พฤติกรรม ‘Kidulting’ ไม่ใช่แค่การชื่นชอบของเล่นเหมือนเด็กแต่ยังเป็นการสร้างพื้นที่เล็กๆ สำหรับฮีลใจด้วย
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้MIND: พฤติกรรม ‘Kidulting’
ไม่ใช่แค่การชื่นชอบของเล่นเหมือนเด็ก
แต่ยังเป็นการสร้างพื้นที่เล็กๆ
สำหรับฮีลใจด้วย
.
ตอนนี้ถ้าพูดถึงไอเทมยอดฮิตของหนุ่มสาววัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ คงหลีกหนีไม่พ้น ไอเทมตุ๊กตาแขวนกระเป๋าอย่าง ลาบูบู (Labubu), ครายเบบี้ (Crybaby) หรืออื่นๆ อีกมากมายที่ตอนนี้ใครหลายคนอาจจะมีอยู่ที่ตัว หรืออาจจะเคยเห็นกันมาบ้าง
.
แล้วคุณสงสัยหรือไม่ว่า…ตัวเราที่โตแล้ว ทำไมถึงเกิดความรู้สึกชื่นชอบตุ๊กตาหรือของเล่น คล้ายกับตอนที่เราเป็นเด็ก? แต่ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะพฤติกรรมนี้ไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด แต่เป็นพฤติกรรมที่มีชื่อว่า ‘Kidulting’
.
Kidulting เป็นพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่มีความสุขกับสิ่งของหรือชื่นชอบอะไรบางอย่างเหมือนตอนเราเป็นเด็ก โดยพฤติกรรมนี้เป็นเหมือนการท้าทายแนวคิด ‘การเป็นผู้ใหญ่’ ที่มักจะต้องละทิ้งความสุขหรือความชอบในวัยเด็กไป อาจจะด้วยภาระหน้าที่ การงาน ที่ทำให้รู้สึกกดดัน จึงทำให้การชื่นชอบตุ๊กตากลายเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ช่วยให้กลับมามีความสุขอีกครั้งได้
.
ทั้งนี้คำว่า ‘Kidult’ เป็นคำที่มีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 โดยมีความหมายว่า เด็กที่พยายามทำตัวเป็นผู้ใหญ่ หรือ ผู้ใหญ่ที่ยังสนใจสิ่งของแบบเด็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความหมายเริ่มเอนเอียงไปทางความหมายที่สองมากกว่า
.
โดยพฤติกรรม Kidulting เป็นเหมือนพื้นที่เล็กๆ ที่ช่วยให้เราได้กลับไปมีหัวใจสดใสเหมือนวัยเด็กได้ เพราะ
.
1. ความเครียดในชีวิตของการเป็นผู้ใหญ่
.
ด้วยภาระหน้าที่ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ค่าใช้จ่าย การใช้ชีวิตที่วนอยู่กับสิ่งเดิมๆ อาจทำให้ใครหลายคนเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ แต่การได้กลับไปซื้อตุ๊กตา หรือสิ่งที่ชื่นชอบสมัยยังเป็นเด็ก อย่าง Kidulting ก็สามารถทำให้เราเกิดความสบายใจถึงขั้นมีความสุข เพราะเป็นเหมือน ‘ทางหนีจำเป็น’ ให้เราได้ออกจากโลกผู้ใหญ่ที่เคร่งเครียดพักหนึ่งด้วย
.
2. ความรู้สึกคิดถึงอดีต (Nostalgia) จนอยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
.
ความคิดถึงอดีตก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เราหันไปมองสิ่งของที่เคยมี เคยทำ หรือเคยเล่นในตอนเด็ก ขณะที่ในปัจจุบันโลกอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจก็ทำให้เราเกิดความทุกข์ใจ ดังนั้นการหันไปซื้อสิ่งของในอดีตอย่างตุ๊กตาจึงสามารถช่วยให้เราได้ปล่อยใจไปกับอดีตที่มีความสุขอีกครั้งได้
.
3. ความน่าสะสมของการมีหลากหลายคอลเลกชันและหลายแบรนด์
.
ปัจจุบันด้วยกระแสคนเริ่มหันมาสนใจตุ๊กตาหรือของเล่น จึงทำให้แบรนด์มีการผลิตสินค้าหลากหลาย อย่างในแบรนด์แฟชั่นก็มีนำลายการ์ตูนและรองเท้าสีสันสดใสกลับมาอีกครั้ง สตูดิโอภาพยนตร์ก็รีบูตแอนิเมชันคลาสสิก บริษัทของเล่นก็ออก ‘รุ่นสะสม’ สำหรับแฟนผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Care Bears, Hot Wheels หรือ Nintendo แบรนด์ต่างๆ ก็กำลังตอบสนองความต้องการของผู้ใหญ่ที่อยากสัมผัสรสชาติของอดีตอีกครั้ง
.
นอกจากนี้ เมลิสสา ไซมอนด์ส (Melissa Symonds) ผู้อำนวยการบริหารของ Circana ให้สัมภาษณ์กับ BBC เกี่ยวกับมาตรการล็อกดาวน์เนื่องจาก COVID-19 ด้วยว่า เหตุการณ์ล็อกดาวน์นำไปสู่การพฤติกรรม Kidulting เพราะตุ๊กตาหรือของเล่น ทำให้ผู้คนกลับมามีความสุขได้อีกครั้งในวันที่ต้องถูกกักตัว
.
อีกทั้งสาเหตุสำคัญอีกอย่างคือ ผู้ใหญ่มีเงินจากการทำงาน จึงสามารถนำมาซื้อความสุขหรือสิ่งของที่เคยอยากมีในวัยเด็กได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงนำไปสู่กระแสการซื้อตุ๊กตาหรือของเล่น และท้ายที่สุดพฤติกรรม Kidulting ก็เป็นพฤติกรรมที่ช่วยปลอบใจในวันที่หลายอย่างในชีวิตเร่งรีบจนอาจทำให้เราลืมสิ่งสำคัญไป
.
ดังนั้นการกลับมาซื้อตุ๊กตาหรือของเล่น จึงเป็นพฤติกรรมที่ดึงความสุขของเรากลับคืนมาเหมือนเช่นวัยเด็กได้
.
#MIND #BrandThink #CreativeChange
#Empowering #Diversity #PositiveImpact
พฤติกรรม ‘Kidulting’ ไม่ใช่แค่การชื่นชอบของเล่นเหมือนเด็กแต่ยังเป็นการสร้างพื้นที่เล็กๆ สำหรับฮีลใจด้วย