EEC - NCP สู้แหลมฉบังเฟส 3 ลุ้นบอร์ดอีอีซี 19 ก.ค.

กรณีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนผู้สนใจยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุน ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการและซ่อมบำรุงรักษาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F มูลค่าโครงการ 5.4 หมื่นล้านบาท มีเอกชนผู้สนใจเข้าเสนอราคา 2 ราย คือ กิจการร่วมค้า NCP ประกอบด้วย บริษัท นทลิน , แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ บริษัทลูกของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ , China Railway Construction Corporation Limited , บริษัท พริมา มารีน และบริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง

อีกราย กิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ , พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล บริษัทลูกเครือ ปตท. และ China Harbour Engineering Company Limited ผลการคัดเลือกคณะกรรมการคัดเลือกตัดสินให้กิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ชนะ ส่วนกิจการร่วมค้า NCP ไม่ผ่านทางด้านคุณสมบัติ เนื่องจากลงนามไม่ครบถ้วนตามสัญญา

แหล่งข่าว NCP เปิดเผยว่า ข้อเท็จจริงคณะกรรมการคัดเลือกเคยพิจารณาแล้วว่า การลงนามในสัญญากิจการร่วมค้าไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและตำแหน่งการลงนามดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญของการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ และประเด็นเกี่ยวกับการลงนามในสัญญากิจการร่วมค้านี้ไม่มีผลให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย จึงแจ้งให้กิจการร่วมค้า NCP ชี้แจง และ NCP ได้มีหนังสือชี้แจง นำส่งเอกสารเพิ่มเติมพร้อมทั้งนำส่งสัญญากิจการร่วมค้าฉบับใหม่ให้กับ กทท. ถือเป็นการส่งเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้ว

ปรากฏว่า ผู้อำนวยการ กทท. ได้มีหนังสือแจ้งกลับมาว่าคณะกรรมการคัดเลือกมีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในการประชุมครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2562 ทั้งที่วันดังกล่าวคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นและข้อสังเกตว่าข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอแตกต่างไปจากเงื่อนไขที่กำหนดในส่วนที่มิได้เป็นสาระสำคัญ และความแตกต่างดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น และสามารถพิจารณาผ่อนปรนไม่ตัดสิทธิของผู้ยื่นข้อเสนอได้

"ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ยังได้รับการยืนยันจากผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นครั้งที่ 2 ยังมีผู้แทนของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายได้มีความเห็นพ้องด้วยกับผู้แทนจากอัยการ อีกทั้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ EEC ยังให้ความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน" แหล่งข่าวระบุ

นอกจากนี้ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าการที่คณะกรรมการคัดเลือกมีมติให้ผู้ร้องเรียนเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเนื่องจากความไม่ถูกต้องครบถ้วนของเอกสารที่มีการลงนามนั้น เป็นการพิจารณาที่อาจจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และได้มีข้อเสนอแนะให้ส่งเรื่องให้ กทท. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกพิจารณา แต่ กทท. ไม่ได้ดำเนินการ ส่วนเรื่องการตัดสิทธิ์กิจการร่วมค้า NCP นั้นมีการอุทธรณ์ตามลำดับชั้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีการพิจารณาอุทธรณ์ของกิจการร่วมค้า NCP ในวันที่ 19 ก.ค. นี้

"หากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคำสั่งตรงกันข้าม หรือสวนกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายโดยยกเอาความไม่เป็นสาระสำคัญมามีมติให้กิจการค้า NCP เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการได้ใช้ดุลยพินิจและมีคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อต้องการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในโครงการ ที่เหลือเพียงรายเดียว ถือว่าไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส เพราะปราศจากคู่เปรียบเทียบ"

แหล่งข่าวแจ้งว่า เอกชนที่เหลือรายเดียวกันนั้นเสนอผลประโยชน์ให้รัฐน้อยกว่ากิจการร่วมค้า NCP ประมาณหมื่นล้านบาท การกระทำดังกล่าวนอกจากจะทำให้เอกชนได้รับความเสียหายแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง เรื่องนี้จึงอาจมีการฟ้องร้องผู้ที่เกี่ยวข้อง ขบวนการที่ส่อไปทางทุจริตที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และศาลปกครองกลาง และฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำความผิดส่อไปในทางทุจริตด้วย

นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านอย่างน้อย 7 พรรค ยังมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการกระทำที่อาจจะส่อไปในทางทุจริตและได้เตรียมหลักฐานสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว

ที่มา : Nation TV 22
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่