HYBE ในปี 2024: จากความรุ่งโรจน์เมื่อครั้งอดีตสู่ปัญหาภายในบริษัทครั้งใหญ่

**ขอชี้แจงว่า ข่าวนี้เป็นการสรุปสิ่งที่ HYBE ต้องเจอในปี 2024 ทั้งหมด ประกอบกับแหล่งข่าวภาษาเกาหลีที่อ้างอิงมาก็มีพูดถึงศิลปินด้วย ฉะนั้นผมจึงต้องเอามาแปลทั้งหมด เผื่อใครที่พึ่งมาตามข่าวนี้ทีหลัง จะได้เข้าใจข่าวแบบถูกต้อง เพราะถ้าเอามาไม่ทั้งหมด เดี๋ยวก็หาว่าบิดสารมั่วอีก**

ผู้สื่อข่าว พัค เซยอน รายงานว่า HYBE เป็นบริษัทขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในอุตสาหกรรม K-POP ที่ต้องเผชิญกับความปั่นป่วนเป็นอย่างมาก บริษัทที่เริ่มต้นในชื่อ Big Hit Entertainment และกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากวงสร้างค่ายอย่าง BTS ก็ได้มีเหตุการณ์สำคัญ เช่น การรีแบรนด์ใหม่เป็น HYBE ในปี 2021, และการได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความสำเร็จมากมาย แต่ HYBE ก็ต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์และประเด็นความขัดแย้งภายในบริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่สิ่งที่หลายคนอธิบายว่าเป็น "ปีที่เลวร้ายสำหรับ HYBE" ตั้งแต่ประเด็นความขัดแย้งกับมินฮีจิน อดีต CEO ของ ADOR, ความขัดแย้งเกี่ยวกับวง NewJeans, ไปจนถึงประเด็นดราม่าที่เกี่ยวข้องกับ SUGA สมาชิกวง BTS, และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวของประธานบังชีฮยอก ซึ่งทางบริษัทเองก็พยายามที่จะรักษาความมั่นคงของตนเองอย่างหนักหน่วง

ความขัดแย้ง มิน ฮีจิน vs. HYBE

ความขัดแย้งระหว่างมิน ฮีจิน อดีต CEO ของ ADOR กับบริษัทแม่อย่าง HYBE กลายเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่สุดของวงการบันเทิงในปีนี้ โดยประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อ HYBE เปิดเผยว่าตนกำลังดำเนินการตรวจสอบภายในกับค่าย ADOR โดย HYBE สงสัยว่ามีความพยายามในการบริหารงานที่ไม่โปร่งใสและพยายามเข้าควบคุมบค่ายลูกนี้อย่างอิสระ  

ซึ่ง HYBE เลือกที่จะเปิดเผยการตรวจสอบภายในต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้มิน ฮีจิน ออกมาแถลงข่าวโดยเรียกข้อกล่าวหานี้ว่าเป็น “การล่าแม่มด” พร้อมทั้งอ้างว่าการตรวจสอบภายในนี้เป็นการตอบโต้เธอ หลังจากที่เธอเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภายในของ HYBE รวมถึงการขาดอิสระในการมีความคิดสร้างสรรค์ของค่าย ADOR  

ในขณะเดียวกัน NewJeans วงเกิร์ลกรุ๊ปที่เดบิวต์ในค่าย ADOR ก็มีบทบาทสำคัญในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน โดยในไลฟ์สตรีมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สมาชิกของวงได้เรียกร้องให้มินฮีจินกลับมาดำรงตำแหน่งตามเดิม ขณะที่หนึ่งในสมาชิกวงอย่าง “ฮันนิ” ได้เข้าร่วมการพิจารณาคดีของสมัชชาแห่งชาติในฐานะพยาน เมื่อเดือนตุลาคม เกี่ยวกับประเด็นการถูกคุกคามในที่ทำงาน

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน วง NewJeans ได้ประกาศยุติสัญญากับ ADOR โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความไว้วางใจต่อการบริหารงานของผู้บริหารค่ายชุดปัจจุบัน ในขณะที่ ADOR ได้ยื่นฟ้องเพื่อยืนยันความถูกต้องของสัญญา ส่วน NewJeans ได้เดินหน้าสร้างเส้นทางอิสระของตนเองโดยยังคงทำกิจกรรมที่วางแผนไว้ล่วงหน้าตามเดิม

สิ่งที่ตามมาคือการต่อสู้ทางกฎหมาย โดยมิน ฮีจินได้ยื่นคำร้องขอคำสั่งคุ้มครองเพื่อรักษาตำแหน่งของเธอใน ADOR แม้ว่าคำสั่งคุ้มครองครั้งแรกจะตัดสินให้เธอชนะ แต่คณะกรรมการของ ADOR ได้ลงมติปลดเธอออกจากตำแหน่ง CEO ในเวลาต่อมา และ HYBE ก็ชนะคดีความในที่สุด ส่งผลให้เธอตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งและออกจากบริษัทในท้ายที่สุด

