และแทบทุกคนต่างคิดว่ามันพังไปแล้ว ให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง
ยานอวกาศ Voyager 1 ออกเดินทางจากโลกเมื่อ 47 ปีที่แล้ว ด้วยภารกิจบินผ่านไปสำรวจดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ก่อนมุ่งหน้าออกจากระบบสุริยะไปตลอดกาล ด้วยความเร็วเกือบ 17 กิโลเมตร/วินาที หรือประมาณ 56,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เนื่องจากอวกาศมีแรงเสียดทานน้อยมาก ทำให้ยานอวกาศสามารถเดินทางออกไปด้วยความเร็วสูงและเกือบคงที่ โดยไม่ต้องจุดไอพ่นเพื่อเร่งความเร็วตลอดเวลา แต่ยาน Voyager 1 ยังต้องใช้ระบบไอพ่นในการหมุนปรับทิศทางของยาน เพื่อให้หันจานรับส่งสัญญาณกลับมายังโลก สำหรับติดต่อสื่อสารกับจานรับส่งสัญญาณของ NASA ที่ตั้งอยู่ในประเทศออสเตรเลีย สเปน และสหรัฐอเมริกา เรียกว่าเครือข่ายอวกาศลึก หรือ Deep Space Network
ยาน Voyager 1 มีระบบไอพ่นเพื่อปรับการหมุนอยู่สองชุด โดยในปี 2004 ระบบไอพ่นชุดหลักได้หยุดทำงาน หลังจากเกิดปัญหากับฮีตเตอร์ที่ให้ความอบอุ่นจากความหนาวเหน็บของห้วงอวกาศลึก หากมีการใช้ระบบไอพ่นโดยที่ฮีตเตอร์ไม่ทำงาน อาจทำให้ยานได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงได้
ในตอนนั้น NASA ตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ระบบไอพ่นชุดสำรอง ซึ่งยังทำงานได้ดีตามปกติแทน โดย Kareem Badaruddin ผู้จัดการภารกิจของ Voyager ระบุว่า “คงไม่มีใครในทีมภารกิจตอนนั้นคาดคิดหรอก ว่ายาน Voyager จะยังทำงานอยู่ได้อีก 20 ปีหลังจากนั้น”
แต่การใช้งานไอพ่นเพียงตัวเดียวมายาวนานกว่า 21 ปี ทำให้มีความเสี่ยงว่าอาจมีคราบของเชื้อเพลิงไปอุดตันในท่อส่งได้ กอปรกับ NASA กำลังจะมีการซ่อมบำรุงจานรับส่งสัญญาณที่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นจุดเดียวที่สามารถรับส่งสัญญาณกับ Voyager 1 ทำให้หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นกับระบบไอพ่นของยานลำนี้ มันจะไม่มีระบบสำรองให้สลับไปใช้ได้อีก และอาจไม่สามารถหันจานให้ติดต่อกลับโลกได้ตลอดกาล
นั่นจึงทำให้วิศวกร NASA พยายามสืบหาสาเหตุของข้อผิดพลาดกับระบบไอพ่นหลักที่ปิดไปในปี 2004 และพยายามหาทางทำให้ฮีตเตอร์กลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง โดยไม่สามารถส่งทีมช่างซ่อมขึ้นยานวาร์ปไปหา Voyager 1 ที่สุดขอบระบบสุริยะได้ แต่ต้องอาศัยการซ่อมระบบไฟฟ้าจากระยะห่าง 25,000 ล้านกิโลเมตร หรือต้องรอนานกว่า 46 ชั่วโมงกว่าจะรู้ว่าการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ได้ผลหรือไม่
ข่าวดีคือหลังจากการปรับค่าที่แผงวงจรซึ่งควบคุมพลังงานของฮีตเตอร์ ซึ่งหยุดทำงานไปตั้งแต่ปี 2004 และการทดสอบเปิดไอพ่นชุดดังกล่าวอีกครั้งเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2025 พบว่าไอพ่นชุดหลักที่ปิดไปนาน 21 ปี สามารถกลับมาทำงานได้ใหม่อีกครั้ง โดยไม่เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างใด ๆ ของยานอวกาศ
Todd Barber หัวหน้าทีมฝ่ายระบบขับดัน ระบุว่า “ไอพ่นเหล่านี้ได้ถูกพิจารณาตามเหตุและผลว่าตายจากเราไปแล้ว จนกระทั่งมีหนึ่งในวิศวกรของเราเกิดคิดขึ้นว่า บางทีอาจมีสาเหตุของปัญหาแบบอื่นที่เป็นไปได้ และมันอาจแก้ไขได้ นับเป็นการกอบกู้ยาน Voyager ได้อย่างปาฏิหาริย์อีกครั้งหนึ่ง”
ปัจจุบัน ยาน Voyager 1 คือยานอวกาศที่อยู่ไกลจากโลกที่สุด และทำงานได้ยาวนานที่สุด โดยใช้พลังงานจากอุปกรณ์ Radioisotope Thermoelectric Generators ซึ่งแปลงความร้อนที่เกิดจากการสลายตัวของพลูโตเนียม-238 ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า และ NASA คาดว่าจะมีพลังงานเหลือให้เปิดอุปกรณ์สำรวจทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างน้อย 1 ตัว จนถึงปี 2030 นี้
เครดิตและความรู้จากเพจ KornKT
NASAก็พากลับมาได้หลังจากที่วิศวกรของภารกิจสามารถซ่อมระบบไอพ่นบนยานVoyager1ที่ปิดใช้ไปนานกว่า21ปี