บันทึกของพาพัน @Pantip ตอน กรีนโซนทอล์ค กับ อาจารย์สิงห์ อินทรชูโต (2/2)

กระทู้สนทนา
สวัสดีครับ พี่ๆ เพื่อนๆ หลังจากคราวที่แล้ว มีบันทึกของพาพัน @Pantip ตอน คุยกับ อาจารย์สิงห์ อินทรชูโต ตอนที่ 1ไป วันนี้พาพันเอาตอนที่ 2 มาฝากแล้วครับ

บันทึกฉบับนี้แตกต่างจากฉบับที่ผ่านๆ มา เพราะเนื้อหาในครั้งนี้พาพันได้มาจากการนั่งฟังบรรยายครับ! แต่พี่ๆ อย่าเพิ่งคิดว่าน่าเบื่อนะครับ เพราะพาพันบอกเลยว่า จากที่ไปฟังอาจารย์สิงห์มา ได้ความรู้เรื่องกรีนๆ และได้เห็นสิ่งใหม่ๆ หลายอย่างเลยล่ะครับ ไปอ่านกันเลยดีกว่า ...


บันทึกของพาพัน
ปีนี้ พาพันมีโอกาสมางานสถาปนิก '56ที่เมืองทองธานีครับ ดีใจมากๆ เลย เพราะพาพันเห็นในข่าวว่าเค้าจัดงานในรูปแบบ Green Exposition ด้วย

นอกจากนี้ อีกกิจกรรมหนึ่งที่พาพันว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน คือ การบรรยายของอาจารย์สิงห์นั่นเองครับ


วันนี้อาจารย์สิงห์มาบรรยายในหัวข้อ "Upcycle for Responsible Architecture" ครับ สารภาพว่าตอนแรกพาพันก็แอบกลัวๆ อยู่เหมือนกันว่าจะฟังรู้เรื่อง จะเข้าใจรึเปล่า แต่พอได้ฟังเลยรู้ว่า จริงๆ คำว่า Upcycle ไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ

อาจารย์สิงห์บอกว่า Upcycle คือ การนำของที่มีอยู่แล้ว แต่ยังใช้ไม่หมด มาพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้นและมีมูลค่ามากขึ้น โดยข้อแตกต่างระหว่าง Recycle กับ Upcycle คือ Recycle ส่วนใหญ่คุณภาพจะด้อยลง อย่างเช่น การนำพลาสติกมาหลอมใหม่ ก็จะเปราะและสีเข้มขึ้น ขณะที่การ Upcycle จะเน้นที่คุณภาพและมูลค่าที่สูงขึ้นนั่นเองครับ

"ถามว่า Upcycle เกี่ยวอะไรกับงานสถาปัตยกรรม ลองคิดดูนะครับว่าถ้าสถาปนิกเราก่อสร้างตึก สร้างอาคารแบบนี้ไปเรื่อยๆ โลกจะเป็นยังไง ผมมั่นใจว่าเราสร้างทุกอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายระบุไว้ เราทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ แล้วคิดว่าสภาพแวดล้อมแบบนี้ดีขึ้นมั้ย โลกเราดีขึ้นรึเปล่า สิ่งที่พวกเรา สถาปนิกสร้างขึ้นทำให้เกิดความยั่งยืนรึเปล่า อาคารต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับผู้คน มันยั่งยืนมั้ย ความยั่งยืนที่ว่าคืออะไร มันคือความสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้ผมขับรถไปที่ต่างๆ ผมไม่มีความอุ่นใจเลยนะครับ มีแอร์คอนดิชั่น มีเพลงฟัง มีทุกอย่างพร้อม แต่มองออกไปข้างนอกก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา มันนำไปสู่อะไร เราจะไปถึงไหนครับ จริงๆ ไม่ใช่แค่ไม่อุ่นใจ ผมรู้สึกแย่ด้วยซ้ำที่พบเมืองที่มีแต่ตึกสูง มีแต่อาคารเต็มไปหมด แล้วอีก 20-30 ปีข้างหน้า จะเหลืออะไร..."

