ปราสาทพิมาย ... อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

เป็นพุทธศาสนถานในศิลปะลพบุรี ที่ตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
เมื่อดังขนาดนี้ เพื่อนมาก็พาเพื่อนไปเสมอ ในภาพ ลว.30 มกราคม 2559

หลังจากได้ไปแอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ จากคลิปการสอนของท่านอาจารย์ รศ.พิชญา สุ่มจินดา
ทำให้ได้รู้จักปราสาทพิมายเพิ่มขึ้น จากการเรียนรู้การอ่านประวัติศาสตร์ผ่านทางศิลปะ
จึงนำเรื่องปราสาทพิมายมาเรียบเรียงใหม่ตามปัญญาของเราที่เข้าใจ
และเขียนเต็มความสามารถ ที่จะให้คนที่อ่านได้เข้าใจนะคะ

ดาว
ขอเริ่มต้นในพุทธศตวรรษที่ 14 ที่เมืองยโศธรปุระ หรือเมืองพระนคร (เสียมราฐ ในปัจจุบัน)
หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 สิ้นพระชนม์โดยไม่มีพระราชโอรส
พ.ศ.1544 พระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 1 พระราชนัดดาขึ้นครองราชย์ เมืองพระนคร
พ.ศ.1545 พระเจ้าชัยวีรวรมันขึ้นครองราชย์
พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทรงทำสงครามกับพระเจ้าชัยวีรวรมันจนได้ชัยชนะ
ทรงเนรเทศพระเจ้าชัยวีรวรมันออกจากเมืองพระนคร
พ.ศ.1553 พระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 ขึ้นครองเมืองพระนคร
ทรงโปรดให้ข้าราชการทั้งหลายจารึกคำสัตย์สาบานไว้บนหลืบของ ซุ้มประตูพระราชวังหลวง - พิมานอากาศ (อยู่ข้างปราสาทบาปวน หลังลานพระเจ้าขี้เรื้อน ในเสียมราฐ)
พระเจ้าชัยวีรวรมันก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เมืองพระนคร

ดาว

มาปรากฎพระนามพระเจ้าชัยวีรวรมันอีกครั้ง บนจารึกวัดจงกอ อำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา (ค้นพบจารึกเมื่อปี 2548)
ระบุ มหาศักราช 980 ตรงกับ พ.ศ. 1551
ว่าพระเจ้าชัยวีรวรมัน มีพระบรมราชโองการให้วัดที่ดิน ปักศิลาจารึกกำหนดเขตศาสนสถาน และอุทิศข้าพระจำนวนมาก
ถวายให้กับ พระกัมรเตงชคตวิมาย (เจ้าของสัตว์โลกแห่งเมืองวิมาย หรือ พิมาย)

ดาว

จากจารึกปราสาทหินพิมายที่เก่าที่สุด ปรากฎนามพระศรีฆนะ 
ซึ่งเป็นคำที่ตันตระยานใช้เรียกมานุษยพุทธเจ้า - บอกว่าเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ

ดาว
จากจารึกปราสาทพิมาย 2
พบที่มุมทางตวันออกเฉียงใต้ของปรางค์ประธาน ระบุมหาศักราชตรงกับ พ.ศ. 1589
ขึ้นต้นด้วยการนมัสการพระพุทธเจ้า
"พระองค์ใดทรงอุบัติขึ้นมาทําโลกให้สม่ําเสมอตั้งแต่โลกนี้ถึงโลกุตร (เหนือโลก)
มีพระพักตร์ 4 ทิศประหนึ่งว่าเกรงมารทั้ง 4 ทิศขอนมัสการพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น"

ดาว
ปราสาทพิมายในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าสร้างขั้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 อ้างว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ครอบครองมหิทรปุระ
(เข้าใจเองนะคะ ว่าคงเป็นที่ราบสูงโคราชในปัจจุบัน เพราะพนมรุ้ง ก็อยู่ในมหิทรปุระ)
ได้สร้างปราสาทพิมายลงบนศาสนสถานเดิม ก่อนนครวัด 50 ปี
ได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และสร้างปราสาทให้ใหญ่ขึ้น

ก่อนเข้าศาสนสถาน จำต้องมีที่พักหากเดินทางมาไกล
หรืออาจเปลี่ยนเครื่องทรง ดังเช่นปัจจุบันมักนุ่งขาวห่มขาว ไม่ใส่เครืองประดับ ก็อาจเป็นได้
ทางด้ายซ้ายจึงมีอาคาร พลับพลาเปลื้องเครื่อง

เป็นอาคารที่มีห้องโถงตรงกลางและมีระเบียงโดยรอบ

สะพานนาคราช เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์ และ โลกของเทพเจ้า

ภายในซุ้มประตู (โคปุระ) และ ระเบียงคต

กำลังจะก้าวข้ามไปยังโลกของเทพ มีชานชลา หรือทางเดินไปสู่ปรางค์ประธาน
โดยระหว่างทางจะมีสระน้ำ 4 สระ
(สระ หรือ คู คือที่เก็บน้ำที่ขุดลงไปในดิน ส่วน บารายคือการสร้างขอบขึ้นสูงกว่าพื้นแล้วเก็บน้ำเข้าไป - อ่างเก็บน้ำ)

ผ่านโคปุระ และระเบียงคตชั้นใน
ตรงกลางโคปุระ มีหลุมบรรจุวัตถุมงคล - นายช่างที่ทำการบูรณะบอกว่า มีหลุมบรรจุวัตถุมงคลทั้งหมดแปดทิศ

