"อัตตา" "นิรัตตา" "อนัตตา" และ "กึ่งอัตตา"

กระทู้คำถาม
ทุกคนมีความเห็นอย่างไรบ้างเรื่องนี้ครับผมยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง อนัตตาเท่าไหล่ ใครรู้สามารถอธิบายเพิ่มได้นะครับ

คำว่า อัตตา หมายถึง ตัวตนที่เป็นอมตะ (ซึ่งเป็นตนเองโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมา) คือเป็นสิ่งที่จะไม่ตายหรือสูญหายไปอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีอะไรมาทำลายหรือไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นไปสักใดท่าใดก็ตาม คือเรียกว่าสิ่งที่เป็นอัตตานี้จะมีอยู่ไปชั่วนิรันดร ซึ่งความเชื่อเรื่องว่ามีอัตตานี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนว่าจิตหรือวิญญาณของคนเรานี้เป็นอัตตา ที่แยกมาจากพรหมหรืออัตตาใหญ่ แล้วแยกออกมาเป็นอัตตาน้อย เที่ยวล่องลอยเวียนว่ายตาย-เกิดในร่างกายใหม่ๆ (เป็นคนบ้างเป็นสัตว์บ้าง) ตามกิเลสและกรรมที่ได้ทำไว้ไปเรื่อยอย่างไม่รู้จักจบสิ้น จนกว่าอัตตาน้อยนี้จะสามารถปฏิบัติโยคะ (การทรมานร่างกายและฝึกสมาธิที่ยิ่งยวดเพื่อให้จิตบริสุทธ์จากกิเลส) จนจิตบริสุทธิ์จากกิเลส ก็จะทำให้จิตที่เป็นอัตตาน้อยนี้กลับไปรวมกับอัตตาใหญ่หรือพรหมอีกครั้งและจะมีแต่ความสุขไม่มีความทุกข์อยู่ชั่วนิรันดร ซึ่งนี่คือความเชื่อว่าตายแล้วเกิดและจิตจะไม่สูญหายไป แต่ยังมีอยู่ตลอดไปชั่วนิรันดร ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ก็มีส่วนดีตรงที่ทำให้คนที่เชื่อไม่อยากทำชั่ว แต่อยากทำความดี แล้วก็ทำให้สังคมสงบสุข

ส่วนคำว่า นิรัตตา หมายถึง ไม่มีอัตตาเลย ซึ่งเป็นคำสอนของลัทธิหนึ่งของอินเดียสมัยก่อน ที่สอนตรงข้ามกับศาสนาพราหมณ์ โดยจะสอนว่าไม่มีอัตตาใดๆเลย ไม่ว่าจะอย่างชนิดชั่วคราวตาบเท่าที่ยังมีเหตุปัจจัยอยู่ หรืออย่างชนิดเป็นอมตะนิรันดร ซึ่งก็เท่ากับสอนว่าไม่มีจิตหรือวิญญาณที่เป็นอัตตาใดๆเลย ดังนั้นการทำความดีหรือชั่วของจิตหรือวิญญาณของเรานี้จึงเท่ากับไม่มีผลใดๆ ซึ่งลัทธินี้ก็สอนว่าไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีอะไรเลย การฆ่าคนหรือฆ่าสัตว์ก็ว่างเปล่าหรือไม่มีผลอะไรต่อใคร การทำความดีทั้งหลายก็ว่างเปล่าคือไม่มีผลอะไร ซึ่งความเชื่อเช่นนี้จึงทำให้คนที่เชื่อเห็นว่าเมื่อตายไปแล้วก็สูญเปล่า ดังนั้นจึงขอเสพสุขในชีวิตนี้ให้เต็มที่ก่อนที่จะตายไป แล้วก็ทำให้เกิดการเบียดเบียนคนอื่นเพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผลใดๆเพื่อให้ได้ความสุขตามที่อยากจะได้ และไม่อยากทำความดีเพราะเชื่อว่าไม่ได้อะไร ซึ่งความเชื่อว่าไม่มีอัตตาเลยนี้จะทำให้สังคมเดือดร้อนวุ่นวาย โดยปัจจุบันผู้คนในโลกที่เชื่อเช่นนี้เริ่มมีมากขึ้นแล้ว

