รีวิวการสอบ CFA ทั้ง 3 Level

สวัสดีครับ ปกติไม่ค่อยได้เล่น pantip แต่คิดว่าเมื่อก่อนตอนผมสอบ CFA ก็พยายามหาข้อมูลในเว็ปต่างๆ แต่ก็ไม่ค่อยพบ

ปัจจุบันตรากตรำจนพึ่งได้เป็น Charterholder เลยอยากลองตั้งกระทู้ทิ้งไว้ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่อยากสอบ CFA รุ่นต่อๆไปครับ
 
โดยทั้ง 3 Level ผมไม่เคยแตะหนังสือของทาง CFAI เลย ใช้ Course ของ Mark Meldrum คนเดียวครับ

Style ของผม คือนั่งดูวีดีโอของ Mark Meldrum เพราะเค้าสรุปเนื้อหาให้แล้ว พร้อมสอนทริคในข้อสอบให้เรียบร้อย พอดูเสร็จ ผมจะเขียนสรุปของตัวเองอีกรอบครับ (เป็นเล่มเลย โดยของเลเวล 3 สรุปที่ผมจดล่อไป 200 หน้า 5555+)

          Level 1: June 2018
ผมเริ่มสอบ CFA ตอนปี June 2018 ช่วงไปเรียน ป.โท ที่อังกฤษ โดย เรียนโทพร้อมลงทะเบียนสอบไปพร้อมกันเลยครับ ตอนนั้นอายุ 24 ยังไฟแรง เลยลงควบไปเลย เหนื่อยมากครับ เพราะผมมีเวลาเตรียมตัวสำหรับ Level นี้แค่เดือนเดียว แต่ ชม. การอ่านไม่น้อยหน้าใครแน่ๆครับ ทะลุ 400 ชม. เพราะอ่าน 8โมงเช้า-ตี2 ทุกวัน 
ช่วงเลเวล 1 รายละเอียดจะประมาณนี้
-ลักษณะข้อสอบจำเป็นคำถามสั้นๆ ถามข้อนึง ตอบข้อนึง
-ไม่ยาก คำถามไม่ลึก ถามตรงไปตรงมา ไม่ค่อยหลอก
-คำถามส่วนมากใส่สูตรชั้นเดียวตอบได้เลย และตัวแปรต่างๆจะให้มาแบบค่อนข้างตรงไปตรงมา
-เนื้อหากว้างมาก เอาส่วนยิบย่อยส่วนเล็กๆส่วนไหนมาออกสอบก็ได้
-Trick ที่อยากแนะนำสำหรับคนพึ่งมาสอบ CFA คือ ฝึกการใช้ Calculator ให้แม่นๆ เพราะจะช่วยย่นระยะเวลาได้มากตอนสอบจริง เช่น NPV, IRR , Geometric mean, Time value of money (พวกนี้เป็น Basic สำหรับใช้สอบในเลเวลถัดๆไปด้วยครับ)
-สำหรับเรื่อง Time value ให้ระวังเรื่อง Annuity Due หรือเวลาโจทย์บอกว่า payment at beginning of the year (อย่าลืมเปลี่ยนโหมด Calculator ให้เป็น Beginning นะครับ ถ้าเห็นคำนี้) และใช้เสร็จอย่าลืมเปลี่ยนกลับด้วยนะครับ เดี๋ยวจะซวยเอา 5555+
-อย่าประมาท Ethic เพราะถ้าคะแนนคุณปริ่มๆว่าจะผ่าน Ethic จะเป็นตัวช่วยให้คุณอาจได้ปัดคะแนนขึ้นเล็กน้อย และ Ethic จะไม่เปลี่ยนเนื้อหาจนถึง Level 3 เลยครับ ใช้หลักการเดิมๆตั้งแต่ Level 1
-อ่านโจทย์ให้ดีๆครับ เนื่องจากคำถามจะ (แอบ) กวนบาทาหน่อยนึง เช่น Which is least likely correct? หรือ Which is most likely incorrect? อ่านคำถามผิดชีวิตเปลี่ยนนะครับ
 
