เหตุให้สุคติปรากฏ | พุทธวจน


เหตุให้สุคติปรากฏ

-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๗/๑๖๕.
-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๓๐๖/๑๘๙.

จุนทะ ! ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง.
จุนทะ ! ความสะอาดทางกาย มี ๓ อย่างนั้นเป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ :-
(๑) ละการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอายถึงความเอ็นดูกรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่ 
(๒) ละการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ถือเอาทรัพย์และอุปกรณ์แห่งทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ในบ้านก็ดี ในป่าก็ดี ด้วยอาการแห่งขโมย
(๓) ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม,  (คือเว้นจากการประพฤติผิด)  ในหญิงซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือญาติ
รักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย)  ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง.
จุนทะ ! ความสะอาดทางวาจา มี ๔ อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ :-
(๑) ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้ บุรุษนั้นเมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อรู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่น หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่
(๒) ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้วไม่เก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อแตกจากฝ่ายนี้หรือได้ฟังจากฝ่ายโน้นแล้วไม่เก็บมาบอกแก่ฝ่ายนี้ เพื่อแตกจากฝ่ายโน้น แต่จะสมานคนที่แตกกันแล้วให้กลับพร้อมเพรียงกัน อุดหนุนคนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ให้พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น เป็นคนชอบในการพร้อมเพรียง เป็นคนยินดีในการพร้อมเพรียง เป็นคนพอใจในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน 
(๓) ละการกล่าวคำหยาบเสีย เว้นขาดจากกล่าวคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสตให้เกิดความรัก เป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพที่ชาวเมืองเขาพูดกัน เป็นที่ใคร่ที่พอใจของมหาชน กล่าวแต่วาจาเช่นนั้นอยู่
(๔) ละคำพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำพูดเพ้อเจ้อกล่าวแต่ในเวลาอันสมควร กล่าวแต่คำจริง เป็นประโยชน์ เป็นธรรม เป็นวินัย กล่าวแต่วาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานที่อ้างอิง มีเวลาจบ ประกอบด้วยประโยชน์ สมควรแก่เวลา 
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง.
จุนทะ ! ความสะอาดทางใจ มี ๓ อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ :-
(๑) เป็นผู้ไม่มากด้วยอภิชฌา คือเป็นผู้ไม่โลภ เพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้ 
(๒) เป็นผู้ไม่มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันไม่ประทุษร้ายว่า “สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีสุข บริหารตนอยู่เถิด” ดังนี้ เป็นต้น
(๓) เป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง มีทัสสนะไม่วิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว มี (ผล) , ยัญที่บูชาแล้ว มี  (ผล) , การบูชาที่บูชาแล้ว มี  (ผล) , ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว มี, โลกนี้ มี, โลกอื่น มี, มารดา มี, บิดา มี, โอปปาติกะสัตว์ มี, สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็มี” ดังนี้ 
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง.
จุนทะ ! เหล่านี้แล เรียกว่า กุศลกรรมบถสิบ.
จุนทะ ! อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยกุศลกรรมบถทั้งสิบประการเหล่านี้เป็นเหตุ พวกเทพจึงปรากฏ พวกมนุษย์จึงปรากฏ หรือว่าสุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นเหมือนบุคคลผู้ถูกนำตัวไปเก็บไว้ในสวรรค์.

(สูตรอื่นๆ แทนที่จะนับจำนวนกรรมบถมี ๑๐ ได้ทรงขยายออกไปเป็น ๒๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำอีกสิบ และทรงขยายออกไปเป็น ๓๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำสิบ ยินดีเมื่อเขาทำสิบ และทรงขยายออกไปเป็น ๔๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำสิบ ยินดีเมื่อเขาทำสิบ สรรเสริญผู้กระทำสิบ ; จึงมีกรรมบถ สิบ ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบ. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๓๕๒–๓๓๒/๑๙๘–๒๐๑.
ในสูตรอื่น แสดงผลแห่งการกระทำแปลกออกไป จากคำว่า “เหมือนถูกนำไปเก็บไว้ในสวรรค์” นั้น ทรงแสดงด้วยคำว่า “ผู้ไม่ขุดรากตนเอง” ก็มี, “ตายแล้วไปสุคติ” ก็มี, “เป็นบัณฑิต” ก็มี. -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๓๓๒-๓๓๓/๒๐๒–๒๐๓.)
https://etipitaka.com/read/thaipb/11/160/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่