ภายในกำแพงแก้วชั้นในมีอาคารสี่หลังคือ
ตรงกลาง ปรางค์ประธาน
ทิศตะว้นออก ปรางค์พรหททัต
ทิศตะวันตก ปรางค์แดง - ก่อสร้างโดยหินสีแดง และ บนฐานเดียวกันมีหอพราหมณ์


ปราสาท สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่อยู่ของเทพที่เป็นที่เคารพ จึงต้องสร้างขึ้นเป็นดั่งวิมานจำลอง
ประกอบด้วย ปรางค์ประธาน มณฑป เชื่อมกันด้วยมุกกระสัน ทุกประตูจะมีมุกยื่นออกมา

 
ปรางค์ประธานมีศิขร 5 ชั้น ด้านบนเป็นบัวคลุ่ม (หม้อน้ำ) และพินทุ - หยดน้ำ
มีการเปลี่ยนแปลงจากศิลปะก่อนหน้า-ศิลปะบาปวน คือ เรือนธาตุยืดต้วสูงขึ้น
เริ่มปรากฏยอดศิขรทรงพุ่มเป็นครั้งแรก โดยทำกลีบขนุนให้เอนเข้า
ปราสาทพิมายสร้างก่อนปราสาทนครวัด 50 ปี
(ตรงมุมเรียกกลีบขนุน ตรงกลางด้านเรียกใบขนุน)

 
ทับหลังและหน้าบัน ของแท้บางชิ้นติดที่ปราสาท บางชิ้นอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ลวดลายสวยงามอ่อนละมุนยิ่ง มาชมกันค่ะ

หน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน - ด้านทิศใต้ เป็นภาพพระศิวะนาฏราช
บุคคลตรงกลาง - พระศิวะมีหลายพระกร สื่อถึงพระกรที่กำลังเคลื่อนไหว กำลังร่ายรำ - ก่อให้เกิดปฏิกิริยาของดำเนินไปของโลกและมนุษย์
บุคคลด้านขวาพระศิวะ - พระสกัณฑะ บุตรพระศิวะ ประทับบนนกยูง
บุคคลล่างขวาของพระศิวะ - นางกาไรกาล
นางเลื่อมใสศรัทธาในพระศิวะจนขอพรได้ตามประสงค์
ทำให้สามีเห็นว่านางมีสถานะสูงส่งกว่าและปฏิบัติต่อนางอย่างนอบน้อมราวกับพระเทวี
นางรับไม่ได้จึงขอพรจากพระศิวะให้กลายเป็นหญิงชราน่าเกลียด
เพราะความงามของนางไม่มีคุณค่าต่อสามีอีกต่อไป
และปวารณาตนเอง เป็นมือฉิ่งและร้องเพลงถวายพระศิวะ

 
ด้านนอกปราสาทแกะสลักตกแต่งเรื่องรามยณะ , มหาภารตะ และพระพุทธศาสนา
การอ่านภาพ ไม่ได้อ่านเองเพราะไม่มีความรู้เรื่องรามายณะ มหาภารตะ และพุทธศาสนา เพียงพอที่จะอ่านได้ จึงทำได้เพียงแค่นำมาจากท่านผู้รู้ที่ได้ตีความไว้แล้ว - ซึ่งอาจจะใช่ไหรือไม่ใช่ก็ได้ -
*รามายณะ*
พระรามยกทัพข้ามมหาสมุทรไปยังไปกรุงลงกา จึงต้องทำถนนโดยให้ไพร่พลลิงขนหินมาถมมหาสมุทร
ฝ่ายยักษ์เมื่อเห็นพวกลิงกำลังถมทะเล ก็ไปบอกทศกันฐ์
ทศกัณฐ์จึงสั่งให้นางสุพรรณมัจฉา ลูกสาวที่มีแม่เป็นปลาไปเกณฑ์เหล่าปลามาขนหินออก
หนุมานดำลงไปดูจึงรู้สาเหตุ ได้จับนางสุพรรณมัจฉาให้นางสั่งฝูงปลาไปนำหินกลับมาที่เดิม
แต่ด้วยรูปโฉมที่งดงามของนางสุพรรณมัจฉา นางจึงตกภรรยาของหนุมาน
สุดท้ายแล้วการถมทะเลทำถนนก็เสร็จ

 
มุมซ้ายบนของทับหลัง อินทรชิตหลบอยู่ในกลีบเมฆ แผลงศรนาคบาศใส่ พระราม และพระลักษณ์
ศรแปลงเป็นนาค (นาคบาศ) รัดทั้งคู่นอนสงบนิ่ง หมู่พลลิงนึกว่าทั้งคู่ตายก็ร้องไห้
หน้าบันด้านบน หนุมานไปตามพระยาสุบรรณ (ครุฑ) มาช่วย พวกนาคถูกฤทธ์ของครุฑหนีไป พระราม พระลักษณ์ก็ฟื้นกลับมาดังเดิม

 
ในพิพิธภันฑ์บรรยายว่า สุครีพครองเมือง
มีลิงแบกยาน 2 คัน คันหน้ามีบุคคลนั่งอยู่ คันหลังมีลิงนั่งอยู่มือขวาทำท่านอบน้อม  มีเครื่องสูงแสดงความเป็นกษัตริย์
มีการดีดสีตีเป่าในขบวน แสดงความเฉลิมฉลอง



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่