ถ่ายภาพ 101 - ข้อคิด 7 ประการ

กระทู้สนทนา


เนื้อหาทั้งหมดในกระทู้นี้เป็นเนื้อหาที่เจ้าของกระทู้เขียนลงในกลุ่ม
วิเคราะห์ผลงานวิจารณ์ภาพถ่าย ซึ่งคิดว่าน่าจะมีประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ
เนื้อหาว่าด้วยแนวคิดทั่วไปในการถ่ายภาพ
เครดิตต้นฉบับภาษาต่างประเทศโดย Eric Kim


เพี้ยนไฟลุก
*****************************

1.Emotionally detach yourself from your photos
จงถอดอารมณ์ส่วนตัวออกจากรูปถ่าย

ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ต่อไปนี้
วันฟ้าครึ้มฝนโปรยวันหนึ่ง เพื่อนๆเดินอยู่บนท้องถนนเพื่อถ่ายภาพตามปกติ
แต่อากาศแบบนี้ทำให้การถ่ายภาพช่างน่าเบื่อหน่าย
เพื่อนๆเกือบจะยอมแพ้และเดินกลับบ้านอยู่แล้ว
ทันใดนั้นเองเพื่อนๆก็เห็นเด็กหญิงถือร่มสีแดงคนหนึ่งกำลังกระโดดข้ามแอ่งน้ำเล็กๆ
ในใจเพื่อนๆก็คิดถึงภาพในตำนานของปู่อองรี (Henri Cartier-Bresson)
คือภาพชายกระโดดข้ามบ่อ (Man jumping over puddle) ทันใดนั้นความตื่นเต้นก็บังเกิดขึ้น
"นี่มัน Decisive moment ชัดๆ" เพื่อนๆคิด และถ่ายภาพนั้นมาด้วยความภาคภูมิใจ

เมื่อกลับถึงบ้านก็รีบโปรเซสภาพและอัพโหลดลงโซเชี่ยลอย่างเร็ว เพื่อนๆกอดอกอย่างภูมิใจ
คิดว่าภาพนี้น่าจะได้ซัก 100 ไลค์ขึ้นไปอย่างแน่นอน
วันสองวันผ่านไป มีคนกดไลค์ภาพนั้น 15 ไลค์ เพื่อนๆหงุดหงิดและคิดว่า
"ชาวเน็ตพวกนี้ช่างไม่รู้จักภาพที่เจ๋งขนาดนี้ทั้งๆที่มันอยู่ตรงหน้าพวกเขาแท้ๆ" จากนั้นก็หงุดหงิดเสียความมั่นใจ
จิตตก ไปอีกหลายวัน

อาทิตย์สองอาทิตย์ผ่านไป เพื่อนๆกลับไปดูภาพนั้นอีกครั้งแล้วก็คิดว่า
"อืมมม ภาพนี้ไม่เห็นสวยเหมือนเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเท่าไหร่แฮะ"

เกิดอะไรขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้?

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เพื่อนๆได้นำเอาอารมณ์ส่วนตัวไปเกาะกับภาพที่ถ่ายโดยไม่รู้ตัว
ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ตื่นเต้นในขณะนั้น ความยากลำบากในการได้ภาพนั้นมา และอื่นๆ
นี่ทำให้เกิดความสับสนว่าภาพนี้ช่างเจ๋งสุดยอดเกินความเป็นจริงของมัน

สิ่งนี้เกิดขึ้นกับพวกเราโดยทั่วไป พวกเราได้เอาอารมณ์ส่วนตัวไปเกาะติดกับภาพที่เราถ่าย
ทำให้เรามองมันสวยกว่าความเป็นจริง สิ่งนี้เป็นกรณีเดียวกันกับการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงหรือบุตรหลานของเราเอง
ภาพเหล่านั้นจะสดใส สวยงาม มีชีวิตชีวาในมุมมองของเรา นั่นเพราะเรามีฉากหลังมีความทรงจำที่ดี มีความรักในสิ่งนั้นๆในความทรงจำของเรา

