[CR] 🇮🇳 Rajasthan | INDIA 🇮🇳 แนะนำมุม/สถานที่ถ่ายรูปของ 3 เมืองสีสวยในรัฐราชสถานแห่งอินเดีย


🇮🇳 สมัยเรียนมัธยม ผมต้องเดินจากป้ายรถเมล์ทะลุตรอกของพาหุรัดก่อนจะไปโผล่แถวหน้าโรงเรียน กลิ่นเครื่องเทศฉุนๆ หลายชนิดยังคงอบอวลอยู่ในความทรงจำ ฉะนั้นผมจึงอึ้งเล็กน้อยตอน ‘พี่ฟิว’ และ ‘เตย’ เจ้าของเพจ เที่ยวแล้วเที่ยวอีก มาชวนผมไปเที่ยวอินเดีย

🇮🇳ผมนั่งตัดสินใจอยู่นานก่อนจะตอบตกลง หลังจากเสร็จทริปที่อินเดีย ซึ่งใช้เวลา 1 อาทิตย์พอดิบพอดี ประสบการณ์ที่ได้มานั้นเป็นคำยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าผมตัดสินใจถูกต้อง! จริงอยู่ว่าอินเดียนั้นวุ่นวายและเต็มไปด้วยผู้คน ถนนหนทางโวกเวกไปด้วยเสียงแตรรถ และการเดินในตรอกซอกซอยนั้นนอกจากจะต้องหลบหลีกยานพาหนะหลากชนิดแล้ว เรายังต้องหลบฝูงสัตว์ อย่างวัว แกะ ลา รวมถึงสิ่งที่พวกมันทิ้งเรี่ยราดไปรายทาง แต่อินเดียนั้นก็ยังมีมุมที่น่าทึ่งอีกมากมาย เพราะนี่คือหนึ่งในดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังกลับไปหลายพันปี สถานที่ที่เราไปเยือนนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ในอดีตที่ถ่ายทอดผ่าน ป้อมปราการอันยิ่งใหญ่ และปราสาทที่ถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรบรรจง พอเอาเรื่องนี้มาบวกกับความเป็นมิตรของคนอินเดียที่โคตรจะเฟรนลี่ ผมอยากแนะนำว่าใครที่ยังลังเลว่าไปเที่ยวอินเดีย มันจะโอไหม บอกเลยว่า จองตั๋วด่วนๆ (อ่อ แล้วที่นั่นไม่มีกลิ่นอย่างที่กลัวนะ - อันนี้คอนเฟิร์ม)

🇮🇳 ปกติเป้าหมายของนักท่องเที่ยวสายถ่ายภาพแบบผม หากเอ่ยถึงอินเดีย ก็น่าจะพุ่งเป้าไปที่เลห์ ลาดัก ดินแดนเหนือสุดของอินเดีย ที่เต็มไปด้วยหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางเทอกเขาหิมาลัย แต่ครั้งนี้จุดหมายของเราเป็น 3 เมืองที่มีเอกลักษณ์และสีสันอันโดดเด่นแห่งแคว้นราชสถาน นั่นคือ Jaipur (ชัยปุระ) - เมืองแห่งสีชมพู, Jodhpur (โยธาปุระ) - เมืองแห่งสีฟ้า, Udaipur (อุทัยปุระ) - เมืองแห่งสีขาว

🇮🇳 พร้อมแล้วเราไปเที่ยวกันเลยดีกว่าครับ


1. City Palace - Jaipur

👓สำหรับเด็กเนิร์ด :: สมัยก่อนชัยปุระเป็นสีเหลืองซีดๆ แล้วก็ไม่ได้กำหนดว่าอาคารจะต้องเป็นสีเดียวกัน ฉะนั้นบางบ้านก็ขาว บางบ้านก็เหลือง ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อ Prince Albert และ Queen Victoria แห่งราชวงศ์อังกฤษ มีแผนได้เสด็จเยือนดินแดนต่างๆ ของอินเดียในปี 1876 มหาราชา Sawai Ram Singh ก็อยากจะเชิญ Prince Albert มาเยี่ยมชัยปุระ เพื่อจะตีสนิทเข้าใกล้กับบุคคลสำคัญในราชวงศ์ ด้วยความมั่งคั่งและอำนาจในมือ ก็ได้สั่งให้ทาสีเมืองทั้งหมดด้วยสี Terracotta pink ซึ่งเป็นตัวแทนของการต้อนรับและความเป็นเจ้าบ้านที่ดี Jaipur เป็นเมืองแรกของอินเดียในยุคกลางที่มีการวางผังเมือง โดยมี 'City Palace' อยู่ตรงกลางของบล๊อคจำนวนทั้งหมด 9 บล๊อคของเมือง

