ใครขี้เกียจฟังอ่านก็ได้ครับ
พุทธในศรีลังกายุคล่าอาณานิคม
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้''ท่านคุณานันทเถระ'' หนึ่งในบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์พุทธศาสนา กับการกอบกู้พระพุทธศาสนาในศรีลังกาให้ดำรงค์อยู่จวบจนปัจจุบัน
เกาะศรีลังกา ครั้งหนึ่ง พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรื่องต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งถึงยุคล่าอาณานิคม ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๔๘ ศรีลังกาถูกชาติตะวันตกหลายชาติ ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามารุกรานเป็นเวลารวมกัน ๔๐๐ กว่าปี นอกจากจะเสียเอกราชทางการเมือง การปกครองแล้ว ผู้ครอบครองใหม่ก็ยังมุ่งจะทำลายล้างพระพุทธศาสนา ให้หมดไปจากผืนแผ่นดินของเกาะแห่งนี้ พระพุทธศาสนาในศรีลังกาจึงตกอยู่ในยุคมืด ชาวพุทธถูกกดขี่ข่มเหง ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ชาวพุทธรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ไปทุกหย่อมหญ้า
ตัวอย่างการกดขี่ข่มเหง เช่น รัฐบาลสั่งห้ามชาวพุทธประชุมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยเด็ดขาด วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาถูกยกเลิก ไม่ให้เป็นวันหยุดอีกต่อไป แล้วประกาศวันหยุดจากศาสนาของผู้ที่ครอบครองใหม่แทน และรัฐก็สนับสนุนให้มีการเฉลิมฉลองของศาสนาอื่นกันอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ตำแหน่งชั้นสูงในวงการราชการ ก็ถูกสงวนไว้ให้ศาสนิกของผู้ที่เข้ามาครอบครองใหม่เท่านั้น สำหรับชาวพุทธ ก็จะได้รับตำแหน่งชั้นล่างๆ มีวัดร้างเพิ่มขึ้น ที่ดินและทรัพย์สินของวัดร้างถูกยึดไปเป็นของรัฐ หรือของศาสนาอื่น ส่วนพระภิกษุจะถูกวัยรุ่นศาสนาอื่นแสดงอาการดูหมิ่น ล้อเลียนในที่สาธารณะ ศาสนิกอื่นเขียนหนังสือบทความลงตีพิมพ์โจมตีพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่
ท่านคุณานันทะ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้แต่กรุงศรีลังกายังไม่สิ้นคนดี ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๖๖ เด็กชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของชาวสิงหล แต่เนื่องจากขณะนั้นศรีลังกาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เขาจึงได้ชื่อเป็นภาษาฝรั่งว่า ไมเคิล ในวัยเด็ก หนูน้อยไมเคิลมีนิสัยที่ดี คือ เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา กล้าแสดงความคิดเห็น มีความทรงจำเป็นเยี่ยมและเปี่ยมไปด้วยวาทศิลป์ ไหวพริบ และปฏิภาณ
เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี เขาก็ได้พบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เขาได้ไปเที่ยวงานวัดบนภูเขาแห่งหนึ่งที่วัดกุมารมหาวิหาร ซึ่งอยู่บนเกาะโดดันดุวะ ได้ช่วยงานวัดเป็นอาสาสมัครอยู่ในงานบุญ จึงรู้สึกอิ่มเอิบ เบิกบานอยู่ในเขตบุญสถานแห่งนี้เป็นอย่างมาก แล้วก็ได้ตัดสินใจขอบวชเป็นสามเณรที่วัดนั้น และได้รับนามว่า คุณานันทะ ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวศรีลังการู้จักกันดี ท่านเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามาถึงทุกวันนี้
ในวันบรรพชาของสามเณรคุณานันทะ ท่านได้เทศน์โปรดญาติโยมในทันที คือ บวชวันนั้น ก็เทศน์วันนั้นเลย การเทศน์กัณฑ์แรกในชีวิตของท่าน มีผู้ฟังเป็นพันๆคน เนื้อหาการเทศนากล่าวถึงพระพุทธประวัติ เทศน์เป็นเวลานานถึง ๓ ยาม (ยามหนึง มี ๔ ชั่วโมง ๓ ยาม รวมเท่ากับ ๑๒ ชั่วโมง) โดยที่ผู้ฟังไม่รู้สึกอยากกลับบ้านเลย ทั้งที่เป็นการเทศน์โต้รุ่ง ผู้คนก็ร่ำลือถึงความสามารถ และความสง่างามของสามเณรไปทั่วประเทศ
