[CR] รีวิว CU-TEP รอบ 6 ตุลาคม 2562

กระทู้รีวิว
สวัสดีค่ะ เพิ่งไปสอบ CU-TEP มาสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อเช้านี้ วันที่ 6 ตุลาคม และเนื่องจากว่า ตอนที่ตัวเราเองกำลังเตรียมสอบนั้น พบว่าข้อมูลเกี่ยวกับ CU-TEP ที่เป็นปัจจุบันหาได้ยากมากกกกก จึงอยากจะถือโอกาสนี้ แชร์เรื่องราวที่ได้ไปประสบพบเจอมา เพื่อหวังว่าบทความของเราจะเป็นวิทยาทานแก่คนอื่น ๆ ที่กำลังเตรียมตัวอยู่ค่ะ เข้าเรื่องเลยนะคะ

การแต่งกาย
ตอนสมัครสอบ เค้าเขียนว่าห้ามยีนส์ ห้ามกระโปรงเหนือเข่า ห้ามรองเท้าเปิดส้น ห้าม ฯลฯ ซึ่งพอมาสอบจริง ๆ คนใส่ยีนส์ก็มีนะ รองเท้าผ้าใบก็ใส่กันเยอะ แต่เราคิดว่า ใส่ไปให้เรียบร้อยไว้ก่อนดีที่สุด โดยส่วนตัวเราใส่ชุดทำงานไป ก็เห็นคนใส่ไปกันเยอะนะ รวมถึงเสื้อกันหนาว ถ้ามีก็ให้ใส่ไปเลยค่ะ ห้ามถือเอาเข้าไป ยางมัดผมก็ด้วยค่ะ มัดไปเลย อย่าใส่เอาไว้กับข้อมือ
น้อง ๆ ก็ใส่ชุดนักเรียนกันมา มีใส่ชุดนักเรียนกับรองเท้าผ้าใบ ชุดนักเรียนครึ่งท่อน แต่พี่อยากจะบอกว่า แม้เค้าจะให้น้องเข้าห้องสอบ แต่ชุดนักเรียนเป็นชุดที่มีเกียรติ เวลาใส่ก็ควรจะใส่ให้ถูกต้องตามระเบียบนะคะ ไม่ได้เป็นเกียรติของใคร เป็นเกียรติของตัวน้องเอง และสถาบันของน้อง

ของที่เอาเข้าห้องสอบ
สิ่งที่จะเอาเข้าไปนอกจากสติ และปัญญานั้น คือบัตรประชาชน และกระเป๋าสตางค์ โดยกระเป๋าสตางค์กรรมการคุมสอบเค้าจะให้ถุงใส ๆ ขนาดไม่ใหญ่มาก (ไม่ต้องไปซื้อมาจากข้างนอกนะคะ) พอให้ใส่กระเป๋าสตางค์ผู้หญิงใบอ้วน ๆ (ของเรา) ได้พอดีแบบปิดถุงไม่มิด พอมานั่งประจำที่ก็วางไว้ใต้ที่นั่งค่ะ และก็อย่าลืมเอากลับไปด้วย
สำหรับนาฬิกา ไม่ให้ใส่นะคะ ยกเว้นซื้อมาแพงมาก ใส่ Rolex เรือนทองไม่กล้าทิ้งไว้นอกห้อง สามารถไปทำเรื่องได้ค่ะ ว่าจะขอเอาเข้าห้อง เสร็จแล้วเอามายื่นให้กรรมการคุมสอบเมื่อถึงเวลา แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นของที่มีมูลค่าสูงจริง ๆ 
นอกจากนาฬิกา ริสแบนด์ต่าง ๆ  โทรศัพท์มือถือ ห้ามนะคะ 
สัมภาระทั้งหมดของเรา ไม่มีที่รับฝากของค่ะ ต้องฝากกับดวงเอาไว้นอกห้อง และทางศูนย์สอบจะไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหายของทรัพย์สินค่ะ ดังนั้น จะพกอะไรไปบ้าง ควรพิจารณาให้ดีก่อน

