พาณิชย์ เปิดค่าใช้จ่ายครัวเรือนคนไทย เม.ย. เกิน 2 หมื่นบาท เทียบปีก่อนพุ่ง 15.36 %
.
.
พาณิชย์ เปิดค่าใช้จ่ายครัวเรือนคนไทย เม.ย. เกิน 2 หมื่นบาท เทียบปีก่อนพุ่ง 15.36 %
.
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยข้อมูลสำรวจค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เดือนเมษายน 2568 พบว่า มียอดเฉลี่ย 20,982 บาท โดยสัดส่วน 60.59% เป็นรายจ่ายในหมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ ประกอบด้วย อันดับแรกเป็นค่าใช้จ่ายจากค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รวมสัดส่วน 24.54% หรือยอดเงินรวม 5,150 บาท ตามด้วยค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ รวมสัดส่วน 22.29% หรือยอดเงินรวม 4,646 บาท ค่าแพทย์ ค่ายา และค่าบริการส่วนบุคคล รวมสัดส่วน 6.37% หรือยอดเงิน 1,337 บาท ค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียน และการกุศลต่างๆ รวมสัดส่วน 4.04% หรือยอดเงิน 848 บาท ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่มและรองเท้า รวมสัดส่วน 2.10% หรือยอดเงิน 442 บาท ค่าบุหรี่ ค่าเหล้า ค่าเบียร์ รวม 1.25% หรือยอดเงิน 261 บาท
.
ขณะที่สัดส่วนอีก 39.41% เป็นค่าใช้จ่ายรวมในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ ประกอบด้วย อันดับแรกเป็นค่าใช้จ่ายจากอาหารสำเร็จรูป(ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เคเอฟซี ซิฟซ่า ดิลิเวอรี่) สัดส่วนถึง 16.58% หรือยอดเงิน 3,479 บาท รองลงมาคือ เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สัดส่วน 7.40% หรือยอดเงิน 1,553 บาท ผักและผลไม้ สัดส่วน 4.82% หรือยอดเงิน 1,012 บาท ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สัดส่วน 3.46% หรือยอดเงิน 726 บาท เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ สัดส่วน 3.36% หรือยอดรวม 706 บาท ไข่และผลิตภัณฑ์นม สัดส่วน 1.70% หรือยอดรวม 357 บาท เครื่องปรุงอาหาร สัดส่วน 1.22% หรือยอดรวม 256 บาท ผลิตภัณฑ์น้ำตาล สัดส่วน 0.85% รวม 179 บาท
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากเทียบข้อมูลการใช้จ่ายของครัวเรือนในเดือนเมษาษยนปี 2567 พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 18,187 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สัดส่วน 58.50% และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ สัดส่วน 41.50% ในเดือนเมษายนปี 2567 รายการที่ใช้จ่ายต่อเดือนในหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พบว่า มากสุดคือค่าโดยสารสาธารณะ-ค่าน้ำมัน-ค่ามือถือ รวม 4,267 บาท มีสัดส่วนรวม 23.46% ตามด้วยค่าเช่าบ้าน ค่าไฟ ค่าแก๊สหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รวม 4,004 บาท ขณะที่หมวดอาหาร ค่าใช้จ่ายมากสุดอันดับแรก คือ อาหารบริโภคในบ้าน 1,651 บาท ตามด้วย เนื้อสัตว์ 1,633 บาท อาหารบริโภคนอกบ้าน 1,260 บาท สะท้อนได้ว่าค่าใช้จ่ายเดือนเมษายนปีนี้สูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 2,795 บาท หรือประมาณ 15.36 %
.
.
สัญญาณเตือน! เงินเฟ้อ เม.ย. ติดลบครั้งแรกในรอบ 13 เดือน มีแนวโน้มลดลงอีก
.
ทำเอานักลงทุนในตลาดหุ้นเกิดความกังวลกับเงินเฟ้อของไทย ที่เดือนล่าสุด "เมษายน" หดตัวติดลบครั้งแรกในรอบ 13 เดือน มากกว่าที่คาดกันไว้ และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกในเดือนพฤษภาคมนี้ จากราคาน้ำมันและค่าไฟที่ลดลงแรง จนเกิดคำถามว่า เศรษฐกิจไทยจะเดินไปสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่
.
