เรื่องสั้น เอ็นวายกู NYKU: New York Kitchen University ตอนที่ 32: ใครว่าอยู่เมืองนอกสบาย (Rewrite)

          งงที่จู่ๆ พี่น้องหลายคนส่งข้อความมาสอบถามถึงความเป็นไปได้ของการที่จะย้ายมาตั้งรกรากกันที่นิวยอร์กกัน ถามไถ่ไป ก็ได้ความว่า ทนไม่ไหวแล้ว มันเอือมระอาเหลือจะทานทนกับเรื่องราวที่ไม่เจริญของประเทศไทย กับวัยรุ่นสมัยสงครามเย็นที่ทำตัวเป็นขี้แข็ง กดชักโครกไปสามหนก็ยังเอาไม่ลง เอาไม้ดูดส้วมมาเคาะแล้ว กะจะตีให้แตก ก็ไม่ยุบ ไม่บุบ สรุปกดชักโครกยังไงก็ไม่ลง ไล่ไงก็ไม่ไป ด้ายยยยย! งั้นกูไปเองก็ได้! อยู่ก็อดตาย ขอไปตายเอาที่น้ำบ่อหน้าดีกว่า หนึ่งในน้ำบ่อหน้าที่ถูกพูดถึงก็คงไม่พ้นประเทศพี่เบิ้ม ขาโจ๋ของเราอย่างอเมริกา ในฐานะที่อาบน้ำร้อนที่อเมริกามาก่อน ก็อยากจะบอกว่า การย้ายถิ่นฐานมันไม่ใช่ว่าจะง่ายแบบปอกกล้วยเข้าปากนะครับ มันอีกเรื่องราวรันทดจิตใจที่ซุกเอาไว้อยู่ใต้พรมอีกมาก ลองมาฟังกันดูนะครับ

          ช่วงบ่ายสามกว่าๆ ของวันฟ้าใส ในช่วงฤดูร้อน ตรงหัวมุมถนน 77th Street กับ Broadway ย่าน Elmhurst ย่านที่อยู่อาศัยหลักของพวกเราพี่น้องคนไทย ณ ระเบียงบ้านหลังที่สาม ชั้นสอง มีควันโขมงลอยฟ่องขึ้นสู่ท้องฟ้า ระคนไปกับกลิ่นพวกเนื้อปิ้งย่างแบบไทยๆ มองมาดีๆ ก็จะเจอผม พี่ร็อคกี้และโจ้ กับเพื่อนอีกสี่ห้าคนกำลังจัดปาตี้รับลมร้อน ไอเดียการปิ้งย่างครั้งนี้ มันเริ่มมาจากผมกับพี่ร็อคกี้สองคน อยากกินปิ้งย่าง ก่อนจะชวนเพื่อนๆ พี่ๆ คนใดหากว่าง อยากจะมาแจมกันก็มาได้เลย ไม่มีนัดล่วงหน้า ใครวันนี้หยุด อยากเมา อยากเม๊าท์ ก็ออกมารับลมร้อนกับแสงแดดยามบ่าย ปิ้งหมู จิบเบียร์ เล่นกีต้าร์กันแบบบรรยากาศแบบไทยบ้านเรา ก็พอช่วยให้ร่างกายที่มันเหนื่อยล้า จากการที่ต้องทนแปลงร่างเป็นยอดมนุษย์ร้านอาหารมานาน ให้ได้พักผ่อน ฟื้นพลังบ้างก็ดี

          โชคดีที่ได้พี่ร็อคกี้ มือปิ้งอันดับหนึ่งของเรา เนื้อแบบไหนควรกินยังไง หนาเท่าไหร่ หั่นยังไง ย่างแดงแค่ไหนควรกิน แกรู้หมด เรียกว่าตัวจริงเรื่องปิ้งย่างเลยดีกว่า ยิ่งน้ำจิ้มแจ่วฝีมือแกนะ แหม่...เล่าไปยังน้ำลายไหลไป 555 ส่วนโจ้ก็เป็นมือกีต้าร์ประจำซอย เล่นได้ทุกเพลง โจ้เล่าว่า นาวิน ต้าร์ เป็นคนสอนมันเล่นกีต้าร์เอง และก็ชอบบอกว่านาวิน ต้าร์เล่นกีต้าร์โคตรเก่ง! ส่วนผมอาศัยว่าเป็นเจ้าบ้าน ฝ่ายจัดสถานที่ คอยอำนวยความสะดวกให้กับพวกพ้อง แต่หากจะแปลง่ายๆ คือ ทำตัวเป็นรัฐบาลไทย คอย-อย่างเดียว!
 
