(1) เป็นเรื่องธรรมดาที่ Mickey 17 จะต้องแบกรับความคาดหวังอันมหาศาล เพราะนี่เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของ “บง จุนโฮ” (Bong Joon-ho) ผู้กำกับที่เคยสร้างประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่บนเวทีออสการ์จากภาพยนตร์เสียดสีชนชั้นสุดคมคายอย่าง Parasite (2019) และหากมองย้อนกลับไปอีก ผลงานของผู้กำกับชาวเกาหลีผู้นี้ก็ข้องแวะอยู่กับประเด็นเรื่องสังคม การเมือง และความเหลื่อมล้ำ อยู่เรื่อยๆ
(2) ไม่ว่าจะเป็น The Host (2006) ภาพยนตร์แนวสัตว์ประหลาดที่เสียดสีการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล หรือ Snowpiercer (2013) ภาพยนตร์แนวไซไฟกับการเข้าไปสำรวจปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งน่าจะมีอิทธิพลต่องานชิ้นล่าสุดของเขาที่สุด แถมด้วย Okja (2017) เรื่องราวของเด็กสาวกับเพื่อนสี่ขาตัวโตที่นอกจากจะสะท้อนระบอบทุนนิยมและบริโภคนิยมแล้ว ยังบ่งบอกถึงวิสัยทัศน์การเล่าเรื่องที่ไม่จำกัดอยู่แค่มนุษย์กับมนุษย์เท่านั้นด้วย

(3) และคงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า Mickey 17 เป็นงานที่บง จุนโฮ (หรือบางทีก็เรียก พง จุนโฮ จะเรียกแบบไหนแล้วแต่สะดวก) นำเอาประสบการณ์ในภาพยนตร์ก่อนหน้าของเขาอย่างละนิดละหน่อย มาประกอบสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ว่าบทดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง Mickey 7 ของผู้เขียน Edward Ashton ที่วางขายก่อนหน้านี้ไม่นานนัก แต่บง จุนโฮ ก็ได้สิทธิในการดัดแปลงทุกอย่างได้ตามใจชอบ(แม้กระทั่งชื่อเรื่อง) เราจึงบอกได้เลยว่า Mickey 17 เป็นงานของเขาอย่างแท้จริง

(4) เมื่อมันเป็นงานจากความตั้งใจของผู้กำกับโดยตรงแล้ว จะดีจะชั่วก็ต้องได้รับเครดิตไปเต็มๆ เช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ก่อนหน้านี้งานของบง จุนโฮ มักจะมาในแนวทางที่ดราม่าและจริงจังเป็นหลัก โดยสอดแทรกความขำแบบยิ้มแห้งถึงชะตากรรมอันขมขื่นของตัวละครไว้เป็นเรื่องรอง รวมถึงท่าทีของการเสียดสีประเด็นต่างๆ ก็ไม่ได้ถูกนำเสนอแบบจงใจนัก แต่สำหรับ Mickey 17 เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามทั้งหมด บง จุนโฮ ดันความตลก(ร้ายๆ)มาเป็นโทนหลักของเรื่องแบบไม่สนความสมจริง ผ่านชะตากรรมตายซ้ำตายซากของ “มิกกี้ บารนส์” (Robert Pattinson) ในสภาพสังคมที่ถูกปกครองโดยเผด็จการจอมงั่งอย่าง “มาร์แชล” (Mark Ruffalo)