การเดินทาง
เรามาจากจตุจักร ลง MRT สามย่านสะดวกสุดค่ะ เมื่อถึงสามย่านแล้ว ทางออกไปจุฬามี 2 ทาง เดินตรงไปจะทะลุเข้าจามจุรีสแควร์ หากเดินเลี้ยวซ้ายจะออกถนนหน้าจามจุรี ให้เดินตรงไปค่ะ จากนั้นก็เดินตามฝูงชนไปเลย เค้าไปไหนก็ไปกับเค้า 70% แถวนั้นก็มาสอบเหมือนกับเราค่ะ

อื่น ๆ 
การจองรอบสอบ ถ้าเป็น paper จะเปิดก่อนประมาณ 1เดือน ส่วน E-Testing จะเปิดก่อนประมาณ 2 สัปดาห์
ระหว่างสอบเข้าห้องน้ำได้ ช่วงก่อน 8:40 และช่วงก่อนเปลี่ยน Part 10 นาที
เวลาเข้าห้องสอบคือ 8:15 – 8:40
ยาหอม ยาดม ยาอม ยาหม่อง รวมถึงทิชชู่ ห้ามนะคะ จะกินจะดมอะไรก็จัดการให้เรียบร้อยก่อนเข้าไปค่ะ
ผ้าเช็ดหน้าก็ไม่อนุญาตค่ะ
เครื่องเขียนไม่ต้องเอาเข้าไป เค้ามีให้หมดแล้ว
 
3 Parts - 120 Questions
เข้าสู่ช่วงข้อสอบ ก่อนสอบมีการเปิดเพลงคลาสสิค Four Seasons ของ Vivaldi ซึ่งเราชอบมาก จากเครียด ๆ อยู่โล่งเลย
Part 1: Listening   
ไม่ยากมากค่ะ โดยส่วนตัวเราเคยสอบ TOEIC มา เรารู้สึกว่าพาร์ทฟังของ TOEIC ยากกว่านิดหน่อย แต่เว้นช่วงระหว่างข้อน้อยมากกกก เรายังคิดไม่เสร็จ ไปนู่นแล้วจ้า ข้อถัดไป สติสตางค์หายหมด 
บทความยาวก็ฟังดีดีค่ะ บางข้อเค้าถามรายละเอียดที่เราไม่ได้ตั้งใจจำ การฟัง CU-TEP ไม่ใช่แค่ฟังเอา concept ค่ะ บางทีต้องทราบรายละเอียดที่ถูกพูดถึงในบทด้วย
สำหรับส่วนนี้ก็ไม่มีอะไรมาก ก็จะแนะนำเหมือนกับการทำข้อสอบการฟังทั่ว ๆ ไป คือ ให้อ่าน choice **เพราะข้อสอบ CU-TEP ไม่มีโจทย์ให้ อันนี้สำคัญนะคะ การทำข้อสอบแบบมีคำถามกับไม่มีคำถามให้อ่านเนี่ย คนละเรื่องกันเลย
และถ้าข้อไหนฟังไม่ทัน ข้ามไปเลยค่ะ ตัดอกตัดใจซะ มันผ่านไปแล้ว คิดไปก็เท่านั้น เก็บสติกลับมาแล้วเอาไปใช้ต่อกับอีกหลายข้อที่เหลืออยู่ดีกว่า
สำหรับ Idiom วันที่เราไปสอบ ไม่มีเลยค่ะ หรือไม่มีสำนวนที่เรารู้อันนี้ก็ไม่อาจทราบได้ คือ จริง ๆ มี แต่เราอาจจะไม่รู้เอง 55555
 