          Level 2 : June 2019
คราวนี้กลับมาทำงานเต็มตัว พร้อมสอบ Level 2 ไปพร้อมๆกันครับ โดย Level 2 ผมใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 2 เดือนนิดๆ เนื่องจากทำงานแล้ว ไม่สามารถลุยอ่านได้แบบตอนเรียน ป.โท โดยผมอ่านช่วงพักกลางวัน วันละ 1 ชม. และหลังกลับถึงบ้านช่วง 6 โมงเย็น-เที่ยงคืน สำหรับวันธรรมดา และ8โมง-ตี2 สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์
-ลักษณะคำถาม จะเป็น ยาวๆ มาให้อ่าน และชุดนึงจะมีคำถาม 4-7 ข้อ 
-สำหรับผม Level 2 ยากที่สุดใน 3 Level เนื่องจากเนื้อหาจะเจาะลงไปในแต่ละบทค่อนข้างลึก และความกว้างก็ไม่ได้แพ้ Level 1 เท่าไหร่ เรียกว่าปราบเซียนเลยครับ เพราะ Candidate ส่วนมากจะมาตกม้าตายกันที่ Level 2 นี่แหละ
-คำถามจะพลิกแพลง ซับซ้อนมากขึ้น ตัวแปรอาจไม่ได้ให้มาตรงๆ อาจต้องใส่สูตรหลายชั้น
-Ethic จะยากขึ้นหน่อย เพราะเป็นโจทย์เล่าเรื่องยาวๆมาให้ และเราต้องตีโจทย์ให้แตกในแต่ละประเด็นของคำถามครับ แต่ก็ใช้หลักความรู้แบบเดียวกันกับ Level 1
-FRA ของ Level 2 เถื่อนมากๆ ขอบอกเลยครับ ต่อให้เป็นเด็กบัญชีก็อาจจะเหนื่อย (แถมผมไม่ใช่เด็กบัญชีด้วย เหนือยมากครับ section นี้) โดยเฉพาะการแยกความแตกต่างในการใช้งานของ IFRS และ US GAAP 
-แนะนำให้ดูว่า Weighting ของคะแนนในแต่ละปีเป็นยังไง จะได้เน้นอ่านบทนั้นๆให้แม่นครับ เช่น FRA, Equity พวกนี้ weight เยอะ ตั้ง 15% ให้เน้นบทพวกนี้หน่อยครับ ส่วนบทอื่นๆที่ weight น้อยๆ เช่น Corporate finance, Alternative investment ก็อย่าคิดว่าจะทิ้งไปเลยนะครับ บางทีข้อเดียวอาจพลิกผลได้เลยว่าผ่านหรือไม่ผ่าน 
 
          Level 3 : Dec 2020
สำหรับ Level 3 ผมใช้เวลาเตรียมตัวเยอะที่สุด เกือบ 6 เดือน เนื่องจากอ่านเก้อช่วงต้นปี 2020 โดยผมเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่หลังหยุดปีใหม่ พออ่านทุกอย่างจบในช่วงเดือน March ก็โดนเลื่อนสอบครับ เรียกว่าเจ็บปวดเลย แต่พอมานั่งอ่านอีกรอบตอน September ก็ไม่เหนื่อยเหมือนตอนแรกครับ เพราะผมมีสรุปทุกอย่างไว้อยู่แล้ว และการอ่านสรุปของตัวเอง ง่ายกว่าการไปนั่งอ่านหนังสือใหม่อีกรอบมากๆครับ
-Level 3 ลักษณะการสอบจะต่างออกไป โดยช่วงเช้า จะเป็น Essay เขียนตอบ และบ่ายเป็น Multiple Choice แบบตอน Level 2
-Morning Essay เป็นอะไรที่กดดันมากๆครับ เป็นครั้งแรกที่ผมทำข้อสอบไม่ทัน ขนาดฝึกทำข้อสอบย้อนหลัง 12 ปีมายังไม่ทันเลยครับ (ข้อสอบเก่าๆมี 12-13 ข้อ พอปีผมเจอ 15 เปิดมาก็เงิบแล้วครับ)
-สำหรับผม Level 3 ไม่ได้ยากมากเท่า Level 2 เนื่องจากเนื้อหาจะเน้นไปในทาง Field ที่ผมทำงานอยู่แล้ว และไม่มีบัญชีด้วย ส่วนจากจะเป็น Portfolio management ครับ
-Essay ข้อคำนวน เน้นที่การแสดงวิธีทำนะครับ ไม่ใช้คำตอบ ต่อให้คำตอบผิดแต่เราแสดงวิธีทำที่มีส่วนถูกไป ก็ได้ Partial mark ครับ
-Essay แนะนำให้เขียนตอบแบบ Bullet point จะง่ายและประหยัดเวลามากที่สุด เนื่องจากคะแนนส่วนมากจะดูจาก Key word ที่ถูกต้องครับ แค่เราเรียน key word ไปก็ได้คะแนนแล้ว
-ย้ำอีกรอบครับ อย่าทิ้ง Ethic เพราะไม่ได้มีเนื้อหาอะไรเปลี่ยนเลย          
-เนื้อหาเพิ่มขึ้นมาคือเรื่องของ GIPS ครับ เยอะพอสมควร เป็นการจำล้วนๆ หลักการทั้งนั้น ไม่มีทางลัดครับ ต้องจำ 
 
