ทารกเป็นฝี มีสาเหตุจากอะไร พ่อแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างไรบ้าง?

ทารกเป็นฝี เกิดจากเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังที่เข้าทำลายเซลล์ผิว
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจากอาการเจ็บฝีมักจะมีความรุนแรง บางรายเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก และเกิดในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ว่า ทารกเป็นฝีได้อย่างไร เพราะยังเล็กอยู่ ตรงนี้อธิบายอย่างเข้าใจง่ายๆ คือ  ฝี ที่มีลักษณะก้อนเนื้อนุ่มๆ บนผิวหนัง เกิดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย เพราะมีการติดเชื้อในต่อมเหงื่อหรือรูขุมขนชั้นใต้ผิวหนัง จากแบคทีเรียในกลุ่ม Staphylococcus Aureus จะอาศัยอยู่บนผิวหนัง บนจมูกและปาก
โดยปกติผิวหนังคนเรา มักทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันแบคทีเรียต่างๆ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย แต่เมื่อมีการขูด เกาหรือกัดเป็นแผล ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่เกาะอยู่บนผิวหนัง เข้าสู่ร่างกาย ผ่านรอยแตกบนผิวหนังและพัฒนาเป็นฝีได้ ดังนี้

 - เมื่อผิวหนังที่ได้รับการขูด ข่วนอย่างแรง หรือเกาแล้วกลายเป็นสีแดง ก้อนเนื้อนูนปรากฏขึ้น
 - สักพักก้อนเนื้ออาจเปลี่ยนเป็นสีขาวและมีการสะสมของแบคทีเรียจนเกิดอักเสบเป็นหนอง
 - ต่อมา ฝี สามาติดต่อกันโดยการสัมผัสการใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน และอื่นๆ ได้อีกด้วย
แต่ที่น่าสังเกตคือ ร่างกายของเรามักมีเกราะป้องกันเชื้อแบคทีเรียต่างๆ มีการสร้างผนังห่อหุ้มเชื้อโรคและเซลล์ที่ตายแล้วเอาไว้ไม่ให้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ในร่างกายด้วย จะเห็นได้ว่าการเกิด ตุ่มหนอง คือเกราะอย่างหนึ่งไม่ให้แผลแพร่กระจายออกไป แต่ต้องรักษาให้ทันท่วงที

สาเหตุหลักที่ทำให้ ทารกเป็นฝี (นอกจากผิวหนังถูกกระทำภายนอก)
ถ้าว่ากันตามหลักกลไกของร่างกาย ทารกเป็นฝี ได้นั้น ใช่เกิดจากการเกา ขูดข่วนผิวหนังภาพนอกอย่างเดียว แต่เกิดจาก กลไกการต้านเชื้อโรคใต้ผิวหนัง มาจากการที่ทารกมีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือขาดสุขอนามัยที่ดี นอกจากนี้ยังมากจากการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย หรือการสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น การใช้สบู่หรือครีมที่ไม่เหมาะกับผิวอ่อนบางของทารก คุณแม่ผงซักฟอกรุนแรงซักเสื้อผ้าจึงทำให้ผิวหนังลูกระคายเคือง รวมไปถึงสภาพอากาศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายอีกด้วย

อาการเป็นอย่างไรบ้างเมื่อ ทารกเป็นฝี
คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ง่ายๆ โรคฝีในทารกมักจะแสดงสัญญาณเมื่อผิวหนังที่ได้รับผลกระทบจะมีอาการบวมและแดง ในบางครั้งเด็กอาจมีไข้ร่วมด้วย เช่น
 
1. ฝีมักจะขึ้นเป็นตุ่ม ก้อนเนื้อบางๆ สีแดง
เมื่อลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่เป็นฝี จะสังเกตได้จากมีตุ่มหรือก้อนบวมแดง เจ็บปวดเมื่อสัมผัส แล้วตุ่มก้อนเนื้อนั้นจะมีอุณหภูมิอุ่นๆ จนรู้สึกได้
 
2. เมื่อเริ่มมีหนองฝังใน กดแล้วเจ็บปวดมาก
ทารกเป็นฝีไม่สามารถบอกเราได้ว่า เขาเจ็บปวดมากแค่ไหน แม้แต่ผู้ใหญ่ยังรู้สึกเจ็บปวดจนแทบจะทนไม่ไหว บางรายถึงกับไข้ขึ้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตอาการของทารกน้อยดูว่า เขาร้องไห้เจ็บปวดแค่ไหน สัมผัสดูตรงตุ่มว่าแข็งมากไหม
 
