JJNY : 4in1 มธ.เคลื่อนไหว!นศ.ประณามอุ้มหาย/‘เจิมศักดิ์’แนะส.ว. ต้องยึดโยงปชช./'องค์กรอิสระ'ไร้ถ่วงดุล/ม็อบประมงคืนชีพ

มธ.เคลื่อนไหว! นศ.ประณามอุ้มหาย "วันเฉลิม" ปลุก อย่าเพิกเฉย 
https://www.khaosod.co.th/politics/news_4265755
 
ธรรมศาสตร์ เคลื่อนไหวแล้ว! นศ.ประณามอุ้มหาย "วันเฉลิม" ผู้ลี้ภัยชาวไทย ปลุกรัฐอย่าเพิกเฉย แสดงจุดยืนต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
กรณี นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ผู้ลี้ภัยชาวไทย หลังเคยถูก คสช.เรียกรายงานตัวและดำเนินคดีพรบ.คอมพ์ เนื่องจากเป็นแอดมินเพจ "กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ" ซึ่งเป็นเพจเปิดโปงข้อเท็จจริงการเผาเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อปี 53 หายตัวไปอย่างลึกลับ ด้วยวิธีการถูกลักพาตัวขึ้นรถยนต์ส่วนบุคคล เมื่อเย็นวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา
 
ต่อมา การหายตัวอย่างลึกลับของนายวันเฉลิม กลายเป็นกระแสสังคม ผู้คนจำนวนมากเรียกร้องด้วยความไม่พอใจ ลุกลามไปไกลถึงขนาดนิสิต-นักศึกษา และนักเรียน จากหลายสถาบันการศึกษา ต่างพากันออกแถลงการณ์ประณามเหตุดังกล่าว
 
ล่าสุดวันนี้ (6 มิ.ย.) คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เผยแพร่แถลงการณ์คณะกรรมการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณี การหายตัวไปอย่างลึกลับ ด้วยวิธีการลักพาตัวที่อุกอาจของ ของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกัน มีรายละเอียด ดังนี้
 

 
https://www.facebook.com/polscisctu/photos/a.261772393922063/2858881687544441


  
‘เจิมศักดิ์’ แนะ ส.ว. ต้องยึดโยงประชาชน ‘ปิยบุตร’ ซัดเป็นจุดเกิดความขัดแย้งการเมืองไทย
https://www.matichon.co.th/politics/news_2217954
 
‘เจิมศักดิ์’ แนะ ส.ว. ต้องยึดโยงประชาชน ‘ปิยบุตร’ ซัดเป็นจุดเกิดความขัดแย้งการเมืองไทย
 
เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่อาคารไทยซัมมิท คณะก้าวหน้าจัดงานเสวนา “เวทีแสวงหาฉันทามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย : New Consensus” จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน เวทีสานเสวนาที่ร่วมกันตั้งคำถามอย่างถึงรากถึงเหตุผลในการดำรงอยู่ของวุฒิสภา : ส.ว. ไทย อย่างไรต่อดี ? มีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) เป็นผู้ร่วมเสวนา
 
นายเจิมศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงการมีอยู่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า เรามีรัฐสภา หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย และคอยตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ผ่านการตั้งกระทู้ถาม และตั้งญัตติในสภา โดยระบบรัฐสภา จะมี 2 แบบ คือ ระบบสภาเดี่ยว คือสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน เพื่อคอยตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร และระบบ 2 สภา คือ สภาล่าง และสภาบน
 
ถ้าถามว่าควรมี ส.ว. หรือไม่ ก็จะตอบว่า ผมไม่ยึดว่าส.ว. มีความจำเป็นหรือไม่จำเป็น หากมีส.ว. ก็ต้องออกแบบที่มีประโยชน์จริงๆ คือเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการในหลายๆ ด้านมารวมกัน เพื่อให้เกิดการติติงการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ดังนั้นเราจึงต้องออกแบบหน้าที่ กับที่มาให้สอดคล้องกัน หากไม่สอดคล้องกันก็ไม่ต้องมีดีกว่า หากมีที่มีสัมพันธ์กับประชาชนมาก ก็อาจจะให้มีอำนาจได้มากขึ้น แต่หากมีการยึดโยงกับประชาชนน้อย ก็ให้มีอำนาจน้อย เราต้องยึดในหลักการนี้เสียก่อน ซึ่งวิธีที่จะยึดโยงกับประชาชนมากที่สุดคือ การเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมาของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการจัดการเลือกตั้งรายจังหวัด ซึ่งไม่ต่างจาก ส.ส. หลังจากที่ตนเป็นได้รับเลือกเป็น ส.ว. วาระ 6 ปี ตนคิดว่า ปีแรกค่อนข้างเป็นไปด้วยดี เพราะถูกออกแบบให้เป็นอิสระจากพรรคการเมือง และมีอำนาจมาก เพราะยึดโยงกับประชาชน สามารถถอดถอนรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ทั้งยังมีอำนาจในการเลือกสรรองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าพูดกันตรงๆ เราเข้าไปปี 2543 ยุครัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้เข้ามาแทรกแซงส.ว. เลย และถือว่าองค์กรอิสระทั้งหลายก็ดูดีมากเช่นกัน
 
