JJNY : ญาติเหยื่อ พ.ค.53 จี้รื้อคดี│‘ก้าวไกล’ ยุติเจรจา-ขอโทษไม่รับ‘ชาติพัฒนากล้า’│ส.อ.ท.ผวาค่าแรง│ประชุม G7 เริ่มแล้ว

ญาติเหยื่อ พ.ค.53 จี้รื้อคดีเอาผิด ตัวบงการล้อมปราบประชาชน
https://www.matichon.co.th/politics/news_3989182

ญาติเหยื่อ พ.ค.53 จี้รื้อคดีเอาผิด ตัวบงการล้อมปราบประชาชน

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ศาลาชัยสินธพ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 นำโดย นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสา และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ร่วมด้วยญาติผู้วายชนม์
 
นายพันธ์ศักดิ์อ่านแถลงการณ์ความว่า แถลงการณ์ญาติผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง 2553 ยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล เอาคนผิดไปขึ้นศาล รัฐบาลต้องลงนามไอซีซี วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2566 นับเป็นเวลา 13 ปีแล้วที่เหตุการณ์การสลายการชุมนุมจากการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินอันผิดพลาดได้แปรเปลี่ยนเป็นการสังหารหมู่ประชาชนในเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 เหตุการณ์ดังกล่าวมีการสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยมและต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 1 เดือน 9 วัน มีผู้เสียชีวิต 94 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 1,283 คน ทั้งพลเรือนและทหาร ไม่นับทรัพย์สินเอกสารที่เสียหายไปเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์สังหารหมู่นี้เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
 
เหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนในเดือนเมษาฯ-พฤษภาฯ 2553 ก็ไม่เคยปรากฏความผิดของผู้กระทำในกระบวนการยุติธรรมไทยเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีองค์กรที่เข้ามามีบทบาทอุปถัมภ์การพ้นผิดลอยนวลของอำนาจรัฐเพิ่มมากขึ้น
 
จะเห็นว่าตั้งแต่ความขัดแย้งหลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา จนคำว่า สองมาตรฐาน ญาติผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 มีความเห็นต่อกระบวนการและความจำเป็นในการยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลประชาธิปไตยด้วยการทำความจริงให้ปรากฏ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ถูกละเลย นำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รื้อฟื้นคดีก่อนหน้าที่ได้ตัดสินไปแล้ว แต่สังคมยังกังขาขึ้นมาพิจารณาใหม่ มีมาตรการที่ทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่กระทำความรุนแรงกับประชาชนเกิดขึ้นอีกในอนาคต เร่งสะสางและนิรโทษกรรมจากคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ลงนามให้สัตยาบันรับรองเขตอำนาจศาลาอาญาระหว่างประเทศ นำกองทัพออกไปจากการเมืองตลอดกาล
 
สุดท้ายนี้ ญาติผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 ขอประกาศให้วันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลแห่งชาติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเห็นของเราในฐานะผู้ได้รับความสูญเสียในเหตุการณ์ทางการเมืองจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความยุติธรรมให้ปรากฏและยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย
 
นางพะเยาว์ กล่าวว่า ในวาระที่เราจะมีรัฐบาลใหม่ จะขอฝากกับรัฐบาลใหม่ ขอให้พิจารณาสิ่งที่เราแถลงการณ์ในวันนี้ หวังว่ารัฐบาลนี้จะให้ความเป็นธรรมกับญาติผู้สูญเสียทุกคนในทุกเหตุการณ์ เราร้องขอสิ่งที่ประชาชนรับทุกข์มานานแล้ว ขอให้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เราถูกลดทอน เหตุการณ์ปี 53 ผู้เสียชีวิตถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย พวกเราเป็นพ่อเป็นแม่ถูกตราหน้าว่าเป็นพ่อแม่ผู้ก่อการร้าย 19 พฤษภาฯ ขอให้เป็นวันสำคัญระดับชาติ ขอให้รัฐบาลใหม่นำไปพิจารณาด้วย รวมถึงพิจารณาเรื่องลงนามไอซีซีเป็นเรื่องสำคัญ ทราบมาว่าในเอ็มโอยูไม่มีเรื่องนี้
 