3. เมื่ออาการอักเสบรุนแรงบนตุ่มฝี
เมื่อตุ่มฝีกลัดหนองจนค่อยๆ ขยายโตขึ้นเรื่อยๆ และรู้สึกเจ็บมากขึ้นเพราะเนื้อเยื่อรอบๆ เกิดการอักเสบ ต่อมาตุ่มใหญ่ ๆ จะนุ่มลงและกลัดหนอง พอฝีเป่งมากอาจแตกเองได้แล้วอาการเจ็บปวดอาจทุเลาลง แต่ก่อนฝีแตกทารกน้อยจะทรมานน่าดู สำหรับอาการแทรกซ้อนนั้น อาจเกิดขึ้นได้ หากมีการติดเชื้อเข้าไปในกระแสเลือดส่งไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นขั้นรุนแรงที่สุดแต่พบได้น้อยมาก
 
ทารกเป็นฝี รักษาได้อย่างไร
ก่อนอื่น สิ่งสำคัญในการรักษาฝีในทารก คือ การรักษาความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ หรือมีอาการอักเสบด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมกับผิวทารก และปิดด้วยผ้ากอซ เพื่อป้องกันการสัมผัส การเสียดสี กับเสื้อผ้า ที่นอน รวมถึงการป้องกันการแพร่กระจายของการติดเชื้อและรับเชื้อ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า แผลฝีนั้นเริ่มโตขึ้นหรือขยายใหญ่ขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งมีการรักษาฝี 2 แผนได้แก่
 
1. การรักษาฝีแผนปัจจุบัน
หากทารกน้อย มีฝีขนาดเล็ก อาจปล่อยให้ตุ่มหนองแตกเองได้ จากนั้นคุณแม่ต้องคอยทำความสะอาดแผล ไม่นานนักแผลก็จะหายเอง แต่ถ้าฝีมีขนาดใหญ่ จนปวด ควรพาลูกไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจสั่งให้ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ในบางกรณีที่อาการรุนแรง ตุ่มใหญ่ มีการอักเสบมากจนกลัดหนอง แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเปิดแผลและล้างหนองออกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด  จากนั้นแพทย์จะใส่ผ้ากอชชนิดเป็นแผ่นยาวๆ ค่อยๆ ม้วนยัดเข้าไปในแผล ดูดระบายหนองออก ทั้งนี้ควรทำความสะอาดแผล เปลี่ยนผ้ากอชทุกวัน คุณแม่ควรทำให้ลูกน้อยจนแผลตื้นขึ้นและหายสนิท นอกจากนี้แพทย์อาจให้รับประทานยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบร่วมด้วย
*** การผ่าเอาหนองออกแล้วยัดผ้ากอชทุกครั้ง จะทำให้หนองออกมาได้หมดลดโอกาสกลับมาเป็นฝีซ้ำอีกได้
 
2. การรักษาฝีแผนไทย
ในการรักษาฝีแบบแผนไทย เราอาจพบได้บ่อยๆ ในผู้ใหญ่ คือการใช้กอเอี๊ยะ แผ่นสีขาวสำหรับปิดแผล ซึ่งตรงกลางกอเอี๊ยะจะมีขี้ผึ้งใช้ดูดหนองออกจากหัวฝี หรือปิดฝีให้แตกเป็นแผล หนองจะออกมาโดยไม่ต้องบีบ ในกอเอี๊ยะมีเครื่องยาผสมหลายชนิดประกอบด้วย น้ำมันใบชา พิมเสนผง ยางสน ชันตะเคียน งิ่งจู (ยาผงสีแดง) และตัวยาอื่นๆ เคี่ยวผสมกันจนกลายเป็นของเหลวสีดำหยดลงกระดาษพับครึ่ง เวลาใช้ก็นำมาแกะกระดาษออกแล้วปิดลงบนฝีทั้งกระดาษ ปิดให้แผลแตก แล้วกอเอี๊ยะจะดูดหนองออกมา จนแผลแห้งและหายไปในที่สุด

การป้องกันไม่ให้เกิดฝีในทารก
ทารกน้อยที่ผิวหนังอักเสบง่าย ควรรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเช็คสภาพผิวของลูกน้อยด้วยค่ะว่า ลูกมีผิวที่แพ้ง่ายหรือไม่ ติดเชื้อง่ายหรือไม่ นอกจากนี้ ความสะอาดในบ้าน ที่นอนก็สำคัญ สามารถทำสิ่งเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดฝี ได้แก่

