ปัญหาเกี่ยวกับเด็ก ที่คุณได้ยินบ่อยที่สุดคืออะไร?

แล้วจะทำอย่างไร? หากปัญหาเหล่านั้นมาเกิดกับลูกของเรา...
 
วิธีสร้างเกราะให้ใจ(ลูก)แกร่ง
 
        การเลี้ยงลูกในสังคมทุกวันนี้ คุณพ่อคุณแม่คงต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ นานามากมาย ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพร่างกาย เราอาจจะให้คุณหมอช่วยใช้ยารักษาหรือฉีดวัคซีนป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นปัญหาทางด้าน ‘จิตใจ’ คงต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่เองนี่แหละครับที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหรือเยียวยาปัญหาของลูกๆ ในเบื้องต้น แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ถึงค่อยปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
         ปัญหาที่เอามาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นปัญหาที่พี่หมอได้ยินได้ฟังจากคุณพ่อคุณแม่อยู่บ่อยๆ และเชื่อว่าน่าจะประสบกันทุกบ้าน ไม่มากก็น้อย พี่หมอเลยมีข้อแนะนำในการรับมือเบื้องต้นมาฝากกันครับ
1.  โดนเพื่อนแกล้ง  
         การกลั่นแกล้งในที่นี้หมายถึงการรังแก ทั้งโดยการใช้กำลัง หรือคำพูด อาจจะเป็นทั้งการทำร้ายร่างกาย หรือการล้อเลียน ทำให้อับอาย รวมถึงการแบน ไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม (พบบ่อยในกลุ่มเด็กผู้หญิง) แถมในปัจจุบันยังมีการทำร้ายกันโดยใช้สื่อโซเชียลต่างๆ เป็นเครื่องมือที่เรียกว่า Cyber Bully โดยการใช้คำพูดด่าทอ ส่อเสียด ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบทางจิตใจได้อย่างมหาศาลจนอาจจะกลายเป็นบาดแผลฝังลึก และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กคนหนึ่งไปได้อย่างสิ้นเชิง 
หัวใจสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ก็คือต้องทำให้เด็กรู้สึก “ปลอดภัย” หากเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรรีบแจ้งให้คุณครูทราบ ซึ่งคุณครูและโรงเรียนเองก็ควรยอมรับว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงและไม่ปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่มีการแก้ไข และคุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่ควรไปตอบโต้ด้วยการรังแกเด็กคนอื่นเหมือนที่เค้ามาทำกับลูกของเรา เพราะการทำแบบนั้นจะยิ่งเป็นการเพิ่มเชื้อไฟและทำให้วงจรของปัญหาวนเวียนไม่รู้จบ 
นอกจากนี้ “การรับฟัง” ก็เป็นสิ่งสำคัญ คนในครอบครัวควรเปิดอกคุยกันเพื่อทำให้ลูกมั่นใจว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อกับแม่ก็พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้กับเค้าในการที่จะต่อสู้ปัญหานี้ไปด้วยกัน และถ้าจำเป็นก็อาจจะต้องมีการใช้กฎหมายเพื่อจัดการกับผู้คุกคาม  
 
2.  ขาดความมั่นใจในตัวเอง
สาเหตุในการขาดความมั่นใจของเด็กเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ หรือบาดแผลที่เกิดจากความล้มเหลว หรือประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น ถูกต่อว่า ล้อเลียน หรือแม้กระทั่งการถูกกลั่นแกล้ง รังแก  
ถ้าในกรณีที่เป็นอุปนิสัยที่ติดตัวมา (Temperament) คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีแบบแผนในการแก้ไขอย่างเป็นขั้นตอน เนื่องจากนิสัยบางอย่างสามารถฝึกหรือทำซ้ำๆจนเกิดขึ้นได้ เช่น ความมั่นใจ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ฝึกหรือให้ทำกิจกรรมบ่อยๆ ลูกก็จะเริ่มมีความมั่นใจขึ้นมาได้
แต่ถ้าลูกสูญเสียความมั่นใจ เพราะเจอกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรงบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรที่จะช่วยลูกจัดการกับปมปัญหาหรือเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อให้ลูกกลับมามีความมั่นใจได้เหมือนเดิม 
 
