ไส้เลื่อนขาหนีบ โรคที่คุณผู้ชายควรอ่าน

ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal hernia) เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาแต่กำเนิดในเพศชาย และถูกกระตุ้นด้วยกิจกรรมที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของหน้าท้อง เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก และปัญหาการขับถ่าย นอกจากนี้ยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงโรคนี้ด้วยเช่นกัน หากปล่อยไว้จะเสี่ยงไส้เน่า หรือลำไส้อุดตัน สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
 

ไส้เลื่อนขาหนีบเกิดจากอะไร

ไส้เลื่อนขาหนีบเป็นไส้เลื่อนที่ผู้ชายมีความสุ่มเสี่ยงสูง และถือเป็นไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยเกิดจากผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องมีความอ่อนแอ หรือสามารถเป็นมาแต่กำเนิดโดยรูที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงลูกอัณฑะยังคงเปิดอยู่ (โดยปกติจะปิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา) ส่งผลให้ไส้สามารถเลื่อนผ่านรูนี้กลายเป็นไส้เลื่อนขาหนีบได้ในที่สุด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการโรคไส้เลื่อนขาหนีบ ได้แก่

- เกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน : ยกของหนักเป็นประจำ เบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะนาน และทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง เช่น การออกกำลังกายซิทอัพ เป็นต้น

- เกิดจากโรคหรืออาการผิดปกติของร่างกาย : อาการท้องผูก, ต่อมลูกหมากโต, ไอเรื้อรังจากโรค เช่น โรคถุงลมโป่งพอง, มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือภาวะน้ำในช่องท้องจากการทำงานผิดปกติของตับ เป็นต้น
 

ชนิดของไส้เลื่อนขาหนีบ

ไส้เลื่อนขาหนีบจากรูเปิดบริเวณขาหนีบ (Indirect inguinal hernia)  : รูที่เปิดแต่กำเนิดทำให้ไส้เลื่อนสามารถเลื่อนผ่านมาจนถึงถุงอัณฑะได้

ไส้เลื่อนขาหนีบบริเวณขาหนีบ (Direct inguinal hernia)  : จากการหย่อนของผนังหน้าท้องบริเวณส่วนล่าง ส่งผลให้หัวเหน่ามีลำไส้ยื่นนูนออกมา
 

ผู้หญิงเป็นไส้เลื่อนขาหนีบได้ไหม

ถึงแม้โรคไส้เลื่อนจะเกิดขึ้นบ่อยกับผู้ชายจนดูเป็นเรื่องปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงสามารถเป็นโรคไส้เลื่อนได้เช่นกันทั้งไส้เลื่อนขาหนีบที่มีความเสี่ยงมากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ หรือไส้เลื่อนในช่องเชิงกรานที่สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากการเอื้ออำนวยจากสรีระของร่างกายมากกว่าเพศชาย
 

อาการของไส้เลื่อนขาหนีบ

- คลำเจอก้อนบริเวณขาหนีบ ก้อนจะโตขึ้นเมื่อไอจามรุนแรง หรือยกของหนัก

- มีอาการปวดบริเวณที่คลำเจอก้อน

- เมื่อก้อนโผล่ออกมาทำให้มีเสียงคล้ายการเคลื่อนไหวของลำไส้

- ไส้เลื่อนขาหนีบอันตรายแบบไหนจึงควรพบแพทย์

- ปกติแล้วผู้ป่วยมักจะดันก้อนกลับเข้าไปได้ หากอาการรุนแรงจะไม่สามารถดันได้

- มีอาการปวดเจ็บบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบ

- มีอาการท้องอืด คลื่นไส้ และอาเจียน
 



ภาวะแทรกซ้อนจากไส้เลื่อนขาหนีบอันตรายกว่าที่คิด

ลำไส้เน่าจากการเคลื่อนและบิดตัวของลำไส้จนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทำให้มีอาการปวดท้องลักษณะเหมือนโดนบิด, อาเจียน และความดันโลหิตต่ำ 

นอกจากนี้ผู้ป่วยไส้เลื่อนขาหนีบยังเสี่ยงภาวะลำไส้อุดตันกรณีอุจจาระหรืออาหารไม่สามารถไหลผ่านลำไส้ได้ทำให้เกิดอาการผายลม, คลื่นไส้ อาเจียน และท้องอืด ปวดแบบมวนท้อง
 

ผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนขาหนีบ

หากไม่ตัดสินใจรักษาตั้งแต่ระยะแรก ไส้เลื่อนขาหนีบจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการ หรือขนาดไส้เลื่อนยังไม่ใหญ่อาจยังไม่ต้องรีบผ่าตัด 

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เพื่อพิจารณาอาการและขั้นตอนการรักษา โดยการรักษาสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดมีจุดประสงค์เพื่อซ่อมแซมส่วนที่เป็นรู หรือเสริมความแข็งให้กับผนังหน้าท้องด้วยการผ่าตัดสมัยใหม่ผ่านการส่องกล้อง

 
เป็นผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนขาหนีบดูแลตนเองอย่างไร

หากยังไม่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด : ต้องหลีกเลี่ยงการเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระหนัก และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก

หากทำการรักษาด้วยการผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบแล้ว : ไม่ควรยกของหนักอีก หากน้ำหนักเกินมาตรฐานให้พยายามลดน้ำหนัก ทานอาหารที่มีกากใยช่วยในการขับถ่ายมากขึ้น

ทั้งนี้หากรักษาไปแล้วพบอาการผิดปกติ เช่น บริเวณแผลผ่าตัดมีเลือดออก บวมแดง และปวดควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป
 

โรคไส้เลื่อนขาหนีบยากต่อการป้องกันเพราะเกิดได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกว่าจะแสดงอาการในตอนโต ดังนั้นหากรักษาแล้วควรระวังและดูแลตนเองเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

ข้อมูลจากบทความ https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Inguinal-hernia
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่