🇮🇳 City Palace ประกอบไปด้วยจตุรัส สวน ลานพิธี รวมถึงอาคารอีกมากมาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และยังเป็นที่อยู่ของราชวงศ์ที่สืบชื้อสายมาจากมหาราชาของชัยปุระ ทำให้ City Palace กินพื้นที่กว้างขวางถึง 1/7 ของ Jaipur กันเลยทีเดียว

🇮🇳 ที่เราเห็นอยู่นี่คือ Sarvato Bhadra เป็นอาคารชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ตรงกลาง มีไว้สำหรับจัดงานต้อนรับ หรือใช้จัดราชพิธีสำคัญๆ อย่างเช่น พิธีขึ้นครองราชย์ของมหาราชาแห่งชัยปุระ

🇮🇳 กำแพงและประตูเข้าสู่ส่วนที่เรียกว่า Pritam Chowk หรือ ‘Court of the Beloved’ ซึ่งมีประตู 4 ฤดูกาลอันสวยงาม

🇮🇳 ประตูที่ถูกตกแต่งเป็นรูปกลีบดอกบัวนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อสักการะพระศิวะ และเป็นตัวแทนแห่งฤดูร้อน

🇮🇳 ประตูกุหลาบเป็นตัวแทนของฤดูหนาว สร้างขึ้นเพื่อสักการะพระมหาเทวี ตอนไปเดินถ่ายเจอคุณพี่หมวกแดงแปร๊ดยืนเฝ้ายามอยู่ เลยขอถ่ายรูปมาซะเลย

🇮🇳 ประตูที่เหมือนจะฮิตที่สุด เพราะต่อแถวกันหลายคนคือประตูนกยูง ซึ่งเป็นตัวแทนของฤดูใบไม้ร่วง และสร้างเพื่อสักการะพระวิษณุ

🇮🇳 ประตูสีเขียวลักษณะคล้ายคลื่นนี้ เป็นตัวแทนของสายลมแห่งฤดูใบไม้ผลิ สร้างขึ้นเพื่อสักการะพระพิฆเนศ


2. สุขนิวาส - จันทรามาฮาล // เป็นส่วนหนึ่งของ City Palace - Jaipur
🇮🇳 จันทรามาฮาล คือปราสาทความสูงขนาด 7 ชั้น ตามตัวเลขนำโชคของราชวงศ์ โดย 2 ชั้นล่างจะเป็น สุขนิวาส นี่แหละฮะ 
🇮🇳 จันทรามาฮาล ทั้งหมดเป็นส่วนปิดที่ต้องเสียเงินเพิ่มในการเข้าไปเที่ยวนะครับ

🇮🇳 เนื่องจากห้องนี้ต้องเสียเงินเพิ่ม ทำให้ห้องนี้คนไม่เยอะมาก สามารถถ่ายรูปได้สบายๆ เลยครับ
🇮🇳 อ่อ แล้วเขาจะส่ง ไกด์มาให้เรา 1 คน รวมทั้งมีแวะจิบน้ำชาแกล้มขนมเพลินๆ หลังจากทัวร์เสร็จด้วย

🇮🇳 Rang Mandir แปลว่า Temple of Color เป็นห้องที่เพดานประดับกระจกเอาไว้อย่างสวยงาม ไกด์บอกเราว่า เป็นห้องที่มหาราชามักจะเข้ามาสวดมนต์ หรือไม่ก็ทำสมาธิ เวลาปิดประตูให้ห้องมืด เมื่อกระจกเล็กบนเพดานต้องแสงเทียนจะเกิดแสงสะท้อนเล็กๆ ระยิบระยับขึ้นมาเหมือนกับดวงดาวนับร้อยในยามค่ำคืน ผมชอบห้องนี้นะมันสวยแบบลึกลับดี

🇮🇳 ห้องที่มีความหมายว่า 'โถงแห่งความงาม' นี้ เป็นห้องที่ตกแต่งอย่างหรูหราด้วยสีทอง ผนังบางส่วนเป็นกระจกบานใหญ่ ให้เช็คความงามกันได้ตามชื่อห้อง


