นักจิตวิทยาแห่งยุคชี้ ถ้าเด็กไม่สามารถ 'มีสมาธิ' ได้ภายในอายุ 25 ปี จะ 'สมาธิสั้น' ไปตลอดชีวิต

นักจิตวิทยาแห่งยุคชี้ ถ้าเด็กไม่สามารถ 'มีสมาธิ' ได้ภายในอายุ 25 ปี จะ 'สมาธิสั้น' ไปตลอดชีวิต
ถ้าพูดถึงนักจิตวิทยาที่ป๊อปและดังที่สุดในยุคปัจจุบัน คนหนึ่งที่เข้าข่ายแน่ๆ คือ โจนาธาน ไฮท์ (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้มีข้อเสนอสะเทือนโลกว่า ความเสื่อมทรามทั้งหมดของ 'เด็กยุคใหม่' เกิดจากการที่พวกเขาเล่นมือถือและโซเชียลมีเดียมากเกินไป โดยหาอ่านเต็มๆ ได้ในหนังสือขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์ของ The New York Times อย่าง ‘The Anxious Generation’ ที่ออกมาในปี 2024
.
ล่าสุดไฮท์ลุยต่อ โดยให้สัมภาษณ์ผ่านพอดแคสต์ของพิธีกรดังอย่างโอปราห์ วินฟรีย์ ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2025 ที่ผ่านมา เนื้อหาหลักๆ ก็พูดถึงประเด็นเดิมๆ ว่าเด็กวัยรุ่นยุคนี้อยู่หน้าจอกันวันละกว่า 8 ชั่วโมง และเช็กมือถือกันวันละ 100 ครั้ง ผลก็คือทำให้คนที่โตมาแบบนี้ไม่สามารถจะเอาใจจดจ่อกับอะไรนานๆ ได้ ถ้าพูดภาษาแบบคนสมัยก่อนก็คือเด็กสมัยนี้ 'ไม่มีสมาธิ'
.
แน่นอน ไฮท์ไม่ได้พูดถึงข้อดีของภาวะนี้ที่ทำให้คนมีทักษะ 'ทำงานหลายอย่างได้พร้อมกัน' (multitasking) ได้ แต่เขาบอกว่าการที่เด็กโตมาแบบที่ไม่เคยทำอะไรจดจ่อเป็นเวลานาน จะทำให้สมองส่วนหน้า หรือส่วน 'ฟรอนทัลคอร์เท็กซ์' จะไม่พัฒนาศักยภาพในการ 'มีสมาธิ' ขึ้นมา และสมองส่วนนี้จะหยุดเติบโตตอนอายุ 25 ปี
.
ทั้งนี้การ 'ไม่มีสมาธิ' ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าๆ ก็จะมองว่ามันมีปัญหาในทุกด้าน เพราะถ้าไม่นับว่าจะมีความสัมพันธ์แบบต่อหน้ากับผู้คนยากแล้ว เอาแค่การทำงานก็จะมีปัญหามาก เพราะอย่างน้อยๆ ทั้งนายจ้างและหัวหน้ารุ่นเก่าๆ ก็นึกไม่ออกว่าจะทำงานกับคนที่ไม่มีสมาธิเลยได้อย่างไร
.
ถามว่าแล้วจะ 'สร้างสมาธิ' ต้องทำยังไง ไฮท์ แนะนำว่าให้ลอง 'หักดิบ' จากชีวิตออนไลน์ไปสัก 1 เดือนดู แล้วชวนครอบครัวหรือเพื่อนสัก 3 คนมาทำพร้อมๆ กันเพื่อให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเกินไป และเพื่อให้มีคนแลกเปลี่ยนความคิดด้วยว่าจะทำอะไรดี ซึ่งแน่นอน กิจกรรมที่คนสมัยก่อนทำกันก็เป็นสิ่งที่ควรลองทำให้สำเร็จ เช่นอ่านหนังสือ เขียนบันทึกประจำวัน ดูหนังรวดเดียวให้จบเรื่อง หรือทำพวกกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ หรืออีกเทคนิคที่เขาแนะนำว่าสามารถสร้างสมาธิได้คือการทำงานบ้านไปฟังเพลงไป เพราะมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการฟังเพลงในขณะทำกิจกรรมต่างๆ นั้นสามารถทำให้เรามีสมาธิได้มากขึ้นเช่นกัน
.
ทั้งหมดนี้ก็ต้องไม่ลืมว่าอีกด้านหนึ่ง ข้อเสนอทั้งหมดวางอยู่บนกรอบความคิดของไฮท์ที่เชื่อว่าปัญหาสุขภาพจิตทั้งหลายของคนรุ่นใหม่ๆ นั้นเกิดจากการใช้ชีวิตออนไลน์และเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไป ซึ่งก็มีข้อวิจารณ์เช่นกันว่าไฮท์มีแนวโน้มจะพูดถึงปัญหาหลายๆ อย่างเกินจริง และคนรุ่นอื่นๆ ที่ไม่มีโซเชียลมีเดียก็มีปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ได้โดยที่ไม่ได้เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดีย พูดง่ายๆ ก็คือ ไฮท์อาจมองการเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ในแง่ร้ายเกินไปนั่นเอง

ที่มา : BrandThink
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่