การรักษาหลุมสิว ด้วยวิธี subcision

กระทู้สนทนา
          

#หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาหลุมสิวให้ตื้นขึ้นได้
#ถ้าคุณเบื่อหน่ายกับวิธีที่ไม่ได้ผล #ทางเลือกนี้ช่วยคุณได้

Subcision อ่านว่า (สับ-ซิ-ชั่น) 
คือ การใช้เข็มสอดเข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อตัดเลาะพังผืดที่ยึดหลุมสิวเอาไว้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้รักษาหลุมสิวชนิดที่มีพังผืดยืดอยู่ข้างใต้หลุม เพื่อให้ก้นหลุมสามารถยกตัวกลับขึ้นมาด้านบนได้

#subcisionเหมาะกับใคร
เหมาะกับคนไข้ที่มีหลุมสิว 
- ชนิด rolling scar หลุมลักษณะนี้จะไม่ลึกมาก เกิดจากการมีพังผืดเกาะยึดอยู่ใต้หลุม จึงมีลักษณะเป็นแอ่งที่มีขอบบานออกด้านข้าง ดังรูปประกอบ
- หลุมสิวแบบที่ยืดออกได้ (distensible scar) สามารถตรวจร่างกายโดย ใช้นิ้วดึงยืดผิวหนังบริเวณที่มีหลุมที่เราต้องการตรวจออกแล้วจะเห็นว่า หลุมสิวนั้นยืดออกใกล้เคียงกับผิวหนังรอบๆที่ปกติ

#ข้อควรระวัง
- ถ้ามีประวัติเป็นแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ จะมีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนตรงบริเวณที่ทำ subcision มากขึ้น 

#วิธีทำแบบคร่าวๆ ควรทำโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์และชำนาญภายใต้เทคนิคปลอดเชื้อ 
(Sterile technique) 
- ล้างหน้าให้สะอาด แปะยาชานานประมาณ 45-60 นาที
- ในบางจุดถ้าแปะยาชาไม่เพียงพอ สามารถฉีดยาชาเพิ่มได้
- แพทย์จะใช้เข็มสอดเข้าไปใต้ผิวหนังและค่อยๆเลาะพังผืดใต้หลุมสิวออก ระหว่างทำคนไข้อาจจะได้ยินเสียงกึ๊ดๆ(เสียงพังผืดที่ถูกเลาะออก) 
- แพทย์จะกดห้ามเลือด และทำความสะอาดแผล ก่อนปิดแผลให้แน่น เพื่อป้องกันเลือดมาคั่งตรงจุดที่ทำการเลาะพังผืด หากมีเลือดมาคั่งจะทำให้แผลปูดนูนอักเสบและเพิ่มโอกาสแผลติดเชื้อตามมา
- ในบางรายหากมีแนวโน้มว่าแผลอาจติดเชื้อ แพทย์อาจจะพิจารณาให้ยาปฎิชีวินะกลับไปกินต่อที่บ้าน 

#การดูแลตัวเองหลังจากทำเสร็จ
- หลังทำถ้ารู้สึกปวดมาก สามารถกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลได้ แต่ปกติคนไข้จะไม่ได้รู้สึกปวดมากจนต้องกินยา อาจรู้สึกระบมเล็กน้อย และจุดที่ทำจะมีรอยช้ำอยู่ประมาณ 7 วัน แล้วจะค่อยหายเป็นปกติ 
- ไม่ให้บริเวณที่ทำถูกน้ำประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อให้แผลหายได้ดีขึ้น
- เมื่อครบ 24 ชั่วโมงสามารถ ล้างหน้าเบาๆได้ แล้วรีบทำความสะอาดแผล และทายาฆ่าเชื้อ เช่น fucidin oint หรือ bacidal เป็นต้น 
- ในช่วง 7-10 วันแรก หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เหงื่อออกหรือแผลเปียกน้ำเช่น ออกกำลังกาย อบซาวน่า รวมถึงงดแต่งหน้า (เฉพาะบริเวณแผล แต่คนไข้สามารถเขียวคิ้ว แต่งตา ทาปากได้ค่ะ)

#อาการแทรกซ้อนที่อาจมีได้ แต่พบไม่บ่อย
- มีเลือดคั่งหรือการอักเสบติดเชื้อที่แผล
- เกิดแผลเป็นนูนตรงจุดที่ทำ
- เกิดรอยดำตรงจุดที่ทำ 

#ต้องทำกี่ครั้ง และทำบ่อยแค่ไหน
- ปกติถ้าทำครั้งแรก อาจจะทำครั้งละไม่มากก่อน เช่น แก้มข้างละ 5-10 จุด 
- ค่อยๆทยอยทำจุดอื่นในครั้งถัดไป ปกติจะนัดมาดูแผลก่อนประมาณ 5-7 วัน ถ้าปกติดีพิจารณานัดทำครั้งต่อไปอีก 4-6 สัปดาห์ หรือแล้วแต่ความเหมาะสมค่ะ 

#มีหลุมสิวควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆนะคะ
#ทิ้งไว้นานจะยิ่งรักษายากปล่อยนานพังผืดยึดเกาะแน่น
#การสร้างคอลลาเจนใหม่และการหายของแผลก็ยิ่งยากขึ้นตามอายุที่มากขึ้นด้วยค่ะ
ถ้าคิดว่าโพสนี้มีประโยชน์ สามารถกดแชร์ได้นะคะ เพราะยังมีคนอีกมากที่ไม่รู้เรื่องนี้ค่ะ
เริ่มต้นรักษาอย่างถูกวิธี ช่วยให้ไม่เสียโอกาสค่ะ 

เพจ Dr. Yui คุยทุกเรื่องผิว ❤️
https://www.facebook.com/dryui.manita/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่