แต่คนดูภาพของเราทั่วไป ไม่มี

พวกเขาไม่รู้ว่าบุตรหลานของเรามีนิสัยน่ารักจนทำให้เราหลงรักขนาดไหน
พวกเขาไม่รู้ว่าแมวของเราขี้อ้อนและชอบมาปลุกเราตอนเช้าๆ พวกเขาไม่รู้ว่ากว่าจะได้ช็อตนี้มา
เพื่อนๆต้องปีนข้ามภูเขาสองลูกเพื่อไปถ่ายมา
(แน่นอนว่าถ้าเขียนบรรยายใต้ภาพยืดยาว พวกเขาอาจจะพอนึกออกบ้างซึ่งปกติผมไม่แนะนำ ถ้าไม่ใช่ Photo Essay)
ภาพที่อยู่ตรงหน้าพวกเขานั้น ก็คือแมวตัวหนึ่งในร้อยแมวพันแมวที่พบได้ทั่วไป
คือเด็กคนหนึ่งที่พบได้ทั่วไป

ทางออกคืออะไร?
จงฆ่าอัตตาและอารมณ์เหล่านั้นออกไปให้มากที่สุด
เมื่อเลือกภาพ แก้ไขภาพ จงทำด้วยใจที่เป็นกลางและ"ซื่อสัตย์อย่างไร้ความปราณี" จงทำเช่นนั้นกับงานของเราทุกงานครับ

ดอกไม้ดอกไม้

2.Cure yourself of “G.A.S.”
จงบำบัดตัวเองจากอาการ GAS

มีโรคหนึ่งโรคที่เราอาจจะกำลังเป็นกันอยู่ เมื่อถ่ายภาพมาได้ระยะหนึ่ง
โรคนั้นเรียกย่อๆว่าโรค G.A.S. (Gear Acquisition Syndrome - โรคอยากได้อุปกรณ์ใหม่)
อาการของโรคคือเราจะมโนในจิตขึ้นมาว่า "ฉันถ่ายภาพได้ไม่ดี เพราะว่ากล้องฉันยังไม่ดีพอน่ะสิ"
พร้อมกับมองกล้องคู่ทุกข์คู่ยากด้วยสายตาเดียวกับมองภรรยาที่อยู่ด้วยกันมานานและเริ่มเบื่อหน้ากัน
แล้วคิดไปอีกว่า "หากฉันมีกล้องที่สุดยอด ภาพถ่ายของฉันมันต้องเจ๋งขึ้นมาอีกหลายเท่าอย่างแน่นอน"
จากนั้นก็มโนขึ้นมาอีกว่า "ฉันจะมีไฟในการถ่ายรูปขึ้นมาอีก หากฉันได้กล้องตัวใหม่"
หลังจากได้กล้องตัวใหม่ ไฟในการถ่ายภาพของเพื่อนๆจะกลับมาใน 1-2 สัปดาห์แรก
จากนนั้นก็กลับมาจุดเดิมเมื่อไฟเห่อดับลง
เราจะเยียวยาอาการของโรคให้ทุเลาลงได้อย่างไร?
1.แทนที่จะโหยหากล้องที่เรายังไม่มี ลองเขียนถึงข้อดีของกล้องที่เรามีอยู่ตอนนี้ดูสิ
2.ระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีกล้องที่"สมบูรณ์แบบ" แทนที่จะมองหากล้องที่สมบูรณ์แบบ
ลองมองหากล้องที่ "ดีพอ" สำหรับถ่ายภาพอย่างมีความสุขสำหรับเราดีกว่า
มาเป็นพวก “satisficer” (พอใจในสิ่งที่ดีพอ) แทนที่จะเป็นพวก “maximizer”(ต้องการความสมบูรณ์แบบ) กันเถอะ
3.ลองตั้งกฎการอัพเกรด เราไม่จำเป็นต้องใช้กล้องตัวเดียวไปตลอดชีวิตการถ่ายภาพ
เพราะเป็นความจริงที่ว่าเทคโลโลยีในปัจจุบันนี้ จะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าเพิ่มขึ้นมาแทนในอีก 3-5 ปี
ดังนั้น ลองตั้งกฎไว้ในใจ เช่น "ฉันจะไม่เปลี่ยนกล้องจนกว่าจะครบ 3 ปี" เป็นต้น
4.กลับไปอ่านรีวิวกล้องตัวเก่าของเพื่อนๆอีกซักครั้ง ดูสิว่ามันยอดเยี่ยมขนาดไหน
เพื่อนๆจึงได้ตัดสินใจซื้อมันในตอนนั้น
5.Buy books, not gear หาความรู้แทนการซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ
การซื้อหนังสือดีๆซักเล่ม เข้าไปชมภาพในห้องแสดงภาพ เข้าร่วมเวิร์คชอปการถ่ายภาพ ลงทุนน้อยกว่าการซื้อกล้องตัวใหม่
กล้องใหม่จะอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพให้ง่ายขึ้นหากรู้วิธีใช้
และปรับใช้อย่างเหมาะสม และหนังสือดีๆซักเล่มจะพัฒนามุมมองและภาพถายของเราไปตลอดกาล

