอุเทศว่า อุคฺคหิตํ นิรตฺตํ วา ดังนี้
ความว่า ที่ท่านยึด คือ จับต้อง ถือมั่น ติดใจ น้อมใจไปด้วยสามารถตัณหา ด้วยสามารถทิฏฐิ.

             คำว่า ควรสลัดเสีย
ความว่า ควรสลัด คือ ควรปล่อย ควรละ ควรบรรเทา ควรทำให้สิ้นสุด ควรให้ถึงความไม่มี
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่ท่านยึดไว้ ควรสลัดเสีย.

             [๔๐๓] คำว่า กิเลสเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่ท่าน
ความว่า กิเลสเครื่องกังวลคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต กิเลสเครื่องกังวลนี้อย่าได้มี
คือ อย่าได้ประจักษ์ อย่าได้ปรากฏ คือ ท่านจงละ จงบรรเทา จงทำให้สิ้นสุด จงให้ถึงความไม่มี
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กิเลสเครื่องกังวล อย่าได้มีแล้วแก่ท่าน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

                         ท่านเห็นแล้วซึ่งเนกขัมมะโดยความเกษม จงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลายเสีย.
                         กิเลสเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้ ควรสลัดเสียอย่าได้มีแก่ท่านเลย.
             [๔๐๔]     กิเลสชาติใดในกาลก่อน ท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้งไป
                         กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง อย่าได้มีแล้วแก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือ (รูปาทิสังขาร) ในท่ามกลาง
                         ท่านจักเป็นผู้สงบแล้วเที่ยวไป.

             [๔๐๕] คำว่า กิเลสชาติใดในกาลก่อน ท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้งไป
ความว่า กิเลสเหล่าใดพึงเกิดขึ้นเพราะปรารภถึงสังขารทั้งหลายในอดีตกาล ท่านจงเผากิเลสเหล่านั้นให้เหือดไป คือให้แห้งไป
ให้เกรียม ให้กรอบ  จงทำให้ไม่มีพืช จงละ จงบรรเทา จงทำให้สิ้นสุด จงให้ถึงความไม่มี.
แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า กิเลสชาติใดในกาลก่อนท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้งไป.

             อนึ่ง กรรมาภิสังขารส่วนอดีตเหล่าใด อันให้ผลแล้ว ท่านจงเผากรรมาภิสังขารเหล่านั้นให้เหือดไป
คือ ให้แห้งไป ให้เกรียม ให้กรอบ จงทำให้ไม่มีพืช จงละ จงบรรเทา จงทำให้สิ้นสุด จงให้ถึงความไม่มี
แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า กิเลสชาติใดในกาลก่อน ท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้งไป.

             [๔๐๖] คำว่า กิเลสเครื่องกังวลในภายหลังอย่าได้มีแล้วแก่ท่าน
ความว่า กิเลสเครื่องกังวลในอนาคต ตรัสว่า กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง. กิเลสเครื่องกังวลคือราคะ โทสะ
โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต พึงเกิดขึ้นเพราะปรารภสังขารทั้งหลายในอนาคต. กิเลสเครื่องกังวลนี้ อย่าได้มีมาแล้วแก่ท่าน
คือ ท่านจงอย่ายังกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้เกิด อย่าให้เกิดพร้อม อย่าให้บังเกิด จงละ จงบรรเทา จงทำให้สิ้นสุด จงให้ถึงความไม่มี
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กิเลสเครื่องกังวลในภายหลังอย่าได้มีแล้วแก่ท่าน.

             [๔๐๗] คำว่า ถ้าท่านจักไม่ถือ (รูปาทิสังขาร) ในปัจจุบัน
ความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นปัจจุบัน ตรัสว่า ท่ามกลาง.
ท่านจักไม่ถือ คือ จักไม่ยึดถือ จักไม่ลูบคลำ จักไม่เพลิดเพลิน จักไม่ติดใจซึ่งสังขารอันเป็นปัจจุบัน ด้วยสามารถตัณหา
ด้วยสามารถทิฏฐิ คือ จักละ จักบรรเทา จักทำให้สิ้นสุด จักให้ถึงความไม่มี ซึ่งความยินดี ความชอบใจ ความยึด ความถือ ความถือมั่น
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ถ้าท่านจักไม่ถือ (รูปาทิสังขาร) ในท่ามกลาง.

             [๔๐๘] คำว่า จักเป็นผู้สงบแล้วเที่ยวไป
ความว่า ชื่อว่า จักเป็นผู้สงบ เข้าไปสงบเข้าไปสงบวิเศษ ดับ ระงับ  เพราะความที่ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ฯลฯ
อกุสลาภิสังขารทั้งปวง สงบแล้ว ถึงความสงบแล้ว สงบวิเศษ เผาเสียแล้ว ให้ดับไปแล้ว จักเที่ยวไป
เที่ยวไปทั่ว เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า จักเป็นผู้สงบแล้วเที่ยวไป. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

                          กิเลสชาติใดในกาลก่อน ท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้งไป.
                          กิเลสเครื่องกังวลในภายหลังอย่าได้มีแล้วแก่ท่าน.
                          ถ้าท่านจักไม่ถือ (รูปาทิสังขาร) ในท่ามกลาง ท่านจักเป็นผู้สงบแล้วเที่ยวไป.




       เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐  บรรทัดที่ ๓๕๕๙ - ๓๗๘๒.  หน้าที่  ๑๔๕ - ๑๕๓.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=30&A=3559&Z=3782&pagebreak=0

             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=388
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่