ส่วนคำว่า อนัตตา หมายถึง ไม่ใช่อัตตา (ไม่ได้แปลว่าไม่มีอัตตาเลย) คือเป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าจะมีจิตหรือวิญญาณชนิดที่เป็นอัตตาอย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอน แต่ก็ไม่สุดโต่งไปว่าเป็นนิรัตตา (ที่เชื่อว่าไม่มีตัวตนใดๆเลย หรือเชื่อว่าไม่มีบุญ ไม่มีบาป การทำความดีหรือชั่วจะไม่มีผลใดๆเลย) ซึ่งคำสอนเรื่องอนัตตานี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนว่า "ทุกสิ่ง (ไม่เว้นสิ่งใดเลย) เป็นอนัตตา" คือเท่ากับเป็นการบอกว่า แม้จิตหรือวิญญาณของคนเรานี้ ก็ไม่ใช่อัตตาอย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอน ซึ่งก็เท่ากับไม่ยอมรับเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายอย่างที่พราหมณ์สอน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะไม่มีตัวตนใดๆเลย คือจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหลายนั้น (ซึ่งรวมทั้งจิตหรือวิญญาณของคนเราด้วย) เรียกว่าเป็น "สังขาร" ที่หมายถึง "สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากสิ่งอื่น" ซึ่งสังขารนี้ก็มีลักษณะของความเป็นอัตตาบางส่วนอยู่ด้วยเหมือนกัน คือจิตหรือวิญญาณของคนเรานี้ เมื่อทำความดีหรือความชั่ว ก็ต้องรับผลของความดีและความชั่วที่ตัวเองได้ทำไว้ด้วยเสมอ คือเมื่อทำความดีก็จะเกิดความสุขใจอิ่มเอมใจขึ้นมาทันที เมื่อทำความชั่วก็จะเกิดความทุกข์ใจ ร้อนใจขึ้นมาทันที เป็นต้น คือจะสอนว่า พ่อมี แม่มี (มีพระคุณ), ผู้ทีประพฤติดีปฏิบัติชอบมี (คนดีคนบริสุทธิ์เช่นพระอริยะบุคคลมี), ความดี ความชั่วมี (ผล), โลกนี้มี (ปัจจุบัน), โลกหน้ามี (อนาคต) เป็นต้น ซึ่งนี่คือคำสอนที่ไม่สุดโต่งไปในทางว่ามีอัตตาอย่างของพราหมณ์และนิรัตตาที่ว่าไม่มีอะไรเลย ซึ่งความเชื่อเช่นนี้จะทำให้คนไม่อยากทำความชั่ว (เพราะกลัวทุกข์ใจ ร้อนใจ ไม่สบายใจในปัจจุบัน) และอยากทำความดี (เพราะอยากมีความสุขใจในปัจจุบัน) รวมทั้งอยากปฏิบัติเพื่อลดละความยึดถือว่ามีตนเองลง (ซึ่งความจริงมันไม่มีจริง มีแต่ตัวตนชั่วคราวหรือตัวตนมายาเท่านั้น) เพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ที่มาพร้อมกับความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตนเอง

คำว่า กึ่งอัตตา หมายถึง เป็นอัตตาครึ่งหนึ่ง ไม่ใช่อัตตาครึ่งหนึ่ง คือเป็นความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อว่ามีอัตตาอย่างของพราหมณ์ กับความเชื่อว่าเป็นนิรัตตา คือเริ่มต้นจะมีความเชื่อว่ามีจิตหรือวิญญาณที่เป็นตัวตนอมตะ ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วและไปเกิดยังร่างกายใหม่ได้เรื่อยๆ (ซึ่งส่วนนี้จะเป็นความเชื่อส่วนของศาสนาพราหมณ์) แต่เมื่อจิตหรือวิญญาณนี้สามารถปฏิบัติ (ตามหลักความเชื่อที่มีอยู่ ที่เชื่อว่าจะทำลายกิเลสในจิตใจได้) จนทำลายกิเลสที่ครอบงำจิตหรือวิญญาณอยู่ให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร ก็จะทำให้จิตหรือวิญญาณนี้ดับสูญหรือหายไปเลย ไม่ต้องมีมาเกิดใหม่ให้เป็นทุกข์อีกต่อไป (ซึ่งส่วนนี้จะเป็นความเชื่อว่าเป็นนิรัตตา) ซึ่งตามหลักแล้วถ้าเป็นอัตตาอย่างของพราหมณ์จริงๆแล้ว จิตหรือวิญญาณจะต้องไม่ดับสูญหรือหายไปอย่างเด็ดขาด และถ้าเป็นนิรัตตาจริงๆแล้วก็จะไม่มีจิตหรือวิญญาณที่จะออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ แต่นี่เมื่อแรกเริ่มมีจิตหรือวิญญาณออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ แต่สุดท้ายจิตหรือวิญญาณนี้สามารถดับสูญไปได้ จึงเรียกเสียใหม่ว่าเป็น “กึ่งอัตตา” คือเป็นอัตตาเพียงครึ่งเดียว
ความเชื่อว่าเป็น "กึ่งอัตตา" นี้เอง ที่ชาวพุทธในปัจจุบันส่วนใหญ่เชื่อกันเช่นนี้ (แต่ก็มีบ้างที่เชื่อว่าเป็นอัตตาเต็มที่อย่างของพราหมณ์ ที่เชื่อว่าเมื่อจิตหมดกิเลสแล้วเมื่อตายไปก็จะได้ไปอยู่ในบ้านเมืองที่มีแต่ความสุขอยู่ชั่วนิรันดร ที่เรียกว่าเมืองนิพพาน)  ซึ่งความเชื่อเช่นนี้จัดว่ายังไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องของพุทธศาสนา เพราะมีทั้งความเชื่อว่ามีอัตตาและนิรัตตาผสมอยู่ด้วยกัน จึงเท่ากับเป็นความเชื่อที่ผิดทั้งคู่ในความเห็นของพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาจะมีความเห็นอยู่ตรงกลางระหว่างอัตตากับนิรัตตา คือเห็นว่าสิ่ง (จิต หรือ วิญญาณ) ที่มีอยู่นี้เป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง (หรือสร้าง หรือประกอบ) ขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นอมตะหรือมีอยู่ไปชั่วนิรันดร  ซึ่งสิ่งที่มีอยู่นี้เมื่อทำดีและชั่วแล้วก็ต้องรับผลดีและชั่วด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะทำแล้วไม่ต้องรับผลอะไรเลยอย่างพวกนิรัตตา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่