JJNY : เล็งหั่นงบ"ซื้ออาวุธ-รื้อถนน"แนะให้สื่อถ่ายทอดสด/ท่องเที่ยววูบ-กำลังซื้อทรุด/ทั่วโลกติดโควิด11.5ล./ติดเชื้อเพิ่ม5

ฝ่ายค้านเล็งหั่นงบ "ซื้ออาวุธ-รื้อถนน" แนะเปิดให้สื่อถ่ายทอดสด ประชุม "กมธ." 8กค.นี้
https://www.matichon.co.th/politics/news_2255914

 
ฝ่ายค้านเล็งหั่นงบ “ซื้ออาวุธ-รื้อถนน” แนะเปิดให้สื่อถ่ายทอดสด ประชุม “กมธ.” 8กค.นี้
 
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เปิดเผยถึงการเตรียมการพิจารณาเม็ดเงิน และโครงการต่างๆ ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า ครั้งนี้จะต้องต่อรองกับรัฐบาลว่างบประมาณหลังสถานการณ์โควิดที่ไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่เป็นประโยชน์จะต้องตัดออก นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลสั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปจัดทำโครงการต่างๆ ขึ้นมาใหม่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆ เช่น รื้อโครงการที่เกี่ยวกับหาแหล่งน้ำ ทำถนน หรือสร้างอาคารออกก่อน เพราะผู้แทนราษฎรได้อภิปรายในสภาแล้วว่า ยุคนี้เป็นยุคของการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนก่อน เพราะจะเหลือเวลาประมาณ 2 เดือน ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ให้สามารถนำโครงการเหล่านี้มาปรับแก้ รวมไปถึงงบประมาณที่ใช้จัดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ จะขอตัดทั้งหมดเพื่อขอนำเงินมาใช้แก้ไขปัญหาที่เป็นประเทศจริงๆ ก่อน และอยากให้ส่วนราชการชี้แจงด้วยว่างานที่ตั้งไว้เกี่ยวข้องหรือแก้ปัญหายุคหลังโควิด-19 อย่างไรบ้างด้วย
 
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) ในฐานะ กมธ.งบ 64 กล่าวว่า กมธ.จะเริ่มมีการประชุมในวันที่ 8 กรกฎาคม ในหลักการต้องเลือกประธาน กมธ. และตำแหน่งต่างๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่าจะได้เป็นประธาน จากนั้นคงเสวนาถึงกรอบในการทำงาน ในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนกว่าภายใน 105 วัน ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ.จะต้องสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของภาษีอากรหรือเงินงบประมาณ และต้องให้มีกระบวนการมีส่วนรวมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้เกี่ยวข้องด้วย สรุปต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนถ้วนหน้าและต้องพิจารณาแก้วิกฤตทางเศรษฐกิจสังคม สาธารณสุข และความมั่นคงของประเทศด้วย
 
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบที่รัฐบาลจัดทำขึ้นมามีจุดอ่อนหลายประการ อาจเรียกได้ว่าจัดงบประมาณที่สร้างความอ่อนแอให้ประชาชน หรืออาจเรียกว่าประชาชนล้มละลายด้านงบประมาณ เพราะเงินถูกใช้เป็นงบรายจ่ายประจำ บุคลากรที่เป็นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐเรียกว่างบรายจ่ายประจำมากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 76.5 ของงบประมาณทั้งหมด หากพิจารณาฝั่งรายได้ปีนี้แม้จะคาดการณ์ว่าเก็บภาษีได้ 2.67 ล้านล้านบาทเศษ ซึ่งมีผู้เกี่ยวกับออกมาสัมภาษณ์แล้วว่าไม่น่าจะเก็บถึง 2.5 ล้านล้านบาทเศษด้วยซ้ำ
 