แต่พอในยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พูดตรงๆ ว่า ส.ว.ก็ลดความเป็นอิสระ เริ่มต้นจากสภาผัวเมีย เริ่มต้นจากพี่กับน้อง ซึ่งเป็นตัวหลักของระบบอุปภัมถ์ในบ้านเมือง พ่อเป็น ส.ส. ลูกเป็น ส.ว. หรือ ผัว เป็น ส.ส. และเมียเป็น ส.ว. จึงเริ่มไม่เป็นอิสระ ต่อมาก็มีปัญหาเพิ่มขึ้น ส.ว. ได้รับเงินเดือนจากพรรคการเมือง เดือนละ 50,000 หรือ 100,000 บาท เพราะมีส.ส. มาตีสนิท ส.ว. จนสามารถสั่ง ส.ว.ได้ เช่น การส่งโผชื่อองค์กรอิสระต่างๆ มันเริ่มเพี้ยนไปเรื่อยๆ และตอนท้ายๆ ก็หนักไปอีก เพราะคิดต่อไปอีกว่าหากหมดจาก ส.ว. แล้วจะไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผมได้คำนวณว่า ตลอด 5 ปี เราต้องจ่ายเงิน ส.ว. เกือบหมื่นล้าน เพราะส.ว. จะมีผู้ช่วย ผู้ชำนาญการต่างๆ หากให้มีการเลือกส.ว. ตามพื้นที่ก็จะไม่ต่างจากส.ส. ถ้าเช่นก็ให้มีสภาเดียวไปเพื่อประหยัดเงิน
 
ถ้าอยากจะให้ยึดโยงกับประชาชนเต็มที่ ตนคิดว่าก็พยายามออกแบบให้เลือกตามกลุ่มอาชีพ เช่น หากมีประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 40 ล้านคน ให้กำหนดตัวเองว่าอยู่ในอาชีพอะไร เช่น บุคคลากรทางการแพทย์ ชาวนา นักธุรกิจ เราอาจจะแบ่ง 10 กลุ่มอาชีพ แต่ละกลุ่มอาชีพก็ให้มีคนเสนอตัวอยากเป็น ส.ว. แล้วให้เลือกทั้งประเทศ การซื้อเสียงก็จะเกิดขึ้นยาก กลุ่มไหนมีคนลงทะเบียนเยอะก็จะได้สัดส่วนมาก ทำให้ทุกอาชีพสามารถมาช่วยกันกลั่นกรองกฎหมายได้
 
เราจะต้องประนีประนอมอำนาจ คือ 
1. เราอยากเห็นอำนาจในการดูแลบ้านเมืองอยู่กับประชาชน 
และ 2. เราต้องยอมรับว่าบ้านเมืองเรา มีอำนาจอื่นๆ หลายสถาบัน นอกเหนือจากอำนาจของประชาชน เราจึงต้องออกแบบสภาให้มีการผสมผสานหลากหลายอำนาจ แต่ต้องลดอำนาจของ ส.ว. ลง หากมีความขัดแย้งกันก็ให้ยึด ส.ส. เป็นหลัก
 
“ส่วนส.ว. ชุดนี้ที่มาจากการแต่งตั้ง มันมีปัญหายิ่งกว่า เพราะยึดโยงกับคสช. อย่างเดียว เพราะในความเป็นจริงคือ คสช. เป็นผู้เลือกมาเองทั้งหมด จึงขัดต่อหลักการเรื่องการยึดโยงกับประชาชน แต่ยังมีอำนาจเข้าไปเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ฉะนั้นอย่าเอาส.ว.ชุดผมไปเทียบกับส.ว. ชุดนี้ เพราะมันยิ่งกว่าสภาผัวเมียอีก” นายเจิมศักดิ์ กล่าว
 