ประเด็นดราม่าเกี่ยวกับ Suga และ Bang Si-hyuk

โดยปกติแล้ว วง BTS มักจะไม่มีประเด็นอื้อฉาวที่ใหญ่โตมากนัก แต่ในปีนี้กลับตกเป็นข่าวอย่างไม่คาดคิดเมื่อ Suga (หนึ่งในสมาชิกของ BTS) ถูกปรับเงินจำนวน 15 ล้านวอน (ประมาณ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 350,000 บาทไทย) เนื่องจากขับขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในขณะมึนเมา โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่เขตฮันนัม กรุงโซล ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของ Suga พบว่าสูงถึง 0.227% ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่ 0.08% ถึงแม้ว่าตัวเขาเองได้ออกมาขอโทษในเรื่องนี้แล้ว พร้อมทั้งเรียกยานพาหนะที่เขาขับขี่ว่าเป็น "สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า" แต่ก็มีผู้คนบางส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์เขาว่า นี่เป็นความพยายามลดความร้ายแรงของเรื่องนี้  

ในขณะที่ตัวของ บัง ชี-ฮยอก ก็เผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเขา โดยตัวเขาถูกพบเห็นที่ย่าน Beverly hills ในเมือง Los Angeles ของสหรัฐฯ กับสตรีมเมอร์ชื่อดังในอินเทอร์เน็ตนามว่า "BJ Juice Seyeon" ทำให้เกิดข่าวลือและการคาดการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม HYBE ได้ออกมาชี้แจงว่า บังชีฮยอกได้พบกับสตรีมเมอร์คนดังกล่าวผ่านพี่สาวของเธอเพื่อให้คำปรึกษาในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องภายในบริษัท แต่ในเวลาต่อมา ความสนใจจากสาธารณชนกลับเพิ่มขึ้นอีกเมื่อมีการเปิดเผยว่า บังชีฮยอกได้รับผลประโยชน์ทางการเงินมหาศาลราว 400,000 ล้านวอน (ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.2 พันล้านบาทไทย) จากข้อตกลงลับที่ทำกับกองทุนหุ้นเอกชนในช่วงที่ HYBE กำลังเข้า IPO สู่ตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2020

นอกจากนี้ HYBE ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับเอกสารภายในของบริษัทที่ชื่อว่า “รายงานอุตสาหกรรมเพลงประจำสัปดาห์” ซึ่งเนื้อหาในรายงานชุดนี้มีการแสดงความคิดเห็นในเชิงลบเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของศิลปินจากค่ายคู่แข่ง ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในวงการเพลง ซึ่งเหตุการณ์นี้รุนแรงมากถึงขั้นถูกนำเข้าสู่กระบวนการการสอบสวนในที่ประชุมของสมัชชาแห่งชาติเลยทีเดียว

ความท้าทายของ TWS และ ILLIT

แม้แต่ศิลปินที่กำลังมาแรงของ HYBE ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคเช่นกัน โดย TWS วงบอยกรุ๊ปหน้าใหม่ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Pledis Entertainment (ค่ายเพลงในเครือของ HYBE) เริ่มต้นได้อย่างแข็งแกร่งด้วยเพลงเดบิวต์อย่าง “첫 만남은 계획대로 되지 않아” (หรือที่รู้จักในชื่อของ Plot Twist) ซึ่งครองอันดับ 1 ในชาร์ตสตรีมมิ่งประจำปี แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานเพลงต่อมาของพวกเขาก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากเท่ากับครั้งแรก

ในขณะที่ ILLIT วงเกิร์ลกรุ๊ปจาก BELIFT LAB (อีกหนึ่งค่ายเพลงในเครือของ HYBE) ก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จากซิงเกิลเพลงเดบิวต์อย่าง “Magnetic” ซึ่งกลายเป็นเพลงเดบิวต์จาก K-POP เพลงแรกที่ติดทั้งชาร์ต Billboard's Hot 100 และ UK's Official Singles Chart พร้อมกัน โดยถึงแม้จะสร้างสถิติใหม่ได้ แต่ ILLIT ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาในการก้าวข้ามการถูกเปรียบเทียบกับ NewJeans ในหลายด้าน โดยเฉพาะหลังจากที่อัลบั้มที่ 2 อย่าง “I’ll Like You” ทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนักในเกาหลีใต้

และเมื่อปี 2024 ได้ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ ก็ชัดเจนว่า HYBE ในปีนี้เต็มไปด้วยทั้งความสำเร็จและปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้บริษัทต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป



โพสต์ภาษาอังกฤษที่นำมาแปล: https://x.com/juantokki/status/1873604757576884339?t=7_C9aWRgFY93D7QY-ec1ug&s=19

แหล่งข่าวอ้างอิงฉบับภาษาเกาหลี: https://m.entertain.naver.com/article/241/0003404506?spi_ref=m_entertain_x
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่