●● ผลการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร..นัยที่บ่งถึงใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี●●

●● เส้นทางการเมือง สู่ ‘ครม.ลุงตู่มาจากการเลือกตั้ง 1'●●

สัปดาห์นี้ ต่อเนื่องไปถึงสัปดาห์หน้า คอการเมืองตามลุ้น ถึงวันนี้ สองขั้วที่แยกวงประกาศชัดเจนแล้ว
ประกอบด้วย...

ขั้วเพื่อไทย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 136 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 80 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง
พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย
( ที่มี พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร เป็นประธานที่ปรึกษา) 1 เสียง

รวมเสียง สส.ขั้วเพื่อไทยขณะนี้ 245 เสียง

ขั้วพลังประชารัฐ ประกาศสนับสนุน “นายกฯลุงตู่” และร่วมจัดตั้งรัฐบาลพลังประชารัฐ ได้แก่ พลังประชารัฐ
115 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคประชาชนปฏิรูป 1 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง
พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และอีก 11 พรรคเล็ก 11 เสียง ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย,
พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังไทยรักไท, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคประชานิยม, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน,
พรรคประชาธรรมไทย, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม

รวมเสียง สส.ขั้วพลังประชารัฐล่าสุด 137 เสียง

พรรคที่รอประกาศจุดยืนในวันสองวันนี้ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง
พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง และพรรคชาติพัฒนา 3 เสียง

ขั้ว 250 สว. หลังประกาศรายชื่อออกมาครบแล้ว แม้จะยังไม่มีการประกาศจุดยืนในการเลือกนายกรัฐมนตรี
ทุกคน แต่เชื่อว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการทำหน้าที่ของ สว.แต่ละคน ไม่อยู่ใต้อาณัติสั่งการของผู้ใด
และไม่สังกัดพรรคการเมืองใด สว.จะต้องคำนึงถึงเสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ว่าอยาก
จะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ซึ่งเมื่อดูคะแนนที่ประชาชนลงคะแนนแล้ว แคนดิเดตนายกฯ ที่ได้
คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง ก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เชื่อว่า เสียงของ สว. 250 เสียง น่าจะเลือกลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ถ้าที่ประชุมรัฐสภา เลือกนายกฯ กันวันนี้เลย คนที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คือ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยได้รับเสียง 137 สส. + 250 สว. รวมเป็น 387 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง (เกิน 376 เสียง) ของที่ประชุมรัฐสภา
ตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ

ย้ำว่า นี่ยังไม่นับเสียงจากพรรคที่รอประกาศจุดยืนในวันสองวันนี้

แต่สิ่งที่จะต้องจับตามอง หลังจากนี้ คือ

1. 24 พ.ค. รัฐพิธี เปิดประชุมรัฐสภา และเลือกประธานวุฒิสภา

2. 25 พ.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
    ประเด็นสำคัญ คือ สส. 498 คน ที่ กกต.รับรองแล้ว จะลงมติเลือกใครเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

3. แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องวินิจฉัยสมาชิกภาพของนายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ สส.บัญชีรายชื่อ
    พรรคอนาคตใหม่ และสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
    สภาผู้แทนราษฎรก็จะเหลือคนเข้าร่วมประชุมจำนวน 497 คน

4. 25 พ.ค. สส.เลือกใครเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะมีโฉมหน้า
    อย่างไรบ้าง?

ปกติ สส.สังกัดพรรคร่วมรัฐบาลจะได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

เพราะคะแนนเสียงเลือกประธานสภา กับคะแนนเสียงเลือกนายกฯ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล มาจากฐานเดียวกัน
ครั้งนี้ แม้จะแตกต่างออกไป เพราะประธานสภาฯ เลือกโดย สส. แต่นายกฯ เลือกโดย สส. และ สว.
เชื่อว่า ก่อนจะถึงวันเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร การเจรจาพูดคุยของผู้เกี่ยวข้อง คงจะมีความชัดเจนแล้ว

4.1 หากประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็น สส.สังกัดพรรคพลังประชารัฐ แน่นอนว่า พลเอกประยุทธ์เป็น
       นายกรัฐมนตรี โดยได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรด้วย