นายปิยบุตร กล่าวว่า ประเทศที่ใช้ระบบ 2 สภา ก็ต้องตั้งคำถามว่า สภาล่าง ตั้งขึ้นมาทำไม ซึ่งเหตุผลเรื่องการประนีประนอมอำนาจก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง และเหตุผลหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในไทยคือ กลายเป็นสภาที่คอยประกันการสืบทอดอำนาจของกลุ่มต่างๆ แต่ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรก็ตาม หัวใจและรากเหง้าการมีอยู่ของ ส.ว. เป็นการเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งในกรณีของประเทศไทย มันจะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย ในการปฏิวัติสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนในปีเดียวกัน จนถึงปัจจุบันนั้น ผมสรุปได้ว่า ส.ว. กลายเป็นสถาบันทางการเมืองแห่งการแย่งชิงกันของฝ่ายต่างๆ และท้ายที่สุดอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้ง วิกฤตรัฐธรรมนูญ และการรัฐประหาร เริ่มต้นในรัฐธรรมนูญ 2475 มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร แต่การยกร่างของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้มองให้มีการเลือกตั้งเป็น 3 สเต็ป คือ รอบแรกสภาผู้แทนราษฎรมาจากคณะผู้พิพากษาพระนครฝ่ายทหาร หรือผู้ที่ยึดอำนาจปฏิวัติ ที่ตั้งสมาชิกขึ้นมา 70 คน หลังจากนั้นก็จะเปิดให้มีการเลือกตั้งอีกครึ่งหนึ่ง และเมื่อครบ 10 ปี ก็จะให้มีการเลือกตั้งทั้งหมด
 
ต่อมารัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ยังคงรูปแบบใช้สภาเดียว โดยพระยามโนปกรณนิติธาดา ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น บอกว่า ประเทศไทยไม่มีประเพณีใดบังคับให้ต้องมีสองสภา ทั้งนี้ประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ จะพยายามใช้สภาเดียว เรามีสภาเดียวก็จริง แต่ใส้ในกลายเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรกมาจากการเลือกตั้ง และอีกประเภทคือ เป็นกลุ่มที่เคยแต่งตั้งไว้แล้วให้อยู่ต่อ รอต่อไปจนครบ 10 ปี ค่อยให้มีการเลือกตั้งทั้งหมด พูดง่ายๆ คือ รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับแรกเรามีสภาเดียว แต่ใส้ในมี 2 ประเภท
 
พอรัฐธรรมนูญ 2511 ตอนร่างก็ถกเถียงว่าจะเอาอย่างไรดี หนึ่งในผู้ร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หากอยากให้อยากคณะรัฐประหารอยู่ต่อไป ต้องมีส.ว. เพื่อเป็นหลักประกันผลงานการทำงาน และการควบคุม ซึ่งต่อมาก็ได้ข้าราชการทหาร และข้าราชการประจำเพียบเต็มสภา ส.ว. เป็นสถาบันของการเดิมพันอำนาจตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมัยแรกเป็นคู่ของคณะราษฎรและคณะเจ้า ต่อมาเป็นคู่ของคณะรัฐประการและฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้ง โดยนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง ทั้งการสละราชของ ร.7 การรัฐประหารปี 2490 และการสืบทอดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม  รสช. และเหตุการณ์พฤษภา 2535 พอมาถึงปี 2540 ที่ให้ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง จนเกิดการแทรกแซง และเป็นสภาผัวสภาเมีย
 
“การมีสภาที่สองของประเทศไทย คือสนามแห่งการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของกลุ่มการเมือง และเป็นเครื่องมือการสืบทอดอำนาจของทหาร ถึงเวลาที่ต้องมาคิด ว่าหากเป็นแบบนี้ก็มีสภาเดียวดีกว่า เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเถียงกันว่าจะมาจากการแต่งตั้ง หรือมาจากการเลือกตั้ง ผมคิดเวลานี้ ส.ว. ชุดนี้ได้ทำลายเหตุผลของการมีส.ว. เรียบร้อยแล้ว เพราะวันนี้ยิ่งกว่าสภาผัวเมีย ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล และยังต้องเสียเงินจ่ายเงินเดือนจำนวนมาก” นายปิยบุตร กล่าว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่