ผ้าทอนาหมื่นศรีกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน...เรื่องเล่าจากละครหนึ่งในร้อย

หลายคนคงได้ดูละครหนึ่งในร้อยกันแล้ว สัปดาห์นี้ ( 6 – 7 พ.ย. 67) เข้าสู่ EP.14 – 15   โดยเนื้อเรื่องช่วงนี้ถ่ายทำกันในจังหวัดตรัง โดยตอนนี้จะมีความหวานอยู่สองสถานที่หลักของจังหวัดตรัง คือ ฉากทะเล ถ่ายทำที่เกาะกระดาน และฉากทอผ้า ถ่ายทำกันที่ทุ่งทอรัก ในพื้นที่ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็นฉากที่ “อนงค์“ นางเอกในเรื่องสนใจ พร้อมเริ่มทอผ้าตั้ง จากคำบอกเล่าของลูกสาวนายกเทศมนตรีว่า “หญิงสาวที่นี่นิยมทอผ้าตั้ง ซึ่งเป็นผ้าผืนแรกสำหรับใช้ในงานแต่งงาน และผืนที่สองสำหรับลูกชายใช้ในงานบวช” วันนี้จึงนำข้อมูล ผ้าตั้ง ผ้าห่ม และผ้าสำหรับพิธีกรรมหลัก ๆ ของชุมชนนาหมื่นศรี... ก่อนอื่นเรามารู้จักเรื่องราวของผ้าทอนาหมื่นศรีกันก่อนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลประกอบจากคุณสุนทรี สังข์อยุทธ์ จากหนังสือ ทอรักถักสายใยผ่านลายผ้านาหมื่นศรี 2548 และคุณอารอบ เรืองสังข์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้านาหมื่นศรี ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง

ปล. ภาพชุดนี้เราถ่ายสะสมไว้หลายปีแล้วค่ะ เก่าสุดปี 59    ส่วนหนึ่งที่เก็บภาพไว้เยอะเพราะทำเพจข้อมูลตรังค่ะ ชื่อเพจ All about Trang  ฝากด้วยนะคะ



ผ้าลายลูกแก้วบนกี่พื้นเมือง


ภาพประกอบจากละครที่เพิ่งออนแอร์ไป ขอบคุณที่มาจากเว็บช่อง 3



ช่วงทอผ้าค่ะ


การทอผ้าเป็นอาชีพหนึ่งที่ทางการส่งเสริมแก่ราษฎรชาวตรังตั้งแต่สมัยพระยารัษฎา ฯ  เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ดังปรากฏในจดหมายเหตุ ฯ เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ตอนเสด็จบ้านพระยารัษฎาว่า "ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่หัดทอผ้ามีผู้หญิงมาหัดทอมาก" 
ส่วนตำบลนาหมื่นศรีในอดีตแทบทุกบ้านจะมีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนเรือน ยามว่างจากหน้านา แม่บ้านแม่เรือนลงนั่งทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน สมัยที่รัชกาลที่ 6 เสด็จ ฯ จังหวัดตรัง เอกสารจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน วันที่ 29 มิถุนายน 2458 กล่าวว่า “สมุหเทศาภิบาลมณฑลได้ทรงจัดผ้าพรรณทุกอย่างซึ่งเป็นของทำในพื้นบ้าน เช่น ผ้ายก ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้าคาด ผ้าเช็ดหน้า ถวายประทานแจกแก่ข้าราชการตามสมควร”   ย่อมแสดงว่าผ้าทอเมืองตรังมีมานานแล้ว และผ้าชุดนี้อาจเป็นผ้าที่มาจากนาหมื่นศรีก็เป็นได้
 
                จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่แห่งบ้านนาหมื่นศรี ทำให้รู้ว่าการทอผ้าได้ขาดหายไปช่วงหนึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะขาดเส้นด้ายที่จะใช้ทำวัตถุดิบ รวมทั้งการทอผ้าประจำบ้านที่ใช้วัสดุธรรมชาติปั่นฝ้ายย้อมสีเองก็ลดลง เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น การมีเส้นใยย้อมสีสำเร็จรูปเข้ามาแทนที่ หรือการมีผ้าจากโรงงานและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สามารถซื้อได้ง่ายกว่าการลงมือทอเอง
                การทอผ้านาหมื่นศรีฟื้นคืนมาอีกครั้งเมื่อราว พ.ศ. 2514 โดยยายนาง ช่วยรอด คนดั้งเดิมของหมู่บ้านรวบรวมคนทอผ้าอายุรุ่นเดียวกัน ได้ 3 คน คือ ยายผอม ขุนทอง ยายอิน เชยชื่นจิตร และยายเฉิม ชูบัว ช่วยกันซ่อมแซม กี่ กับเครื่องมือเก่าๆ ให้ใช้การได้แล้วลงมือทอผ้าด้วยความตั้งใจว่าจะให้ลูกหลานได้รู้จักผ้าทอและวิธีทอผ้าแบบดั้งเดิม ต่อมาป้ากุศล นิลลออ บุตรสาวของยายนาง เป็นผู้รับช่วงงาน กิจกรรมต่าง ๆ เป็นที่สนใจของเพื่อนบ้าน และทางราชการ จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านตั้งเป็นกลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี และได้รับการส่งเสริมจากทางการ และองค์กรต่าง ๆ เรื่อยมาจนปัจจุบัน


สำหรับการทอผ้าใช้กี่อยู่ 2 ชนิด คือ กี่พื้นเมือง ทอผ้าลายมรดก (ที่นางเอกใช้ทอผ้าในเรื่อง)  