เมื่อสามเณรคุณานันทะอายุได้ ๒๑ ปี ท่านได้อุปสมบทที่วัดทีปทุตตาราม ในเมืองโคลัมโบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ของศาสนานั้น พระภิกษุคุณานันทะ มีบุคคลิกที่ไม่เหมือนกับชาวพุทธทั่วไป ชาวพุทธทั่วไปนั้น เมื่อถูกรุกรานอย่างไม่เป็นธรรมจากศาสนาอื่น ส่วนใหญ่มักจะอยู่นิ่งเฉย พร้อมใจกันวางอุเบกขา ไม่กล้าเผชิญหน้าหรือโต้ตอบกันตรงๆกับฝ่ายที่มารุกราน ได้แต่แผ่เมตตาให้แก่ผู้มารุกรานแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ปรับปรุงสิ่งใดๆให้ดีขึ้น และพากันดูดาย ไม่กระตือรือร้นที่จะร่วมมือกันขจัดภัยพาลของพระพุทธศาสนา
ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวสำคัญที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวพุทธในศรีลังกา และเป็นประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้น ศาสนาอื่นที่เข้ามาครอบครองศรีลังกา ได้ข่มเหงพุทธศาสนิกชนอย่างต่อเนื่องจนใครๆต่างสรุปว่า อีกไม่นานพระพุทธศาสนาคงจะต้องหมดไปจากเกาะศรีลังกา แม้แต่นักเขียนชื่อดังสมัยนั้น คือ เจมส์ เดอ อัลวิส ได้บันทึกไว้ในปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ว่า “พระพุทธศาสนาจะต้องสูญสิ้นไปจากศรีลังกา ก่อนสิ้นสุดพุทธศักราช ๒๔๔๓ นี้อย่างแน่นอน”
การประลองปัญญาโต้วาทะกันขึ้นเป็นจำนวนถึง ๕ ครั้ง ในช่วงเวลา ๙ ปี (2408-2416)
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ครั้นเมื่อท่านคุณานันทะได้ประกาศตนว่า จะกอบกู้และปกป้องพระพุทธศาสนาจากการรุกรานของศาสนาอื่นโดยใช้ปัญญาเป็นอาวุธ จึงทำให้เกิดการประลองปัญญาโต้วาทะกันขึ้นเป็นจำนวนถึง ๕ ครั้ง ในช่วงเวลา ๙ ปี ดังนี้
ครั้งที่ ๑ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๐๘ ผลที่เกิดขึ้น คือ ชาวพุทธที่เคยท้อแท้ หมดหวัง ต่างเริ่มมีความหวังในการกอบกู้พระพุทธศาสนาขึ้นมาบ้าง
ครั้งที่ ๒ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๐๘ ผลที่เกิดขึ้น คือ ผู้ฟังทั้ง ๒ ศาสนา มีจำนวนเพิ่มขึ้น เกิดความตื่นตัว และสนใจเข้าฟังการโต้วาทธรรมอย่างกว้างขวาง
ครั้งที่ ๓ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๐๙ ผลที่เกิดขึ้น คือ ศาสนาอื่นเข็ดขยาด ไม่กล้ามาตอแยท่านคุณานันทะเป็นเวลานานถึง ๕ ปี การย่ำยีพระพุทธศาสนาในที่สาธารณะก็หมดไป แม้ว่าการโจมตีทั่วไปจะยังไม่หมดก็ตาม
ครั้งที่ ๔ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๑๔ ผลที่เกิดขึ้น คือ ผู้แทนศาสนาอื่น เข็ดหลาบในการโต้วาทธรรมกลับไปปรับปรุงกระบวนทัพใหม่
ครั้งที่ ๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๑๖ เป็นการโต้วาทธรรมครั้งที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุด และมีผลกระทบต่อความเป็นความตายของศาสนาทั้งสองมากที่สุด เกิดจากการที่ศาสนาอื่นได้กล่าวจ้วงจาบ ย่ำยีพระพุทธศาสนา ท่านคุณานันทะจึงกล่าวเชิญมาโต้วาทธรรมกัน ณ เมืองปานะดุระ โดยแบ่งเวลาสนทนาเป็น ๒ วัน รวม ๔ รอบ ผลที่เกิดขึ้น คือ ฝ่ายศาสนาอื่นพ่ายแพ้ราบคาบ ไม่กล้ามาเผชิญหน้ากับท่านอีกต่อไป
ตัวอย่างหัวข้อที่อภิปราย
