วันนี้วันคล้ายวันเกิดครบรอบ 69 ปีของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

กระทู้สนทนา
บางคนก็เลื่อมใสจนยกทั้งชีวิตให้ บางคนก็ด่าสาปแช่ง ....ผมเลยขอยกประวัติย่อๆมาให้ท่านๆได้อ่านกันครับ

พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) มีนามเดิมว่า ไชยบูลย์ สุทธิผล เกิดวันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ.2487 ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี  จ.สิงห์บุรี  ท่านเป็นบุตรของนายจรรยงค์  สุทธิผล  กับคุณนางจุรี  สุทธิผล

(อ้างว่า)นางจุรี เมื่อครั้งตั้งครรภ์ ขณะที่อยู่จ.พิจิตร ได้ฝันว่า  หลวงพ่อเพชร(พระพุทธรูปองค์ศักดิ์สิทธิ์เมืองพิจิตร) ได้นำเด็กที่มีลักษณะสวยงามมามอบให้ พร้อมกับกล่าวว่า “เด็กคนนี้เป็นลูกแก้วมาเกิด ขอให้เลี้ยงดูให้ดี จะเป็นที่พึ่งได้ในกาลต่อไปภายหน้า” และต่อมายังฝันอีกว่า ได้พบพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งในกองทราย ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  เมื่อนำมาขัด พระพุทธรูปองค์นั้นก็เปล่งรัศมีส่องสว่างไปทั่วทั้งเมือง



เนื่องจากคุณพ่อมีอาชีพรับราชการ ซึ่งต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการในต่างจังหวัดบ่อยครั้ง จึงได้ฝากบุตรชายไว้กับครูบาอาจารย์ในโรงเรียนประจำชื่อรร.ตะละภัฎศึกษา แถวเสาชิงช้า ในชั้นป. 1 โดยเจ้าของโรงเรียนซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์และไม่มีบุตร รู้สึกรักและเอ็นดูถึงกับจะเอ่ยปากขอเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อให้สืบทอดมรดก เนื่องจากขณะนั้นคุณพ่อมีบุตรชายเพียงคนเดียวซึ่งเป็นที่รักและหวงแหนจึงไม่ยอมยกให้ แต่ถึงกระนั้นท่านเจ้าของโรงเรียนก็ยังคงรักใคร่เอ็นดู และพาติดสอยห้อยตามเข้าออกวังสระปทุมอยู่เสมอๆ จนทำให้ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมของชาววังตั้งแต่นั้นมา และขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสติดตามไปร่วมทำบุญไหว้พระด้วยเสมอ จึงมีความใกล้ชิดกับพระสงฆ์ทำให้จิตใจใฝ่ธรรมะมาตั้งแต่เยาว์วัย

ในปี พ.ศ.2493 พ่อได้รับคำสั่งให้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเพชรบุรี จึงต้องลาจากเจ้าของโรงเรียน ไปเข้าเรียนในรร.อรุณประดิษฐ์ ในชั้นป.4 อยู่กับคุณพ่อได้ปีเศษ ก็ย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนสารสิทธิพิทยาลัย ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยคุณพ่อพาไปฝากไว้กับคุณครูสมาน แสงอรุณ ซึ่งเป็นครูที่ใจดีและมีจิตใจโอบอ้อมอารี ท่านเรียนอยู่ ณ ที่แห่งนี้จนจบชั้นม. 3 พออายุได้ 13 ขวบ ก็เข้าเรียนม. 4 รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ




ครั้งหนึ่งได้เขียนไว้ในสมุดบันทึกในวัย 13 ปี ตอนหนึ่งว่า

ถ้าเรามาทางโลก ก็อยากไปให้สูงสุดในทางโลก ถ้าหากว่าอยู่ในทางธรรม ก็อยากจะไปให้สูงที่สุดในทางธรรม และก็จะนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ทั่วโลก
(แต่....บางแหล่งข้อมูลอ้างอิงว่า เขียนว่าถ้าอยู่ทางโลกจะเป็นกษัตริย์ ถ้าอยู่ทางธรรมจะเป็นพระพุทธเจ้า)





และแล้ววันหนึ่งท่านได้พบหนังสือชื่อ “ธรรมกาย” ซึ่งเขียนตามแนวเทศนาของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีข้อความว่า “ถ้าจะเดินให้ถูกต้องร่องรอยของพระศาสนา ต้องปฏิบัติให้ได้ทั้งรู้ทั้งเห็น”

     คำว่า “ธรรมกาย” อ่านแล้วสะดุดใจยิ่งนัก ในหนังสือเล่มนี้พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้บอกไว้ว่า “ธรรมกาย” นั่นแหละ คือ “ตถาคต” พร้อมทั้งได้ยกคำบาลีที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกมายืนยันว่า “ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ  แปลว่า  ตถาคตคือธรรมกาย” และตอนท้ายเรื่องมีคำยืนยันว่า “วัดปากน้ำนี้เรียนได้ ทั้งรู้ทั้งเห็น” ข้อความดังกล่าว ยิ่งทำให้ท่านเกิดความปีติยินดี ราวกับว่า เดินมาถูกทางแล้ว



