รีวิวหนังฉบับ' รีเมค' ยอดนิยมของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก, Rebecca (2020) วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างสองเวอร์ชั่น

Rebecca ฉบับรีเมคออกฉายทาง Netflix เมื่อสองปีที่ผ่านมา นำแสดงโดย Lily James, Armie Hammer, และ Kristin Scott Thomas กระแสตอบรับและคำวิจารณ์จากหลายสำนักมีทั้งดีและไม่ดี ทั้งนี้ตัวหนังนั้นดำเนินเนื้อเรื่องใกล้เคียงกับนิยายต้นฉบับ ในขณที่เวอร์ชั่นของฮิตช์ค็อกมีการปรับค่อนข้างเยอะ เพราะติดเรื่องของฮอลลิวู้ดเซ็นเซอร์ชิพ ในบทความนี้จะบอกเล่าถึงความแตกต่างระหว่างเวอร์ชั่น 2020 และเวอร์ชั่นของฮิตช์ค็อก เช่น สไตล์การนำเสนอ, เนื้อหาหรือฉากที่ถูกเปลี่ยนในเชิงรายละเอียดยิบย่อย, การตีความตัวละคร และรวมไปรายละเอียดอื่นๆ



____________________________________
เรื่องย่อ
 
Rebecca (2020) เล่าเรื่องราวของหญิงสาว (Lily James) ได้แต่งงานกับหนุ่มม่ายผู้ดี Maxim de Winter (Armie Hammer) ผู้พึ่งสูญเสียภรรยาอันเป็นที่รัก, Rebecca ไปได้ไม่นาน ทั้งหญิงสาวและ Maxim ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ที่คฤหาสน์ของตระกูลฝ่ายชายซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลอันโดดเดี่ยว และ ณ ที่แห่งนี้ทำให้ชีวิตของเธอจากหญิงสาวธรรมดาค่อยๆเปลี่ยนผันกลายเป็นคนละคนจากการถูกครอบงำโดยการมีอยู่ของ Rebecca
____________________________________

จุดเด่นของหนังภาคล่าสุดมีเรื่องของคอสตูมเครื่องแต่งกายของตัวละคร, ภาพที่วิจิตรตระการตา, และการเล่าเรื่องต่างจากต้นฉบับของฮิตช์ค็อกเนื่องจากปัจจุบันไม่ติดเซ็นเซอร์เหมือนสมัยก่อนแล้ว สิ่งที่ดีอย่างเห็นได้ชัดจากตัวหนังเลยคือ ภาพบรรยากาศโทนของหนังที่สวยงามน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่, ฉากโรแมนติก หรือแนวเซอร์เรียลเหนือจริง หนังถ่ายภาพออกมาในสไตล์ Brtish-French film อาจเป็นเพราะเรื่องราวเกิดขึ้นที่อังกฤษและโมนาโกหรือเปล่า? (ประเทศทางตอนใต้ของฝรั่งเศส) ต่อมาคือเรื่องของคอสตูมเครื่องแต่งกายของคู่พระ-นางที่ดูน่าสนใจและน่าฉงนในคราวเดียวกัน Maxim เปิดตัวมาในชุดสูทสีเหลืองทั้งตัวตอนต้นเรื่อง น่าเอะใจว่าทำไมต้องเป็นสีนี้ หนังต้องการแฝงความหมายอะไรในตัวเขา? ส่วนทางด้านนางเอกทั้งเรื่องเธอใส่ชุดหลากหลาย แต่ที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์คือแฟชั่นกางเกง ตัวละครนี้มีใส่เป็นครั้งคราวในเรื่อง แล้วทำไมต้องเป็นกางเกงล่ะ? คาแรคเตอร์เจ้าหล่อนดูเป็นหญิงสาวที่ใส่กระโปรงมากกว่า อีกเรื่องที่เราคำนึงถึงคือค่านิยมที่ยังไม่เปิดกว้าง ผู้หญิงที่ใส่กางเกงต้องมีความ ขบฐพอดูเลย เมื่อไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมกลายเป็นว่าช่วงครึ่งหลังของยุค 30’s แฟชั่นกางเกงกำลังมา ตัวเนื้อเรื่องน่าจะจัดอยู่ในปี 1938 อนุมานเอาจากช่วงเวลาที่หนังสือออกวางขาย เพราะฉนั้นคงไม่แปลกอะไรที่เธอจะใส่กางเกง แต่สำหรับเราก็ยังรู้สึกว่าแปลกอยู่ดี เพราะฉบับของฮิตช์ค็อกนั้นนางเอกใส่แต่กระโปรง หรือนี่เป็นการสะท้อนคาแรคเตอร์เจ้าหล่อนในเวอร์ชั่นนี้? เดี๋ยวเราจะเขียนสรุปอีกทีในตอนท้าย