หัวข้ออภิปรายที่ 1 พระสัพพัญญุตญาณไม่มีจริง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้บาทหลวงตัวแทนวาติกัน ได้ยกประเด็นว่า พระสัพพัญญุตญาณไม่มีจริง และพระพุทธเจ้าไม่มีทิพยญาณ โดยยกหลักฐานจากพระไตรปิฎก ที่ปรากฎในคัมภีร์มหาวรรคว่า หลังจากตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรม เนื่องจากธรรมะเป็นเรื่องลึกซึ้ง ยากที่ใครๆจะเข้าใจตามได้ จนกระทั่งพรหมมากราบอาราธนาว่า คนที่สามารถฟังธรรมของพระองค์แล้วตรองตามได้นั้นมีอยู่ จึงทำให้พระองค์มีกำลังใจที่จะแสดงธรรม
ต่อมาเทวดามากราบทูลพระองค์ว่า ท่านอาฬารดาบสและอุทกดาบส ได้สิ้นบุญไปแล้วทั้งคู่ ทั้งหมดนี้หมายความว่า พระองค์ไม่มีทิพยญาณแต่อย่างใด และแม้ว่าพระสัพพัญญุตญาณที่พระองค์ทรงมีนั้น มีสภาพตื้นเขินเพียงเท่านี้ไซร้ ใครๆก็มีสัพพัญญุตญาณกันได้ทุกคน
ท่านคุณานันทะได้กล่าวโต้ประเด็นนี้กลับไปว่า เรื่องนี้ท่านเคยชี้แจงและได้ตีพิมพ์ในเอกสารไปแล้ว ท่านจึงทบทวนขึ้นอีกครั้งหนึ่งว่า คำว่า “พระสัพพัญญุตญาณ” นั้น ไม่ได้หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงมีญาณหยั่งรู้ทุกสิ่งอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าจะเป็นไปตามพุทธประสงค์ หมายความว่า หากพระองค์ทรงสอดข่ายพุทธญาณ เพื่อหยั่งทราบเรื่องราวแล้ว พระองค์ก็จะทรงทราบสิ่งที่ทรงมุ่งประสงค์ได้ เปรียบเสมือนคนเราที่มีดวงตาอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ลืมตาขึ้นดู ก็ย่อมมองไม่เห็นสิ่งต่างๆเป็นธรรมดา ในกรณีนี้เราไม่อาจจะตำหนิเขาได้ว่า เขาไม่มีตา หรือว่าตามองไม่เห็น ดวงตานั้นมีอยู่ เมื่อเราอยากดูก็ลืมตาดูจึงจะเห็น แล้วก็เห็นได้ทีละอย่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า พระองค์ไม่ได้เป็นพระสัพพัญญูตลอดเวลา แต่ว่าเมื่อปรารถนาอยากจะดูตอนไหนก็จะเห็นตอนนั้น ขณะนั้นพระองค์กำลังอยู่ในขั้นรำพึงเท่านั้น มิได้ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมจนพรหมต้องมากราบอาราธนา แต่เป็นธรรมเนียมว่า พรหมจะต้องมาอาราธนา พรหมก็ปฏิบัติตามธรรมเนียม และไม่ว่าพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ลงมาตรัสรู้ก็ตาม ท่านก็จะดำริอย่างนี้ แล้วพรหมก็มาตามธรรมเนียมอย่างนี้
หัวข้ออภิปรายที่ 2 : การเข้าถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง เป็นสิ่งโง่เขลา
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ประเด็นนี้ ผู้บรรยายฝ่ายตรงข้ามของท่านคุณานันทะได้กล่าวว่า พระรัตนตรัยไม่มีความพิเศษอะไรเลย การเข้าถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งนั้น เป็นสิ่งโง่เขลา
การถึงพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้วว่าเป็นที่พึ่งถือเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ แสงอาทิตย์ย่อมปรากฏไม่ได้หากปราศจากดวงอาทิตย์ ฉันใด พระพุทธองค์เมื่อปรินิพพานพระองค์ได้สูญสิ้นไปแล้ว ที่พึงคือพระพุทธเจ้าจะมีได้อย่างไร ฉันนั้น
พระธรรม คือ หนังสือที่มีผู้เขียน เขียนกันขึ้นมา หนังสือเหล่านั้นต่างหากที่ต้องมี ท่านเป็นที่พึ่ง พวกท่านต้องดูแลรักษา เก็บเอาไว้ไม่ให้สูญหายหรือถูกทำลาย ท่านจะพึ่งพิงหนังสือได้อย่างไร มีแต่หนังสือต่างหากต้องพึ่งมนุษย์เพื่อให้ดูแลรักษา
ส่วนการยึดถือพระสงฆ์นั้น พระสงฆ์ผู้เป็นคนบาปหนาแน่นไปด้วยกิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง และยังถือตัวว่าเป็นสรณะที่พึ่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความโง่เขลา งมงาย นับเป็นการยึดถือคนตาบอดให้เป็นผู้นำทางโดยแท้
ท่านคุณานันทะได้ชี้แจงเรื่องที่ฝ่ายตรงข้ามอ้างว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ท่านได้แสดงเรื่องนิพพาน ๓ ประเภท ได้แก่