     และเมื่อท่านได้อ่านหนังสือ “วิปัสสนาบันเทิงสาร” กล่าวถึงความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติธรรมวิชชาธรรมกายของคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ แม่ชีผู้เป็นศิษย์ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็ยิ่งทำให้ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะไปศึกษาธรรมปฏิบัติที่วัดปากน้ำ แล้วความคิดหนึ่งก็พลันบังเกิดขึ้นว่า “วัดปากน้ำอยู่ ณ แห่งหนใด”



     จนกระทั่งในปี พ.ศ.2506 ขณะที่มีอายุได้ 19 ปี อยู่ในช่วงเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ท่านก็ตัดสินใจไปวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อตามหาคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ มุ่งหวังว่าหากพบท่านจะขอศึกษาวิชชาธรรมกายให้จงได้ เมื่อไปถึงวัดก็เที่ยวถามใครว่า “รู้จักคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ไหม ?” คำตอบคือ ไม่มีใครรู้จักแม้แต่คนเดียว มีแต่บอกว่า “ไม่มีคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ มีแต่ครูจันทร์”   ทำให้ท่านเข้าใจไปว่าเป็นคนละคนกัน  เมื่อตามหาไม่พบจึงหันกลับไปทุ่มเทให้กับการเตรียมตัวสอบ  จนกระทั่งสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ในที่สุด

เมื่อการเรียนเทอมแรกในมหาวิทยาลัยผ่านไป  ความคิดที่จะไปตามหาคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ก็หวนกลับคืนมาอีกครั้ง    ดังนั้นในช่วงปิดเทอมราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2506 ท่านจึงตัดสินใจกลับไปที่วัดปากน้ำฯ อีกครั้ง  แต่ก็ยังไม่ได้พบกันอีกเช่นเคย จึงมีผู้แนะนำว่า ถ้าอยากนั่งสมาธิจริงๆ ก็ให้ไปเรียนกับพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งท่านยินดีสอนการเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายให้  และเมื่อนั่งปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่ง จึงลองสอบถามจากเด็กหนุ่มรุ่นราวเดียวกันดูอีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า “คงจะเป็นครูจันทร์ละมัง” จึงได้อาสาพาไปพบ แล้วในที่สุดท่านก็ได้พบคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์  สมดังที่ปรารถนา




กระทั่งในวันคล้ายวันเกิดของคุณยายในปี พ.ศ. 2511 ท่านจึงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคุณยาย ด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐานขอประพฤติพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต เป็นของขวัญวันเกิดแด่คุณยายอาจารย์ซึ่งถือเป็นของขวัญอันล้ำค่ายิ่ง จนกระทั่งปีพ.ศ. 2512 ท่านก็ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร หลังจากรับปริญญาแล้ว ก็แจ้งความจำนงต่อโยมพ่อทันทีว่า จะขอบวชไม่สึกตลอดชีวิต 27 สิงหาคม พ.ศ.2512 ได้รับฉายาว่า "ธัมมชโย" แปลว่า “ผู้ชนะโดยธรรม”



หลังจากบวชแล้วได้กล่าวถึงอุดมการณ์ในการออกบวช ไว้ตอนหนึ่งว่า:

การบวชเป็นพระไม่ใช่ของง่าย หาใช่ครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้วจะเป็นพระได้  จะต้องปฏิบัติกิจวัตรของสงฆ์ซึ่งมีศีล ๒๒๗ ข้อ  ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย… การบวชนั้นถ้าจะให้ได้บุญกุศล ควรจะเป็นที่พึ่งของพระศาสนาได้ด้วย ไม่ใช่บวชมาเพื่อพึ่งพระศาสนาอย่างเดียว"

      เงินทุนเริ่มต้นของการสร้างวัดมีอยู่เพียง 3,200 บาท กับที่นา 196 ไร่ ที่ได้รับบริจาคมาจากคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี หมู่คณะทุกคน

            




เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เวลา 16.00 น. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานในพิธีถวายสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แด่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย  โดย นายอำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถวายรายงานโดยสรุป ดังนี้ “เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรด ฯ พระราชทานสมณศักดิ์ถวายพระสงฆ์ที่บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นพระราชาคณะ จำนวน 90 รูป ในจำนวนพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะดังกล่าว พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ โปรด ฯ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนาม ที่ พระเทพญาณมหามุนี”

       จากนั้น นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ่านพระบรมราชโองการทรงตั้งสมณศักดิ์ โดยสังเขป ดังนี้ “ให้พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เป็นพระเทพญาณมหามุนี ศรีธรรมโกศล โสภณภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ  สถิต ณ วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 5 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1 ขอรพะคุณจงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในอารามโดยสมควร จงเจริญสุขสวัสดิ์ในพระพุทธศาสนาเทอญ”



จบแล้ว สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้มอบสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แด่ พระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ณ ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่