1. ความสะอาดเครื่องใช้ของทารก
คุณพ่อคุณแม่ต้องตรวจเช็ค เบาะ ที่นอน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เสื้อผ้าต่างๆ ให้สะอาด และทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาซักผ้าที่เหมาะกับเด็กแรกเกิดเท่านั้น
 
2. ความสะอาดของคนใรครอบครัว
ก่อนสัมผัสลูกน้อยทุกครั้ง คุณแม่ควรให้ทุกคนล้างมือให้สะอาด อย่าจับต้องสิ่งใดก่อนมาเล่นกับทารก ยิ่งตอนนี้มีโรคระบาด ยิ่งต้องป้องกันอย่างมากค่ะ
 
3. สับเปลี่ยนเครื่องใช้อยู่เสมอ
ไม่ว่าจะเป็นผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน คุณแม่ควรซัก 2-3 วันครั้ง จากสัปดาห์ละครั้ง เพื่อลดและป้องกันเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ที่จะมาเกาะผิวหนังอันบอบบางของลูกน้อย
 
4. หมั่นทำความสะอาดแผล
หากลูกน้อยเป็นฝีแล้ว ควรทำความสะอาดแผลตามที่แพทย์แนะนำสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการลุกลามไปส่วนอื่นของร่างกาย และติดผู้อื่นในครอบครัวด้วยค่ะ
 
5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ใครว่าอาหารไม่เกี่ยว การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ คือการสร้างภูมิต้านทานโรค และเชื่อโรคที่ดี ทำให้ร่างกายแข็งแรง เซลล์ต่างๆ ในร่างกายแข็งแรงเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคภายนอกได้ อีกทั้งหากเป็นฝี จะทำให้ระบบการป้องกันตามธรรมชาติของร่างกายดูแลแผลได้ดีและสามารถหายได้เอง

 
“ฝี” ที่ไม่ได้มีแค่บนผิวหนัง
มาถึงตรงนี้ หากพูดถึง "ฝี" ส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นเฉพาะบริเวณผิวหนัง แต่จริงๆ แล้ว ฝี ยังมีกรณีที่เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายทางใดทางหนึ่ง เช่น ทางการหายใจ ทางการกิน เมื่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคเหล่านี้ก็จะบุกรุก โดยร่างกายจะสร้างระบบคุ้มกันด้วยการส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมาต่อสู้ และสร้างเกราะขึ้นมาห่อหุ้มเชื้อโรคหรือเซลล์ที่ตายแล้วเพื่อไม่ให้แพร่ กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่ถ้าร่างกายแพ่เมื่อไหร่ ก็จะเกิดฝีภายในตามมา เช่น
ฝีในตับ - ฝีในตัวสามารถเกิดได้ทุกวัย โดยเมื่อร่างกายอ่อนแอ จะนำเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายทางอาหาร ซึ่งเชื้อโรคสามารถผ่านกลไกการฆ่าเชื้อของลำไส้ และแพร่กระจายไปสู่ตับได้
 
ฝีในปอด - ฝีในปอดอาจพบมากในผู้ใหญ่ ที่สูบบุหรี่จัด เพราะเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะได้รับเชื้อผ่านทางระบบหายใจ หากติดเชื้อในปอดแล้วกษาก็จะหาย ฝีก็จะหายด้วย
 
ฝีในสมอง - เราอาจจะไม่ค่อยพบผู้ป่วยโรคฝีในสมองมากนัก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณช่องคอ โพรงปาก ช่องปาก ฟันผุ หรือไซนัสอักเสบในโพรงจมูก และการติดเชื้อบริเวณหู โพรงอากาศหลังใบหู แล้วลุกลามขึ้นไปที่สมองสำหรับในทารกและเด็กเล็กจะไม่ค่อยพบโรคนี้เท่าไร แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กที่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิดบางประเภท และเด็กที่มีโรคภูมิต้านทานบกพร่อง เช่น เด็กที่เป็นโรคเอดส์ ซึ่งติดเชื้อมาจากผู้ให้กำเนิด นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มเด็กที่ได้รับยาเคมีบำบัด จะทำให้เพวกเขาเกิดฝีได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีความต้านทานผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม “ฝี” ดูเหมือนจะมีโอกาสเป็นยาก แต่หากร่างกายอ่อนแอ ฝี ก็จะสามารถเข้าโจมตีผิวหนังของทุกคนได้เช่นกัน

https://th.theasianparent.com/abscess-in-a-baby
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่