การทดลองวัดคลื่นสมองของผู้เจริญสติตามแนวทางหลวงพ่อเทียน

(บทความจากเพจ move to now) http://www.fb.com/movetonow

วัดสติด้วยคลื่นสมอง

โดย บิ๊กแบง

จะดีมั้ยถ้ามีอุปกรณ์ไฮเทคที่สามารถวัดความก้าวหน้าในการทำสมาธิ-เจริญสติ ของแต่ละคนออกมาได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่นั้น ยังแสดงผลได้อย่างฉับพลันจนผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและปรับเปลี่ยนการปฏิบัติของตนโดยดูผลจากจอภาพได้ชนิดวินาทีต่อวินาที

ใครแกล้งวางท่าเคร่งขรึม-ใครปฏิบัติได้ผลจริง รวมทั้งวิธีการไหนได้ผล-ไม่ได้ผล จะไม่มีทางหลอกกันง่าย ๆ อีกต่อไป เมื่อการปฏิบัติสามารถวัดผลได้ชัดเจนเป็นมาตรฐาน แน่นอนว่าสิ่งประดิษฐ์นี้จะปฏิวัติการปฏิบัติภาวนา ไม่เพียงแค่ชาวพุทธ แต่อาจรวมถึงทุกศาสนาทั่วโลกเลยทีเดียว

แม้ทั้งหมดนี้จะยังเป็นแค่จินตนาการ แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดก็ทำให้เราไม่อาจดูถูกจินตนาการข้างต้นว่าเป็นแค่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

ศาสตร์ของสมอง

สมองของคนเราประกอบด้วยเซลล์ประสาท (Neuron) ประมาณ 86,000 ล้านเซลล์ ทั้งหมดสื่อสารกันด้วยกระบวนการทางไฟฟ้าเคมีอันสลับซับซ้อน จนเกิดเป็นการรับรู้, ความคิด และอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ขณะที่กระบวนการเหล่านี้ดำเนินไปจะปรากฏกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ (ประมาณ 1 ในล้านเท่าของโวลต์) ขึ้นที่บริเวณหนังศีรษะ

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาลักษณะของกระแสไฟฟ้าเหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจการทำงานของสมอง โดยเรียกกระบวนการนี้ว่า อิเล็กโตรเอ็นเซฟาโลกราฟี หรือ EEG

EEG ช่วยให้เราเข้าใจการทำงานประสาทสัมผัส ทั้งตา หู จมูก ฯลฯ, สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสมอง, พัฒนาแขนขาเทียมที่ควบคุมด้วยความคิด รวมทั้งช่วยให้เราเข้าใจการทำสมาธิภาวนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น


คลื่นสมอง 5 ชนิด

กระบวนการทำงานอันซับซ้อนของสมองมีการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเรียกอีกอย่างว่าคลื่นสมอง หลายความถี่พร้อม ๆ กัน ในบริเวณต่าง ๆ ของสมอง โดยคลื่นเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงตลอดอยู่เวลาตามลักษณะ

การทำงานทำงานของสมอง ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์แบ่งคลื่นสมองออกเป็น 5 ชนิด เรียงตามความถี่จากสูงไปต่ำดังนี้

คลื่นแกมมา (Gamma) พบเมื่อสมองอยู่ในภาวะตื่นตัวสูง, กำลังเรียนรู้หรือแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

คลื่นเบตา (Beta) พบในภาวะที่กำลังใช้ความคิด หรือตื่นเต้น

คลื่นอัลฟา (Alpha) พบเมื่อจิตใจและร่างกายอยู่ในภาวะสงบ ผ่อนคลาย หรือมีความคิดสร้างสรรค์

คลื่นธีตา (Theta) พบเมื่อจิตเป็นสมาธิ, ขณะที่ฝัน หรือฝันกลางวัน

คลื่นเดลตา (Delta) พบในภาวะที่หลับลึก, ไม่รับรู้ร่างกาย

การตรวจวัดคลื่นเหล่านี้คือกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจสภาวะจิตในแต่ละขณะของเรานั่นเอง

การทดลองในต่างประเทศ

การทดลองกับพระเซนในประเทศญี่ปุ่นพบว่า การปฏิบัติซาเซ็นทำให้คลื่นอัลฟาเพิ่มขึ้นจากก่อนการปฏิบัติอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสมองส่วนหน้าและส่วนกลาง โดยบางครั้งพบคลื่นธีตา พุ่งสูงขึ้นเป็นจังหวะในช่วงท้าย ๆ ของการปฏิบัติด้วย ขณะที่กลุ่มเปรียบเทียบซึ่งเป็นคนที่ไม่เคยปฏิบัติซาเซ็นมาก่อนจะไม่พบการเพิ่มขึ้นของคลื่นอัลฟา และธีตา

และการทดลองกับลามะทิเบตเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ลามะที่ปฏิบัติธรรมมาหลายสิบปีบางรูปจะมีคลื่นแกมมา ที่พุ่งสูงและลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นจังหวะต่อเนื่องกันไป

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยของการทดลองเรื่องสมาธิกับคลื่นสมอง ที่มีรายงานนับร้อยฉบับจากห้องทดลองด้านประสาทวิทยาศาสตร์ทั่วโลก


เครื่องวัดคลื่นสมอง

ในอดีตเครื่องวัดคลื่นสมองจัดเป็นอุปกรณ์ราคาแพงที่มีใช้เฉพาะในห้องทดลองขนาดใหญ่เท่านั้น แต่พัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้เครื่องวัดคลื่นสมองเริ่มมีขนาดเล็กและราคาถูกลง แถมยังเที่ยงตรงขนาดที่ใช้ในการวิจัยเบื้องต้นได้ด้วย หลังจากรวบรวมข้อมูลมาหลายเดือนในที่สุดทีมงานเพจ Move to Now จึงตัดสินใจสั่งซื้อวัดคลื่นสมองจากต่างประเทศ เพื่อศึกษาว่าการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวจะสามารถวัดผลออกมาในรูปของคลื่นสมองได้หรือไม่อย่างไร

ถึงแม้เครื่องรุ่นนี้จะมีจุดรับคลื่นสมอง หรือ อิเล็กโทรด (electrode) เพียงแค่ 5 จุด (3 จุดที่หน้าผาก และอีก 2 จุดทางด้านหลังศีรษะ) ขณะที่เครื่องวัดคลื่นสมองในห้องทดลองใหญ่ ๆ จะมีจุดรับคลื่นสมองเป็นร้อย ๆ จุดกระจายอยู่ทั่วศีรษะ แต่ก็มีบทความวิชาการยืนยันว่าผลการตรวจวัดจากเครื่องรุ่นนี้มีความสอดคล้องกับผลจากเครื่องราคาหลายล้านบาทอย่างน่าพอใจเลยทีเดียว

ขณะทำการทดลอง คลื่นสมองที่วัดได้จะถูกส่งผ่านสัญญาณบลูทูธไปแสดงผลที่แท็บเล็ตในรูปกราฟเส้น แยกตามย่านความถี่ อัลฟา แกมมา ฯลฯ ให้ผู้ปฏิบัติเห็นความเปลี่ยนแปลงของคลื่นแต่ละขณะได้อย่างทันทีทันใด ทำให้สามารถพัฒนาการเจริญสติ-สมาธิของตนเองได้อย่างรวดเร็ว


ลงมือทดลอง

การทดลองครั้งแรกนี้เป็นการวัดคลื่นสมองของผู้ที่เจริญสติแบบเคลื่อนไหว ตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ โดยผู้เข้าร่วมการทดลองประกอบด้วย ศิษย์วัดป่าโสมพนัส จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีประสบการณ์ในการปฏิบัติไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 6 คน และพระภิกษุจากวัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ซึ่งบวชและปฏิบัติธรรมตามแนวทางดังกล่าวมากว่า 10 พรรษา

หลังจากให้แต่ละคนใส่เครื่องวัดและเจริญสติโดยการยกมือสร้างจังหวะ (ไม่หลับตา) เป็นเวลา 30 นาที ผลปรากฏว่าแทบทุกคนมีคลื่นเดลต้า ซึ่งแสดงถึงการหลับลึก สูงกว่าคลื่นชนิดอื่น ๆ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ไม่น่าเกิดจะเกิดกับผู้ที่ลืมตาและยังมีสติรู้ตัวอยู่

หลังจากนั้นทีมงานได้กลับมาค้นคว้าเอกสารจำนวนมากเพื่อหาเหตุผลของคลื่นเดลตาที่สูงกว่าปกติ จนกระทั่งพบว่าการลืมตาและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อจะสร้างคลื่นรบกวนซึ่งส่งผลให้คลื่นเดลตาสูงกว่าปกติ นั่นหมายความว่าการวัดคลื่นสมองของผู้ที่เจริญสติแบบเคลื่อนไหว อาจจำเป็นต้องให้ผู้ปฏิบัติ

หลับตาและไม่ยกมือสร้างจังหวะ (อาจเจริญสติโดยการตามรู้ลมหายใจ หรืออื่น ๆ) เพื่อให้ค่าที่วัดได้มีความเที่ยงตรงมากที่สุด

การทดลองครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นโดยมีผู้ทดลองเพียง 2 คน (จากลุ่มที่ทดลองครั้งแรก) โดยให้หลับตาและกำหนดสติอยู่กับลมหายใจเป็นเวลา 30 นาที ผลปรากฏว่าทุกอย่างดูจะเป็นไปตามทฤษฎี โดยผู้ทดลองที่มีประสบการณ์การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวมีคลื่นที่แสดงถึงการผ่อนคลาย (อัลฟา) และมีสติ-สมาธิ (ธีตา) สูงกว่าคลื่นอื่น ๆ โดยมีคลื่นของการหลับลึก (เดลตา) อยู่ในลำดับที่ 3 และคลื่นที่แสดงถึงความคิด (เบตา) อยู่ในลำดับที่ 4


เมื่อย้อนกลับไปดูผลการวัดคลื่นสมองของพระภิกษุจากการทดลองครั้งแรก โดยตัดคลื่นเดลตาที่ผิดเพี้ยนจาการลืมตาและเคลื่อนไหวออกไป ก็พบว่าคลื่นสมองของท่านแสดงถึงสภาวะผ่อนคลาย (อัลฟา) และมีสติ-สมาธิ ในระดับสูง (ธีตา) และที่น่าสังเกตคือมีคลื่นธีตาที่พุ่งสูงขึ้นเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับคลื่นสมองของพระเซ็นในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามข้อมูลทั้งหมดนี้ต้องถือว่าเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น เนื่องจากเป็นการตรวจวัดเพียงครั้งเดียวในระยะเวลาที่จำกัด
กราฟคลื่นสมองของพระภิกษุ สังเกตคลื่นธีตา (สีม่วง) ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นช่วง ๆ

ก้าวต่อไป

ถึงแม้การศึกษาเรื่องการทำงานของสมองขณะทำสมาธิภาวนาจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในแง่วิธีการตรวจวัด, การตีความคลื่นสมองด้วยวิธีที่สลับซับซ้อน รวมทั้งการการพยายามตรวจวัดสภาพจิตของมนุษย์ด้วยวิธีการอื่น ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าทั้งหมดนี้ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แวดวงวิทยาศาสตร์ยังมีงานต้องทำอีกมากมายกว่าจะเข้าใจเรื่องของจิตและการพัฒนาจิตได้อย่างแท้จริง

อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ นิยาม-ความหมายของคำว่า “สติ” และ “สมาธิ” ตลอดจนวิธีการปฏิบัติภาวนา ยังมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งระหว่างตัวบุคคล-วัฒนธรรม-และองค์กร ซึ่งทำให้การตีความและเปรียบเทียบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง

การประยุกต์ใช้เครื่องวัดคลื่นสมองขนาดเล็กในระยะเฉพาะหน้านี้ ผู้ปฏิบัติในแต่ละวิธีการอาจต้องค้นหา “รูปแบบกราฟคลื่นสมองที่ควรจะเป็น” โดยตรวจวัดจากครูบาอาจารย์หรือบุคคลที่เชื่อถือได้ (ทั้งจำนวนบุคคลและจำนวนครั้งในการตรวจวัดที่มากพอ) เพื่อเป็นค่าอ้างอิงสำหรับวิธีการนั้น ๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติใหม่สามารถเปรียบเทียบรูปแบบกราฟของตนกับกราฟ “ที่ควรจะเป็น” ได้

สำหรับการประยุกต์ใช้กับแนวทางการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว คำถามสำคัญคือ รูปแบบกราฟที่แสดงถึงการเจริญสติที่ถูกต้องมีลักษณะอย่างไร, คลื่นสมองสมองชนิดไหนคือตัวบ่งชี้ที่สำคัญ และอาจรวมถึง คำถามที่ว่า สมาธิแบบดิ่งลึก(แต่ขาดสติ) ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดสำหรับผู้ปฏิบัติตามวิธีการนี้ มีรูปแบบกราฟคลื่นสมองอย่างไร ซึ่งการทดลองในเบื้องต้นย่อมไม่อาจตอบคำถามสำคัญเหล่านี้ได้

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวเข้ามาพลิกผันวิถีดั้งเดิมหลากหลายด้าน ไม่แน่ว่าวันหนึ่งเครื่องวัดคลื่นสมองอาจกลายเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยย่นระยะการเดินทางสู่สัจธรรมให้หดสั้นลงอย่างที่เราคาดไม่ถึง

หรือในทางตรงกันข้าม ศาสตร์ทางจิตชนิดนี้อาจเป็นพื้นที่หวงห้ามที่วิทยาศาสตร์ไม่มีทางเข้าถึง อย่างน้อยในระยะ 1-2 ศตวรรษข้างหน้านี้

คงมีเพียงกาลเวลาเท่านั้นที่จะไขปริศนาเหล่านี้ให้กระจ่างแจ้งได้


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่