(5) สำหรับ Mickey 17 ใช้คำว่าเสียดสีหรือเหน็บแนมคงไม่ได้ เพราะมันคือการ “ด่าโต้งๆ” เลย ตัวละครส่วนใหญ่ของเรื่องถูกออกแบบมาให้เฟอะฟะ หรือไม่ก็เป็นไอ้งั่งสุดขอบโลก ชัดเจนที่สุดคงจะหนีไม่พ้นมาร์แชล นักธุรกิจและนักการเมืองที่เป็นเจ้าของโปรเจคยานอวกาศสำรวจดวงดาวลำนี้ ที่ดูไปก็ได้แต่สงสัยว่า คนแบบนี้มันเป็นใหญ่เป็นโตแบบนี้ได้ยังไง? หรือมิกกี้เองก็เป็นตัวแทนชนชั้นล่างที่ถูกอำนาจกดทับจนโงหัวไม่ขึ้นยังไม่พอ ความเฟอะฟะยังเป็นสารตั้งต้นพาเขาให้จมดิ่งสู่ก้นบึ้งไร้ที่แสงสว่าง ทั้งหมดนี้ บง จุนโฮ ตั้งใจเอาความบัดซบทั้งหมดในสังคมมาสร้างเป็นตัวละครที่ดูบิดเบี้ยวไร้ตรรกะ เพื่อสะท้อนภาพที่น่าขำแต่ความเป็นจริงช่างน่าเจ็บปวดเข้าไว้ด้วยกัน

(6) แต่การทำแบบนี้ก็ย่อมส่งผลให้เกิดทางแยก (dilemma) ขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ ความหมายคือ เมื่อมาทางตลกก็จะลดทอนความหนักแน่นของสิ่งที่จะสื่อ ซึ่งคุณไม่สามารถเลือกทั้งสองสิ่งไปพร้อมๆ กันได้ และดีไม่ดีมันจะพาลทำให้ทุกอย่างเสียไปหมด แม้ชื่อชั้นของบง จุนโฮ จะทำให้เราเบาใจได้ว่ามันต้องออกมาดีแน่ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ต้องบอกว่าเขาเกือบเอาไม่อยู่เหมือนกัน เห็นได้จากการที่เมื่อถึงจุดไคลแมกซ์ของเรื่องแล้ว แต่ตัวหนังยังสร้างผลทางอารมณ์ได้ไม่มากพอ ส่งผลให้บทสรุปของเรื่องเป็นเพียงลมฤดูหนาวที่มาไวไปไวจนไม่ทันได้ลิ้มรสอะไรนัก

(7) หนำซ้ำตัวเรื่องยังมีประเด็นยิบย่อยเยอะแยะไปหมด ทั้งการเมือง ทุนนิยม วิทยาศาสตร์ จริยธรรม ปรัชญา และอื่นๆ ที่ต่อให้คุณพูดอะไรมาก็โดนไปซะหมด มันทำให้ประเด็น “มนุษย์ใช้แล้วทิ้ง” (Expendable) ที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องโดนบดบังไปมากพอดู จนเอาเข้าจริงดูจบแล้วยังสัมผัสไม่ได้เลยว่าอะไรคือแก่นของเรื่องกันแน่ ตัวละครมิกกี้หมายเลข 17 และ 18 ที่ควรจะเป็นดาวเด่น แต่กลายเป็นว่า สิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายหมีน้ำที่ประจำถิ่นบนดาวนิฟเฮล์ม (Niflheim) ที่ถูกตั้งชื่อส่งๆ ว่า “คีปเปอร์” และความบัดซบของมาร์แชลกลับน่าติดตามมากกว่าซะอีก โดยเฉพาะฝ่ายหลังว่าเขาจะพบจุดจบแบบไหน(ซึ่งค่อนข้างน่าผิดหวัง)

(8) นอกจากนี้ Mickey 17 ยังเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระมากเกินไป ทั้งการเล่าที่มาของโครงการโคลนนิ่งอย่างละเอียด ตั้งแต่มิกกี้เบอร์ 1 ถึงปัจจุบัน ในตอนต้นเรื่อง หรือความต้องการอธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์มากเกินไป ทั้งๆ ที่ตัวหนังมันก็ไม่ได้ยึดหลักความสมจริงอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ควรเปลี่ยนมาเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้มากขึ้น ระหว่างมิกกี้และ “นาชา” (Naomi Ackie) หัวหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่กลายมาเป็นแฟนสาวของเขาในระหว่างการทดลองดำเนินไป

