หนี้เสีย คืออะไร? แก้ได้ไหม มีทางด่วนหรือเปล่า!

* กระทู้นี้สามารถใช้งานได้เฉพาะผู้ที่มี Link นี้เท่านั้นค่ะ
Gen Y และ Gen X เป็นช่วงวัยที่สร้างหนี้เสียและเสี่ยงติดเครดิตบูโรสูงสุด! เพราะบริหารเงินผิด นอกจากชีวิตจะเปลี่ยนแล้ว อาจทำให้เสียประวัติด้วย คุณน้าจึงอยากพาไปทำความรู้จัก “หนี้เสีย หรือ NPL ว่าหนี้เสียคืออะไร” เกิดจากอะไร และมีวิธีแก้หรือไม่? ถ้าพร้อมแล้วไปติดตามกันค่ะ
*หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงบทความให้คำแนะนำเท่านั้น ไม่ใช่บทความชักชวนการลงทุนแต่อย่างใด


หนี้เสีย คืออะไร?
หนี้เสีย หรือ NPL ย่อมาจาก Non-Performing Loan หากแปลตรงตัวจะหมายถึงสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นั่นก็คือ หนี้หรือสินเชื่อที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนด และไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตค่ะ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดการฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ และเสียเครดิตได้ค่ะ
 
🔍 หนี้เสีย ดูยังไง และบ่งบอกถึงอะไร?
จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า หนี้เสียเป็นหนี้หรือสินเชื่อที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนด ซึ่งเรียกง่าย ๆ ว่า ลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้นั่นเองค่ะ ซึ่งหนี้เสียสามารถดูได้จากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคาร โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- หากหนี้เสีย หรือ NPL มีค่าสูง จะเท่ากับว่า ลูกหนี้ของธนาคารมีการผิดนัดชำระหนี้เป็นจำนวนมาก
- หากหนี้เสีย หรือ NPL มีค่าต่ำ จะเท่ากับว่า ลูกหนี้ของธนาคารมีการผิดนัดชำระหนี้เป็นจำนวนน้อยลง
 
ด้วยเหตุนี้เอง ค่าหนี้เสียหรือ NPL สามารถบ่งบอกได้ว่า ในตอนนั้นเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างไร โดยสามารถวัดได้จากค่า NPL ว่าสูงหรือต่ำนั่นเอง
 
ไม่จ่ายกี่เดือนถึงเป็นหนี้เสีย?
โดยปกติแล้ว การกู้ยืมเงินจะมีระยะเวลาชำระหนี้อยู่ที่ 90 วัน นั่นหมายความว่า หากเกินระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระเงินคืนได้ หนี้เหล่านั้นจะกลายเป็นหนี้เสียนั่นเองค่ะ

หนี้เสียปี 2024 มีอะไรบ้าง?
ข้อมูลหนี้เสียในไตรมาสที่ 1 ของปี 2024 ระบุว่าหนี้เสียครัวเรือนพุ่งสูงถึง 1.09 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 14.9% จากปีก่อน ทำให้บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เป็นห่วงว่า ลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ค่ะ โดยหนี้เสียสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่
- สินเชื่อรถยนต์ อยู่ที่ 2.38 แสนล้านบาท
- ยอดหนี้บัตรเครดิตอ ยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท
- หนี้ครัวเรือน อยู่ที่ 16.9 ล้านล้านบาท

หนี้เสีย VS หนี้ดี ต่างกันอย่างไร?
หนี้เสีย
ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต ตัวอย่างหนี้เสีย เช่น
- หนี้บัตรเครดิต
- หนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด
- หนี้นอกระบบ

หนี้ดี
ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างหนี้ดี เช่น
- หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ
- หนี้เพื่อการศึกษา
- หนี้เพื่อความมั่นคงระยะยาว

สาเหตุที่ทำให้เกิดหนี้เสีย มีอะไรบ้าง?
จากที่คุณน้าได้หาข้อมูลและสังเกตจากคนรอบตัวแล้ว สาเหตุของหนี้เสียส่วนมากมาจากปัจจัยเหล่านี้ค่ะ
- ความจำเป็นและภาระส่วนตัว
- ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
- วินัยและการจัดการทางการเงิน

