JJNY : 4in1 หวั่นรากหญ้าหนี้นอกระบบพุ่ง/หนี้เสียSMEsพุ่ง/ยุทธพงศ์ถามรบ. ทำไมไม่ลดงบฯกองทัพ/ครูจุ๊ยชี้ปมปัญหาที่แท้จริง

โควิดพ่นพิษ แห่รูดปื๊ด หวั่นรากหญ้าหนี้นอกระบบพุ่ง
https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/463951
 

 
ม.หอการค้า จับตาประชาชน-เอสเอ็มอีรูดปื๊ดมากขึ้น   ชี้โควิดรอบ2 ทำพิษกู้เต็มวงเงิน ห่วงรากหญ้าหนี้นอกระบบพุ่ง
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,229 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 90.7% มีหนี้สิน โดยในปี 2563 มูลค่าหนี้สินของครัวเรือนสูงขึ้น 42.3% คิดเป็นหนี้จำนวน 483,950 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งการขยายตัวสูงดังกล่าวถือว่าสูงสุดในรอบ 12 ปี ขณะที่ประชาชนมีภาระผ่อนต่อเดือน 11,799.76 บาท แบ่งผ่อนชำระหนี้ในระบบ 11,823.80 บาท นอกระบบ 2,568.60 บาท
 
สาเหตุที่ทำให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ขาดรายได้เนื่องจากถูกออกจากงาน และรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และพบว่าเป็นการก่อหนี้ใหม่สูงมากกว่า 70% เป็นผลมาจากการเกิดโรคโควิด -19 เศรษฐกิจไม่ดี และมีหนี้เพิ่มเยอะขึ้น
 
 สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาชำระหนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าจะมาจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี สูงถึง 72.1% รองลงมาคือ ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ 59.4% รายได้ที่รับลดลง 54.8% และการแพร่ระบาดโรคโควิด -19 สูงถึง 55%
 
 อย่างไรก็ดี การก่อหนี้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่กว่า 70% จะเป็นหนี้ก้อนใหม่และรวมถึงหนี้ก้อนเก่าและก้อนใหม่ แต่ยังพบว่าหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ในระบบ มีสัดส่วนอยู่ที่ 75.3% ขณะที่หนี้นอกระบบ มีสัดส่วนอยู่ที่ 24.7%
 
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่า 84% ระบุว่ามีการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน หรือมีรายได้น้อย รายได้พอกันกับรายจ่าย  และพบว่ามีการก่อหนี้จากบัตรเครดิตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากเดิมที่เคยใช้สัดส่วนเพียง 20% ในปีที่แล้วเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% จึงเห็นได้ว่าประชาชนทั่วไปและเจ้าของกิจการเลือกใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่ายทั่วไป และเพื่อพยุงกิจการ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากการที่ประชาชนหรือเจ้าของกิจการอาจมีการกู้เงินจากสถาบันการเงินเต็มวงเงินแล้ว
 
ในภาพรวมก็ยังไม่น่าเป็นห่วงมากเพราะหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นยังเป็นหนี้ในระบบเป็นส่วนใหญ่ เพราะภาครัฐยังมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาทำให้ประชาชนลือกใช้บริการสถาบันการเงินก่อน แต่ที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนการเป็นหนี้นอกระบบจะเกิดจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือนทำให้เป็นหนี้นอกระบบกว่า 90% และกลุ่มรับจ้างรายวันมีรายได้น้อย เพื่อเกิดโควิดทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรง และวงเงินชดเชยที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว
 
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน คือ การวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่เอกชนเสนอแนะรวมทั้งควรเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อีกทั้งหากมีวามจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลต้องเยียวยาผู้มีอาชีพอิสระ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ และมีการก่อหนี้ครัวเรือนสูง  ซึ่งหากยังมีการระบาดของโควิด-19ต่อไปคาดว่าในไตรมาสแรกของปีนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศอาจสูงไปแตะที่ 90.9%
 
ด้านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือน ธ.ค. 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงจากระดับ 33.7 มาอยู่ที่ 31.8 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องมีการยกเลิกการจัดงานปีใหม่ รวมถึงความไม่แน่นอนในเรื่องของการใช้มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ต่าง ๆ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวและใช้บริการร้านอาหารรวมถึงโรงแรมต่าง ๆ ได้อย่างเป็นปกติ
 