ดอกไม้ดอกไม้

3.Have a strong visual anchor in your photo?
ภาพเรามี สมอลักษณ์ รึยัง?


การที่ภาพถ่ายของเราขาด Visual anchor ที่ชัดเจน
จะทำให้ความสนใจของผู้ชมภาพสับสน
อะไรคือ "Visual anchor " ?
Visual anchor คือ หมุดยึดในทางทัศนธาตุ คือสมอลักษณ์ คือสิ่งที่มีความสำคัญ
มีพลังมากที่สุดในเฟรมภาพของเรา
ยกตัวอย่างเช่น หากผมดูภาพถ่ายหนึ่งภาพ โดยธรรมชาติจะต้องกวาดสายตาหาจุดสนใจของภาพนั้นๆ
หากไม่เจอมันอย่างรวดเร็ว ผมก็จะเลิกสนใจภาพนั้นโดยธรรมชาติ
นั่นแปลว่าภาพนั้นขาด Visual anchor ที่ชัดเจนเพียงพอ
ด้วยการที่มีจุดยึดของภาพที่ชัดเจน เราจะสามารถหยุดความสนใจของผู้ชมภาพให้อยู่กับภาพของเราได้
ในยุคปัจจุบัน มีสิ่งที่ทำให้เราหันเหความสนใจอยู่มากมาย
เมื่อผู้ชมเลื่อนหน้าจอมือถือขึ้นลง ภาพของเราจะถูกเลื่อนผ่านสายตาของคนดูเหล่านั้นเพียงชั่วขณะ
เราจะทำให้ผู้ชมหยุดเลื่อนชั่วคราว หรือมองดูที่ภาพเราอย่างจริงจัง
ตรวจสอบภาพของเรา แล้วครุ่นคิดได้อย่างไร?
นี่คือตัวอย่างของสมอลักษณ์ที่แข็งแรง
- แสงที่เข้มหรือสว่าง
- สีสันที่มีพลัง
- ท่าทางหรืออารมณ์ที่มีพลัง
- การสบตา
- ใบหน้าที่มีความน่าสนใจ
- สิ่งที่ไม่ปกติในเฟรมนั้นๆ
เพื่อนๆนึกจุดยึดภาพที่แข็งแรงแบบไหนได้อีก?
อะไรที่จะทำให้เราอ้อยอิ่งอยู่กับภาพถ่ายภาพนั้นเกินหนึ่งวินาที
หากเราเป็นผู้ชมภาพ?

ดอกไม้ดอกไม้


4.“Open” vs “closed” photos
ภาพแบบเปิดและแบบปิด

ในการถ่ายภาพ เราสามารถแบ่งภาพถ่ายออกได้เป็นสองประเภท
คือ "ภาพแบบเปิด" และ "ภาพแบบปิด"

“Open” photos ภาพแบบเปิด

ภาพแบบเปิดคือภาพที่เปิดให้ตีความได้อย่างอิสระ
นั่นคือผู้ชมภาพสามารถสร้างเรื่องราวขึ้นจากภาพนั้นในความคิดของพวกเขาเอง
ให้อิสระแก่ผู้ชมภาพได้มีส่วนร่วมในการสร้างเรื่องราวของตัวเองไปกับภาพถ่าย
เป็นข้อสอบอัตนัยที่ให้ผู้ชมเขียนคำตอบเองแล้วแต่จินตนาการของผู้ชม

“Closed” photos ภาพแบบปิด

ภาพแบบปิด สามารถตีความได้อย่างชัดเจนเพียงหนึ่งเดียว
ไม่ต้องการปล่อยให้จินตนาการของผู้ชมภาพตีความถึงความหมายของภาพผิดไปจากที่ผู้ถ่ายตั้งใจ

เราจะลองถ่ายภาพทั้งสองแบบได้อย่างไร?

