การอยู่รอดของร้านอาหารยุคนี้ผ่านหนึ่งปีก็ถือว่าเก่งแล้ว เช็กความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องระวัง ควรไปต่อ หรือพอแค่นี้
ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง วิกฤตธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในปี 2568 ที่หลายสำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจต่างชี้ตรงกันว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ "วิกฤติคูณสาม" ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ความระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภค และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเอาไว้ว่า ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในปี 2568 จะเติบโตเพียงเล็กน้อย โดยคาดว่ามูลค่าตลาดรวมจะอยู่ที่ประมาณ 646,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 2.8% จากปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำเมื่อเทียบกับแนวโน้มในอดีต
หนึ่งในปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการเติบโตของธุรกิจนี้ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหารที่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว
ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ กลางปี 2568 ยังสะท้อนภาพชัดเจนว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยเพียง 12.9 ล้านคน ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางในประเทศจะยังขยายตัวได้ แต่การใช้จ่ายกลับอยู่ในระดับระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากหลายครัวเรือนยังเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ในภาพรวม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในปีนี้จึงเผชิญความท้าทายหลายด้าน ไม่เพียงแค่การแข่งขันที่รุนแรง แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยนัก
ความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องระวังคือ ต้นทุนที่สูงขึ้น ร้านอาหารมีสัดส่วนต้นทุนตามนี้
35% ค่าวัตถุดิบอาหาร ซึ่งยังมีทิศทางผันผวนและทรงตัวสูง
30% ค่าการตลาด และอื่นๆ
20% ค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่า
30% ค่าการตลาด และอื่นๆ
15% ค่าแรง
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เพราะ 5 ปัจจัย ที่เป็นมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบัน “ความแปลกใหม่ - ประสบการณ์ - คุณภาพ - สุขภาพ -ราคาสมเหตุสมผล”
โอกาสที่ซ่อนอยู่ในความเสี่ยง
ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำ เป็นโอกาสที่ร้านอาหารจะได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ เพราะคนอยากลองของใหม่ โจทย์ที่ตามมาคือ เมื่อลูกค้าเปิดใจลองแล้ว ทำอย่างไรให้เขากลับมาซื้อซ้ำ
มีโอกาสได้ทำเลดี ในราคาถูกกว่า ร้านที่ประกาศเซ้งไม่ได้แปลว่าทำเลไม่ดีหรือไม่มีลูกค้า อาจเพราะไม่เข้าใจผู้บริโภคหรือบริหารจัดการธุรกิจไม่มีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นโอกาสของการลงทุนที่จะได้ทำเลดีในราคาถูกกว่าปกติ
เช็กสัญญาณ ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ?
โอกาสไปต่อ
ควบคุมต้นทุน ปรับสต๊อกให้เหมาะกับยอดขายได้
เข้าใจและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้ที่ต้องการ “ความแปลกใหม่ + ประสบการณ์ + คุณภาพ + สุขภาพ + ราคาสมเหตุสมผล”
มีความเก่ง หรือเชี่ยวชาญในเมนูใดเมนูหนึ่ง เช่น เก่งเมนูข้าวมันไก่ ส้มตำ หรือก๋วยเตี๋ยว ที่ทำให้ลูกค้านึกถึงอาหารแล้วนึกถึงแบรนด์เราทันที
ควรพอแค่นี้
ไม่วางแผนเรื่องโครงสร้างต้นทุน
เพราะอนาคตแนวโน้มต้นทุนมีแต่สูงขึ้น ถ้าไม่วางแผนดีๆ โอกาสขาดทุนมีสูง
ไม่ศึกษาตลาดและพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไว และตามกระแสอยู่ตลอดเวลา ทำให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนใจไปได้ตลอด ดังนั้น ถ้าไม่ศึกษากลุ่มเป้าหมาย อาจทำให้ลูกค้าหดหายได้ง่ายๆ
แบรนด์ไม่มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน เพราะวันนี้ลูกค้าอยากได้บริการ หรือสินค้าจากผู้ประกอบการที่มีความรู้ ความถนัด หรือเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น ถ้าแบรนด์ไม่ชัดเจนว่าเด่นเรื่องไหน โอกาสที่ลูกค้าจะมองข้ามมีสูงมาก
วัฏจักรธุรกิจสั้นลงร้านเปิดไม่ถึงปี ก็เจ๊งแล้ว
นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบันว่า ร้านอาหารขนาดเล็กและผู้ประกอบการรายย่อยยังคงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
“ธุรกิจระดับล่างเป็นกลุ่มที่ปิดตัวมากที่สุด และขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่เปิดใหม่มากที่สุดเช่นกัน นั่นแปลว่าเปิดมาแล้วขายไม่ได้ ก็ต้องปิดตัวไปเพราะไปต่อไม่ไหว” นายสรเทพกล่าว
เขายังระบุว่า วัฏจักรของธุรกิจร้านอาหารยังคงดำเนินอยู่ แต่กลับหดสั้นลงเรื่อย ๆ จากเดิมที่ร้านอาหารกว่า 60% จะปิดตัวภายใน 1 ปี และอีก 30% อยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี มีเพียง 20% เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขร้านอาหารที่ปิดตัวภายใน 1 ปีลดระยะเวลาเหลือเพียง 7-8 เดือน สะท้อนถึงความเปราะบางของธุรกิจในช่วงเริ่มต้น
“วัฏจักรยังคงอยู่ แต่สั้นลงมาก ไม่ถึงหนึ่งปีก็เจ๊งแล้ว”
นายสรเทพยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากมองในภาพรวมระดับประเทศ เศรษฐกิจที่แข็งแรงต้องมีฐานรากที่มั่นคง โดยเฉพาะภาค SME ที่ถือเป็นเส้นเลือดฝอยสำคัญของระบบเศรษฐกิจ
“ประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแรง มักมี SME ที่แข็งแรง อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือเกาหลี เดินไปที่ไหนก็เห็นร้านอาหารท้องถิ่น ร้านปิ้งย่าง ร้านคาเฟ่กระจายอยู่ทุกซอกทุกมุม นั่นแหละคือรากฐานที่แท้จริงของความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากบ้านเรา” เขากล่าวทิ้งท้าย
Source : K SME, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย,รายการออนไลน์ จส.100
วัฏจักรธุรกิจร้านอาหารสั้นลง บางรายเปิดไม่ถึงปีก็เจ๊งแล้ว