3. Hawa Mahal - Jaipur
🇮🇳 ตึก 5 ชั้นหน้าตาคล้ายรังผึ้งที่ประกอบไปด้วยหน้าต่างถึง 953 บาน นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ นางสนมข้างในได้เฝ้ามองความเป็นไปของบรรยากาศบนท้องถนนโดยไม่มีใครเห็น เพราะตามธรรมเนียมในสมัยนั้นนางสนมเหล่านี้ไม่ควรจะปรากฎตัวในที่สาธารณะ

🇮🇳 Tattoo Cafe เป็นหนึ่งใน 2 คาเฟ่ ฝั่งตรงข้ามกับ Hawa Mahal (ข้างๆ กันชื่อ Wind View Cafe) เหมาะสำหรับการมกางขาตั้งกล้อง ถ่ายรูปสวยๆ พลางจิบกาแฟชมพระอาทิตย์ตกไปด้านหลังพร้อมกับไฟของ Hawa Mahal ส่องสว่างขึ้น

 🇮🇳 พอพระอาทิตย์คล้อยตกลับขอบฟ้าไป Hawa Mahal ก็จะเริ่มเปิดไฟครับ


3. Wall Of Amber Fort - Jaipur

🇮🇳 เราตื่นเช้าเพื่อปีนบันไดหลายร้อยขั้นขึ้นไปบนกำแพงซึ่งเป็นระบบป้องกันเมืองจากข้าศึก เพื่อชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นเหนือชัยปุระ

🇮🇳 สาวๆ ที่ไม่ทันได้เตรียมใจ กำลังมุ่งมั่นเดินขึ้นไปยังจุดสูงสุด (พร้อมด่าผมอยู่ในใจว่าทำไมมาฉันมาลำบากลำบนอะไรขนาดนี้วะคะ) 

🇮🇳 อันที่จริงกำแพงนี้สามารถขึ้นได้ 2 ทาง นะครับ ทางแรกคือขึ้นฝั่งตรงข้ามกับทางเข้า Amber Fort เลย แต่ทางเข้าดูรกๆ แล้วบันไดก็ชันอย่างโหด ข้อดีอย่างเดียวคือเดินไม่ไกล (GPS 26.985185, 75.854064)

🇮🇳 อีกทางคืออ้อมไปขึ้นตรงวัด Varahi Mata ( พิกัด GPS 26.987845, 75.856920 ) แล้วเดินขึ้นกำแพงไปเรื่อยๆซึ่งตรงนี้เดินไกลกว่าประมาณ 2 เท่า แต่บันไดไม่ชันมาก แถมทำให้เราสามารถถ่ายรูปมุมอื่นๆ ระหว่างทางได้ด้วย

🇮🇳 คำแนะนำของผมคือขึ้นทาง Varahi Mata ถ่ายรูปรัวๆ แล้วลงที่หน้า Amber Fort หลังจากนั้นเราก็เดินเข้าไปเที่ยว Amber Fort ต่อได้เลย

🇮🇳 ที่จุดสูงสุดหลังจากปีนป่ายกันมาแสนไกล สถานที่เล็กมาก แล้วคนอินเดียบางคนก็ชอบมาถ่ายรูปกันที่นี่ถ้าจะให้ดีรีบตื่นเช้ามากๆ เพื่อขึ้นมาถ่ายจะเวิร์คสุด เพราะแสงอาทิตย์​สาดลงมาที่ด้านข้างของป้อมปราการพอดี สวยคุ้นเหนื่อยแน่นอนอันนี้คอนเฟิร์ม 

🇮🇳 ตอนที่เราไปถึงมีคู่บ่าวสาวกำลังถ่าย pre-wedding อยู่ ซึ่งเวลาเจอแบบนี้ผมก็จะแอบเกรงใจ เพราะแบบเราเป็นนักท่องเที่ยว แต่เขามาถ่ายงานสำคัญของชีวิตเขา ผมก็จะไม่ค่อยกล้าไปแชร์โลเคชั่นสักเท่าไหร่ แต่คนอินเดีย nice มากๆ เขาบอกเลยว่าพลัดๆ กัน บางจังหวะเขาก็รอให้เราถ่ายอยู่นานสองนาน ตอนกลับผมก็เดินไปขอบคุณพวกเขากันยกใหญ่ พร้อมอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีความสุข ยิ้ม