          จำไม่ได้เหมือนกันว่าวันนั้นเราล้มวัวล้มควายกันไปกี่ตัว รู้แต่ว่าเบียร์นี่หมดไปหลายลังอยู่ เรียกว่าเดินไปร้านลุงใบ๋ขายเบียร์กันต่ออีกหลายรอบ โชคดีที่เพื่อนฝูงคนไหนที่ตามมา ก็มักจะหิ้วเบียร์ติดตัวมาแพ็คสองแพ็ค ให้พอเป็นของฝากติดไม้ติดมือบ้าง ภาษาฝรั่งเรียก BYOB ย่อมาจาก Bring Yor Own Beer จะเพี้ยนเป็น BYOW ก็ได้ ถ้ารักจะดื่มไวน์นะ ก็เรียกว่า เครื่องดื่มนี่ มีไม่พร่องปากเลยทีเดียว พอตกดึก ตีสอง ตีสาม ไอ้คนที่ต้องทำงานวันพรุ่งก็ลาไป ไอ้น้องที่เมาหลับแอ๋ นอนสลบเมาคาบ้านไปก็หลายคน เหลือผู้รอดชีวิต สายแข็งอยู่สามคน คือ ผม พี่ร็อคกี้ แล้วก็โจ้ เราเล่นกีต้าร์ร้องเพลงกันไป กินไปคุยไป สุดท้ายมันก็วกมาแถว ๆ เรื่องอดีตชาติของเรา สมัยยังอยู่เมืองไทย ว่าทำไมเราเลือกที่จะมาอยู่ที่นิวยอร์กกัน