กี่กระตุก ทอผ้าลายพัฒนา.. ภาพการทอผ้าด้วยกี่กระตุก

ลายของผ้า...ผ้าทอนาหมื่นศรีแบ่งลายออกเป็นสองชุดใหญ่ คือ 1. ลายมรดก เช่น ลายลูกแก้ว ลายแก้วชิงดวง ลายราชวัตร ลายครุฑ เป็นต้น  ซึ่งลายพื้นเมืองหลายลายเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของผู้ทอ คนทอผ้าที่โดดเด่นเรื่องประดิษฐ์ลาย ยกให้ยายฝ้าย สุขคง  และ 2. ลายพัฒนา เป็นลายที่ได้รับการถ่ายทอดจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม


ยายฝ้าย สุขคง บัณฑิตลาย ประดิษฐ์ลายเก่งมาก เห็นครุฑที่ศาลากลางก็นำมาทอเป็นลายครุฑ

มาถึงเรื่องราวจากละครหนึ่งในร้อยที่พูดถึงผ้าตั้งผ้าผืนแรกที่ผู้หญิงที่นี่จะทอไว้ในงานแต่งงาน  และผ้าผืนที่สองสำหรับลูกชายบวชนั้น ในอดีตหญิงสาวในชุมชนทอผ้าเพื่อใช้ในวันสำคัญ 3 ช่วงเวลา คือ 
1.       งานแต่งงาน “ผ้าตั้ง“ คือ ผ้าผืนแรกที่ผู้หญิงทอใส่พานตั้งเตรียมไว้สำหรับเจ้าบ่าวที่จะแต่งงานด้วย  โดยชุดงานแต่งของเจ้าบ่าวจะมีเสื้อขาว ผ้าห่ม (ผ้าพาด) และโจงกระเบน ส่วนเจ้าสาว เสื้อขาว ผ้าสไบ และผ้าถุง ส่วนใหญ่นิยมทอลายลูกแก้ว
2.       งานบวช  “ผ้าห่ม” คือ ผ้าที่แม่ทอเป็นผ้าห่มนาคเตรียมไว้ให้ลูกชายในงานพาดทับเสื้อสีขาว ส่วนผ้าถุงนิยมทอสีน้ำเงิน ลายราชวัตร หรือหางกระรอก
3.       งานศพ  ‘ผ้าพานช้าง’ หรือ ผ้าภูษาโยง ผ้าผืนสุดท้ายที่ทอไว้สำหรับพาดโลงศพของตนเองและสามี ทอเป็นผ้าเช็ดหน้าต่อกันยาวๆ โดยวางพาดบนหีบศพลงมาบนพาน มีความเชื่อว่าผ้าพาดเปรียบเสมือนบันไดขึ้นสู่สวรรค์ เมื่อเผาศพแล้วเจ้าภาพจะตัดแบ่งผ้าพานช้างออกเป็นชิ้น ๆ ถวายพระ หรือแจกญาติพี่น้อง นิยมทอลายลูกแก้ว  สีที่นิยมกันคือพื้นสีแดงลายสีเหลืองทอง 

ภาพเมื่อปี 59 ที่เราได้ไปเก็บข้อมูลมา


ช่วงทำพิธี


ช่วงเคารพศพ


หลังเผาศพ ตัดแจกญาติค่ะ

คุณป้าโชว์ให้ดู


คนนาหมื่นศรีใช้ผ้าเช็ดหน้าผ้าทอไปวัดสำหรับรองกราบพระ ภาพนี้ถ่ายที่วัดหัวเขากับทีมงานอนุสาร อสท. เมื่อปี 61

ให้ดูผ้าแบบเต็ม ๆ ค่ะ




วิถีชุมชนของกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี อยู่คู่กับคนตรังนานนับศตวรรษ ลายพื้นเมืองและลายพัฒนามีหลายสิบลาย ถ้าสนใจสามารถไปดูการทอผ้า และชมพิพิธภัณฑ์ได้ที่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อ.นาโยง 


ได้เวลาเที่ยวกันแล้วค่ะ เริ่มจากทุ่งทอรัก ฉากที่นางเอกทอผ้าที่ศาลา


เราถ่ายไว้ตั้งแต่ต้นปี ตอนไปเก็บข้าวเพิ่งเห็นว่าถ่ายที่นี่เลยเอามาเสริม


มุมนี้มีในละครค่ะ 




 ตามปกติหลังเก็บฤดูเก็บเกี่ยวประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม จะมีเทศกาลแลลูกลมชมถ้ำเขาช้างหาย



ช่วงขึ้นลูกลมตอนต้นปีค่ะ 


 ส่วนประเพณีแย่งเรือพระเพิ่งรื้อฟื้นได้สักปีนึง แต่เราไม่ได้ไปถ่ายรูปมา 


เราไปถ่ายรูปแค่ช่วงมีงานลูกลมต้นปีนิดนึง


เรามาชมวิสาหกิจชุมชนผ้าทอกันค่ะ ได้รับงบของเซ็นทรัลมาช่วยพัฒนาค่ะ


เมื่อไปถึงจะเจอจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์


มีทั้งผ้าชิ้น


เสื้อผ้าสำเร็จ


และของที่ระลึก


ด้านหลังเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี

มีคนทอผ้าอยู่ ขอใช้รูปซ้ำ

ด้านบนเป็นพิพิธภัณฑ์


ถ่ายไว้นานมากแล้วค่ะ สาวน้อยโตเป็นสาวแล้วตอนนี้


ตัวอย่างการแต่งกายตามข้อมูลด้านบน มีประยุกต์เสริมด้วยค่ะ เลยไม่ใส่ไว้ด้านบน

มีโอกาสมาตรัง แวะมาเที่ยวที่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีกันได้ค่ะ ขอบคุณที่แวะมา 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่