          Trick อื่นๆเพิ่มเติม
-ข้อสอบไม่ได้ออกทุกเรื่องที่คุณอ่าน แต่ถ้าเรื่องไหนที่ออกแล้วคุณไม่ได้อ่าน คือซวยนะครับ ความจริงผมก็อยากบอกเหมือนกันว่าตอนสอบ เรื่องอะไรออกบ้าง ไม่ออกบ้าง แต่นั่นจะเป็นการ violate the standard ครับ
-CFA ไม่ใช่ข้อสอบที่ยากที่สุด แต่เป็นการสอบที่เหนื่อยสุดๆ ทำให้คุณท้อได้มากๆ เนื่องจากกินเวลานาน และต้องอาศัยความถึกครับ ยิ่งทำงานไปด้วย สอบไปด้วยนี่เรียกว่าแทบหมดกำลังใจทุกวัน 
-Question Bank และ Mock Test ใน Candidate Portal is a must! ไม่มีข้อสอบไหนที่ดีไปกว่าตรงนี้อีกแล้วครับ ผมนั่งทำโจทย์ใน portal ซ้ำๆ ไม่ต่ำกว่า 4-5 รอบ และข้อสอบของจริงก็ไม่ได้หนีไปจากตรงนี้มากครับ
-ถ้าคุณเป็นคนขี้เกียจอ่านหนังสือแบบผม ผมขอแนะนำ Mark Meldrum จากใจครับ ดู video เค้าและจดสรุปของตัวเอง เพราะเค้าเคี้ยวเนื้อหามาให้เราแล้วครับ เรามีหน้าที่แค่ต้องกลืน ไม่เหมือนตอนอ่านหนังสือเองที่คุณต้องเคี้ยวเอง
-ขอย้ำหน่อยครับ อ่านหนังสือก็สำคัญ แต่ทำโจทย์สำคัญที่สุด เพราะคุณจะได้รู้ว่าสูตรแต่ละสูตร มีแนวทางใช้ยังไง ผมรับประกันเลยถ้าคุณไม่ทำโจทย์ ต่อให้จำสูตรได้ก็จะเจอความยากลำบากตอนสอบครับ
-ก่อนสอบ ถ้าคุณทำงานอยู่ แนะนำคุยกับที่ทำงานแต่เนิ่นๆว่าขอลาซัก 1 อาทิตย์เตรียมสอบ เพื่อให้ร่างกายคุณผ่อนคลายลง และพร้อมสำหรับการสอบให้มากที่สุดครับ
-ขอรับรอบว่า CFA เหนื่อยแต่คุ้มครับ เพราะเมื่อคุณมี CFA ห้อยท้ายไว้ เวลาคุยกับใคร คุณจะรู้สึกนิดๆเลยว่าคุณไม่ต้องพิสูจน์ว่าคุณมีความรู้ และคุณจะได้มีโอกาสในการเลือกงานดีๆ เงินเดือนสูงๆขึ้นอีกมากมายเลยครับ เพราะคุณจะเป็นฝ่ายเลือกงาน ไม่ใช่เค้าเลือกคุณ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่