7 สิ่งที่ต้องทำการบ้านก่อนไปสัมภาษณ์งาน

ก่อนไปสัมภาษณ์งาน แน่นอนว่าเราจะต้องโฟกัสไปที่การฝึกแนะนำตัวให้คล่องและซ้อมตอบคำถามสัมภาษณ์ต่าง ๆ แต่หลายคนกลับไม่ได้เตรียมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทไป ทำให้อาจพลาดและตกม้าตายในการสัมภาษณ์ได้ วันนี้ JobThai Tips เลยเอาเช็กลิสต์ 7 สิ่งที่ผู้สมัครต้องทำการบ้านนอกเหนือจากการฝึกซ้อมตอบคำถามสัมภาษณ์งานมาฝากค่ะ 
 
1. ทำความรู้จักองค์กรที่เราสมัคร 
สิ่งที่ต้องทำการบ้านเป็นอย่างแรกคือการหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์กรที่เราสมัครงาน โดยอาจเข้าไปดูจากเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของบริษัทว่าที่ที่เราสมัครไปนั้นมีความเป็นมายังไง เปิดมานานหรือยัง ทำธุรกิจประเภทไหน มีบริษัทอะไรในเครือบ้าง มีสาขาย่อยไหม แล้วแต่ละสาขาอยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง ภาพรวมหรือสถานการณ์ของบริษัทในตอนนี้เป็นยังไง วิสัยทัศน์หรือเป้าหมายขององค์กรคืออะไร รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทนั้นด้วย 
  
2. หา Insight หรือทดลองผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท 
เมื่อเรามีข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวกับองค์กรแล้ว ต่อมาก็เป็นการทำความรู้จักสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของบริษัท เช่น ถ้าบริษัทที่เราสมัครไปเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ให้บริการแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชัน เราควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนั้นมาทดลองใช้งานดู และลองโน้ตจุดเด่นหรือฟีเจอร์ที่ตัวเองชื่นชอบในแอปพลิเคชันนั้น ๆ รวมถึงจุดที่เรามองว่าควรปรับปรุงหรือพัฒนาต่อไปเผื่อเอาไว้ด้วย เพราะในวันสัมภาษณ์ ทางองค์กรอาจถามเราว่าเคยทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทไหม ชอบหรือไม่ชอบตรงไหนบ้าง ซึ่งถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวในส่วนนี้มาก็อาจตกรอบเอาได้ 

แต่ในกรณีที่เราไม่สามารถทดลองผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการของบริษัทได้ เช่น บริษัทที่เราสมัครไปเป็นบริษัทอาหารแมว แต่เราไม่ได้เลี้ยงแมว ทำให้ไม่เคยทดลองสินค้าเลย เราก็อาจใช้วิธีหารีวิวสินค้าจากอินเทอร์เน็ตหรือสอบถามคนรอบตัวเพื่อดูว่าคนอื่น ๆ พูดถึงผลิตภัณฑ์นั้นยังไงบ้าง รวมถึงพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ได้มากที่สุด เช่น อาหารแมวของบริษัทที่เราสมัครไปมีชนิดไหนบ้าง วางจำหน่ายที่ไหน สินค้าชิ้นไหนขายดีที่สุด 
 
 
3. ศึกษาคู่แข่งขององค์กรด้วย 
นอกจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่เราสมัครไปแล้ว อย่าลืมหาข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขององค์กรด้วย เพราะบางครั้งผู้สัมภาษณ์ก็อาจถามความเห็นถึงบริษัทคู่แข่งด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเราควรทำการบ้านไปก่อนว่ามีบริษัทอะไรบ้างที่ทำธุรกิจอยู่ในแวดวงเดียวกันกับบริษัทที่เราสมัครไป แล้วจุดแข็งและจุดอ่อนของบริษัทนั้น ๆ คืออะไร เปรียบเทียบกับบริษัทของเราแล้ว มีสิ่งไหนแตกต่างกันบ้าง 
  
4. ทำความเข้าใจ Job Description 
สิ่งที่บริษัทมองหาในตัวผู้สมัครงานย่อมอยู่ใน Job Description ดังนั้นเราควรทำความเข้าใจรายละเอียดของสโคปงานและคุณสมบัติที่บริษัทระบุเอาไว้ในประกาศงานให้ดี อย่าชะล่าใจว่าเราเคยทำงานในตำแหน่งเดียวกันมาก่อนหรือเคยทำงานในสายงานเดียวกันมาก่อนแล้วจะเข้าใจสโคปงานทั้งหมด เพราะรายละเอียดงานของแต่ละบริษัทก็แตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจและโครงสร้างขององค์กร แม้จะใช้ชื่อตำแหน่งเหมือนกัน แต่ก็อาจมีจุดที่ไม่เหมือนกันได้ ดังนั้นเราควรอ่านและทำความเข้าใจ Job Description ให้ดี เมื่อเรารู้ว่าบริษัทกำลังมองหาคนแบบไหนอยู่ เราก็จะได้ดึงทักษะและจุดแข็งของเราออกมาได้ตรงจุด นอกจากนี้ถ้ามีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับ Job Description ก็อย่าลืมลิสต์คำถามเอาไว้สอบถามในช่วงสัมภาษณ์ด้วย 
  