Part 2: Reading
ที่สุดละพาร์ทนี้ ตอนอ่านหนังสือเราก็รู้สึกว่าพาร์ทนี้ยาก คือ ความยากของมันไม่ได้อยู่ที่ตัวบทความค่ะ มันยากที่โจทย์ กับข้อจำกัดเรื่องเวลา ความรู้ภูมิหลังของเรา รวมถึงคำศัพท์บางคำ 
โดยส่วนตัวเราเองนั้น เวลาทำแบบฝึกหัด จะเข้าใจบทความอยู่ที่ประมาณ 65-70 % แต่อนิจจา.. พอมาดูเฉลยตอบผิดไปครึ่งนึงก็มีค่ะ จุดนี้ไม่มีใครช่วยใครได้ค่ะ ต้องไปลองทำเอาเอง บางทีเราคิดว่าเข้าใจแล้ว เราเข้าใจ 68% แต่โจทย์เค้าถามที่ 86% บางทีเราคิดเอาเอง แต่โจทย์ให้ตอบแค่ในบทความ บางข้อเราตอบในบทความ แต่โจทย์อยากจะให้คิดต่อ นี่แหละค่ะ ที่เราคิดว่าอ่านเข้าใจแล้ว ก็เลยไม่ใช่ว่าจะตอบได้ค่ะ สิ่งที่เราจะทำได้คือ ฝึก ฝึก และ ฝึกทำโจทย์ค่ะ
เรื่องเวลาก็สำคัญค่ะ 60 ข้อ 70 นาที แปลว่าเรามีเวลาทำข้อละนาทีกว่า ๆ เท่านั้น ดังนั้น เวลาฝึกทำโจทย์ เราจะลองจับเวลาไม่ให้เกิน 13 นาที ค่ะ ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นมากนะคะ ไม่งั้นต่อให้ตอบถูกเยอะแค่ไหน แต่ถึงเวลาจวนตัว อ่านไม่ทันแล้วมันจะรนค่ะ ที่ควรถูกก็จะกลายเป็นผิดได้ ดังนั้น อย่าประมาทค่ะ ลองจับเวลาทำ ข้อนี้สำคัญมาก
อีกอย่างคือความถึกค่ะ ปกติเราทำข้อสอบไม่เคยทำรวดเดียว 2 ชั่วโมง ปัญหาที่เกิดในห้องสอบคือความล้า ทำไปเกินครึ่งทางแล้ว เหลือบทความยาวอีก 2 บทความสั้นอีก 1 จุดนั้นคือมันเหนื่อยมากกกกก ปวดคอก็ปวด บทความก็ย๊าวยาว คนข้าง ๆ ก็ขีดอะไรเสียงดังไม่ยอมเลิก  พอปีศาจความอ่อนแอเข้าครอบงำจิตใจก็อ่อนล้าไปตามอารมณ์ แต่ต้องรีบดึงสติให้ได้ค่ะ ใครเคยวิ่งมาราธอนความรู้สึกก็จะคล้าย ๆ กันนั่นแหละค่ะ มันจะมีจุดที่มารเข้าสิง เป่าหูให้เราเลิกล้มความตั้งใจ เราต้องผ่านจุดนั้นไปให้ได้นะคะ
 
Part 3: Writing
พาร์ทนี้ชิว ๆ สำหรับเราค่ะ ไม่ได้ว่าเป๊ะแกรมม่า โจทย์มาปุ๊บเห็นคำตอบลอยออกมาเหมือนมีญาณทิพย์นะคะ คือ แกรมม่าเราด๋อยมากค่ะ ด๋อยจนไมรู้จะเครียดไปทำไม เวลา 2 สัปดาห์กว่า ๆ อ่านหนังสือเอง เราไม่หวังอะไรมาก ตอนทำแบบฝึกหัดก็ได้ 10 บ้าง 11 บ้าง เต็ม 30 คะแนน แล้วก็เลยไม่รู้จะเครียดไปทำไมค่ะ แต่เราก็ไม่ทิ้งนะคะ ก็ทำโจทย์ ทำความเข้าใจเฉลยกันไป ภาวนาให้คะแนนจริงออกมาอย่าได้น้อยไปกว่าตอนฝึกเราก็จะพอใจมากแล้ว
ในส่วนแกรมม่านี้ เราไม่มีอะไรจะแนะนำจริง ๆ ค่ะ เพราะตัวเองยังเอาตัวไม่ใคร่จะรอด ใครมีเวลาเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ น่าจะดีหน่อย เพราะเราว่าคนที่ได้คะแนนเยอะ ๆ ต้องมีทักษะ และเป๊ะแกรมม่าพอตัวเลยค่ะ 
 