          “เรื่องของเรื่องคือ เพื่อนกูมันสมัคร Green Card Lotto แล้วชวนกูสมัครด้วย ผลออกมา กูถูกหวยได้ Green Card ส่วนเพื่อนกูอด” พี่ร็อคกี้ซึ่งทำงานอยู่ร้านญี่ปุ่นไฮโซร้านนึงเล่าเป็นคนแรก ตามประสาแก่สุดเล่าก่อน
          “งี้แหละ ผมได้ยินบ่อย พวกสมัครขำๆ ได้ ส่วนไอ้คนที่อยากได้จริงๆ สมัครทุกปี แม่มอด-ตลอด 555” โจ้พูด
          “ตอนนั้นกูก็คิด เอาไงดีวะ กูเป็น Sale ขายของ สมัยสิบกว่าปีก่อนได้เงินเดือนสามหมื่น บวกค่าคอมด้วย เดือนนึงก็สี่ห้าหมื่นอยู่ คือเงินดีเลยล่ะ” พี่ร็อคกี้โม้
          “คร่อกๆๆ ” ผมกับโจ้แกล้งทำเป็นหลับ
          “ไอ้สั้ส ตื่น! ไม่ใช่อภิปรายไม่ไว้วางใจ!” พี่ร็อคกี้โวยวาย ก่อนจะเข้าเรื่อง
          “ตอนนั้น กูต้องตัดสินใจว่าจะเอาไง จะมาเมกาดีไหม? กูถามตัวเองว่า กูชอบเป็น Sale ไหม ก็เปล่า แต่กูรู้ว่าชอบเที่ยว อยากจะไปเที่ยวไปทั่วโลก ถ้าทำงานที่ไทย กูคงไม่มีปัญญาจะหาเงิน กับหาเวลาที่จะไปได้ นั่นแหละที่ทำให้ สุดท้ายแล้ว กูเลือกที่จะมา” พี่ร็อคกี้เจ้าของฉายา ร็อคกี้ร้อยประเทศ คือ พี่แกไปเที่ยวต่างประเทศมาหมดแล้ว จะยุโรป, เอเชีย, อเมริกาใต้ หลักการใช้ชีวิตของแก คือ ทำงานอย่าลืมใช้เงิน คือ ร้านอาหารที่แกทำเป็นร้านญี่ปุ่นไฮโซไง ก็เลยเก็บเงินได้ง่ายหน่อย พอพี่แกทำงานเก็บเงินสักปีสองปี จนเก็บได้ถึงจุดที่แกตั้งงบเอาไว้แล้ว แกก็จะลางานไปเที่ยวสักเดือนนึง ไปเติมไฟให้กับชีวิตนักเดินทางของแก ถ้าอยู่เมืองไทยก็คงทำแบบที่แกทำไม่ได้จริงๆ อ่ะนะ
          “สุดท้ายก็ยังเป็น Sale อยู่นะ หนีไม่พ้น แต่เป็น Sale ในร้านอาหาร ขายอาหารให้คนกินแทน” พี่ร็อคกี้จบ โจ้เล่าต่อ
          “ของผมตอนนั้น ผมจะจบมหา’ลัยแระ รอรับปริญญา มันมีโครงการ Work & Travel เปิดอยู่ที่ Six Flags* ตอนนั้นทำได้ชั่วโมงล่ะ $12 ทำงานเดือนนึง ขำๆ ก็ได้ $2,000 แล้ว คูณเป็นเงินไทยก็เกือบ 70,000!” โจ้เล่าถึงความหลัง
          “นี่ค่าแรงขั้นต่ำนะ แปลว่าถ้าทำร้านอื่นๆ เงินต้องดีกว่านี้อีก พอหมด Work ผมเลยตัดสินใจโดด ไม่กลับไทยล่ะ เป็นโรบินฮู้ดเข้านิวยอร์กหาเงินดีกว่า” โจ้เล่า
          “กลับไปทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน เดือนนึงหมื่นนิดๆ มันไม่พอ-อ่ะพี่ แค่จะไปไถ่นา ที่พ่อแม่จำนองไว้ตอนส่งผมเรียน ชาติหน้าก็ยังไถ่ไม่หมด” โจ้เล่าติดตลก
          “ไม่ไปจำนำข้าวล่ะ บ้านทำนาไม่ใช่เร๊อะ?” ผมถามกวนส้นเท้า
          “นั่นเก่าไป๊ ตอนนี้ต้องคนละครึ่งแล้ว” โจ้สวนมุข
          “ลงทะเบียนทันเหรอ” ผมสวนกลับ
          “ไม่ทันก็อดทน พยายามลงต่อไปซิ” โจ้เล่นกลับ
          “พอเหอะ พวก เล่นมุขห่านไรกัน ไม่เกรงใจรัฐบวยเลย” พี่ร็อคกี้เอามั่ง
          “รัฐบาล!” ผมกับโจ้ตอบพร้อมกัน
          “ถูกแล้วโว้ย รัฐบวยหัวคาล!” พี่ร็อคกี้ตบมุขให้ ก่อนที่โจ้จะเล่าต่อ
          “ตอนผมบอกที่บ้าน นึกว่าแม่จะไม่ชอบใจ ปรากฎว่าเปล่าเลย แถมบอกอีกต่างหากว่า ไม่ต้องรีบกลับมานะ เดี๋ยวนี้เมืองไทยเศรษฐกิจไม่ดี อยู่ลำบาก ไม่น่าอยู่ ถ้าผมไปต่อทางนี้ได้ก็ดี” โจ้เล่าพลางส่ายหัว ก่อนจิบเบียร์ขวดสีเขียวเพลิน ๆ
          “ผมไม่มีใบเหมือนพี่ร็อคกี้ แต่ยังโชคดี มีเลขโซเชี่ยลจากตอนมา Work เลยหางานทำได้ง่ายหน่อย แต่ก็ไม่ได้คิดนะพี่ ว่าจะต้องมาใช้แรงงานขนาดนี้ เลิกร้านแต่ละวันนี่ ปวดหลัง แขนล้าไปหมด” โจ้เล่าตามประสาเป็น Runner มืออาชีพ เห็นมันตัวโตๆ ล่ำๆ ออกอาหารที่สี่ห้าจาน เพราะร้านที่ทำมัน Busy มาก แบกจานซะหลังแอ่น เลิกงานก็มาบอกปวดหลังบ้าง ให้ผมช่วยแปะแผ่นคลายกล้ามเนื้อให้หน่อยก็หลายหนอยู่
 
