แลกเปลี่ยนมุมมอง การเรียนต่อในระบบ VS. การกู้ยิมเพื่อการศึกษา

ในมุมมองของการศึกษาในสังคมไทย ค่านิยมส่วนใหญ่ของสังคมก็คือต้องการให้ลูกหลานเรียนจบปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย

พี่วินนี่เองก็เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เรียนจนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ และยอมรับว่าเห็นคุณค่าของโอกาสทางการศึกษาเป็นอย่างดี
 
แต่พอได้มาทำงานเกี่ยวกับการจัดหางาน และพูดคุยกับเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น พบว่าเงื่อนไขที่ต้องแลกมากับโอกาสทางการศึกษาขั้นปริญญาตรีของแต่ละคนไม่เท่ากัน
 
หลายครอบครัวเป็นหนี้จากการกู้ยืมทั้งในระบบและนอกระบบเพื่อส่งลูกเรียน  ซึ่งมันคงไม่ใช่ปัญหาที่น่าหนักใจถ้าอัตราของเด็กที่จบใหม่มีตลาดงานที่เพียงพอรองรับ เพราะนั่นแปลว่าพวกเขามีความสามารถในการชำระหนี้
 
น้องๆหลายคนใช้เงินเรียนต่อปริญญาตรีภาคเอกชนเฉลี่ย 4-5 แสนในเวลา 4 ปี ถ้าไม่ได้โดดเด่นในสาขาวิชามากๆก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะได้งาน แทนที่เรียนจบมาแล้วจะมุ่งมั่นได้เต็มที่ก็อาจจะมีความเครียด ความกดดัน ในการชำระหนี้ ซึ่งแต่ละคนก็จัดการรับมือได้แตกต่างกันไป

วันนี้พี่วินนี่จึงอยากมาแชร์มุมมองของตัวเองกับน้องๆคนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจเรียนต่อ และรู้สึกว่าตัวเองเข้าข่ายมีเหตุจำเป็นให้ต้องกู้เรียน

ก่อนอื่น พี่วินนี่มีมุมมองที่ดีต่อการเป็นหนี้ดี หนี้ดีในที่นี้คือการลงทุนกับตัวเองในแง่ต่างๆเพราะเชื่อว่าคุ้มค่าสำหรับอนาคต เช่นการกู้ธนาคารซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่า แต่ในทางเดียวกัน ผู้ลงทุนก็ต้องทำการบ้านมาพอสมควรเหมือนกันว่าจะซื้อคอนโดโครงการอะไร ทำเลไหน มีแผนการคืนทุนยังไงบ้าง อัตราเงินเฟ้ออีก 5 ปี 10 ปีเป็นอย่างไร

หากมีแต่ความอยากล้วนๆ หรือทิศทางไม่ชัดเจน หนี้ดีในที่นี้ นี้ก็กลายเป็นหนี้เลวได้ การกู้ยืมเพื่อการศึกษาก็เช่นกัน

การกู้เรียนปริญญาตรี สามารถเป็นหนี้ดีหากเรามีการวางเป้าหมายชัดว่าต้องการอะไร รู้ว่าเรียนคณะนี้แล้วสามารถอะไรได้ในอนาคต สอดคล้องตามความฝันของเรา เงินเดือนหลักหักค่าใช่จ่ายแล้วผ่อนคืนไหวอยู่ที่เท่าไหร กรณีถ้าเราหางานไม่ได้ในช่วงแรก จะมีแผนสำรองยังไงบ้าง ที่บ้านช่วยเราผ่อนชำระหรือเปล่า เป็นต้น

สำหรับน้องๆกลุ่มนี้พี่วินนี่สนับสนุน เราต้องยอมรับว่าบางสาขาอาชีพ เช่นแพทย์ นักวิจัย การเรียนในระบบในขณะนี้ยังคงครอบคลุมและตอบโจทย์กว่าในหลายๆด้าน

แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เหมาะกับอะไร ตัดสินใจเรียนตามเพื่อนไปก่อน เพื่อนเข้ามหาลัยไหน เราก็เข้าด้วย เชื่อว่าน้องๆกลุ่มนี้ก็มีเยอะ และโอกาสที่เรียนจบออกมาแล้วเคว้งจะมีสูง ส่งผลต่อการหางาน และการผ่อนชำระหนี้

พี่วินนี่อยากแนะนำว่าก่อนจะตัดสินใจกู้เรียนตามคนอื่น ให้ลองมองหลักสูตรอาชีพ, หลักสูตรระยะสั้นนอกระบบ เป็นอีกทางเลือกดูไม่เสียหาย

เพราะอะไร?

• การเรียนหลักสูตรทางเลือกเหล่านี้มีค่าเรียนที่น้อยกว่าจนแทบไม่จำเป็นต้องจะกู้ เช่นหลักสูตรช่างตัดผม, บริบาล, เชฟ, บาร์เทนเดอร์, เทอราปิส 

• ใช้เวลาเรียนน้อยกว่าการเรียนปริญาญาตรี เช่นระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน เน้นการปฎิบัติ จบออกมาพร้อมวิชาชีพ / ประสบการณ์

• สามารถหางานทำได้โดยไม่ต้องเครียดจากการแบกหนี้

• หากยังคงต้องการเรียนต่อให้จบปริญญาตรีเพื่อความอุ่นใจ ก็สามารถทำงาน 1-2 ปีก่อนเพื่อเก็บเงินและส่งตัวเองเรียน หรือเรียนปวส. ออนไลน์ระหว่างที่เรียนหลักสูตรระยะสั้นไปด้วย พร้อมเมื่อไหร่ก็ใช้เวลาอีกเพียง 2 ปีต่อปริญญาตรีจนจบ

โดยสรุปวิธีที่พี่วินนี่แนะนำน้องๆที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ คือการหาประสบการณ์ชีวิตด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า อย่างในต่างประเทศเวลาวัยรุ่นบ้านเขาจบ High School แล้วยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนต่อดีหรือเปล่า หรือจะเรียนต่ออะไรดีก็จะเก็บกระเป๋าออกเดินทางสัมผัสโลกกว้างก่อน หรือไม่ก็ทำงานเก็บเงินไว้เพื่อส่งตัวเองเรียนหรือทำทุนในอนาคต ด้วยวิธีนี้เราจึงไม่ได้ตัดโอกาสตัวเอง และไม่ต้องเป็นหนี้

เพราะชีวิตคนมีอุปสรรคให้ฝ่าฟันแต่ละช่วงวัยอยู่แล้ว หากตัวเราในขณะนั้นยังไม่ชัดเจนพอ อย่าให้สิ่งที่เรียกว่าค่านิยมมาตีกรอบ บีบทางให้เราต้องเพลี่ยงพล้ำเลือกตัวเลือกเดียวกับคนอื่นๆที่เขาอาจจะมีตัวแปรที่แตกต่างจากเราค่ะ

วันนี้พี่วินนี่ก็ขอฝากไว้เท่านี้ค่ะ หวังว่าจะมีประโยชน์กับน้องๆบางคนบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ ใครมีความคิดเห็นอย่างไรแบ่งปันกันได้ค่ะ

อย่าลืมรักษาสุขภาพกันด้วยค่ะ ยิ้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่