ใช้ถุงผ้า ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่? และต้องใช้ถุงผ้าซ้ำกี่ครั้ง?

กระแสการงดถุงหิ้วพลาสติกของไทยในปัจจุบันเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลายด้าน ด้านหนึ่งก็เห็นด้วยว่าเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่อีกด้านหนึ่งก็มองว่าเป็นความไม่สะดวก ทั้งนี้การรณรงค์ลดใช้ถุงหิ้วพลาสติกได้เกิดขึ้นมานานแล้วในหลายประเทศ และที่สำคัญคือได้มีการศึกษาโดยองค์กรสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลอังกฤษ (Environment Agency) ให้ผลการศึกษาที่น่าสนใจหลายประการ

รายงานดังกล่าวได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้ถุงหิ้วพลาสติกต่าง ๆ ดังนี้
- ถุงหิ้วทั่วไป (conventional HDPE bag)
- ถุงหิ้วทั่วไปที่ย่อยสลายง่ายด้วยแสงหรือความร้อน (HDPE with prodegradant additive)
- ถุงกระสอบ (heavy duty LDPE)
- ถุงสปันบอนด์  (non-woven PP bag) (นึกถึงถุงหิ้วแก้วที่ร้าน Amazon แจกฟรี)
- ถุงกระดาษ (paper bag)
- ถุงชีวพอลิเมอร์ (biopolymer bag)
- ถุงผ้า (cotton bag)

โดยจะศึกษาตลอดตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการทำลาย ได้แก่
- การจัดหาวัตถุดิบ รวมไปถึงการตัดไม้ การเพาะปลูก และกระบวนการที่ได้มาซึ่งวัตถุดิบ โดยมองทั้งตัววัตถุดิบ พลังงานที่ใช้ไป และการปล่อยของเสีย
- การบรรจุ
- การผลิต
- การขนส่ง นับตั้งแต่ขนส่งวัตถุดิบ ไปยังโรงงานผลิต จนถึงร้านค้า
- การกำจัด โดยประเมินจากตัวเลือก การฝังกลบ การเผา การรีไซเคิลเชิงกล การย่อยสลาย
- การนำไปใช้ซ้ำ การลดการผลิตพลาสติกชนิดอื่น
รายละเอียดของระเบียบวิธีการศึกษาให้ดูเพิ่มเติมที่เอกสารฉบับเต็ม

ผลการศึกษา
- ถุงหิ้วทั่วไป มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุด โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้ซ้ำ เช่น เป็นถุงขยะ
- ถุงหิ้วแบบบย่อยสลายง่าย มีผลกระทอบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงหิ้วทั่วไป เนื่องจากมีการใช้พลังงานในการผลิตและขนส่งมากกว่า
- ถุงหิ้วชีวพอลิเมอร์จากแป้ง มีผลกระทบสูงประมาณ 2 เท่าของถุงพลาสติกทั่วไป เนื่องจากวัตถุดิบ การขนส่ง และการเกิดก๊าซมีเทนจากกระบวนการฝังกลบ
- ถุงกระสอบ หากนำมาใช้ซ้ำตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไป จะมีผลกระทบน้อยกว่าถุงหิ้วทั่วไป
- ถุงสปันบอนด์ มีพิษต่อพื้นดิน
- ถุงกระดาษ มีพิษต่อพื้นดินจากการผลิต ต้องนำมาใช้ซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง
- ถุงผ้า สร้างความเป็นกรด สร้างผลกระทบต่อพื้นดินและแหล่งน้ำ เนื่องจากการใช้ปุ๋ย (รวมถึงยาฆ่าแมลง) และพลังงานในการปลูกฝ้าย

ต้องใช้ซ้ำกี่ครั้ง
- ถุงผ้าต้องใช้ซ้ำอย่างน้อย 131 ครั้ง ถึงจะลดผลกระทบให้เทียบเท่าถุงหิ้วธรรมดา ไม่แน่ใจว่าการศึกษานี้ได้คำนึงถึงการซักถุงผ้าด้วยหรือไม่ ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับพลังงานและสารเคมีที่ใช้ในการซัก และการปล่อยสารเคมีออกสู่สิ่งแวดล้อม
- ถุงกระดาษที่ต้องใช้ซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากถุงกระดาษไม่คงทน
- หากมีการใช้ถุงหิ้วพลาสติกมาเป็นถุงขยะ ก็ยิ่งจะทำให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลดลงไปเกินกว่าเท่าตัว ส่งผลให้ถุงผ้าต้องใช้ซ้ำถึง 327 ครั้ง จึงจะตามถุงหิ้วพลาสติกทัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ
- ถุงผ้า และ ถุงจากชีวพอลิเมอร์แป้ง ถึงแม้จะคำนวณผลจากการใช้ซ้ำแล้ว กลับก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำได้สูงมาก ทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล
สรุปจากผลการศึกษานี้ อาจเป็นไปได้ว่าการงดใช้ถุงพลาสติกเพื่อไปใช้วัสดุอื่น อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะการไปใช้ถุงผ้าที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่าเดิมมาก และข้อแนะนำคือ ห้างร้านต่าง ๆ ควรใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ไปเลย เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำถุงไปใช้ใส่ขยะได้ นอกจากนั้นการที่ร้านค้าใช้แค่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ จะทำให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าจำนวนน้อยมีแนวโน้มที่ปฏิเสธการรับถุง ทำให้ร้านค้าจ่ายถุงพลาสติกลดลงด้วย

ขอบคุณแหล่งข้อมูล
Life cycle assessment of supermarket carrier bags: a review of the bags available in 2006


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่