"โลกนี้ผลิตวัสดุต่างๆ ออกมาให้เราจับจ่ายใช้สอยอย่างมากมาย 3,000 กว่าล้านตัน และเกือบครึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมการออกแบบและก่อสร้าง สถาปนิกเอามาใช้เยอะและทิ้งอย่างมหาศาล ถ้าเราขุดหลุมฝังกลบขึ้นมาและแยกดู จะพบว่า 1 ใน 3 หรือ 30-40% คือขยะจากก่อสร้าง อย่างในอังกฤษทิ้งขยะ 100 ล้านตันต่อปี ทุกๆ บ้าน 3 หลังที่สร้างขึ้น มีบ้าน 1 หลังถูกฝังกลบ เรายังใช้ไม่หมดเลย เราฝังกลบ เราทิ้งแล้ว ที่สหรัฐอเมริกามากกว่าอังกฤษอีก 120 ล้านตันต่อปี มันเยอะแค่ไหน เยอะพอที่จะสร้างตึกสูง 3 ชั้น หนา 10 เมตร ยาว 8,000 กิโลเมตรได้ แม้แต่กำแพงเมืองจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ยาวแค่ 6,400 กิโลเมตรเท่านั้นเอง แล้วขยะในประเทศเดียวไปได้ถึง 8,000 กิโลเมตร ใหญ่เท่ากัน แต่สร้างขึ้นทุกปี และขยะของอเมริกาไม่ได้สร้างกำแพงเมืองจีนได้อย่างเดียว แต่สร้างตึกเวิลด์เทรดได้ถึง 480 ตึก ในทุกๆ ปี นี่คือสิ่งที่เราทิ้งอยู่ตลอดเวลา มันเยอะจนไม่รู้จะอธิบายต่อยังไง"

โอ้โห! จริงเหรอครับเนี่ย ... พาพันว่าสถานการณ์แบบนี้เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤติแล้วนะ แล้วแบบนี้พวกเราควรทำยังไงดีครับ


"สถาปนิกเรามีความเชื่ออย่างมุ่งมั่นว่า เราจะทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้นผ่านการสร้าง เราคิดว่าเราทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้วล่ะ แก้ปัญหาด้วยการสร้างอาคาร เราคิดว่าเราทำได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ อย่างการวางผังเมือง การแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย สิ่งที่สถาปนิกทำได้มากกว่าสร้างอาคารคือ แก้ปัญหาอย่างอื่นไปด้วย"

อาจารย์สิงห์เล่าว่า ทุกครั้งเวลาสร้างอาคารจะมีกองขยะอยู่ในบริเวณก่อสร้างเสมอ และเมื่อเวลาผ่านไปกองขยะเหล่านี้ก็หายไปพร้อมกับการเกิดขึ้นของตึกที่สวยงาม

"ถามจริงๆ เถอะว่ากองพะเนินนี้มันหายไปไหน แน่นอนว่าเราต้องขนไปทิ้ง แยกขยะบ้าง ไม่แยกบ้าง มองไปรอบๆ ก็เศร้าใจ เราสร้างทุกสิ่งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา แต่ถึงเวลาแล้วมองออกไปเจอแต่ปัญหา"

"ผมอยากเล่าประสบการณ์โครงการหนึ่งให้ฟังเป็นกรณีศึกษา ผมได้รับโครงการจากลูกค้า เป็นพื้นที่ 10 ไร่ แถวราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นที่ที่สวยมาก เป็นพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ มีร่องสวน มีหิ่งห้อย มีน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเวียน ซึ่งเราไม่ค่อยได้เห็นกันแล้ว ก็คิดเลยว่าจะสร้างอะไรดี เอาอีกแล้ว สถาปนิกเข้าสิง (หัวเราะ) เค้าบอกผมว่า อาจารย์สิงห์ ครอบครัวเราอยากหารายได้จากที่ที่เรามีอยู่ อยากจะให้สร้างตึกแถวขาย (ทำหน้าตกใจ) โอ้ มาหาผมทำไม ที่ออกจะสวยงามขนาดนั้น มาหาผมเพื่อสร้างตึกแถว ใช่ คงทำเงินได้รวดเร็วอย่างมหาศาล ทำยังไงครับ สถาปนิก เมื่อได้โจทย์แบบนี้จะทำยังไง"