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะอดีตแกนนำ นปช. เผยทางเฟซบุ๊กกรณีครบรอบ 13 ปี เหตุการณ์สลายชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 พร้อมเดินหน้าผลักดันพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมเริ่มต้นฟ้องคดีได้ใน 6 เดือน หลังรัฐบาลใหม่มีอำนาจบริหาร
 
ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. ที่แยกราชประสงค์ คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ร่วมกับยูดีดีนิวส์ และคนเสื้อแดง นำโดย นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตรักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช. และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะอดีตแกนนำ นปช. ร่วมจัดงานรำลึก “13 ปี เมษาพฤษภา53” โดยมีพิธีสงฆ์ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้วีรชนเมษา-พฤษภา 53 จัดกิจกรรมเปิดคลิปวีดิโอความรุนแรงที่เกิดขึ้น
 
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวบนเวทีว่า จะคุยส.ส.เพื่อไทย รวม 30 คน เข้าชื่อยื่นแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ทันที เปิดทางกรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิด ประชาชนมีสิทธิฟ้องได้โดยตรง



‘ก้าวไกล’แถลงการณ์ยุติเจรจา-ขอโทษไม่ยอมรับ ‘ชาติพัฒนากล้า’ เข้าร่วม รบ.
https://voicetv.co.th/read/6KOFTRZFj

กระแสต้าน ‘กรณ์’ หนักในโซเชียลฯ มติ ‘ก้าวไกล’แถลงการณ์ขอโทษปมรับพรรคชาติพัฒนากล้าร่วม รบ. ยืนยันฟังเสียงประชาชน ลั่นไม่รับ ‘ชาติพัฒนากล้า’ ร่วมรัฐบาล
 
เมื่อเวลา 23.50 น. วันที่19 พ.ค. 2566 พรรคก้าวไกลได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของพรรคภายหลังเกิดกระแสคัดค้านอย่างหนักในโลกโซเชียลมีเดีย จนเกิด #มีกรณ์ไม่มีกู หลังพรรคก้าวไกลได้ตอบรับพรรคชาติพัฒนากล้า เข้าร่วมรัฐบาล จนมีเสียง ส.ส.รวม 316 เสียง
 
ล่าสุดพรรคก้าวไกลได้ออกแถลงการณ์ใจความว่า 

สืบเนื่องจากกรณีที่พรรคก้าวไกล ได้เจรจากับพรรคชาติพัฒนากล้า เพื่อตกลงโหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมรัฐบาล
 
กรณีดังกล่าว ได้ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากประชาชน เจ้าหน้าที่พรรค คณะทำงานจังหวัด และสมาชิกพรรค ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าไม่สามารถยอมรับการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคชาติพัฒนากล้าได้ นอกจากนี้ ในที่ประชุมร่วมของว่าที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ก็มีมติสอดคล้องกับประชาชนว่าไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน
 
ด้วยเหตุนี้ กรรมการบริหารพรรค จึงน้อมรับมติดังกล่าวมาปฏิบัติ เราจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้า และจะเดินหน้าพูดคุยและทำความเข้าใจเพื่อขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ได้เสียงพอในการโหวตนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด
 
พรรคก้าวไกลขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด และกราบขออภัยประชาชน ที่ทำให้ทุกท่านผิดหวัง พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล จะทำบนพื้นฐานจุดยืนทางการเมือง นโยบายหลักของพรรคตามที่ได้เคยหาเสียงไว้ รวมถึงขอโทษพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ต้องยุติการเจรจาครั้งนี้ 
 
และสุดท้ายนี้ ขอบคุณพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่พรรค และว่าที่ผู้แทนราษฎรก้าวไกลทุกคน ที่คอยตรวจสอบ ท้วงติงการทำงานของผู้บริหารพรรค เพื่อให้พรรคยืนหยัดในจุดยืน อุดมการณ์เดิมอย่างมั่นคง 
 
พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าพรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ ได้มีว่าที่ ส.ส. ส.ส. คณะทำงาน สมาชิกพรรค รวมถึงประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้าของพรรคก้าวไกล สะท้อนผ่านสื่อโซเชียลเป็นจำนวนมาก จนเกิด #มีกรณ์ไม่มี-ู #ไม่เอาชาติพัฒนา ที่ถูกส่งต่ออย่างกว้างขวาง
เช่น แถลงการณ์ไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลกัลพรรคชาติพัฒนากล้า โดย ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. และคณะทำงานของพรรคก้าวไกล ใน จ.นครราชสีมา ปิยรัฐ จงเทพ ว่าที่ ส.ส.กทม. เขตบางนา ระบุว่า ในฐานะผู้แทนประชาชน ขอนำข้อเรียกร้องของประชาชน ที่มีต่อพรรคในประเด็น #มีกรณ์ไม่มีเรา ส่งต่อไปยังผู้บริหาร #พรรคก้าวไกล ได้ทบทวน และแก้ไขโดยด่วน
 
เช่นเดียวกับ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ว่าที่ ส.ส.กทม. เขตบางนา และ ธนเดช เพ็งสุข ว่าที่ ส.ส.กทม. เขตลาดพร้าว-บึงกุ่ม ที่ได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้าเช่นเดียวกัน
 
ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้เผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวของพรรค พร้อมระบุข้อความ "ขอโทษครับ ผมจะระลึกไว้เสมอ พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค



ส.อ.ท.ผวาค่าแรง ‘ก้าวไกล – เพื่อไทย’ ต่างด้าว 2.7 ล้านคนได้ประโยชน์ แถมส่งเงินกลับบ้าน
https://www.matichon.co.th/economy/news_3989255

ส.อ.ท.ผวาค่าแรง ‘ก้าวไกล – เพื่อไทย’ ต่างด้าว 2.7 ล้านคนได้ประโยชน์ แถมส่งเงินกลับบ้าน

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจจากการฟอร์มรัฐบาล ว่า จากการพิจารณานโยบายของทุกพรรค ส.อ.ท.เห็นด้วย แต่มีข้อกังวลแค่นโยบายของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยภาคอุตสาหกรรมเห็นใจเรื่องความลำบากและความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งภาระค่าครองชีพ ของประชาชนแต่ควรดูทางออกให้เหมาะสม
 
อย่างไรก็ตาม ควรมีการหารือกันก่อนว่าจะมีแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงอย่างไร ที่จะควบคู่ไปกับการดูแลค่าครองชีพประชาชนไปพร้อมกัน เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคตามไปด้วย เนื่องจากค่าจ้างแรงงานเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของการผลิต
 
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมาจะพิจารณาโดยคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วย ภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง โดยจะต้องพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ และบทบาทของแต่ละจังหวัด หากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะลดขีดความสามารถของประเทศและความน่าสนใจในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
 
นอกจากนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีประมาณ 2,700,000 คน โดยเฉพาะงาน 3D ที่คนไทยไม่ทำ (Dirty งานสกปรก, Difficult งานยาก, และ Dangerous งานอันตราย) ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะกันเงินค่าจ้าง 50% ส่งกลับไปยังบ้านเกิด และจะเหลือเงินใช้ในประเทศไทยเพียง 50% เท่านั้น เท่ากับว่าเงินครึ่งนึงจะหายออกไปจากระบบเศรษฐกิจไทย ไม่สามารถสร้าง Multiplier(ตัวคูณ) ทางเศรษฐกิจได้
ขณะเดียวกัน การปรับค่าแรงหากขึ้นก้าวกระโดดจะกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ส่วนเอกชนรายใหญ่แม้มีศักยภาพจ่ายเพิ่ม จะหันไปใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกลมากขึ้น
 
ส.อ.ท. เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง แต่ควรมีการพิจารณาปรับขึ้นตามทักษะความชำนาญของแรงงาน และต้องพิจารณาว่าหากปรับขึ้นค่าแรง ผลประโยชน์ที่แท้จริงจะตกอยู่กับประเทศที่แท้จริงมากน้อยเพียงใด เพราะต้องคำนึงถึงศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วย
สำหรับเอ็มโอยูยังไม่ทราบรายละเอียด หากเป็นไปได้อยากให้ประเด็นค่าจ้างถูกพิจารณาอย่างรอบด้านอีกครั้ง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่