          หลังจากเบียร์หมด กอปรกับขี้เกียจเดิน เราก็เลยมาจบกันที่ของเก่าเก็บ นั่นคือ Regency ที่ผมหิ้วมาจากเมืองไทย ความดราม่าก็ค่อยๆ เพิ่มดีกรีตามความแรงของเครื่องดื่มเช่นกัน
          "ถึงกูเป็น Citizen ก็เหอะ แต่ก็มีโดนดราม่าเยอะ โดนมองว่าเป็นไอ้เจ็ก พูดอังกฤษไม่ชัดมั่ง สำเนียงฟังไม่ออกมั่งล่ะ" พี่ร็อคกี้เล่า อารมณ์เซ็งๆ
          “ผมก็เคยโดนฝรั่งบอก ยูไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ แล้วแมร่งก็ทำแบบไม่อยากคุยด้วย! ไอ้เห้!” โจ้เล่า ก็จริง ลุงป้าๆ หลายคนอยู่เมืองนอกเมืองนามานานเป็นยี่สิบสามสิบปี แต่ภาษาอังกฤษไม่ได้เลยก็มี เพราะว่าอยู่แต่ในครัว พูดก็พูดแต่ภาษาไทย เผลอๆ ได้ภาษา Spanish แทนเสียอีก เพราะต้องคุยกับพวกพี่โก้ ที่ทำงานในครัวซะมากกว่า เวลาเจ็บป่วยที ต้องวานเด็กๆ ที่พอพูดภาษาอังกฤษได้ให้ช่วยพาไปหาหมอ ไปก็ไม่มีประกัน คือ ไปนั่งรอเอาที่หน้าห้องฉุกเฉิน บางคนอดทนไม่ยอมไปตั้งแต่แรก กลัวหมอ กลัวค่ารักษา กว่าจะได้ไปจริงๆ ก็ปวดหนักแล้ว ต้องลากรถพยาบาลให้พาไปส่ง ที่นี้แหละ ได้เข้า ICU จริงๆ ก็มีเยอะ 

          พวกผมสามคนถอนหายใจกับ เรื่องราวดราม่าที่เข้ามาในชีวิต คนอยู่เมืองไทยก็คงไม่รู้หรอกว่า ไอ้คนที่มันต้องมาเริ่มใหม่ ทำอะไรที่ต่างแดนน่ะ มันต้องผจญกับอะไรบ้าง ยิ่งต้นทุนชีวิตก็ไม่ได้มีเท่ากับคนอื่นๆ ด้วยแล้ว บางทีเวลาอยู่คนเดียวก็แอบร้องไห้ คิดถึงเมืองไทยบ้านเกิดก็หลายหนอยู่ 
โจ้เริ่มเกากีต้าร์ เล่นเพลงนุ่มๆ เบาๆ ไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่นัก ก่อนจะเอ่ยปากร้องท่อนแรกว่า “ใครว่าอยู่เมืองนอกสบาย.... ใครว่าอยู่เมืองนอกสบายนะ” เป็นเพลงชื่อว่า ‘ใครว่าอยู่เมืองนอกสบาย’ ของวง Outsider วงดนตรียุค '90s เนื้อร้องก็ประมาณว่า ใครบอกว่าเมืองนอกน่ะสบาย อยู่เมืองนอกโคตรจะลำบาก ต้องประหยัด อาหารของกินก็แพง แถมรสชาติก็ไม่ถูกปากเหมือนที่บ้านเรา ไหนจะต้องศึกษา ต้องทำงาน เหงาคิดถึงเมืองไทย แต่ก็ต้องอยู่ต้องทนให้ได้ 

