ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระชินวรวิสุทธิเทวารยวงศ์“
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเฉลิมพระนามพระอัฐิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระชินวรวิสุทธิเทวารยวงศ์”
ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหนังสือที่ พว. ๐๒๐๒.๒/๑๐๖๐๙ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๘ กราบทูล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเพื่อทรงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเฉลิมพระนามพระอัฐิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็น
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระชินวรวิสุทธิเทวารยวงศ์”
ถือเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อนึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า เป็นพระยศสูงสุดของสมเด็จพระสังฆราชไทย ซึ่งประกอบไปด้วย ๖ ชั้น
๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา
๒. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ
๓. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง
๔. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมขุน
๕. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหมื่น
๖. สมเด็จพระสังฆราช
สำหรับพระยศ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า จะสถาปนาจากพระบรมราชวงศ์ ชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ คือเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ หรือพระราชนัดดาของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับสถาปนาเป็นกรณีพิเศษ
ส่วน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สถาปนาจากสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระราชวงศ์หรือสามัญชนที่ทรงพระคุณูปการส่วนพระองค์ เช่น เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระราชกรรมวาจาจารย์ หรือทรงพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกนานถึง ๑๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชกาลที่ ๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ในรัชกาลที่ ๘ ทรงพระคุณูปการแก่พระบวรพุทธศาสนาและประเทศชาติอย่างยิ่ง เสด็จสถิตเป็นที่พึ่งแห่งพระบรมราชวงศ์และพุทธศาสนิกชน และทรงเป็นหลักของพุทธศาสนจักรที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
๒. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระองค์ที่ ๒ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) และในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) เมื่อครั้งทรงผนวช เป็นที่ทรงเคารพบูชายิ่งของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ และทรงเป็นพระอุปัชฌายะของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสนมหาเถร) พระราชอุปัธยาจารย์ในรัชกาลปัจจุบัน
นับเนื่องถึงรัชกาลปัจจุบัน จึงทรงเป็นพระบูรพาจารย์ในทางธรรม กล่าวคือเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระราชอุปัธยาจารย์
๓. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสถาปนาเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ทรงกรมที่ “กรมหมื่น” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเลื่อนเป็น “กรมหลวง” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙
พระกรณียกิจสำคัญคือ ทรงพระอุตสาหะรับเป็นประธานชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ สนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งสำเร็จบริบูรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งยังทรงพระนิพนธ์พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทยฉบับปฐม ทรงจัดตั้งมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๖ เป็นรากฐานแห่งการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในระดับสูงและการบริหารจัดการศาสนสมบัติอย่างเป็นรูปธรรม และทรงพระกรุณาโปรดให้มีการสอบธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ เปิดให้มีการศึกษาพระพุทธศาสนาสู่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
๔. ปรากฏต้นฉบับเอกสารลายพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พระราชบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗) อนุสนธิพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระบรมราชวินิจฉัย ในการเฉลิมพระอิสริยยศ เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ ที่กรมพระชินวรวิสุทธิเทวารยวงศ์
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ ที่ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” ทุกพระองค์
๕. ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ โดยเสด็จสถิตเป็นที่พึ่งแห่งพระบรมราชวงศ์และพุทธศาสนิกชน นำพาราชอาณาจักรและพุทธจักรให้วัฒนาสถาพรมาได้โดยสวัสดี
ตราบกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ในรัชกาลที่ ๘ ทั้งนี้ ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ที่ทรงรจนาพระนามกรมพระชินวรวิสุทธิเทวารยวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นเวลานานกว่า ๙๐ ปี
๖. มหาเถรสมาคมในการประชุมเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๘ ได้พิจารณาว่า บัดนี้ จะบรรจบอภิลักขิตสมัย ๑๐๐ ปีนับแต่การพระราชทานเลื่อนเป็น “กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์” และมีมติให้จัดงานเฉลิมพระเกียรติ ด้วยทรงพระคุณูปการทั้งด้านการปกครองคณะสงฆ์ การศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงสมควรขอพระราชทานถวายสำเนาเอกสารลายพระหัตถ์เพื่อขอรับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในโอกาสอันสมควร
๗. วันพุธ ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๘ จะบรรจบอภิลักขิตสมัย ๑๐๐ ปีนับแต่วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ๑๐๐ ปีวันเสด็จขึ้นทรงราชย์แห่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในฐานะวัดประจำรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างยิ่งมาโดยตลอดรัชสมัย กับทั้งเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารในรัชกาลที่ ๗ จึงเห็นสมควรจัดพิธีบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายทั้งสองพระองค์
การนี้ นับเป็นโอกาสพิเศษที่จะได้สืบสานพระบรมราชปณิธานในรัชกาลที่ ๗ โดยที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงสถิตในที่พระราชกรรมวาจาจารย์ในรัชกาลที่ ๖ และในรัชกาลที่ ๗ ดังที่ปรากฏในสร้อยพระนามตอนหนึ่งว่า “ไทวภราดรมหาราชาภินิษกรมณาจารย์” ดังที่กล่าวมาแล้ว และประจวบด้วยอภิลักขิตสมัย ๑๐๐ ปีแห่งการพระราชทานเลื่อนกรมเป็น “กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์” และได้นำความกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชทราบฝ่าพระบาทแล้ว
๘. บัดนี้ ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหนังสือที่ พว. ๐๒๐๒.๒/๑๐๖๐๙ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๘ กราบทูลสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเฉลิมพระนามพระอัฐิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระราชกรรมวาจาจารย์ในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระชินวรวิสุทธิเทวารยวงศ์” และสร้อยพระนามตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ทรงรจนาไว้ เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปีนับแต่วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ๑๐๐ ปีวันเสด็จขึ้นทรงราชย์แห่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
๙. ทั้งนี้ จะมีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๘ และประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามจัดถวาย ในวันอังคาร ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๘ (อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระชินวรวิสุทธิเทวารยวงศ์) และทรงยกเบญจปฎลเศวตฉัตร ถวายกางกั้นพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้าซึ่งประดิษฐาน ณ ซุ้มคูหาพระเจดีย์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ภายหลังจากการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗
ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระชินวรวิสุทธิเทวารยวงศ์“