นิราศเมืองแกลง ไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ ๑

กระทู้สนทนา
นิราศเมืองแกลง ไม่ได้แต่งครั้งรัชกาลที่ ๑

เชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งนิราศเมืองแกลงเป็นนิราศเรื่องแรก ตอนปลายรัชกาลที่หนึ่ง พ.ศ.๒๓๔๙
แต่ข้อมูลในบทประพันธ์ไม่อนุมัติให้เป็นเช่นนั้น อายุสมัยที่ตรวจสอบได้มีดังนี้

๑ ปากลัด
กวีออกจากวัดแจ้งตอน ๒ ยาม ใช้เวลา ๖ ชั่วโมงมาถีงปากคลองสำโรงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นพอดี
ระยะทางถ้าใช้ทางอ้อมผ่านคลองเตยคือ ๒๗.๗๕  กิโลเมตร ถ้าใช้คลองลัดจะเหลือเพียง ๑๙ กิโลเมตร 
นิราศบอกว่า

ถึงปากลัดแลท่าชลาตื้น ดูเลื่อมลื่นเลนลากลำละหาน
เขาแจวจ้วงล่วงแล่นแสนสำราญ มาพบบ้านบางระเจ้ายิ่งเศร้าใจ 

"แลท่าชลาตื้น" "ดูเลื่อมลื่นเลนลาก" และ "แจวจ้วงล่วงแล่นแสนสำราญ" ล้วนยืนยันการใช้คลองลัด
แต่คลองนี้ถมไปเมื่อต้นรัชกาลที่หนึ่ง ป้องกันน้ำเค็มเข้าเมืองหลวง มาเปิดใช้ใหม่คราวสร้างเมืองนตรเขื่อนขันธ์ในรัชกาลที่สอง
นิราศจึงไม่สามารถแต่งปลายรัชกาลที่หนึ่งได้

๒ ศาลเจ้าเหล่าเจ๊กปูนทะก๋ง
เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่ ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพศไสย (บ้านบางมังกง)

ปุนเถ้ากงเป็นความเชื่อในคติบูชาฟ้า-ดินของชาวจีน คล้ายเทพารักษ์แห่งผืนดิน ต้วนลี่เซิงศาสตราจารย์ไทย-จีนศึกษา อธิบายว่า
ชาวจีนโพ้นทะเลเมื่อรวมกลุ่มกันมั่นคง ก็จะสร้างศาลบูชาแผ่นดินเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ดังนั้นจึงไม่มีศาลประเภทนี้ในแผ่นดินจีน 
ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ ศาลแห่งแรกอยู่ที่ถนนทรงวาด สร้างในปี ๒๓๖๗ สมัยรัชกาลที่สาม
ศาลที่บ้านบางมังกงจึงสร้างหลังจากนั้น

๓ เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างเข้าหอ
รุ่งเช้าวันที่ ๑๓ คณะกวีมาถึงตะพานยายเหม อารมณ์ดีขึ้นมาจึงว่าเสภาเล่น

ดูครึ้มครึกพฤกษาป่าสงัด              ทะลุลัดตัดทะเลแหลมทองหลาง
ต่างเพลิดเพลินเดินว่าเสภาพลาง    ถูกขุนช้างเข้าหอหัวร่อเฮ

เป็นตอนสนุก เพราะขุนช้างพยายามปล้ำนางพิมพิลาลัย ถูกถีบตกเตียงก็ไม่ยอมแพ้ กว่าจะได้กันก็แสนทุลักทุเล
เสภาตอนนี้ เป็นพระนิพมธ์กรมหมื่นเจษฯ ในสมัยรัชกาลที่สอง 
httpwww.freewebs.comkhunphans
นิราศย่อมไม่อาจแต่งในรัชกาลที่หนึ่งอีกเช่นกัน

โรงพิมพ์ครูสมิท บางคอแหลม พิมพ์นิราศนี้เป็นครั้งแรกในปี ๒๔๑๗ (กรมศิลปากร ๒๕๑๑ ฌาปณกิจนางสำลี เกิดลาภผล) 
จึงต้องแต่งก่อนปีนี้ขึ้นไป แต่จะก่อนขึ้นไปช้านานสักเท่าใด ก็ไม่ถึงปี ๒๓๔๙ อย่างแน่นอน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่