ภาพรวมในหนังเวอร์ชั่นใหม่มีการเล่าเรื่องต่างจากเวอร์ชั่นต้นฉบับของฮิตช์ค็อกตรงที่เวอร์ชั่นดังกล่าวให้ความสำคัญระหว่างความสัมพันธ์ของพระนาง มีฉากโรแมนซ์เพิ่มเข้ามาค่อนข้างเยอะ ในขณะที่เวอร์ชั่นของฮิตช์ค็อกความลึกลับซ่อนเงื่อนจะยืนหนึ่ง ต่อมาคือความแตกต่างในรายละเอียดของเนื้อเรื่อง เนื่องจากเวอร์ชั่น 2020 ไม่ติดปัญหาเรื่องของฮอลลิวู้ดเซ็นเซอร์ชิพเหมือนในสมัยก่อน จึงสามารถเปิดโอกาสเล่าเรื่องได้มากกว่าเดิม ตัวอย่าง เช่น ฉากการตายของ Rebecca ที่ Maxim เป็นฝ่ายลั่นไกใส่เธอทำออกมาตรงตามหนังสือ แต่ของฮิตช์ค็อกการตายของเจ้าหล่อนเกิดจากอุบัติเหตุเนื่องจากยังติดเซ็นเซอร์, ฉากการแสดงความรักของพระ-นางที่ออกแนวอิโรติก หรือการพูดคุยตามประสาคนรักบนเตียงซึ่งเราว่ามันดูเรียลกว่าเวอร์ชั่นของฮิตช์ค็อก, การใช้สิ่งของจำพวก Fetish ที่บ่งบอกถึงความหลงไหล โดยเป็นฉากที่ Mrs. Danvers บรรยายความเป็น Rebecca ผ่านชุดชั้นในที่เซ็กซี่วาบหวิว ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งของที่สตรองมากในการสื่อถึงความหลงไหล เวอร์ชั่นของฮิตช์ค็อกใช้เสื้อเฟอร์ขนสัตว์ซึ่งสื่อความหมายได้ตรงตามจุดประสงค์เหมือนกัน, และบทสนทนาที่ถูกปรับให้ฟังลื่นไหลเข้าถึงง่ายกับผู้ชมในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงสำเนียงบริติชจ๋าจริงๆ ในขณะที่หนังคลาสสิคสมัยก่อนพูดแบบสำเนียง Transatlantic (สำเนียงอเมริกัน + บริติช)

หนังเวอร์ชั่น 2020 สำหรับเราทำออกมาได้ไม่เลวเลย แต่ก็ยังสู้เวอร์ชั่นของฮิตช์ค็อกไม่ได้ องค์ประกอบส่วนที่ดีเราได้กล่าวไปแล้ว ต่อมาเราจะพูดถึงส่วนที่ยังไม่โอเคกันบ้าง อย่างแรกเลยการตีความตัวละคร Maxim ที่ต่างกัน – Maxim ของฮิตช์ค็อกที่แสดงโดย Laurence Olivier เป็นชายที่ดูสูงวัย สังเกตจากการไว้หนวดและผมที่มีสีเทา ส่วน Maxim 2020 ของ Armie Hammer เป็นหนุ่มหล่อกล้ามแน่น สำหรับเรา Maxim ควรเป็นหม้ายสูงวัยแบบ Olivier เพราะว่าพื้นหลังของตัวละครนางเอกนั้นดูผูกพันธ์กับบิดาเป็นพิเศษ ซึ่งชายที่จะเข้ามาทำให้เธอรู้สึกดีด้วยน่าจะเป็นคนที่ดูมีอายุ สามารถดูแลและทะนุถนอมเธอ ดังนั้น Maxim ควรเป็นชายสูงวัย และเวอร์ชั่นอื่นๆ Maxim ก็เป็นชายที่ดูสูงวัยทั้งนั้น นอกจากนี้การที่เพิ่มช่องว่างระหว่างวัย มีผลกระทบกับตัวเนื้อเรื่องได้ดีกว่าอายุที่ไล่เลี่ยกัน เนื่องจากทำให้พระเอกดูเข้าถึงยาก นางเอกก็จะรู้สึกเกร็งไม่กล้าแสดงออกสิ่งที่รู้สึกนึกคิด และยิ่งเร่งเร้าให้เจ้าหล่อนดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อที่จะถูกรัก ต่อมาคือการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและรายละเอียดในบางฉาก เช่น การเจอกันครั้งแรกระหว่างพระ-นางที่เป็นการทักทายแบบมึนๆ (ในหนังสือเจอที่เดียวกัน แต่แตกต่างในรายละเอียด) แต่เวอร์ชั่นฮิตช์ค็อกใช้วิธีให้พระเอกตวาดใส่นางเอกระหว่างยืนบนหน้าผา ซึ่งเราว่าวิธีของผู้กำกับระทึกขวัญนี้เจ๋งกว่าเพราะว่าสามารถสร้างอิมแพ็คตัวละครให้คนดูได้ตั้งแต่ต้นเรื่อง  อย่างไรก็ตามในเวอร์ชั่น 2020 น่าจะทดแทนฉากดังกล่าวโดยการให้ตัวละครชายเปิดตัวด้วยสูทสีเหลืองแทน เพราะว่าสีดังกล่าวนั้นมีความหมายว่า’คนขี้ขลาด’ – Maxim เรียกได้ว่าเป็นชายขี้ขลาดที่ไม่กล้าเผชิญหน้าความจริง และอีกหนึ่งฉากที่สำคัญที่ไม่น่าเปลี่ยนเลยคือฉากจบของเรื่อง ที่ดูยังไงยังไงเวอร์ชั่นต้นฉบับก็ทรงพลังมากกว่า