"ตอนผมไปดูพื้นที่ พอเค้าบอกแบบนี้ใจที่ตื่นเต้นก็เริ่มสลด (ยิ้ม) ทำยังไงดีจะได้เก็บที่ตรงนี้ไว้ ไม่เสียไป มันเป็นพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ที่ยังมีอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง WHO บอกว่า มนุษย์ต้องการพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน นิวยอร์กมี 23 ตารางเมตร ปารีสมี 11 ตารางเมตร แต่กรุงเทพฯ เรามีแค่ 3 ตารางเมตรต่อคน แล้วเราก็ยังสร้างไปเรื่อยๆ ยังมีการเซ็นอนุมัติให้สร้างกันต่อ พอสร้างเสร็จแปะป้ายทับ Green Building เครียดมั้ย (ยิ้ม) ... ภายใน 40 ปี พื้นที่สีเขียว 1,000 ล้านตารางเมตร เหลือ 200 ล้านตารางเมตร หายไป 5 เท่า ซึ่ง 200 ล้านนี้แป๊บเดียวก็หมด ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือตอนน้ำท่วม เรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นปัญหามาก เราต้องผสมผสานพื้นที่สีเขียวให้มีอยู่ในเมือง เพื่ออย่างน้อยเมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ชุมชนจะสามารถอยู่ได้ สัก 24 ชั่วโมงก็ยังดี"

"มีนักศึกษาปี 4 คนนึงเคยถามผมว่า อาจารย์ เรามีต้นไม้ทำไม ผมเติบโตจากคอนโด ไม่เห็นต้องมีสวน น่าตกใจมาก ทั้งชีวิตเค้าอยู่ในคอนโดประมาณ 50 ตารางเมตร เค้าบอกว่าไม่เห็นรู้สึกอะไรเลย ก็อยู่แบบนั้นมาได้ เจเนอเรชั่นอย่างพวกผมขึ้นไป อายุ 30-40 ปีขึ้นไป อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องแปลกที่ไม่มีต้นไม้ แต่เจเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่เราบ่มเพาะเค้าไว้ เค้าจะรู้สึกว่าไม่มีก็ไม่เป็นอะไร ทีนี้ต่อไปจะลำบากมาก ภาวะโลกร้อน คุณภาพอากาศ มลภาวะต่างๆ"


"พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ มีมูลค่ามหาศาล เราต้องทำให้พื้นที่เหล่านี้สามารถทำเงิน สามารถสร้างเศรษฐกิจได้ ไม่งั้นเราเสียพื้นที่ 10 ไร่นี้ไปแน่ๆ แต่ไม่ใช่เราไม่ทำให้เค้านะ เพราะเดี๋ยวเค้าก็ไปหาคนอื่นมาทำก็เสียพื้นที่สีเขียวอยู่ดี ทำยังไง อะไรคือโปรเจคท์ ยากมาก เราจะ Upcycle ยังไง โดยไม่ทำลายมัน ตอนนั้นก็คุยกันเยอะ เลยคิดว่าจะทำเป็น Urban Farm Urban Barn ซึ่ง Urban Farm จะต้องมีพืชผักผลไม้หรืออะไรก็แล้วแต่ที่กินได้ สร้างออกซิเจน ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วน Urban Barn คือส่วนพื้นที่พาณิชย์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม อาหารเพื่อสุขภาพต่างๆ ส่วนร่องสวนเราบอกว่าขอเก็บไว้ และส่วนหน้าสุดทำเป็น Flower Nursery เพราะคนไทยชอบถ่ายรูป จากนั้นก็วางระบบน้ำเลย ดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาด้านหลัง เป็นเส้นเลือดหลัก และพอดีเค้ามีโรงงานทำผ้าอยู่แล้ว เลยคิดพัฒนาผ้าที่รับน้ำและปล่อยน้ำช้าๆ น้ำก็จะค่อยๆ ออกมาที่รากของพืช ต้นไม้ก็จะสวยงาม และเราก็คัดเลือกต้นไม้ที่เหมาะกับสถานที่ การดูแลรักษา ความยาวของก้าน ดูเรื่องสีสัน และก็ปูผังว่าทั้งปีจะสวยมั้ย และมาถึงขั้นตอนการก่อสร้าง เลยเลือกวัสดุที่จะกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ก็ไปศึกษาโรงงานต่างๆ พบว่ามีของมากมายที่รอการใช้ ถ้าไม่ได้ใช้ก็จะถูกฝังหรือเผา มีทั้งไม้ ทั้งกระจกเป็นแผ่นๆ และที่น่ากลัวคือมีเศษเกือบ 40% ของการผลิตต่างๆ เลยมองเรื่อง 3R ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่อะไรมากเลยนะครับ มันคือการใช้วัสดุให้คุ้มค่าแค่นั้นเอง แต่คราวนี้เราไม่ได้ใช้คุ้มค่าอย่างเดียว เราจะเพิ่มมูลค่าด้วย"


