วิถีชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาย่อมต่างไปจากวิถีชีวิตของผู้ครองเรือน

วิถีชีวิตของพระสงฆ์มี ๒ เรื่องใหญ่ๆ คือ ๑ สิ่งที่ห้ามทำ ๒ สิ่งที่ต้องทำ การศึกษาของผู้อยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” ตามหลักคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เมื่อจัดกลุ่มแล้วก็รวมอยู่ใน ๒ เรื่อง คือ ๑ ศึกษาว่าอะไรบ้างที่ห้ามทำ แล้วละเว้น สำรวมระวัง ไม่ทำสิ่งนั้น 
แม้ในเรื่องที่มีโทษเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่กล้าล่วงละเมิด ๒ ศึกษาว่าอะไรบ้างที่ต้องทำ แล้วก็พยายามขวนขวายทำสิ่งนั้นไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ ผู้อยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ ๑ ไปทำสิ่งที่ห้ามทำเข้า ทั้งทำเพราะไม่รู้ ทั้งรู้แล้วขืนทำ อ้างว่าจำเป็น และไม่ใช่เรื่องสำคัญ-คือทำ
แล้วก็ไม่เห็นเสียหายอะไร ๒ พร้อมกันนั้นก็ปล่อยปละละเลยสิ่งที่ต้องทำ อ้างว่าไม่จำเป็น และไม่ใช่เรื่องสำคัญ-คือไม่ทำก็ไม่เห็นเสียหายอะไร

ดังที่เวลานี้ พระยืนบิณฑบาต-จนกลายเป็นพระนั่งบิณฑบาต-เป็นเรื่องปกติไปแล้ว คือทำกันทั่วไป พระยืนให้พรกันข้างถนนก็กลายเป็นเรื่องปกติ 
คือทำกันทั่วไป ผู้คนเอาสตางค์ใส่บาตร ก็เป็นเรื่องปกติ คือทำกันทั่วไป เรื่องที่พระสมัยก่อนไม่ทำ แต่พระสมัยนี้ทำ และมีแนวโน้มว่าจะทำกันมากขึ้น 
คือพระขับรถยนต์ไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง เวลานี้เห็นหนาตาขึ้นแล้ว แรกเริ่มก็ขับอยู่ในวัด ขนของจากหน้าวัดไปไว้หลังวัด-อย่างนี้เป็นต้น 
ต่อมาก็เริ่มขับออกนอกรั้ววัด ไปใกล้ๆ ก่อน ตอนนี้เริ่มจะขับไปธุระที่นั่นที่นี่-เหมือนชาวบ้าน

เมื่อทำกันทั่วไปเช่นนี้ และไม่มีใคร-โดยเฉพาะผู้ปกครอง-ออกมาวินิจฉัยถูกผิด ตลอดจนผู้คนทั่วไปก็ไม่ว่าอะไร ในที่สุดก็จะกลายเป็นข้ออ้างของพระเณร
คืออ้างว่าไม่เห็นมีใครว่าอะไร คือสังคมยอมรับ

หลายท่านคงเคยเห็นภาพเจ้าสำนัก ๑๕๐ สิกขาบท-ไม่เอาอรรถกถา จับมือถ่ายรูปกับสุภาพสตรีที่เยอรมัน - จับแบบที่วัฒนธรรมฝรั่งเขาทำกันทั่วไป
มีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องกายหญิง มีความผิด เป็นอาบัติสังฆาทิเสส หนักรองลงมาจากปาราชิก

เจ้าสำนักท่านอ้างว่า ท่านไม่ได้มีความกำหนัด ท่านปฏิบัติตามมารยาทวัฒนธรรมของเขา เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความผิดตามสิกขาบทนี้ แต่ก็มีบทบัญญัติว่า ร่างกายสตรี-แม้แต่เครื่องแต่งกายของสตรีเป็น “วัตถุอนามาส” คือเป็นสิ่งที่ภิกษุไม่พึงจับต้อง

แต่ไม่ว่าอะไรจะเป็นอย่างไร หลักสำคัญที่ชาวพุทธจะต้องยึดไว้ให้มั่นคงก็คือ คารวธรรม - อย่าขาดคารวธรรมเป็นอันขาด

พุทธคารวตา ธัมมคารวตา สังฆคารวตา
สิกขาคารวตา สมาธิคารวตา ปฏิสันถารคารวตา

คารวธรรมยังมั่นคงอยู่ในใจตราบใด สังคมพุทธก็จะมั่นคงอยู่ในแผ่นดินไทยและในโลกตราบนั้น




คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่