JJNY : หนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุดQ2/64 TOP5เอเชีย│เลื่อนซักฟอกเป็นปีหน้า│ชวนพร้อมบรรจุร่างกม.ลูก│ลาวทดสอบสารสนเทศรถไฟเสร็จ

หนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุด Q2/64 โต 5% ติด TOP 5 ของเอเชีย
https://www.thansettakij.com/money_market/504150

สศช. เผยหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 5% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ชี้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงเป็นอันดับ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ห่วงหนี้เสียบัตรเครดิตและหนี้นอกระบบพุ่ง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/64 พบว่า หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 5% ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน หรือมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ลดลงจาก 90.6% ในไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตามหนี้สินครัวเรือนไทยต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสวิด-19 และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น พบว่า ไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่อันดับ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย

สำหรับหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/64 เป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้สินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ อุปโภคบริภคส่วนบุคคล และประกอบธุรกิจ โดยสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 6% เป็นการขยายตัวของสินเชื่อใหม่ในกลุ่มมูลค่าบ้านราคาสูงกว่า  5 ล้านบาท และมูลค่าสูงกว่า 9 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 24% ต่อไตรมาส นับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 63 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ขยายตัว 6.3% ชะลอลงจาก 6.5% ในไตรมาสที่ผ่านมา จากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีข้อจำกัด ประกอบกับครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่กลับมารุนแรงมากขึ้น และหนี้สินเพื่อการประกอบธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 7.6% จาก 6% ในไตรมาสก่อนหน้า สินเชื่อยานยนต์อยู่ที่ 2.7% ชะลอตัวจาก 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการหดตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์

ทั้งนี้แนวโน้มหนี้สินครัวเรือน แม้สัดส่วนต่อ GDP จะลดลงจากไตรมาสก่อน แต่หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจัย เศรษฐกิจยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 64 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนรายไดครัวเรือนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งยังกระทบต่อความสามารถการชำระหนี้ และผลกระทบของอุทกภัยที่ทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 
 
1. หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหากลูกหนี้ผิดชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยปรับในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมือเทียบกับหนี้ประเภทอื่น 
 
2. การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ จากปัจจุบันที่เหนี้เสียในภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แม้จะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการไม่รับรู้ถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้

และ 3. การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 พบว่ามูลค่าหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 2562 โดยมีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้การมีหนี้เสียและการก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันครัวเรือนกลุ่มหนึ่งขากสภาพคล่องอย่างรุนแรง เนื่องจากการขาดแคลนรายได้


 
ฝ่ายค้าน เลื่อนซักฟอกเป็นปีหน้า ขอเร่งเสนอ กม.ลูกก่อน ยันเคารพสิทธิแต่ละพรรค
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3053179
 
“ฝ่ายค้าน” เคารพสิทธิแต่ละพรรคปมทำกม.ลูก แจงเลื่อนซักฟอกไปหลังปีใหม่ เหตุขอเร่งเสนอ กม.ลูกก่อน
 
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ฐานะหัวหน้าพรรค พท. นายประเสริฐ จันทรรวงรอง ส.ส.นครราชสีมาและเลขาธิการพรรคพท. นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พท. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคพท. นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย (พลท.) นายวิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) นายวรวีร์ มะกูดี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ (พช.) ร่วมประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านประจำสัปดาห์
  
จากนั้นเวลา 12.30 น. นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ในวันนี้ ฝ่ายค้านจะได้เร่งทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาโดยเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้ โดยเราเคารพเอกสิทธิ์ของทุกพรรคการเมือง เปิดโอกาสและให้สิทธิแต่ละพรรคสามารถเสนอกฎหมายในนามของพรรคตัวเอง ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคพท.เรายกร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเสร็จแล้ว หากพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่นจะร่วมลงชื่อกับร่างของพท. เราก็ยินดี
  
“ในส่วนของการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติที่จะยื่นญัตติหลังเทศกาลปีใหม่เป็นต้นไป หากยื่นในช่วงเวลานี้อาจไม่เหมาะสม เพราะเราจำเป็นต้องยื่นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รับการพิจารณาโดยเร่งด่วนก่อน คาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน อย่างไรก็ตาม แต่ละพรรคจะได้ไปดูข้อเท็จจริงต่างๆ ก่อนมานำเสนอเพื่อเขียนเป็นญัตติร่วมกันเป็นญัตติเดียวต่อไป”
  
ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่า ในส่วนของพรรค ก.ก.ได้ร่างพ.ร.ป.ไว้แล้ว ทั้งระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง คงนำเข้าสู่พิจารณาที่ประชุม ส.ส.ในวันที่ 23 พฤศจิกายนก่อน แต่คงบอกไม่ได้ว่าต่างจากพรรคอื่นอย่างไร เพราะยังไม่เห็นร่างของพรรค พท. แต่แนวทางที่พรรคได้เคยหารือกันไว้ จะมีการเสนอแก้ไขนอกจากระบบการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ระบบการเลือกตั้งหรือวิธีการนับเพียงอย่างเดียว ในส่วนระบบเลือกตั้งจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งมีความเสรี โปร่งใส เป็นธรรมมากขึ้น ส่วนพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะเสนอแก้ไขในหลักการ เพื่อส่งเสริมให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่เข้มแข็งขึ้น โดยหลักเราอยากให้พรรคการเมืองตั้งง่ายขึ้น ดำเนินการง่าย แต่ถูกยุบยาก
  
ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า การเสนอร่างพ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ เราอยากให้เกิดความชัดเจนในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องไพรมารีโหวต เพราะว่าขณะนี้ยังไม่เป็นที่สงสัยในแนวทางการปฏฺิบัติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมาให้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ตนเห็นใจนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เนื่องจากเกิดสภาล่มบ่อยครั้ง และประธานในที่ประชุมใช้วิธีปิดสภาหนีโดยไม่ตรวจสอบองค์ประชุม ทำให้การพิจารณาเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน หรือกฎหมายสำคัญหลายฉบับเกิดความล่าช้า ซึ่งส่งผลเสีย จึงอยากวิงวอนทุกฝ่ายในเรื่องของการประชุม
 

  
ชวน พร้อมบรรจุร่างกม.ลูก เข้าวาระประชุมสภาฯ รอรัฐบาลเสนอ คาดธ.ค.-ม.ค.นี้
https://www.matichon.co.th/politics/news_3052783

“ชวน” ไฟเขียว พร้อมบรรจุร่างกม.ลูกเข้าวาระประชุมสภาฯ คาดภายในเดือน ธ.ค. เผยประสานฝ่ายเลขาฯ ไว้ล่วงหน้าแล้ว หวั่น ยุบสภาก่อนพิจารณาเสร็จ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีพระบรมราชโองการโปรดกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 ว่า เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว กฎหมายก็จะมีผลใช้บังคับ กระบวนการต่อไปที่สภาฯ ต้องเตรียมรับ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ขณะนี้สิ่งที่สภาฯ เตรียมรับ คือ รัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประสานกัน โดยกกต.จะมีหน้าที่เตรียมกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเพื่อส่งไปยังรัฐบาล และรัฐบาลก็จะเป็นผู้เสนอกฎหมายต่อสภาฯ หรือไม่เช่นนั้น ส.ส. ก็จะเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย

ดังนั้น ตนคิดว่าน่าจะเดือนธันวาคมหรือเดือนมกราคมที่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายเข้ามา ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ส่งสัญญาณอธิบายเรื่องนี้มา 2-3 ครั้งแล้ว ซึ่งฝ่ายสภาฯ ก็หารือกับฝ่ายเลขาสภาฯ ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง ทั้งนี้ กฎหมายให้ใช้บังคับการเลือกตั้งทั่วไป ฉะนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวหากมีการยุบสภาขึ้นมาก็จะมีปัญหาเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่ากระบวนการคงไม่ช้า เพราะเท่าที่สอบถามภายในทราบว่า กกต.ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วในเบื้องต้น นับตั้งแต่ที่กฎหมายนี้ผ่านสภาฯ ไป เพียงแค่รัฐบาลจะเสนอเข้ามาเมื่อไหร่ หากเสนอเข้ามาในช่วงเดือนธันวาคมก็สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระในเดือนธันวาคมได้เลย

เมื่อถามว่า กระบวนการพิจารณาของสภาใช้เวลานานหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตนเข้าใจว่ากฎหมายจะไม่ซับซ้อนมาก เพราะแก้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากระยะหว่างนี้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นจริงๆ นายชวน กล่าวว่า มันก็จะมีปัญหา ซึ่งตนพูดไว้เผื่อล่วงหน้า เพียงแต่ก็หวังว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฝ่ายสภาฯ ก็ต้องเตรียมรับกฎหมายที่รัฐบาลจะเสนอมาเป็นหลัก ซึ่งตนได้กำชับไปแล้วว่าเมื่อเสนอเข้ามาก็ให้รีบดูและพิจารณาให้พร้อม และเข้าสภาฯ ในทันที

เมื่อถามถึง กรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 152 ซึ่งคาดว่าจะยื่นในเดือนธันวาคมเหมือนกันจะทำได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ทำได้ ดังนั้น ช่วงนี้จึงได้ขอความร่วมมือสภาฯ ให้มาประชุม และนัดประชุมวันศุกร์เพิ่มเป็นพิเศษ เพื่อนำเรื่องที่ค้างพิจารณาอยู่ เช่น กฎหมายของรัฐบาลที่จะต้องไม่ค้างแม้แต่เรื่องเดียว ในส่วนของญัตติที่เสนอไว้ก็ต้องใช้เวลา จะเห็นว่าจะต้องใช้เวลาพิจารณาทั้งวัน ซึ่งก็ได้ขอความร่วมมือว่าอะไรที่ค้างอยู่ก็ขอให้ช่วยกันสะสางให้ออกไป วันศุกร์นี้จึงขอความร่วมมือว่าให้ประชุมอีกครั้งก่อนจะเริ่มเข้าสู่เดือนธันวาคม โดยจะนำเรื่องที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วมาพิจารณา โดยปัญหาจะอยู่ที่ความร่วมมือของการอภิปราย เพราะยุคนี้อภิปรายกันเหมือนญัตติทำให้ต้องใช้เวลา แต่หลายคนเป็นคนรักษาเวลาน่านับถือ ฉะนั้น ความร่วมมือจะทำให้งานสภาฯ ไปได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่