๑. กิเลสนิพพาน คือ การดับกิเลสตัณหาของพระองค์ในวันตรัสรู้ ถือเป็นนิพพานอย่างหนึ่ง
๒. ขันธนิพพาน คือ การดับเบญจขันธ์สู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ณ เมืองกุสินารา
๓. ธาตุนิพพาน คือ พระบรมสารีริกธาตุสูญสิ้นไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่ก็เป็นการดับของกิเลสและขันธ์ ส่วนพระบรมสารีริกธาตุนั้นยังทรงดำรงอยู่ เสมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ ถ้าหากว่า ศาสดาของศาสนาใดได้ถึงแก่กรรมลง ศาสนานั้นหมดคุณค่า พึ่งพามิได้ ก็หมายความว่า ทุกๆศาสนาขณะนี้ มีศาสดาที่ไร้ความหมาย ไม่ควรระลึกถึงเลยอย่างนั้นหรือ
ในส่วนพระธรรม ในเบื้องต้น พระธรรมอาจจะเป็นหนังสือตามที่ผู้พูดต่างศาสนาเข้าใจ แต่พระธรรมสำหรับชาวพุทธแล้ว หมายถึง คำสอนที่มีเอาไว้ให้ปฏิบัติ บุคคลที่ปฏิบัติตามพระธรรมคือ ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมนั้น สามารถเป็นที่พึ่งอันแท้จริง อีกประการหนึ่ง การถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งนั้น หมายเอาโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) เป็นที่สุด มิได้มีความหมายตื้นเขินดังที่ผู้พูดจากศาสนาอื่นเข้าใจ พระธรรมไม่ใช่เป็นแค่หนังสือหรือตัวหนังสือ แต่เป็นความรู้ในนั้นที่ทำให้ผู้ที่ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติ เกิดประสบการณ์ภายใน ได้เข้าถึงธรรมอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเข้าถึงนั่นเอง พระธรรมจึงเป็นที่พึ่งภายในที่แท้จริงของบุคคลนั้น
ส่วนพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มีองค์ประกอบสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว กล่าวคือ มีพระพุทธเจ้าผู้ทรงค้นพบพระธรรม และมีพระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดพระธรรมอย่างไม่ขาดสาย แต่ผู้พูดจากศาสนาอื่น นอกจากเป็นผู้ที่มองโลกผิดไปจากความเป็นจริงแล้ว ยังมองโลกในแง่ร้ายอีกด้วย ท่านคุณานันทะยังกล่าวเสริมอีกว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มี ๒ ประเภท คือ อริยสงฆ์(ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป) และสมมุติสงฆ์(สงฆ์ทั่วไป)
การเห็นสมณะ คือ พระสงฆ์นั้น มุ่งหมายเอาพระอริยสงฆ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญที่แท้จริง คำว่า เนื้อนาบุญเป็นสิ่งที่ไม่มีในศาสนาของผู้พูดและแม้ศาสนาอื่น ในขณะที่สมมุติสงฆ์แม้ยังไม่หมดกิเลส ก็กำลังทำกิเลสให้เบาบางลง เพราะฉะนั้น พระสงฆ์จึงเป็นที่พึ่งในฐานะที่เป็นทั้งเนื้อนาบุญ และเป็นแหล่งแห่งความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
ต่อในความเห็นที่ 1
การโต้วาทะระหว่างศาสนา ในศรีลังกายุคล่าอาณานิคม
ใครขี้เกียจฟังอ่านก็ได้ครับ
พุทธในศรีลังกายุคล่าอาณานิคม
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ท่านคุณานันทะ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
การประลองปัญญาโต้วาทะกันขึ้นเป็นจำนวนถึง ๕ ครั้ง ในช่วงเวลา ๙ ปี (2408-2416)
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ตัวอย่างหัวข้อที่อภิปราย
หัวข้ออภิปรายที่ 1 พระสัพพัญญุตญาณไม่มีจริง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
หัวข้ออภิปรายที่ 2 : การเข้าถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง เป็นสิ่งโง่เขลา
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ต่อในความเห็นที่ 1