1: Make an “open” photo
ถ่ายภาพโดยไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจน หลุดโฟกัสโดยตั้งใจ
เบลอภาพ ทำให้ภาพยากต่อการตีความ ทำให้เดาได้ยากว่าเกิดอะไรขึ้นตอนนั้นและจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น
ถ่ายคนที่ทำท่าทางแปลกๆ ถ่ายบางสิ่งที่ลึกลับน่าสงสัย
ทำให้คนดูมีความรู้สึกอยากจะค้นหา ภาพถ่ายแนวนามธรรม (Abstract) จัดอยู่ในประเภทนี้

2: Make a “closed” photo
เมื่อเราถ่ายภาพแนวสารคดี หรือภาพเหตุการณ์สำคัญ ภาพข่าว
เราคงไม่อยากให้ผู้ชมภาพเข้าใจเจตนาและความหมายของภาพนั้นๆผิดไปจากที่เราตั้งใจ
เราไม่ต้องการเปิดกว้างให้ตีความ เราต้องการสื่อสารความหมายที่ชัดเจนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ภาพถ่ายแบบปิดจึงต้องการสายตาที่เฉียบคมในการจับจังหวะที่สื่อสารความหมายของภาพที่ต้องการได้ชัดเจนมากที่สุด
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เราถ่ายภาพได้ทีละหลายๆภาพในหนึ่งวินาที
แต่นั่นก็ยังต้องการสายตาที่เฉียบคมในการคัดเลือกจังหวะที่ชัดเจนที่สุดในการสื่อความหมาย

ดอกไม้ดอกไม้


5.Kill your ego
จงฆ่าอัตตาของท่านเสีย



"ผมจะพยายามแยกตัวเองอย่างเด็ดขาดออกจากสิ่งที่ผมทำ
ผมจะก้าวออกมาแล้วมองกลับไปยังภาพพวกนั้นเหมือนกับผมไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับพวกมันเลย"
Josef Koudelka

เราอาจจะปล่อยให้อัตตาของเราเข้าไปอยู่ในการถ่ายภาพโดยไม่รู้ตัว
ในความคิดของเรา ภาพถ่ายก็เหมือนลูกที่เรารัก และสุดท้ายเราจะมีความรู้สึกผูกพันทางอารมณ์กับภาพเหล่านั้นมากจนเกินจริง
(แม้ว่ามันจะไม่ได้สวยงามอะไรก็ตาม) เราต้องเรียนรู้ที่จะ "ฆ่าลูกของเราซะ"

ผมมีประสบการณ์ที่ยากลำบากในการเอาชนะอารมณ์ที่เกาะติดอยู่กับภาพถ่ายของตัวเอง
เมื่อผู้คนวิจารณ์ภาพของผม ผมรู้สึกว่าคนเหล่านั้นกำลังวิจารณ์ผมในฐานะมนุษย์
โปรดจำไว้ว่า เราไม่ใช่ภาพถ่าย เมื่อผู้คนวิพากษ์จิจารณ์ภาพถ่ายของเรา
พวกเขากำลังตัดสินและพูดถึงภาพถ่ายของเรา ไม่ใช่ตัวเรา
การถอดอัตตาออกจากภาพถ่ายของตัวเราเอง คือวิธีที่ดีที่สุดที่จะตัดสินภาพถ่ายเหล่านั้นอย่างซื่อตรงและเป็นกลาง
เมื่อเราต้องการความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพที่เราถ่าย จงกล่าวกับพวกเขาว่า "ขอให้วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์อย่างไรความปราณี"
และเช่นเดียวกันเมื่อเราวิจารณ์ภาพของตัวเราเอง จงวิจารณ์ในฐานะมันเป็นภาพที่คนอื่นถ่าย ไม่ใช่ตัวเรา
จงแก้ไขข้อผิดพลาดที่ค้นพบอย่างไร้ความปราณี


ดอกไม้ดอกไม้


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่