4.2 หากประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็น สส.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดย สส.พรรคพลังประชารัฐลงคะแนน
      ให้ด้วย ก็เป็นไปได้สูงว่าพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ จะเป็นรัฐบาลที่ได้เสียงข้างมาก
      ในสภาผู้แทนราษฎรด้วย และเสียงท่วมท้นในรัฐสภา

แต่ถ้าสส.พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ลงคะแนนให้ ก็สะท้อนว่า พลังประชารัฐจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีประชาธิปัตย์และพรรคขั้วเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน

4.3 หากประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็น สส.สังกัดพรรคขั้วเพื่อไทย แสดงว่า พรรคพลังประชารัฐเป็น
      รัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรแน่นอน

5. หลังได้ประธานสภาฯ ก็จะกำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมรัฐสภา คาดว่า ภายในเดือน พ.ค.
    จับตาดูวันเลือกนายกรัฐมนตรี

5.1 จะมีพรรคการเมืองไหนฉีกสัตยาบันบ้าง โดยชี้ว่า สัตยาบันไม่มีผลแล้ว ตั้งแต่วันที่นายธนาธรประกาศ
       ตัวจัดตั้งรัฐบาลเพื่อจะเป็นนายกรัฐมนตรีเอง?

5.2 จะมี สส.ลงมติแหกไปจากแนวทางของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ หรือไม่? จะมีงูเห่ากี่ตัว?

5.3 พลเอกประยุทธ์ จะได้คะแนนสนับสนุนจาก สส.ในสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งหมดกี่เสียง?
       มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแค่ไหน?

5.4 การฟอร์ม “ครม.ลุงตู่มาจากการเลือกตั้ง 1” จะมีโฉมหน้าค่าตาอย่างไร?
       จะมีนักการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงไหนบ้าง?
       จะสร้างความหวัง สร้างจิตวิทยามวลชน สร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่ประชาชนวงกว้าง
       และนักลงทุน ได้แค่ไหน?

การตั้ง ครม.หลังการเลือกตั้ง ถ้าเอาแต่บุคคลหน้าเดิมๆ บรรยากาศก็จะเหมือนเดิม ไม่มีการสร้างความหวัง
สร้างจิตวิทยามวลชนให้พลิกไปในทางที่ดีกว่าเดิม เพราะฉะนั้น ว่าที่นายกฯลุงตู่จะต้องคำนึงถึงโฉมหน้า ครม.
ว่ามีความสำคัญมาก จะต้องมีชื่อที่เปิดออกมาแล้ว คนในสังคมร้องว้าวววว

คนหน้าเดิม ถ้าจะยังอยู่ใน ครม. ก็ควรจะมีตัวนโยบายเข้ามาเป็นจุดขาย เป็นมาตรการที่ประชาชนได้
ผลประโยชน์เป็นรูปธรรม เพื่อมาเป็นตัวพลิกเปลี่ยนบรรยากาศ สร้างความเชื่อมั่นว่ากำลังเกิดเรื่องดีๆ ขึ้น
อย่างจับต้องได้

ถ้าหากมีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา เข้ามาร่วมตั้ง
รัฐบาล เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็ควรใช้โอกาสนี้ในการจัดวางตัวคนที่เหมาะสม
มีศักยภาพ ทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา เกิดความหวัง เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย
หลายเรื่องที่เป็นวิกฤติอยู่ เช่น ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ปัญหากำลังซื้อใน
เศรษฐกิจชาวบ้าน ฯลฯ ควรจะเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวคนใหม่ๆ หรือมาตรการนโยบายใหม่ๆ เข้ามา
พลิกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เป็นจุดอ่อนอยู่เดิม

“เรื่องส่วนรวม เล็กแค่ไหนก็สำคัญ
เรื่องส่วนตัว ใหญ่แค่ไหนก็เป็นเรื่องรอง” - (คติพจน์อดีตผู้นำจีน)
 
สารส้ม

Cr.  https://www.naewna.com/politic/columnist/40093
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่