“อยากให้การพิจารณาครั้งนี้เป็นระบบเปิดที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ในการแสดงความคิดเห็น เสนอข้อมูล ถ้าไม่ผิดกฎหมายควรเปิดให้สื่อมวลชนได้ถ่ายทอดสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดี และรัฐบาล สำนักงบประมาณต้องมีข้อมูลที่เพียงพอให้ กมธ.และผลงานหรือการประเมินผลถึงความคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อีกประเด็นมีงบผูกพันข้ามปี ที่เป็นภาระเช่น ซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ หรือก่อสร้าง เมื่อรวมแล้วมีจำนวนมากน่าจะเกินเพดานร้อยละ 10 ของงบประมาณประจำปี ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังห้ามไว้ แต่ทราบว่ารัฐบาลและสำนักงบประมาณประดิษฐ์คำว่าขึ้นมารายการใหม่ ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย คงต้องหาข้อยุติ มิเช่นนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เลขาธิการพรรค ปช.กล่าว
 

 
ท่องเที่ยววูบ-กำลังซื้อทรุด กรุงศรีฯ หั่นจีดีพี 63 ดิ่ง -10.3%
https://www.prachachat.net/finance/news-486730
  
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับประมาณการจีดีพี -10.3% จาก -5.5% หวั่นโควิดระบาดระลอก 2 ฉุดนักท่องเที่ยวหายวับเหลือ 6.7 ล้านคน จาก 40 ล้านคนปี 62 ชี้ สัญญาณอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ-กำลังซื้อหาย การลงทุนลดฮวบ -14.7% เผย ไตรมาส 2 เจ็บหนักเห็นติดลบหนัก -17%
  
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 อยู่ที่ -10.3% จากคาดการณเดิมอยู่ที่ -5% ปัจจัยมาจากสถานการณ์ที่เดิมคาดว่าจะคลี่คลายได้เร็ว แต่จะเห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ แม้ว่าในประเทศยังทำได้ค่อนข้างดี แต่ต่างประเทศยอดการติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถกลับมาได้เร็ว
 
โดยคาดการณ์ปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ถือเป็นยอดที่หายไปสูงถึง 83% และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังคงเข้ามาน้อย แม้ว่าต่างประเทศบางประเทศทยอยเปิดประเทศ แต่เชื่อว่าทางการไทยยังคงไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทันที เพราะยังห่วงเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19
 
ขณะเดียวกันสัญญาณอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลง แม้ว่าภาครัฐพยายามออกนโยบายมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นโยบายออกมาทำได้เพียงประคอง ประกอบกับวิกฤตครั้งนี้ทำให้เศรษฐกิจทรุดค่อนข้างเร็ว จึงกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ เนื่องจากกิจกรรมในประเทศหยุดกระทบแรงต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อ และส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากประมาณการเดิมอยู่ที่ -5.5% มาอยู่ที่ -14.7% ส่วนหนึ่งมาจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกและความต้องการปริมาณการค้าโลกที่ลดลง จึงปรับตัวเลขการส่งออกจาก -10.0% เป็น -12.5%
 
“การปรับจีดีพีรอบนี้ที่ -10.3% เนื่องจากเราไม่ได้ปรับมา 3 เดือน ซึ่งจากคาดการณ์ครั้งก่อนเราคิดว่าสถานการณ์จบเร็ว การท่องเที่ยวกลับมาได้ แต่โควิดมีแนวโน้มระบาดรอบ 2 ทั้งนี้ หากแยกแยะจีดีพี -10.3% เราให้ผลจากนักท่องเที่ยวที่จะหายไปประมาณ 3.7% และกำลังซื้อที่อ่อนแอลงอีก 3.7% รวมปัจจัยนอกเหนือของไทยที่เผชิญ คือ ภัยแล้งและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เลื่อนไปจากพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่ล่าช้าก่อนหน้านี้”
 
ดร.สมประวิณ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ธนาคารได้ประมาณการณ์จะเห็นอัตราติดลบค่อนข้างลึกอยู่ที่ -17% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาการล็อกดาวน์และการปิดกิจกรรมภายในประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่หายไป อย่างไรก็ดี ธนาคารคาดว่าสถานการณ์จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 ตามกิจกรรมที่คลายล็อกและนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการดึงกำลังซื้อจากคนที่มีกำลัง เช่น มาตรการท่องเที่ยว เป็นต้น จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีขึ้น แต่ยังคงเห็นจีดีพีติดลบ แต่เป็นการติดลบน้อยลง
  
“เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปฟื้นตัวเหมือนในช่วงก่อนจะมีโควิด-19 อาจจะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี โดยในปี 64 จะเริ่มเห็นการทยอยฟื้นตัวโดยมองจีดีพีจะอยู่ที่ 2.9% และในปี 65 จีดีพีจะอยู่ที่ 4.2% และในปี 66 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้นเทียบช่วงก่อนโควิด”
 

 
ทั่วโลกติดโควิด11.5ล้านคน-อินเดียขยับที่3โลก
https://www.innnews.co.th/world-news/news_715906/
 
ทั่วโลกป่วยโควิดกว่า 11.5 ล้านคน เพิ่ม 1.83 แสน ขณะยอดผู้เสียชีวิต 5.36 แสนราย - อินเดียขึ้นอันดับ3แซงรัสเซีย
 
เว็บไชต์ Worldometers  รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม  2563 เวลาประมาณ 08.54 น. ตามเวลาประเทศไทย ทั่วโลกพบมีผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 11,555,414 ราย เพิ่มขึ้น 183,768 ราย เสียชีวิต 536,720 ราย เพิ่มขึ้น 3,864 ราย รักษาหาย 6,534,456 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากสุด 10 อันดับได้แก่
 
1. ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อ 2,982,928 ราย เพิ่มขึ้น 47,501 ราย เสียชีวิต 132,569 ราย เพิ่มขึ้น 256 ราย รักษาหาย 1,289,564 ราย
 
2. ประเทศบราซิล มีผู้ติดเชื้อ 1,604,585 ราย เพิ่มขึ้น 26,209 ราย เสียชีวิต 64,900 ราย เพิ่มขึ้น 535 ราย รักษาหาย 978,615 ราย
 
3. ประเทศอินเดีย มีผู้ติดเชื้อ 697,836 ราย เพิ่มขึ้น 23,932 ราย เสียชีวิต 19,700 ราย เพิ่มขึ้น 421 ราย รักษาหาย 424,891 ราย
 
4.ประเทศรัสเซีย มีผู้ติดเชื้อ 681,251 ราย เพิ่มขึ้น 6,736 ราย เสียชีวิต 10,161 ราย เพิ่มขึ้น 134 ราย รักษาหาย 450,750 ราย
 
5. ประเทศเปรู มีผู้ติดเชื้อ 302,718 ราย เพิ่มขึ้น 3,638 ราย เสียชีวิต 10,589 ราย เพิ่มขึ้น 177 ราย รักษาหาย 193,957 ราย
 
6. ประเทศสเปน มีผู้ติดเชื้อ 297,625 ราย เสียชีวิต 28,385 ราย
 
7. ประเทศชิลี มีผู้ติดเชื้อ 295,532 ราย เพิ่มขึ้น 3,685 ราย เสียชีวิต 6,308 ราย เพิ่มขึ้น 116 ราย รักษาหาย 261,032 ราย
 
8.สหราชอาณาจักร มีผู้ติดเชื้อ 285,416 เพิ่มขึ้น 516 ราย เสียชีวิต 44,220 ราย เพิ่มขึ้น 22 ราย
 
9. ประเทศเม็กซิโก มีผู้ติดเชื้อ 256,848 ราย เพิ่มขึ้น 11,597 ราย เสียชีวิต 30,639 ราย เพิ่มขึ้น 796 ราย รักษาหาย 155,604 ราย
 
10. ประเทศอิตาลี มีผู้ติดเชื้อ 241,611 ราย เพิ่มขึ้น 192 ราย เสียชีวิต 34,861 ราย เพิ่มขึ้น 7 ราย รักษาหาย 192,108 ราย
ขณะที่ ประเทศไทยยังคงที่อยู่ในอันดับที่ 97 มีผู้ติดเชื้อสะสม 3,190 ราย เพิ่มขึ้น 5 ราย เสียชีวิต 58 ราย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่