หมดแล้วค่ะ 3 พาร์ท ต่อไปเป็นช่วงรีวิวหนังสือ
ซึ่ง.. เรามีเวลาสองวีคนิด ๆ และเป็นวีคที่งานท่วมหัวเอาตัวกลับบ้านมาก็เกือบสี่ทุ่มทุกวัน เราจึงมีบุญได้อ่านหนังสือแค่ 1 เล่มเท่านั้น จริง ๆ ซื้อมา 2 แต่เล่มที่สองมีปัญญาแค่อ่าน Idiom ไปสี่สิบหน้า (ซึ่งไม่ออกซักข้อ น้อยใจจริง ๆ) ไม่ได้ลงคอร์สกับใครนะคะ เพราะลงไม่ทันค่ะ เค้าเริ่มกันไปแล้ว ไม่ก็จบหลังวันที่เราสอบ เราเลยอ่านเอง อีกอย่างมันแพงด้วยค่ะ เราเลยอ่านเองตลอด 
นอกจากหนังสือเราก็ดูคลิปตาม You tube ซึ่งก็มีประโยชน์มากทีเดียว เราขอขอบคุณท่านทั้งงหลายมา ณ โอกาสนี้
หนังสือที่เราอ่านได้แก่ 
Practice Test I & Practice Test II ของ CULI ส่งตรงมาจากศูนย์หนังสือจุฬา ตอนเค้าเอามาส่งที่บ้านเราไปทำงานต่างจังหวัดพอดี ลำบากแม่ส่งเคอรี่มาให้ เวลาสองสามวันมันก็มีค่านะเออ
จะบอกว่ามันดีมาก เหมือนข้อสอบเลย แต่ตามความเห็นเรา เรารู้สึกว่าพาร์ทฟัง เวลาที่เค้าเว้นช่วงไว้ให้ตอบในแบบฝึกหัด มันยาวกว่าของจริงนิดนึง ทำให้เสียจริตไปบ้างตอนสอบจริง ตกใจ 555
พาร์ทอ่าน ส่วนตัวคิดว่าบทความในหนังสือยากกว่า เพราะเล่นเอามาทั้งประวัติศาสตร์ การแพทย์ โรคที่ไม่รู้จัก นิเวศวิทยา กีฏวิทยา แม่เจ้าอะไรก็ไม่รู้ขนกันมาให้พรึ่บ เรารู้สึกว่าตอนอ่านหนังสืออะ สิ่งที่ทำให้เราตอบคำถามได้มาจากความรู้ภูมิหลัง 30% เลย คือเราเป็นคนชอบอ่านอยู่แล้วไง
ตอนที่เราไปสอบมีเรื่อง เทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่แรงงาน ที่เป็นโจทย์สั้น ข้อนี้ไม่ยากเลยแต่เสียดายเราเก็บไว้ทำหลังสุด ตอบไม่ทันไปสามข้อ ละก็บทความยาวเป็นเรื่อง ไวกิ้ง ปัญหาเรื่องน้ำในอินเดีย ส่วนอีกสองข้อจำไม่ได้จริง ๆ มันรีบบบ
ส่วน writing ง่ายกว่านิดนึงมั้ง ไม่กล้าฟันธง
แล้วก็ช่วงที่เดินทางไปทำงาน เราขึ้น BTS มีเวลาเกือบ 40 นาที ช่วงเวลานี้เรียกว่าเป็นนาทีทองก็ว่าได้ เพราะเราจะใช้ฟัง TED, BBC news, BBC learning english ฟังวนไปค่ะ สิ่งเรานี้ช่วยได้เยอะจริง ๆ สำหรับบทความ เราชอบอ่านใน Flipboard ค่ะ บทความน่าสนใจเยอะมากก
โดยสรุปนะคะ ไม่มีอะไรที่เหนือไปกว่าความคาดหมาย แต่อย่างไรก็ตามพอสอบเสร็จเราก็รีบเข้าเว็บไปลงสอบรอบใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้คงไปจ่ายตังค์
 