คนที่เป็นหนี้หลายคนอาจมีภาระส่วนตัวที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะสร้างหนี้เพราะถูกกดดันจากครอบครัว หรือบางคนก็อาจสร้างหนี้จากความต้องการตัวเองค่ะ แต่สิ่งที่ตามมาในภายหลัง คือ ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้เหล่านั้นได้ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ หรืออาจจะเพราะไม่มีวินัยในการบริหารเงิน จนทำให้เกิดหนี้เสียในที่สุดค่ะ

หนี้เสียส่งผลต่อเราอย่างไร?
หลายคนอาจมองว่า การยืมเงินมาใช้จ่ายส่วนตัวเป็นเรื่องประเดี๋ยวประด๋าว ถ้ามีเงินก็แค่ใช้คืน คุณน้าขอเตือนเลยค่ะว่าถ้าไม่พร้อมจ่ายหนี้อย่าทำเด็ดขาด เพราะมันจะส่งผลเสียต่อเราในอนาคต ดังนี้ค่ะ

- ถูกทวงถามหนี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการทวงถามต่อไป
- กลายเป็นประวัติทางการเงินที่ติดตัว จนอาจทำให้ติดเครดิตบูโร
- ในอนาคตจะทำให้การกู้ยืมเงินเป็นไปได้ยาก หรืออาจจะถูกปฏิเสธไม่ให้กู้
- หนี้พอกพูนจากเงินที่ค้างชำระ
- กระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและส่วนอื่น ๆ

หากลูกหนี้เสียชีวิต ทายาทต้องใช้หนี้ต่อไหม?
อันดับแรก คุณน้าจะพามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “มรดก” กันก่อนค่ะ
“กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”
(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600)

นั่นหมายความว่า มรดก คือ ทรัพย์สินของผู้ตายที่ตกทอดแก่ทายาท ซึ่งรวมถึงหนี้สินด้วยค่ะ ดังนั้น หากลูกหนี้เสียชีวิต ทายาทจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบใช้หนี้ต่อค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้สามารถติดตามหนี้กับทายาทเท่าที่ได้รับมรดกเท่านั้น หากหนี้เกินกว่ามรดกที่ได้รับ ทายาทก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายส่วนเกินให้ค่ะ

🔍 ข้อควรระวังเกี่ยวกับหนี้มรดก
1. เจ้าหนี้ต้องฟ้องเอาเงินจากกองมรดกภายใน 1 ปี นับตั้งแต่เจ้าหนี้รู้ว่าเจ้าของมรดกเสียชีวิตเท่านั้น แต่ถ้ามีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหนี้ไม่รู้ ก็สามารถฟ้องได้ภายใน 10 ปีค่ะ
2. การฟ้องทายาทมรดกให้ชำระหนี้ต้องฟ้องทุกคน จะฟ้องคนใดคนหนึ่งไม่ได้
3. หากทายาทไม่ได้รับมรดกเลย เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับให้ทายาทหาเงินเพื่อมาใช้หนี้แทนผู้ตายได้ค่ะ
4. ตามข้อกฎหมายเกี่ยวกับหนี้มรดกนั้น ใช้ได้กับหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับหนี้นอกระบบ
5. ทายาทต้องอ่านหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ให้ละเอียดก่อนเซ็นชื่อยินยอมเป็นลูกหนี้ต่อ

สรุป หนี้เสีย คืออะไร? แก้ได้ไหม ?!

การบริหารเงินที่ผิดพลาด จ่ายเงินช้า อาจนำไปสู่หนี้เสียได้ ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบหนี้สินให้ดี จ่ายให้ตรงเวลา และวางแผนการเงินให้ดีเพื่อไม่ให้ติดกับดักหนี้จะดีที่สุดค่ะ เพราะหากติดหนี้เสียหรือ NPL และเครดิตบูโรแล้ว จะทำให้เสียประวัติทางการเงิน เวลาจะกู้เงินในอนาคตก็ลำบากหรือกู้ไม่ผ่าน แต่หากเป็นหนี้อยู่ก็มาวางแผนดีให้ดีค่ะ ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ด้วยความปรารถนาดีจากทีมงานคุณน้าพาเทรด

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่