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินเฟ้อเดือนเมษายน ติดลบ 0.22% ซึ่งลดลงลงครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้ง แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่าไฟฟ้า ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับราคาผักสดและไข่ไก่ลดลง เนื่องจากอากาศร้อนน้อยกว่าทุกปี แต่ในเนื้อสุกร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหาร ยังสูงขึ้น แต่ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
.
และที่ต้องจับตา คือ เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า จะยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนเมษายน คือ ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ลดลงต่ำกว่าปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาในประเทศลดลงในทิศทางเดียวกัน และภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดราคาค่าไฟงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย
.
ส่วนคำถามที่ทุกคนกังวล คือ นี่เป็นสัญญาณของเงินฝืดหรือไม่ คุณพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ตอบชัดเจนว่า ยังไม่ถึงภาวะเงินฝืด โดยดูจากเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังสูงอยู่ที่ 0.98 % นั่นหมายถึงว่า เมื่อตัดกลุ่มพลังงาน ซึ่งอยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% จึงยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด เพราะน้ำหนักอยู่ที่กลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ที่ยังราคาสูงขึ้น
.
อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่ติดลบครั้งแรกในรอบ 13 เดือน สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน สะท้อนจากดัชนีหุ้นไทย ที่เปิดตลาดภาคเช้าร่วงกว่า 10 จุด บวกกับแรงกดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน ที่ร่วงตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลง และแรงขายหุ้น DELTA ที่ถูกขายทำกำไรจากที่ขึ้นมาแรง
.
.
.
.
นักวิชาการธรรมศาสตร์ จี้รัฐบาล เร่งเปิด ‘เจรจาสันติภาพ’ ดับความรุนแรงไฟใต้
https://www.dailynews.co.th/news/4679728/
.
“ดร.ชญานิษฐ์” นักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ หนุนรัฐบาลเร่งทบทวน กระบวนการเจรจาสันติภาพ แก้ปัญหาความรุนแรงไฟใต้ ระบุสถิติชี้ชัดช่วยลดเหตุการณ์ความไม่สงบได้จริง แนะต้องพูดคุยคุยเร็วเมื่อไร เป็นผลดีของทุกฝ่าย
.
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า เหตุผลที่ทำให้ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ปะทุขึ้นในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจมาจากการหยุดชะงักของกระบวนการเจรจาสันติภาพ พบว่าได้หยุดนิ่งมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ชี้ชัดว่า นับตั้งแต่มีการเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพในปี 2556 เป็นต้นมา พบว่าสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นเพราะกระบวนเจรจาสันติภาพเป็นพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งสามารถต่อรอง แลกเปลี่ยนข้อมูลและมีส่วนสร้างความไว้วางใจต่อกัน เพื่อระงับไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้
.
ดร.ชญานิษฐ์ กล่าวต่อว่า การที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เราจะไม่คุย ถ้าไม่ใช่ตัวจริง” นั้น เป็นการสร้างเงื่อนไขในการพูดคุยสันติภาพที่น่ากังวล เพราะถ้าไม่เริ่มต้นคุยแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ ในขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ที่มีการทุ่มงบประมาณจำนวนมากต่อความพยายามแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทางการไทยยังไม่ทราบเลยหรือว่าใครเป็นตัวจริงหรือไม่เป็นตัวจริง
.
“ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น หากยังไม่เกิดกระบวนการพูดคุยกันอีก อาจแปลความได้ว่าทั้งรัฐบาลไทยและขบวนการติดอาวุธ ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง ผลคือความชอบธรรมของทั้งรัฐบาลและขบวนการจะลดลงเรื่อยๆ และทั้งสองฝ่ายก็จะไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างที่พยายามกล่าวอ้างมาโดยตลอด เพราะขณะนี้ประชาชนประสานเสียงต้องการให้เกิดการพูดคุย ฉะนั้นการพูดคุยเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่ายมากขึ้นเท่านั้น”
.