          ต้นฉบับเพลงใครว่าอยู่เมืองนอกสบายจะออกแนว Rock หน่อยๆ ออกแนวปลุกใจนิดๆ แต่ version ของโจ้ กลับเป็นเพลงช้า เมื่อมาผสมกับเสียงเข้มๆ ของโจ้เหมือนธีร์ ไชยเดช เพลงก็คล้ายกับเป็นเพลงเศร้า ที่แอบเผยความรันทดของชีวิตลูกผู้ชายคนนึงที่ตัดสินใจเป็นโรบินฮู้ด กลายร่างเป็นแรงงานต่างด้าว เพราะหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เงินทองที่ได้มามันมากกว่าที่บ้านเราก็จริง แต่มันก็ต้องแลกมาด้วยอะไรที่สำคัญมากมายเหมือนกัน อย่างเวลาที่จะได้ใช้กับครอบครัว คนที่เรารัก ไหนจะต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว สภาพสังคม วัฒนธรรม ภาษาที่แตกต่าง กับการกลายสภาพเป็นชนชั้นสอง เป็นแรงงานต่างด้าวอีกล่ะ

          “บางทีกูก็ถามตัวเองนะว่า กูมาทำเห้อะไรที่นี่วะ” พี่ร็อคกี้เล่าความในใจ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้ยินประโยคนี้ หลายครั้งที่ได้ยินเพื่อน พี่น้องคนไทยรำพึงประโยคนี้ออกมา แม้แต่ตัวผมเอง ก็รำพึงหลายครั้งด้วยซ้ำ และผมก็เชื่อว่า ครั้งนี้มันไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ผมจะได้ยินเหมือนกัน
คนทุกคนก็มีเหตุผลของชีวิตตัวเองกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะผม พี่ร็อคกี้ หรือโจ้ และก็ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นนะ เพื่อนคนญี่ปุ่น ไต้หวัน รัสเซีย หรือแม้แต่อเมริกันเอง เขาก็เจอกับอุปสรรคชีวิตกันทั้งนั้น ถึงเลือกที่จะจากบ้านเกิด มาตามหาอะไรบางอย่างที่อเมริกา ที่นิวยอร์ก หรือที่อื่นๆ แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเลือกได้ ทุกคนก็คงอยากอยู่ที่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองทั้งนั้น จะมาลำบากลำบนเป็นกะเหรี่ยงต่างด้าว เป็นผู้ใช้แรงงานกันไปทำไม

          "แล้วใครว่าอยู่...เมืองนอกสบาย...นะ" โจ้จบเพลงพร้อมกับท่อนฮุ๊ค ทิ้งอารมณ์ซึ้งๆ ที่มีเสียงตบมือเบาๆ จากผมและพี่ร็อคกี้
          "เพราะมากว่ะโจ้ ได้อารมณ์สัส แหม่ ยังเล่นเก่งขนาดนี้ กูอยากมีบุญได้ฟังนาวิน ต้าร์ อาจารย์เล่นเหลือเกิ๊น" ผมแซวโจ้ โจ้ยิ้มมุมปากเล็กๆ ก่อนจะเริ่มเล่นเพลงต่อมา เป็นเพลงเร็ว โจ้คงจะเปลี่ยนอารมณ์บ้าง กินปิ้งย่างกัน จะมานั่งดราม่าทำไมจริงไหม แต่ผมกับพี่ร็อคกี้ก็แทบจะหายเมา เมื่อได้ยินโจ้ร้อง
          “บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า เสียเลือด เสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป...” โจ้ร้องเพลง ‘เราสู้’ เดี๋ยวนะนี่เมิงอารมณ์ไหนวะเนี่ย เพลงพระราชนิพนธ์เลยนะโว๊ย นาวิน ต้าร์สอนมาด้วยเปล่าวะเนี่ย!
          “ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย สู้ตรงนี้ สู้ที่นี่ สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู” โจ้ร้องต่อแบบอินจัด ไม่สนใจพวกผมที่ตกใจในตอนแรก แต่มาคิดได้ว่า นี่พวกผมไม่ได้อยู่ไทยนี่หว่า แถมเล่นเพลงปลุกใจให้ฮึกเหิม มีกำลังสู้ชีวิตต่อไป คงไม่เป็นไรมั้งๆ
          “เอ้า พวกเรา สู้ไม่สู้!” โจ้เว้นวรรค ถามเสียงดังตามประสาคนเมา
          “เอ้า สู้ก็สู้วะ สู้โว๊ย!” ผมกับพี่ร็อคกี้ตะโกนตอบ

        (มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่