สหรัฐปรับ เอสซีจี พลาสติกส์ ละเมิดคว่ำบาตรอิหร่าน เรื่องเป็นอย่างไร บริษัทไหนเกี่ยวบ้าง ?

สรุป 10 ข้อ กรณีรัฐบาลสหรัฐสั่งปรับ บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ ของไทย 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 736 ล้านบาท ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน มีความเป็นมาอย่างไร บริษัทไหนเกี่ยวบ้าง ? 

1.วันที่ 20 เมษายน 2024 ตามเวลาประเทศไทย มีข่าวดังจากต่างประเทศว่า รัฐบาลสหรัฐสั่งปรับ บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด บริษัทปิโตรเคมีภัณฑ์ชั้นนำในไทย จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 736 ล้านบาท ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ
สหรัฐปรับ เอสซีจี พลาสติกส์ ละเมิดคว่ำบาตรอิหร่าน เรื่องเป็นอย่างไร บริษัทไหนเกี่ยวบ้าง ?

2.ข่าวนี้มีที่มาจาก เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2024 ตามเวลาสหรัฐ สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (OFAC) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังของสหรัฐ ออกแถลงการณ์กรณีการสั่งปรับเงิน บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ พร้อมด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความ (Settlement Agreement) ระหว่าง OFAC กับเอสซีจี พลาสติกส์ ซึ่งจัดทำเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 

3.แถลงการณ์ของ OFAC ระบุว่า บริษัทเอสซีจี พลาสติกส์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ตกลงที่จะจ่ายค่าปรับ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยุติการดำเนินคดีทางแพ่งจากการที่เอสซีจี พลาสติกส์ ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของ OFAC ต่ออิหร่าน จำนวนมากถึง 467 ครั้ง 

4.ในสัญญาประนีประนอมยอมความเปิดเผยรายละเอียดว่า ระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2017 ถึง 27 พฤศจิกายน 2018 สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (OFAC) ระบุว่า เอสซีจี พลาสติกส์ ให้ธนาคารตัวแทนในต่างประเทศ (Correspondent Bank) ของสหรัฐ ดำเนินการโอนเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวน 467 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 291 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการขายเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนที่ผลิตโดยบริษัทร่วมทุนในอิหร่าน 

5.บริษัทร่วมทุนผลิตเม็ดพลาสติกในอิหร่านดังกล่าวชื่อว่า Mehr Petrochemical Company (MHPC) มีสองผู้ร่วมทุนคือ Alliance Petrochemicals Investment (Singapore) Pte Ltd. หรือ API บริษัทที่จดทะเบียนก่อตั้งในประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับ National Petrochemical Company (NPC) บริษัทสัญชาติอิหร่าน 
Alliance Petrochemicals Investment (Singapore) Pte Ltd. นั้น เป็นบริษัทที่ร่วมทุนก่อตั้งโดย บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC บริษัทแม่ของ เอสซีจี พลาสติกส์ ร่วมกับอีกสองบริษัทซึ่งไม่ใช่บริษัทในเครือเอสซีจี เคมิคอลส์ 

6.ในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ธุรกรรมทั้งหมด 467 รายการ แบ่งเป็นธุรกรรม 2 ประเภท ประเภทแรก คือ เอสซีจี พลาสติกส์ ทำธุรกรรม 457 รายการ เป็นการรับชำระเงินจากลูกค้าที่ซื้อ HDPE ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดำเนินธุรกรรมการโอนเงินโดยธนาคารตัวแทนของสหรัฐ มูลค่ารวม 289,345,761.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
ส่วนธุรกรรมประเภทที่ 2 เอสซีจี พลาสติกส์ ดำเนินธุรกรรม 10 รายการ เป็นการโอนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในนามของ MHPC เพื่อชำระหนี้คงค้างของ MHPC ให้แก่บุคคลที่สาม มีมูลค่ารวม 1,808.,357.06 ดอลลาร์สหรัฐ 

7.OFAC ระบุว่า เอสซีจี พลาสติกส์ สมัครใจเปิดเผยธุรกรรมเพียง 10 รายการจากธุรกรรมประเภทที่ 2 แต่ไม่สมัครใจเปิดเผยธุรกรรม 457 รายการจากธุรกรรมประเภทแรก 

8.OFAC พิจารณาว่า ธุรกรรมทั้ง 467 ครั้งของ เอสซีจี พลาสติกส์ เป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้สถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกามีส่วนร่วมในธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎของสหรัฐอย่างชัดเจน 

9.ในสัญญาประนีประนอมยอมความให้ข้อมูลเกี่ยวกับ เอสซีจี พลาสติกส์ ด้วยว่า ปัจจุบัน เอสซีจี พลาสติกส์ อยู่ระหว่าง “ชำระบัญชีตามกฎหมายไทย” หลังจากที่ เอสซีจี พลาสติกส์ ได้โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมด (เป็นเงินประมาณ 12.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่ บริษัท ไทยโพลีเอทิลีน จำกัด (TPE) ซึ่งเป็นอีกบริษัทในเครือของเอสซีจี เคมิคอลส์ เมื่อเดือนมกราคม 2022 
การโอนกิจการดังกล่าวส่งผลให้ทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงพนักงานของเอสซีจี พลาสติกส์ เป็นของ TPE ทั้งหมด 

10.นอกจากการจ่ายค่าปรับ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า TPE ตกลงที่จะดำเนินตามข้อผูกพันในการปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรตามข้อตกลงแยกต่างหากกับ OFAC  เพื่อป้องกันการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาในอนาคต และเพื่อส่งเสริมข้อตกลงกับ OFAC เกี่ยวกับการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอันเห็นได้ชัดเจนของ เอสซีจี พลาสติกส์ ...

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/world-news/news-1547152

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่