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงต่อพลเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ภาคประชาสังคมและประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นชาวมลายูและไทยพุทธ ต่างก็แสดงความต้องการไปในทิศทางเดียวกัน คือเรียกร้องให้รัฐบาลและขบวนการกลับสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพโดยเร็วผลการสํารวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึง พ.ศ. 2566 รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นทั้งชาวมลายูและคนไทยพุทธ อายุ 18-70 ปี รวมกว่า 10,581 คน ทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในการสำรวจความคิดเห็นขของประชาชนทั้ง 7 ครั้งสนับสนุนให้ใช้ “การพูดคุยสันติภาพ” เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความรุนแรง และไม่เคยมีผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งใดเลยที่ได้รับคำตอบว่าสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพน้อยกว่าร้อยละ 55
.
“ความไม่สงบจนเป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง แม้ว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นการกระทำจากขบวนการแนวร่วม BRN แต่ล่าสุด BRN ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงเสียใจต่อเหตุรุนแรงและยืนยันไม่มุ่งโจมตีพลเรือน แม้ว่าการปะทุขึ้นของความรุนแรงในปี 2547 จะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์และความรู้สึกที่ได้รับการกดขี่หรือถูกกระทำ แต่ก็คงไม่มีเป้าหมายไหนจะสูงส่งพอที่จะอนุญาตให้ทำร้ายคนชรา เด็ก และผู้พิการได้ มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถยอมรับได้”.
.
.
วันนอร์ ยัง งง ศาลาแก้ว สร้างไว้ทำไม เผย สำนักงบฯ ไม่ได้ให้ตามขอ ตัดงบที่จอดรถ-งบฯไม่จำเป็น
https://www.matichon.co.th/politics/news_5170406
“วันนอร์” ยัง งง “ศาลาแก้ว” สร้างไว้ทำไม ทำแล้วไม่ได้ใช้งาน คาดเป็นส่วนหนึ่ง “พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7” เผย “สำนักงบฯ” ไม่ได้ให้ตามขอ ตัดงบสร้างที่จอดรถ-งบฯไม่จำเป็น ยัน ต้องปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ มีศักดิ์ศรี
.
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 6 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของบประมาณในการปรับปรุงต่อเติมรัฐสภา ทั้งที่เพิ่งเปิดการใช้งานเพียง 5 ปี ว่า ความจริงไม่ได้เป็นการต่อเติมอาคารัฐสภาแต่อย่างใด เพราะอาคารรัฐสภาสร้างเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ มีการตรวจรับแล้ว แต่สิ่งที่เป็นข่าว จากที่ตนติดตามดูนั้น เป็นการเติมสิ่งที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ เช่น ห้องประชุมชั้น B2 ซึ่งสร้างเสร็จแล้วสามารถบรรจุได้ 1,500 คน แต่ไม่มีโต๊ะ เก้าอี้ เวทีการประชุม จอ เครื่องเสียง ไฟก็ไม่สว่าง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาฯ ตลอดจนผู้บริหารของสภาฯเห็นว่าควรจะทำให้สมบูรณ์ เพื่อใช้ประโยชน์เต็มที่ เราทำงานมา 5-6 ปี แต่ไม่มีใครกล้าไปทำเพราะยังไม่ได้รับมอบ นอกจากนั้นยังมีห้องประชุมชั้น B1 ลักษณะเช่นเดียวกัน เราจึงต้องทำให้สมบูรณ์
JJNY : 5in1 เปิดค่าใช้จ่ายครัวเรือน│สัญญาณเตือน! เงินเฟ้อ│จี้เร่ง‘เจรจาสันติภาพ’│วันนอร์ยังงง ศาลาแก้ว│ยูเครนถล่มรัสเซีย
.
.
นักวิชาการธรรมศาสตร์ จี้รัฐบาล เร่งเปิด ‘เจรจาสันติภาพ’ ดับความรุนแรงไฟใต้
https://www.dailynews.co.th/news/4679728/
.
“ดร.ชญานิษฐ์” นักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ หนุนรัฐบาลเร่งทบทวน กระบวนการเจรจาสันติภาพ แก้ปัญหาความรุนแรงไฟใต้ ระบุสถิติชี้ชัดช่วยลดเหตุการณ์ความไม่สงบได้จริง แนะต้องพูดคุยคุยเร็วเมื่อไร เป็นผลดีของทุกฝ่าย
.
.
วันนอร์ ยัง งง ศาลาแก้ว สร้างไว้ทำไม เผย สำนักงบฯ ไม่ได้ให้ตามขอ ตัดงบที่จอดรถ-งบฯไม่จำเป็น
https://www.matichon.co.th/politics/news_5170406