"เรารู้ว่าเราจะมีช็อปปิ้งมอลล์ ก็ต้องมีร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ เลยเริ่มจากร้านกาแฟ พัฒนาวัสดุ เก็บกากกาแฟมาผึ่งแดด ให้ความชื้นน้อยลง ราไม่ขึ้น ทดสอบความแข็งแรง รอยขูดขีด การลามไฟ ... พัฒนาขึ้นมาเป็นชิ้นๆ และค่อยขึ้นมาเป็นแผ่น เป็นม้านั่ง ได้มูลค่าที่สูงขึ้น จากแต่ก่อนแค่เอาไปทำปุ๋ย นอกจากนี้ก็มีกระจกกับแก้วที่เหลือทิ้ง นึกไม่ออกเลยใช้ยังไง ขั้นแรกเลยต้องแยกประเภท ซึ่งใช้เวลาเป็นเดือน แต่สุดท้ายก็ไม่ต้องทุบทิ้ง (ยิ้ม) เพราะเรารู้ขนาด รู้ความหนาและจำนวนแล้ว สามารถจัดสเปคได้ว่าจะใช้แบบไหนกี่ชิ้น การออกแบบก็เริ่มเป็นไปได้”


“พวกผงแก้วที่เหลือจากการเจีย การตัด เราก็เริ่มพัฒนาสูตร หาวิธีผสมขึ้นรูป ตอนแรกออกมาเละ สุดท้ายสำเร็จเป็น Foam Glass ที่เก็บความชื้น เบา ลอยน้ำได้ และพัฒนาเอามาใช้แทนหิน โรยหน้าดิน ต่อมาก็ทดลองกับต้นไม้ พบว่าเก็บความชื้นดีมากและเก็บได้นาน รดน้ำอาทิตย์ละครั้งยังอยู่ได้ แต่เจอปัญหาใหม่คือ มดดำเพียบ (หัวเราะ) มดชอบมาก เลยแก้ปัญหาโดยใส่พวกตะไคร้หอมเข้าไป"

"ส่วนผนังอยากได้ที่ปลูกต้นไม้ได้เยอะๆ ก็เกิดปัญหาว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้ผนังที่เป็นวัสดุปลูก ข้างนอกก็สวยอยู่หรอก แต่ข้างในทึบหรือไม่ก็เป็นไม้เลื้อย เราก็หาวิธีการทำให้มันโปร่ง จะได้ไม่ต้องใช้แอร์ ลองต้นไม้สารพัดเลย แล้วถ้าใช้เหล็กก็จะร้อน ต้นไม้ขึ้นช้า เลยหาวิธีอื่น ก็รู้ว่าเส้นใยธรรมชาติในเมืองไทยมีเยอะมาก และเส้นใยเหล่านี้ทนกว่าที่เราคิด ไม้เลื้อยขึ้นได้เร็ว และมูลค่าน้อยมาก เผาทิ้งเยอะ ซึ่งที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท มีชุมชนที่เค้าทำกระเป๋าจากเส้นใยเหล่านี้ส่งญี่ปุ่นอยู่แล้ว เราก็ขอให้เค้าช่วย ซึ่งตอนแรกเค้าก็ไม่ยอมทำกัน ทำกระเป๋าอยู่ดีๆ จะให้มาทำผนังต้นไม้ มีคนเดียวที่ยอม แต่งานมันเยอะเพราะต้องใช้คลุมทั้งอาคาร คนอื่นเห็นเลยมาช่วย และเราก็ให้ค่าตอบแทน จากสิ่งที่เค้าทิ้งก็เริ่มเก็บกลับมา มาช่วยกันใช้ จนสำเร็จออกมา และต้นไม้ก็ขึ้นเร็วมากและอยู่ทน ตอนนี้ผ่านมาสองปีผนังก็สีเขียวหมดแล้ว (ยิ้ม) อากาศถ่ายเทตลอดเวลา ไม่อับชื้น”



“เราก็อยากพัฒนาต่อ ไม่อยากทำไม้เลื้อยอย่างเดียว อยากได้ไม้ที่หลากหลาย เลยเริ่มพัฒนาผนังที่ใส่ต้นไม้ได้หลายชนิด เลยมองพลาสติก"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่