บรรรลัยวิทยา: รอยหยักบนถุงขนม

พี่ ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ กินหนมเปล่า ????


 
เจ้าหนูจัมมัย คนดีคนเดิมประจำที่ทำงานกระโดดมาขวางผมระหว่างที่ผมจะเดินไปเข้าแล็บ

ไม่เอาเฟ๊ยยยย  อ้วนแล้ว ผมตอบพร้อมปฏิเสธไป

เอาหน่อยน่าชิ้นสองชิ้น แต่พี่แกะให้หนูด้วยนะ

กินเอง ก็แกะเองดิ ผมตอบแบบไม่ต้องคิดเพราะไม่มีผลประโยชน์อะไรมาทับซ้อน
 
ก็มันแกะไม่ออกอ๊ะ พี่แกะให้หน่อย ในที่สุดเจ้าหนูจัมมัยก็เปิดเผยสิ่งที่ต้องการจริง ๆ ออกมา

คือจริง ๆ แล้ว แกะไม่ออก ก็เลยจะให้พี่ช่วยว่างั้น ? ผมตอบกลับ พร้อมเอื้อมมือไปหยิบถุงขนมออกมาแกะ
 
ทำไมพี่แกะง่ายจัง ? แม้จะแกะถุงขนมให้ไปแล้วแต่เจ้าหนูจัมมัยยังคงไม่หยุดปล่อยให้ผมเดินผ่านไปได้โดยสะดวก 
 
ก็พี่เป็นผู้ชายไง แรงก็เลยเยอะกว่าเรา 
 
จริงอ๊ะ !! หนูไม่เชื่อหรอก พี่มีเคล็ดลับอะไรบอกหนูมาซะดีดี
แล้วทำไมพี่ไม่เปิดแบบหนู ทำไมพี่ต้องฉีกตรงถุงตรงรอยหยักอะ !!
 
เจ้าหนูจัมมัย ยังไม่ยอมเชื่อคำตอบผมง่าย ๆ และพยายามไล่บี้หาคำตอบอีกเช่นเคย 
 
เอาว่ะ !! เพื่อความสงบสุขของโลก และ องค์ความรู้ในการแกะถุงขนมจะได้ส่งต่อไปถึงเด็กรุ่นหลัง 
ผมจึงตัดสินใจพาตัวเองและและเจ้าหนูจัมมัยหามุมสงบหน้าร้านกาแฟที่ทำงานและเริ่มบรรยายกลศาสตร์ของถุงขนม !!!
 
เมื่อกี้เราเห็นใช่ไหมว่าพี่เริ่มฉีกถุงขนมจากรอยยัก ?
 
เห็นค่า...........หนูถึงถามพี่ไงคะ ว่าทำไมพี่ถึงแกะขนมจากตรงนี้ ไม่ดึงตรง ๆ แบบที่หนูทำ
 
คืองี้……..
 
ถ้าพี่ดึงถุงขนมตรง ๆ แบบเรา สิ่งที่พี่ต้องทำ คือ ต้องออกแรงให้มากพอที่จะทำให้ความเค้นแรงดึงที่เกิดขึ้นมันมากกว่าความแข็งแรง (Strength) ของซองพลาสติกที่มันซีลอยู่ เราเข้าใจไหม ?
 
เข้าใจค่า......
 
ทีนี้ไอ้การดึงมันก็ไม่ง่ายนะ ถ้าถุงเขาซีลมาดีแถม ยิ่งถุงขนมที่เราซื้อเห็นไหมข้างในมันสีเงิน ๆ 
 
เห็นค่า...........
 
นั้นแหละมันคืออะลูมิเนียมชีทแผ่นบาง ๆ ที่เขาใส่เสริมเข้ามาเพื่อไม่ให้ไนโตรเจนที่เขาอัดแถมมาให้ในถุงขนมรั่วออก 
 
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการแกะถุงขนมกันละค้า...........

ไม่เกี่ยวหรอก แต่อยากบอกว่าถ้าขนมอยู่ในถุงแบบนี้มันจะกันน้ำกันอากาศได้ดี ขนมทอด ๆ ที่อยู่ในถุงมันจะไม่หืน
 
ค่า...........กลับเข้าประเด็นได้แล้วค่า...............
 