(9) โดยเฉพาะในช่วงกลางเรื่องที่มิกกี้ทั้งสองมาเจอกัน แล้วนาชารับรู้เรื่องนี้ พ่วงด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสาวอีกคน “คาทซ์” (Anamaria Vartolomei) ที่เล็งมิกกี้อยู่เหมือนกัน ความสัมพันธ์สี่เส้านี้เป็นจังหวะที่ดีมากในการสร้าง “ความเป็นมนุษย์” ให้กับเหล่าตัวละคร และท้าทายประเด็นมนุษย์ใช้แล้วทิ้งในอีกแง่หนึ่งด้วยซ้ำ(คงไม่ต้องบอกว่าอย่างไร) แต่ดูเหมือน บง จุนโฮ จะไม่สนใจมัน และปล่อยให้เรื่องดำเนินผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างมิกกี้และนาชาถูกขัดเกลาจนพอใช้งานได้

(10) การรับบทเป็นตัวละครโคลนนิ่งหรือฝาแฝดอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าทึ่งขนาดนั้น แต่โรเบิร์ต แพททินสัน ก็ยังฝากการแสดงที่น่าจดจำเอาไว้ได้ ภายใต้ความเหมือนของมิกกี้ 17 และ 18 แต่อุปนิสัยกับต่างกันสิ้นเชิง โรเบิร์ต แพททินสัน ทำให้เราแยกความแตกต่างของสองคนนี้ได้โดยที่เขาไม่ต้องพูดออกมาสักคำ

(11) ในขณะที่ “มาร์ค รัฟฟาโล” กับ “โทนี คอลเล็ตต์” เป็นตัวสีสันของเรื่องที่ขาดไม่ได้ ฝ่ายแรกแสดงถึงความน่าน่าหมั่นไส้จนเราอยากให้เขาพบกับจุดจบที่สาแก่ใจ ส่วนฝ่ายหลังเป็นช้างเท้าหลังที่เสนอหน้าบ่อยมากเพื่อคอยบ่งการสามีอย่างใกล้ชิด แอบทึ่งเหมือนกันว่านักแสดงคุณภาพเหล่านี้จะสามารถถ่ายทอดความยียวนกวนประสาทได้จนคันฝ่าเท้า และไม่มีการห่วงภาพลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ โรเบิร์ต แพททินสัน ที่ปู้ยี่ปู้ยำมาหลายเรื่องแล้ว

(12) คุณภาพงานสร้างเป็นอีกจุดที่ค้ำจุนภาพยนตร์ทั้งเรื่องดูมีพลังขึ้นมา ด้วยทุนสร้างกว่า 120 ล้านดอลลาร์ฯ การเนรมิตฉากอันล้ำสมัยและใหญ่โตก็สามารถทำได้ตามใจปรารถนา ถือว่าเป็นงานเดบิ้วฮอลลิวูดที่เริ่มอย่างเล่นใหญ่ของบง จุนโฮ เลยก็ว่าได้ และหากเทียบกับ Parasite ที่มีทุนสร้างราวๆ 10 ล้านดอลลาร์ฯ แล้ว ถือว่าเป็นการก้าวกระโดดที่ค่อนข้างเสี่ยงไม่น้อยเหมือนกัน

(13) เอาเข้าจริงหากไม่ใช่ความสามารถของนักแสดงและงานสร้าง รวมถึงการเล่าเรื่องของ บง จุนโฮ ตัวหนังอาจจะเละกว่านี้มาก แต่อย่างน้อยๆ ตัวเรื่องก็พาผู้ชมไปส่งที่ตอนจบได้แบบไม่ทุลักทุเล แต่ก็ไม่ได้สร้างประสบการณ์ที่ดีเลิศอะไรมากมาย รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่ไม่รู้จะมาถกต่ออย่างไร เพราะความเจือตลกและความบ้าบอของมันผลักดันให้ประเด็นต่างๆ ห่างไกลจากความเป็นจริงไปมาก คือ ถ้าในความเป็นจริง ยานอวกาศของมาร์แชลอย่าว่าแต่พามนุษยชาติออกไปนอกโลกเลย มันจะระเบิดตอนเปิดเครื่องรึเปล่าก็ยังน่ากังวลกว่าด้วยซ้ำ

[รีวิว] Mickey 17 - งานไซไฟตลกร้ายไม่เน้นสมจริงกับหลากประเด็นล้นเรื่องแต่ก็เล่าได้ลื่นไหลจนจบ