ช่วงแถม CU-TEP VS TOEIC
ก็รู้ค่ะ ว่ามันเทียบกันไม่ได้ แต่เราคิดว่ามนุษย์วัยทำงานส่วนใหญ่ที่มาสอบ CU-TEP น่าจะเคยผ่านสนาม TOEIC กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้น เราจะพยายามทู่ซี้เอามันมาเทียบกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเตรียมสอบ CU-TEP ของท่านทั้งหลายค่ะ
-          พาร์ทฟัง: อย่างที่บอกค่ะ เราให้ TOEIC ฟังยากกว่า แต่ความหินของ CU-TEP คือเค้าไม่มีคำถามมาให้ ต้อง challenge เอาจาก choice เอง และความเป็นฝรั่งของ CU-TEP จะมีมากกว่า ในที่นี้คือ รูปประโยคเค้าจะเป็นแบบที่ฝรั่งคุยกัน อาจจะไม่คุ้นหูคนไทย มี idiom ปะปนมาให้งงเล่น
-          พาร์ทอ่าน: การอ่านของ TOEIC เราสามารถใช้ skim scan skip skep เทคนิคอะไรจัดเต็มมาได้หมด แต่สำหรับเรา CU-TEP คือต้องอ่านค่ะ อ่านอย่างต่ำ 1 รอบ ซึ่งต้องเป็นการอ่านแบบมีคุณภาพนะคะ ไม่สามารถหา key word เหมือน TOEIC ได้
ระดับความรีบ เราให้สิบกะโหลดเท่ากันค่ะ รีบทำตารีตาเหลือกไม่แพ้กัน แต่เราให้ CU-TEP ดีกว่าหน่อย เพราะเราทำพาร์ทอ่านไม่ทันแค่ 3 ข้อ แต่ TOEIC เราดิ่งไปเกือบสิบ เราคิดว่าลักษณะข้อสอบของ CU-TEP อาจจะเหมาะกับเรามากกว่า เพราะเราชอบอ่านทำความเข้าใจ ทำใจอ่านแบบ skim scan skip skep ไม่ค่อยได้
-          พาร์ทแกรมม่า: อันนี้ไม่ติดฝุ่นค่ะ แกรมม่า TOEIC จะเน้น part of speech ในขณะที่แกรมม่า CU-TEP คือ แกรมม่าจริง ๆ  ที่เราเข้าใจว่าเค้าน่าจะคาดหวังเวลาเราเขียนงานส่ง หรือทำทีสิสส่ง ตอนเรียนต่อได้โดยไม่ติดขัด ดังนั้น เลเวลความโหดจึงต่างกันเยอะ
-          ส่วนคำศัพท์นั้น CU-TEP ยากกว่าไม่ต้องสงสัยค่ะ เนื้อหาที่จะเอามาออกก็เป็นเชิงวิชาการ ที่จะหยิบอะไรมาก็ได้ ในขณะที่ TOEIC จะเป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้น บางคนไม่เคยอ่านหนังสือ แต่ทำงานกับฝรั่งก็สามารถทำคะแนน TOEIC ให้สูง ๆ ได้ แต่เราว่าค่อนข้างยากสำหรับ CU-TEP ค่ะ มนุษย์ที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ในชีวิตประจำวัน อาจจะไม่สามารถทำคะแนน CU-TEP ได้ดีมาก ต้องผ่านการฝึกฝนทำโจทย์
 
น่าจะหมดแล้วค่ะ เขียนใน Word ได้ 5 หน้าพอดี หวังว่ากระทู้นี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจสอบ CU-TEP ไม่มากก็น้อย ในส่วนของรายละเอียดอื่น ๆ ถ้าเราเห็นว่ามีคนเขียนไว้แล้ว หรือ ดูเอาจาก You tube ก็มีคนแนะไว้พอสมควร เราแนะนำให้หาข้อมูลจากพวกเขาเหล่านั้นค่ะ 
สำหรับใครที่อ่านมาจนจบถึงตรงนี้ ขอบคุณที่สนใจกระทู้นี้ค่ะ เราเองก็ไม่นึกว่าจะเขียนได้ยาวยืดขนาดนี้ หวังอย่างเดียวว่ากระทู้นี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจสอบ CU-TEP ทุกท่านไม่มากก็น้อย อ่านแล้วก็คอมเม้นต์เป็นกำลังใจให้ซักนิด ให้เรารู้ว่าไม่ได้เขียนเองอ่านเองอยู่คนเดียว ส่วนเราขอตัวไปดูรันนิ่งแมนต่อก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ ยิ้ม
ชื่อสินค้า:   CU-TEP
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่