 
โอเค สรุปแบบง่าย ๆ นะ คือ การดึงตรง ๆ แบบเรา   เราต้องออกแรงให้เกินค่าความแข็งแรงสูงสุด (Ultimate Strength: UTS) ของซองพลาสติกที่มันซีลกันอยู่ จนเข้าสู่ช่วงความเค้นที่จุดแตกหัก (Fracture Stress) ยิ่งซองหนามันก็ยิ่งดึงออกได้ยาก ยิ่งซีลดีมันก็ยิ่งดึงออกได้ยาก ผู้หญิงบอบบาง บางคนถึงดึงไม่ออก 

 

ค่า...........หนูก็บอบบางค่า..............
 
บางทีเปิดได้ขนมหกหมดก็มี เพราะถ้าแรงที่เราใส่มากเกินไปมันจะเกิดการฉีกขาดในลักษณะของการรับแรงเกินพิกัด (Overload)
ซึ่งมันจะพรวดขาดออกมาทีเดียวได้
 
แล้วทำไมบางทีดึงแบบนี้ บางทีมันก็ไม่ขาดแบบพรวดเดียวละคะ ?
 
ก็ขนมบางถุงก็ซีลไม่ดีไง  ซีลไม่สม่ำเสมอ เนื้อพลาสติกที่ซีลบางตำแหน่งมันไม่เป็นเนื้อเดียวกันนะ 
พอพลาสติกไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ตำแหน่งนั้นก็เป็นเหมือนของบกพร่อง เป็นเหมือนรอยบาก หรือ Notch เวลาเราทดสอบแรงดึง (Tensile) หรือ การล้า (Fatigue) 

สำหรับถุงขนมพวกนี้ ถึงแรงที่เรามีจะไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการฉีกขาดแบบรับแรงเกินพิกัด แต่ข้อบกพร่องตรงซีลมันขยายขนาดได้
 ขยายไปเรื่อย ๆ ใช้แรงไม่มาก ถุงมันก็ขาดออกจากกัน เราเลยแกะขนมได้โดยไม่หกไง
 
เข้าใจแล้วค่า....................

แล้วพี่มีเหตุผลอะไรคะ ถึงฉีกซองขนมหนูตรงรอยยักอ๊ะคะ ??

 

อ้อก็ตรงรอยยักมันก็เหมือนรอยบากไง  ถ้าเราออกแรงแถวตรงนี้ ความเค้นที่กระทำที่ปลายรอยแตกจะสูงกว่าตำแหน่งอื่น ๆ  เป็นจุดศูนย์รวมความเค้น (Stress Concentrator) ทำให้ฉีกขาดง่าย 



จากนั้นพอฉีกขาดแล้ว แม้โดยรวมถุงขนมจะไม่ได้รับความเค้นเกินจุดคราก (Yield)
แต่หากความเค้นสูงกว่า ความเค้นวิกฤติการแตกหัก (Critical fracture Stress)

 σ > σ c: Crack Propagate 

รอยฉีกมันก็ยังสามารถขยายตัว ขยายตัวไปเรื่อย ๆ
ยิ่งรอยแต่ยาวความเค้นที่ใช้ในการขยายตัวของรอยฉีกมันจะลดเรื่อย ๆ ความเค้นวิกฤติการแตกหักก็จะยิ่งลดลง
ถุงก็จะขาดได้ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ

กลไกคล้าย ๆ กับกรณีซีลไม่ดีเด๊ะ ๆ เลย แล้วก็เอามาใช้ในการอธิบายการขยายตัวของรอยแตกเนี่องจากการล้าได้ด้วย
 
เรียกได้ว่าเราสามารถใช้องค์ความรู้จากกลศาสตร์การแตกหัก (Fracture Mechanic)
มาใช้ประยุกต์ใช้ในการเปิดถุงขนมได้
 
เข้าใจแล้วค่า.........................

ว่าแต่พี่คืนถุงขนมให้หนูได้หรือยังคะ
 
หลังจากเจ้าหนูจัมมัยกล่าวจบ ก็ไม่มีความจำเป็นใดใดที่ผมจะต้องตอบคำถามอีกต่อไป 

ผมได้แต่ผยักหน้าแทนการบอกว่าโอเคเข้าใจรับทราบ

พร้อมกับเทมันฝรั่งที่อยู่ในถุงลงบนมือให้มากที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปในวันนี้

 
#เหล็กไม่เอาถ่าน

Ref. 
1.       F.C. Campbell, Fatigue and Fracture —Understanding the Basics, ASM International, USA, 2012.
2.       ASM Metals Handbook Volume 11: Failure Analysis and Prevention, ASM International, United State of America., 2002.
3.       ASM Metals Handbook Volume 19:  Fatigue and Fracture, ASM International, United State of America., 1996.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่