4. The Stag Restro Cafe & Lounge



5. Amber Fort - Amber

🇮🇳 Amber Fort ตั้งอยู่ใน Amber เมืองเล็กๆ ชื่อเดียวกับป้อม ตั้งอยู่ห่างจาก Jaipur ไปประมาณ 10 กิโล Amber เคยเป็นเมืองหลวงของดินแดนแถบนี้จนกระทั่งมีการย้ายไปที่ Jaipur ในปี 1727

🇮🇳 ป้อมปราการที่รัฐราชสถานของอินเดีย มักจะสร้างอยู่บนภูเขาทำให้ดูใหญ่โตน่าเกรงขามมากๆ เพราะมันจะดูสูงบึกบึนยากจะตีให้แตก แล้วส่วนใหญ่จะมีปราสาทรวมเข้าไปอยู่ด้านในด้วยเลย กษัตริย์ผู้ครองนครพร้อมกับครอบครัวก็จะอยู่กันในป้อมปราการนี่แหละครับ ในปี 2013 ป้อมปราการเหล่านี้ รวมทั้ง Amber Fort เองก็ได้รับการขึ้นเป็น UNESCO World Heritage site ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 5,000 คนต่อวัน

🇮🇳 จากประตูทางเข้าจนถึงตัวป้อมปราด้านบน เรามี 3 ตัวเลือกในการเดินทาง นั่นคือเดินขึ้นบันได นั่งรถจิ๊ป และก็นั่งช้างขึ้นไป ใช่แล้วครับอ่านไม่ผิด เขามีบริการขี่ข้างเดินขึ้นบันไดไปแบบเก๋ๆ ซึ่งฝรั่งหัวทองชอบกันมากแต่เราคนไทยก็ได้แต่ส่ายหัว ‘บ้านกูก็มีเว้ย’ (ฮ่าๆๆ)

🇮🇳 การนั่งรถจิ๊ปนั่งแพง แล้วก็ไม่คุ้มเพราะต้องนัดเวลารถจิ๊ปมารับทำให้เราต้องจำกัดเวลาในการเดินเที่ยว แถมรถก็ยังติดยาวอีก เรียกว่าไม่คุ้มค่าอย่างแรง ฉะนั้นจงใช้กำลังสองขาไต่ขึ้นไป ฮึบๆ

🇮🇳 แอร์โฮสเตสสาวสวยของเราทั้งสามจัดเต็มในธีมสีแดง โดดเด่นจะคนนึกว่าพวกเรามาถ่ายหนัง พี่น้อง 2 คนนี้เดินเข้ามาขอถ่ายรูปด้วย คนนึงชมพู คนนึงเหลือง ถ่ายรูปกันสนุกเลยครับ คนที่อินเดียนี่ดีมาก ไม่หวงเนื้อหวงตัว ชอบให้ถ่ายรูป

🇮🇳 อันนี้คือบริเวณ Third Courtyard ซึ่งเป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับองค์มหาราชาและครอบครัว ตรงกลางมีสวนสวย และอาคารรอบๆ จะตกแต่งด้วยกระจกแกะสลักที่สวยงาม จนถูกเรียกว่า Sheesh Mahal หรือปราสาทแห่งกระจก

🇮🇳 ถัดเข้าไปอีกนิดในส่วนของ Forth Courtyard อันเป็นที่อยู่ของปราสาทแห่ง Man Singh I ซึ่งเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดของป้อมปราการนี้ 

🇮🇳 อีกฝากลอง Courtyard จะเป็นที่อยู่ของ Zenana เหล่ามเหสีและนางสนมของท่านมหาราชาจะมาอยู่กันในนี้ มันถูกออกแบบห้องแต่ละห้องหันหน้าออกสู่พื้นที่เดียวกัน ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่ามหาราชาไปเยี่ยมนางสนมคนไหนตอนกลางคืนนน

🇮🇳 แต่มหาราชาคงหมดสิทธิ์นะฮะ เพราะ 2 ใน 3 ของสาวสวยของเรานั้นมีเจ้าของแว้ววว

🇮🇳 น้องบุ้งกี๋ ผู้ตอนไม่ได้ถ่ายรูปจะโก๊ะๆ ชำๆ แต่พอเรียกถ่ายรูป นางจะองค์ลงทันที เหมือนเรียก super model มาประทับร่าง (ฮ่าๆๆๆ)
ชื่อสินค้า:   อินเดีย เที่ยวอินเดีย
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่