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าตัวละครนางเอก, Mrs. de Winter มีการใส่กางเกงเป็นครั้งคราว เรามองว่าหนังต้องการปรับให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันและคำนึงถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเพราะในตัวหนังหลังจากที่ Maxim สารภาพความจริงทั้งหมดกับนางเอก เธอเลือกที่จะเทคแอคชั่นนำหน้าเหล่าตัวละครชายทุกตัวเพื่อช่วยเหลือสามีทุกวิถีทาง แต่ในขณะที่เวอร์ชั่นของฮิตช์ค็อกและในหนังสือบทบาทของเจ้าหล่อนทำได้อย่างมากแค่อยู่เคียงข้าง Maxim ดังนั้นเราอนุมานว่านี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ตัวละคร Mrs. de Winter 2020 มีความขบฏล้ำสมัย

โดยรวมหนังเวอร์ชั่นของผู้กำกับระทึกขวัญดูจะมีภาษีดีกว่าเวอร์ชั่น Netflix เรามองว่าฮิตช์ค็อกสามารถถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการตีความแบบใหม่ภายใต้คอนดิชั่นฮอลลิวู้ดเซ็นเซอร์ชิพ ซึ่งเขาเล่าออกมาในแบบหลอน ระทึกขวัญ ในขณะที่เวอร์ชั่นหลังดำเนินเนื้อเรื่องตามในหนังสือเปิดโอกาสให้คนดูได้เห็นความสมจริงขึ้น และเน้นมาที่ฉากโรแมนซ์แทน สุดท้ายนี้สิ่งที่เราชอบในตัวหนังคือเพลงประกอบ ‘Let No Man Steal Your Thyme’ ไพเราะติดหู เราไม่ทราบความหมายที่มาที่ไปของตัวเพลง แต่ที่ฟังคร่าวๆแล้วนำมาเชื่อมโยงกับตัวหนัง เข้าใจประมาณว่าอย่าให้ผู้ชายพรากเวลาความอ่อนเยาว์อันมีค่าไป เรามองว่า Thyme ตรงนี้ไม่ได้แปลตายตัวที่ชื่อพืชสมุนไพร แต่สามารถหมายถึง Time / เวลา เป็นการเล่นคำก่อเกิดความหมายดับเบิ้ล ช่างเหมาะเจาะที่หยิบนำมาใช้ประกอบหนังอยู่ตรงที่นางเอกนั้นหมดความวัยเยาว์อันสดใสเพราะชีวิตการแต่งงานกับ Maxim ผู้ซึ่งพรากความสดใสนี้ออกจากตัวเธอ

อ่านรีวิว Rebecca  (1940) - https://classicreviewer.wordpress.com/2021/12/21/rebecca-1940/
 
____________________________________
 
  
 
หากสนใจในหนังเก่า คลาสสิกยุคจอเงิน หรือบทความเกี่ยวกับนักแสดง ผู้กำกับ
ฝากกดไลค์ติดตามเพจด้วยนะคะ มีอัพเดททุกสัปดาห์ : https://www.facebook.com/classicreviwerth
หรืออ่านรีวิวหนัง : https://classicreviewer.wordpress.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่