 
โควิดทำหนี้เสียSMEsพุ่ง 2.29 แสนล้านบาทธุรกิจเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/916690
 
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชี้ เอสเอ็มอีเป็นหนี้เอ็นพีแอลแล้ว 2.29 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของสินเชื่อทั้งระบบ 3.5 ล้านล้านบาท เหตุเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ แม้รัฐบาลออกซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 3 หมื่นล้านบาทมาอุ้ม เหตุวิธีการทำเข้าถึงยาก
 
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทย และประธานสมาพันธ์ SME ไทย ส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ขณะนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 อย่างหนัก โดยหากนับจากการระบาดในรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่าตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งหนี้เสีย (NPL) ของเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วน 6% ของสินเชื่อ 3.5 ล้านล้านบาท หรือเป็นหนี้เสียถึง 2.29 แสนล้านบาท
 
ทั้งนี้ กลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือกลุ่มเปราะบาง หรือพวกหาเช้ากินค่ำ เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหาร กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเล็ๆที่สายป่านไม่ยาว และกลุ่มที่ภาครัฐขอความร่วมมือปิดกิจการ ในเมื่อขอความร่วมมือภาครัฐก็ต้องเยียวยา โดยควรมีระบบในแต่ละจังหวัดที่เกิดวิกฤติทำทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึง เพราะมองว่าวิกฤติรอบนี้กว่าจะมีวัคซีน และฟื้นกลับมาปกติอาจต้องใช้ระยะเวลาถึงไตรมาส 3-4
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะออกมาตรการมาช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีตั้งแต่การระบาดรอบแรก โดยเฉพาะการช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง หรือซอฟท์โลน 5 แสนล้าน แต่ปรากฎว่ามีผู้ประกอบการที่เข้าถึงซอร์ฟโลนดังกล่าวแค่ 7 หมื่นราย มีการใช้เม็ดเงินจากซอร์ฟโลนดังกล่าวแค่ 1.2 แสนล้านบาท เหลืออีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี โดยสาเหตุที่เข้าไม่ถึงแม้ว่าธปท.จะผ่อนปรนเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่เสียงจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่างบอกว่าหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่หน่วยงานปล่อยสินเชื่อยังยึดเกณฑ์เดิมๆ ที่ทำให้
 
เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เพราะยังไม่ปรับตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งเงินกองทุนประกันสังคม 3 หมื่นล้านบาท ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ พอเจอวิกฤติรอบใหม่ ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์เอสเอ็มอีให้หนักกว่าเดิม
 

 
“ยุทธพงศ์”ถามรัฐบาลทำไมไม่ปรับลดงบฯกองทัพ
https://www.innnews.co.th/politics/news_864047/
 
"ยุทธพงศ์" ถามรัฐบาลทำไมไม่ปรับลดงบฯกองทัพ ในงบฯปี 65 มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรกว่าการช่วยประชาชน
 
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แจงการมอบนโยบายจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ม.ค.64  เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 3.10 ล้านล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่มีจำกัด พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีนโยบาย ให้หน่วยงานรัฐประหยัดงบประมาณ, ให้ความสำคัญกับ กลุ่ม เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ให้มีรายได้เพียงพอ, ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก, การเพิ่มระดับความสามารถของประเทศ และการพัฒนาศักยภาพ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
 
ทั้งนี้ งบฯ ปี2565 ในช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก รัฐบาล ต้องมีหน้าที่สำคัญที่สุด คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับบอกว่าให้ประหยัดงบประมาณ แต่ไม่มีนโยบายที่จะฟื้นฟู เศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วๆไป และไม่แตะต้องงบ กองทัพต่างๆ เลย แม้แต่น้อย โครงการจัดซื้ออาวุธ ต่างๆ ยังเดินหน้าเต็มที่ ในงบฯปี-2565
 
ดังนั้นจึงเกิดคำถาม ทำไมถึง ไม่ยอมปรับลดงบประมาณ ของ กองทัพ เลย มีความจำเป็นเร่งด่วน อะไรในสภาวะประชาชนคนไทยที่ กำลังเดือดร้อน อย่างแสนสาหัสในทุกๆภาคส่วน ของประเทศ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่