3.  ขี้กลัว
โดยปกติเด็กจะมีความกลัวตามช่วงวัยอยู่แล้ว เช่น กลัวผี กลัวสัตว์ กลัวคนแปลกหน้า หรือพอโตขึ้นก็อาจจะกลัวการไปโรงเรียน ซึ่งอาการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติและจะเป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตกใจจนเกินไป 
แต่ก็อาจจะมีเด็กขี้กลัวบางประเภทที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ เช่น เด็กที่กลัวบางสิ่งบางอย่างมากจนเกินไป หรือกลัวไปทุกสถานการณ์  ซึ่งถ้าไม่แน่ใจว่าอาการกลัวของลูกผิดปกติหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถพาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อขอคำปรึกษาได้ ซึ่งคุณหมอก็อาจจะใช้วิธีพฤติกรรมบำบัด โดยให้เผชิญกับสิ่งที่กลัวอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการกลัวเหล่านี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ 
 
4.  ย้ำคิดย้ำทำ
อาการนี้จะเริ่มมีในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6-7 ปีขึ้นไป แต่จะเห็นได้ชัดที่สุดในช่วงวัยรุ่น ส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ติดเชื้อเจ็บคอ (Post Streptococcal) เนื่องจากสมองไม่สามารถปิดสวิตช์เมื่อเผชิญกับความกลัวได้ เพราะปกติเวลาที่เรากลัวจะมีข้อมูลส่งเข้าไปที่สมอง ถ้าสมองสามารถปิดสวิตช์ได้ ความกลัวนั้นก็จะหายไป 
ภาวะย้ำคิดย้ำทำจึงมักจะเริ่มจากความกลัว  เช่น กลัวความสกปรก  กลัวเชื้อโรค และกลัวอันตราย  ซึ่งแม้จะไม่อันตรายและสามารถรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ถ้าพบว่าลูกๆของเรามีอาการย้ำคิดย้ำทำมากเกินไป เช่น ล้างมือบ่อย เช็คของบ่อย จนไม่ยอมทำกิจกรรมอื่น หรือพยายามหลีกเลี่ยงความกลัว คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องพาลูกๆไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาต่อไป
 
5.  ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ต่อต้านพ่อแม่
จากงานวิจัยพบว่า ร้อยละร้อยของปัญหาเด็กดื้อ (Oppositional Defiant Disorder) เกิดจากการเลี้ยงดู  เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่บางคนก็อาจจะตอบสนองต่อพฤติกรรมของเด็กในทางที่ผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น เมื่อเด็กทำดีกลับไม่ได้รับการใส่ใจหรือชื่นชม แต่ไปให้รางวัล เมื่อเด็กทำไม่ดี หรือสำหรับครอบครัวที่มีปัญหาในเรื่องของความสัมพันธ์ เด็กส่วนใหญ่ก็มักจะดื้อเช่นกัน 
ดังนั้น วิธีรับมือกับปัญหานี้ที่ดีที่สุด ก็คือการให้ความรักและความเอาใจใส่และใช้เวลาด้วยกันให้มากที่สุด ถ้าจะต้องลงโทษก็ให้เลือกวิธีการด้านบวก หลีกเลี่ยงการดุด่าว่ากล่าวหรือตี และให้ความสนใจ สนับสนุนเมื่อลูกทำดี  ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำแบบนี้ได้ ปัญหาลูกดื้อก็จะค่อยๆลดลงไป
 
จากที่พี่หมอเล่ามา สิ่งที่จะช่วยให้ทุกครอบครัวสามารถผ่านพ้นปัญหาเหล่านี้ไปได้ก็คือการใช้เวลาด้วยกันอย่างมีคุณภาพ รวมถึงความรัก ความเอาใจใส่ ความเข้าใจและพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างกันไม่ว่าจะมีปัญหาหรือเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น 
ลองเอาวิธี  ‘สร้างเกราะให้ใจ(ลูก)แกร่ง’ ไปทำตามดูนะครับ ได้ผลเป็นอย่างไรก็มาเล่าให้พี่หมอฟังบ้างครับ  😊 😊 😊
 
และถ้าใครอยากฟังวิธี ‘สร้างเกราะให้ใจ(ลูก)แกร่ง’ เพิ่มเติม โดย หมอโอ๊ค นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล คุณหมอพ่อลูกแฝด และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ Samitivej Parenting Center จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจากสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยแขกรับเชิญสุดพิเศษ คุณโอปอล์ ปาณิสรา ที่จะมาเล่าประสบการณ์ในฐานะตัวแทนของคุณแม่ยุคใหม่ พี่หมอแนะนำให้ชมต่อได้ที่ Facebook Live https://smtvj.com/2NCCARb
*** ปิดโหวต วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 เวลา 15:35:15 น.
1. ปัญหาเกี่ยวกับเด็ก ที่คุณได้ยินบ่อยที่สุดคืออะไร?  
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่