5. หาข้อมูลผู้สัมภาษณ์ 
ในกรณีที่เรารู้ล่วงหน้าว่าผู้สัมภาษณ์เป็นใครก็อาจหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้สัมภาษณ์ไปด้วย โดยอาจศึกษาดูจากโซเชียลมีเดียที่เปิดสาธารณะ เช่น Facebook หรือ LinkedIn เพื่อดูความสนใจในด้านต่าง ๆ รวมถึงดูความเป็นมาของผู้สัมภาษณ์ว่าเคยเรียนหรือเคยทำงานที่ไหนมา เพราะในบางครั้งการสนใจในเรื่องเดียวกันหรือเคยมีประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กันก็อาจช่วยให้บรรยากาศในการสัมภาษณ์ดีขึ้น มีเรื่องให้ชวนคุยมากขึ้นได้ นอกจากนี้อาจลองเสิร์ชดูด้วยว่าผู้สัมภาษณ์ของเราเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไหนบ้างไหม ถ้าเคย เราอาจลองตามไปดูว่าแนวทางการพูดของเขาเป็นยังไง จะได้รู้สึกคุ้นชินและตื่นเต้นน้อยลงเวลาสัมภาษณ์งานจริง 
 
6. เตรียมอธิบายหน้าที่ ความรับผิดชอบ และผลงานที่ผ่านมา 
แน่นอนว่าเวลาไปสัมภาษณ์งาน บริษัทต้องถามถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในงานที่ผ่านมาหรืองานปัจจุบันที่เรากำลังทำอยู่ ดังนั้นถ้าเราใส่ข้อมูลการทำงานหรือผลงานอะไรลงไปในเรซูเม่และพอร์ตโฟลิโอ เราก็ควรเตรียมคำอธิบายเกี่ยวกับงานในส่วนนั้น ๆ ไปด้วย เช่น เราดูแลโปรเจกต์นี้ในส่วนไหน ตอนที่ทำงานเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราทำยังไงถึงผ่านอุปสรรคนั้นมาได้ เพราะถ้าเราไม่เตรียมตัวไปให้ดี ก็อาจเกิดอาการประหม่า ตอบคำถามแบบตะกุกตะกัก ติด ๆ ขัด ๆ จนทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกไม่เชื่อถือเอาได้ว่าเราทำงานนั้นจริง ๆ 
  
7. ศึกษา Range เงินเดือนของคนที่ทำงานในสายเดียวกัน 
หากการสัมภาษณ์เป็นไปได้ด้วยดี บริษัทรู้สึกสนใจในตัวเรา ก็เข้าสู่ขั้นตอนของการสอบถามเรื่องเงินเดือน ดังนั้นสิ่งสุดท้ายที่เราควรทำการบ้านไปคือ Range เงินเดือนของคนที่ทำงานในสายเดียวกัน โดยอาจศึกษาจากอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย แหล่งคอมมูนิตี้ต่าง ๆ รวมถึงประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งเดียวกับเราหรือใกล้เคียง เพื่อดูว่าแต่ละที่เขาระบุเงินเดือนกันประมาณเท่าไหร่ แล้วพิจารณาประสบการณ์และทักษะของตัวเองว่าเงินเดือนที่เหมาะสมจะได้รับคือเท่าไหร่ จะได้มีข้อมูลไว้ใช้ในการต่อรองเงินเดือนกับทางบริษัท 
 
เมื่อเราได้เข้าไปถึงรอบสัมภาษณ์ เรียกว่าโอกาสที่จะได้งานก็อยู่อีกไม่ไกลแล้ว ดังนั้นเราควรเตรียมตัวและทำการบ้านไปให้ดี เมื่อเรามีข้อมูลแน่นพอ เราก็จะมีความมั่นใจในการสัมภาษณ์มากขึ้น นอกจากนี้การเตรียมข้อมูลมาดียังช่วยแสดงให้บริษัทเห็นว่าเรามีความกระตือรือร้น ใส่ใจรายละเอียด และอยากทำงานที่นี่จริง ๆ ถือเป็นการสร้างความประทับใจที่ดีให้กับองค์กรอีกด้วย ขอให้เพื่อน ๆ ชาว Pantip ได้งานที่ต้องการนะคะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่